งานรับน้องใหม่ น้องใหม่การเมือง น้องใหม่ประยุทธ์

คําประกาศอย่างชัดเจนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ว่า

“ผมสนใจการเมือง”

แม้จะมิได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายของคนทั่วไป

ก็ยังทำให้บรรยากาศทางการเมืองคึกคักขึ้นมาทันตาเห็น

Advertisement

ประการหนึ่ง เพราะวันเดียวกัน

มีการพบปะอย่างพร้อมหน้าระหว่างตัวบุคคลที่ถูกระบุว่าเป็น “แกนนำตัวจริง” ของพรรคพลังประชารัฐที่ทำเนียบรัฐบาล

ทั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ผู้กำหนดแนวทาง-นโยบาย

Advertisement

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ ว่าที่เลขาธิการพรรค

และ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ว่าที่โฆษกพรรค

ประการหนึ่ง เพราะมีการเผยแพร่ผลการสำรวจความนิยมของประชาชนโดย “นิด้าโพล”

ว่าใครเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปภายหลังการเลือกตั้ง

ที่ผลการสำรวจออกมาปรากฏว่า

พล.อ.ประยุทธ์นำหน้าบุคคลอื่นมาด้วยสัดส่วนร้อยละ 29

หากเป็นการสำรวจในช่วงเวลาทั่วไป ผลการสำรวจก็คงค่อยๆ เงียบหายไปเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา

แต่เมื่อประกอบกันเข้ากับช่วงเวลาของการประกาศตัวเข้าสู่สนามการเมือง

กิจกรรม “รับน้องใหม่” อื่นๆ ก็ติดตามมาโดยฉับพลัน

คึกคักที่สุด ก็คือการสำรวจความคิดเห็น “โดยสมมุติ” ของประชาชนผ่านทางโลกโซเชียล

ว่าเห็นด้วยหรือไม่จะเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

เริ่มต้นที่การสำรวจของสถานีข่าวช่องวัน ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นทั้งสิ้นกว่า 350,000 คน

ที่แอดมินผู้เปี่ยมอารมณ์ขันของเพจดังกล่าวระบุว่า

มีผู้สนับสนุนอย่าง “ล้นหลาม” ให้ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งต่อด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 12

โดยส่วนที่เหลือร้อยละ 88 ไม่เห็นด้วย

ตามมาด้วยผลการสำรวจของเนชั่นทีวี ที่มีผู้ร่วมโหวต 35,000 ราย

สัดส่วนออกมาเท่ากันเป๊ะๆ

ร้อยละ 12 สนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ร้อยละ 88 ไม่สนับสนุน

โพลของเดอะ สแตนดาร์ด ที่มีผู้มาแสดงความเห็น 14,000 โหวต

ร้อยละ 10 อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

ขณะที่ร้อยละ 90 ไม่อยาก

และเพจเฟซบุ๊กพีพีทีวี ที่มีผู้ร่วมโหวต 20,000 ราย

ร้อยละ 14 เลือก “ลุงตู่” เป็นนายกฯต่อไป

ร้อยละ 86 ไม่เลือก

ประเด็นก็คือ

ผลสำรวจบนโลกโซเชียลเช่นนี้ จะแปรเปลี่ยนเป็น “คะแนนเสียง” รูปแบบไหนเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมาถึง

นี่คือคำถามของทุกพรรคการเมือง ของผู้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมือง

ต่อการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศไทยในยุคโซเชียลมีเดียแผ่ขยายกระจายกิ่งก้านสาขาครอบคลุมไปทุกตรอกซอกซอย ทุกบ้านเรือนไม่ว่าใกล้ไกล

ว่าชนะในโลกโซเชียล จะชนะในการเลือกตั้งจริงหรือไม่

หรือยับเยินในโลกโซเชียล จะพลิกกลับมาในโลกจริงหรือเปล่า

ประเด็นต่อมาก็คือ

ผลการสำรวจในโลกโซเชียลที่ขัดกับข้อมูลของโพลที่ใกล้ชิดแนบแน่นกับศูนย์อำนาจ

จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ หดฝ่อ ท้อถอย

หรือจะยิ่งทำให้เลือดแห่งชายชาติทหารในร่างกายสูบฉีด

และกลายเป็นแรงเป็นพลังผลักดันให้มุ่งมั่นที่จะลบล้างเสียงสบประมาทให้ได้

โดยมีการเลือกตั้งเป็นเครื่องพิสูจน์

และประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ

กระบวนการ “รับน้องใหม่” ทางการเมืองต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จะยิ่งหนักหนาสาหัสเพิ่มยิ่งไปขนาดไหน

เมื่อเวลาของการเลือกตั้งขยับใกล้เข้ามา

รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถ “คุมอารมณ์” อย่างที่ประกาศว่าพยายาม “นุ่มนวลขึ้น” เอาไว้ได้อย่าง 2-3 วันหลังการประกาศจุดยืนทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใด

หากการรับน้องใหม่ทวีความเข้มข้นและหนักข้อยิ่งขึ้นไปกว่านี้

รวมถึงปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่ไม่พึงใจ

จะทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นหรือลดลงในการเลือกตั้ง

จะยังน่ารัก-น่าเอ็นดู เป็นลุงตู่ขวัญใจชาวบ้าน

ที่ไม่ว่าจะเกรี้ยวกราดอย่างไร ก็มีแต่เสียงปรบมือต้อนรับ

อยู่อีกหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image