อาศรมมิวสิก : เรื่องดนตรีที่ได้เรียนรู้ และเรื่องกติกาสังคมจากคอนเสิร์ตสองงาน

ภายในระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมานี้ มีรายการแสดงดนตรีคลาสสิกที่น่าสนใจเกิดขึ้นในบ้านเรามากมายหลายรายการ แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่หน้ากระดาษ ผู้เขียนจึงขอคัดเลือกรายการแสดงที่คิดว่าโดดเด่น มีประเด็นสำคัญๆ ที่น่าบันทึกไว้ 2 รายการด้วยกัน โดยรายการแรกที่จะนำมากล่าวถึงก็คือการมาเยือนเมืองไทยครั้งแรกของศิลปินไวโอลินระดับโลกหนุ่มใหญ่รูปหล่อชาวอเมริกัน “โจชัว เบล” (Joshua Bell) ที่มาแสดงร่วมกับวง RBSO (Royal Bangkok Symphony Orchestra) ในค่ำวันเสาร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2561 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้การอำนวยเพลงโดยวาทยกรชาวแคนาดา “ชาร์ลส์ โอลิเวียริ-มันโร” (Charles Olivieri-Munroe)

แฟนๆ เพลงหลายต่อหลายคนยังมองว่า “โจชัว เบล” ยังเป็นเสมือน “Golden Boy” ในวงการดนตรีคลาสสิก ด้วยรูปร่างหน้าตาของเขา ที่สามารถรักษาให้ยังคงดูดีอ่อนกว่าวัย ทั้งที่แท้จริงแล้วเขามีอายุอานามแตะเลข 50 เข้าไปแล้ว ซึ่งประเด็นนี้เองที่ทำให้เราต้องนำเขามากล่าวถึงในแง่ของ “วุฒิภาวะทางดนตรี” ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เขาได้แสดงให้ประจักษ์ชัดในครั้งนี้ได้เป็นอย่างดีว่า เขามีวุฒิภาวะทางดนตรีที่สมวัย, สมกับประสบการณ์ของคนที่ผ่านโลกมาเกินครึ่งศตวรรษ

แม้ว่ารูปร่างหน้าตายังเสมือนดูละอ่อน, เยาว์กว่าวัย แต่ทว่าศิลปะดนตรีของเขาสุกงอม ด้วยวุฒิภาวะ ที่เต็มไปด้วยแบบอย่างรสนิยมอันดี ภาษาดนตรีที่เต็มไปด้วยความละเมียดละไม ซึ่งการเลือก “ม้าสงครามแก่” (Old War Horse) อย่าง ไวโอลินคอนแชร์โต หมายเลข 1 ของ “มักซ์ บรูค” (Max Bruch) มาแสดงในครั้งนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า มิใช่มาจากสภาวะ “คิดอะไรไม่ออก” เอาเพลงเก่าๆ อะไรก็ได้ที่จำได้อยู่ในหัวมาแสดงในสารขัณฑ์ประเทศนี้ให้ผ่านๆ ไป ไม่ใช่แนวคิดแบบนี้แน่นอน มันมีนัยความคิดใหม่ๆ ทางศิลปะดนตรี ที่เขาต้องการประกาศการตีความตามแนวคิดที่ค้นพบใหม่นี้ต่อผู้ฟังดนตรีทั่วโลก

ถ้าเราติดตามความเคลื่อนไหวของเขาอยู่บ้าง ก็จะทราบว่า โจชัว เบล เพิ่งจะออกแผ่นซีดีไวโอลินคอนแชร์โต หมายเลข 1 ของ บรูค บทนี้กับวง Academy of St.Martin in the Fields วงเชมเบอร์ออเคสตราระดับโลก ไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เอง พร้อมทั้งตำแหน่งผู้อำนวยการดนตรีของวงดนตรีวงนี้ ที่เขารับสืบทอดต่อมาจาก “เซอร์เนวิลล์ มาร์ริเนอร์” (Sir Neville Marriner) วาทยกรเกียรติยศผู้ล่วงลับ

Advertisement

นั่นหมายความว่า ทิศทาง, พัฒนาการทางดนตรีของเขาที่กำลังเปลี่ยนไปในวัย 50 ปีนี้ ก็คือทิศทางที่ “ย้อนกลับไปสู่ความเป็นคลาสสิก” (Back to Classic) มุ่งหน้าไปสู่ดนตรีอันสะอาด, บริสุทธิ์ และสงบ ซึ่งเป็นทิศทางในแบบของ “ผู้แสวงหาโมกขธรรม” ในโลกทั้งหลาย ซึ่งศิลปะดนตรีก็ไม่แตกต่างกัน ในวัยเยาว์ดนตรีคือความมหัศจรรย์, พรสวรรค์ (ที่ราวกับสืบทอดมาจากชาติปางก่อน)

ครั้นเข้าสู่วัยหนุ่ม ดนตรีคือพลังอันร้อนแรง, เทคนิคลวดลาย และสีสันอันแพรวพราว ครั้นพอเริ่มย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย ก็จะเริ่มตระหนักรู้ว่าไม่มีประโยชน์ใดๆ อีกต่อไปที่จะมาแสดงออกซึ่งความหมายเหล่านั้น อันเป็นสิ่งที่เขาพบพานมา มากกว่าครึ่งชีวิตแล้ว

ม้าสงครามแก่ อย่างมักซ์ บรูค บทนี้ จึงไม่เน้นความเป็นโรแมนติกแบบศตวรรษที่ 19 เท่าใดนัก โดยเฉพาะแนวทำนองที่สอง (2nd Theme) ของท่อนแรกที่เขาแสดงออกโดยระวังไม่ให้ยืดออกไปจนเกินงาม และตรงนี้เองที่รู้สึกได้ว่า RBSO ยังตามลักษณะวิญญาณดนตรีแบบเชมเบอร์มิวสิกที่เขาต้องการแสดงออกได้ไม่มากพอ บางครั้งการมีเวลาร่วมงานกันอย่างจำกัดแบบนี้จึงไม่อาจคาดหวังสัมฤทธิผลใดๆ ได้มากนัก แต่เป็นที่น่าเชื่อได้มากว่าในครั้งนี้สมาชิกวง RBSO ของเราจะต้องได้เรียนรู้ประสบการณ์ดนตรีใหม่ๆ จากเขาได้มากมาย แต่การจะหลอมรวมไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างราบรื่น-ลงตัวกว่านี้ ก็คงต้องอาศัยเงื่อนไขของระยะเวลาที่ต้องการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

Advertisement

คงเป็นที่น่าผิดหวังสำหรับใครบางคนในครึ่งหลังของรายการ ที่เขาเลือกบทเพลงในแนว “tour de force” อย่างบทเพลง “Gypsy Airs” (Zigeunerweisen) ผลงานลำดับที่ 20 ของ พาโบล เดอ ซาราซาเต (Pablo de Sarasate) มาแสดงในครั้งนี้ ซึ่งในความทรงจำ หรือความคาดหวังของแฟนๆ เพลงคลาสสิกแล้ว เราอาจคาดหวังไปถึงเทคนิคอันชวนตื่นเต้นชนิดแบบเกร็งหน้าท้อง หรือลมหายใจปั่นป่วนไปกับแม่ไม้ทางเทคนิคขั้นพิสดารต่างๆ ในบทเพลงนี้ ซึ่งใครก็ตามที่ยังคงคาดหวังสิ่งเหล่านี้อาจผิดหวังได้อย่างมาก เพราะ โจชัว เบล เลยขั้นโอ้อวดสิ่งภายนอกเหล่านี้แล้ว

ท่อนนำ (Introduction) ที่เน้นลักษณะครุ่นคิดเข้าสู่ภายใน (Introspective), ใคร่ครวญ (มิใช่ “คร่ำครวญ”) ชวนให้เกิดความรู้สึกในเชิงภาวนาเพื่อความสงบเสียมากกว่า ในช่วงจังหวะเร็วมากนั้น ลักษณะการบรรเลงแบบเน้นการเปล่งเสียง 1 โน้ต ต่อ 1 พยางค์ (Staccato) นั้นขอใช้คำว่า “เป็นเม็ดๆ” ละเอียดยิบ และใสสะอาดจนมันแทบจะกลายเป็นการเชื่อมโยงเสียงเข้าหากันทั้งหมด (Legato) หรือเทคนิคการดีดสายด้วยมือซ้าย (Left Hand Pizzicato) นั้น มันเป็นการแสดงที่เนียนเรียบแบบไร้ตะเข็บ โดยไม่จำเป็นต้องเน้นให้ฟังชัดเจนจนน่าทึ่งอย่างเป็นพิเศษใดๆ เขาบรรเลงดนตรีเพื่อดนตรี มิใช่ต้องการประกาศว่า “ข้าคือ โจชัว เบล ตัวจริง-ของจริง”

ผู้เขียนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่เขาเดินออกมารับเสียงปรบมือหลังการแสดง 2-3 รอบ ด้วยมือเปล่าๆ อันเป็น “อวัจน ภาษา” ที่ต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ผมได้มอบดนตรีที่ดีที่สุดให้พวกคุณไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้อะไรเพิ่มเติม (Encore) อีก สำหรับผู้สูงด้วยวุฒิภาวะทางความคิดและรสนิยมแล้ว “ของแถม” ไม่ใช่เรื่องจำเป็นใดๆ เลย

ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าการมาเยือนเมืองไทยของเขาครั้งนี้ สามารถยังประโยชน์อันเป็นสาระทางดนตรีและชีวิตให้ได้ทั้งกับนักดนตรีในวง RBSO และบรรดาผู้ชมได้คุ้มค่าเป็นอย่างมากแน่นอน

ได้อ่านบทสัมภาษณ์ท่าน “สุบิน เมห์ทา” (Zubin Mehta) โดยคุณอนันต์ ลือประดิษฐ์ แล้วผู้เขียนเกิดความเลื่อมใส, ศรัทธาในความจริงใจ ของวาทยกรท่านนี้ที่ท่านมีต่อเมืองไทยเป็นอย่างมาก ความจริงใจต่อเมืองไทยที่พิสูจน์ด้วยการแสดงออกมิใช่เพียงคำพูด วาทยกรระดับโลกท่านนี้มาเยือนเมืองไทยราว 5-6 ครั้งแล้ว ในรอบระยะเวลาราว 30 กว่าปีที่ผ่านมา ครั้งแรกกับวงนิวยอร์กฟิลฮาร์โมนิกในปี พ.ศ.2527 และกับวงอิสราเอลฟิลฮาร์โมนิกอีกราว 3-4 ครั้ง ศิลปินดนตรีที่ได้ชื่อว่า “ระดับโลก” มาเยือนเมืองไทยทุกครั้งเท่าที่มีโอกาสนั่นย่อมสะท้อนให้เห็นว่า เขามีความผูกพันทางจิตใจกับเมืองไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

และล่าสุดนี้ สุบิน เมห์ทา ก็มาเยือนเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง ในเทศกาล Bangkok International Festival of Dance and Music (มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ) ครั้งที่ 20 โดยเขามากำกับการแสดงให้กับคณะอุปรากร แห่ง ซาน คาร์โล (Teatro di San Carlo) จากเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี ซึ่งมีทั้งการแสดงอุปรากรเรื่อง “คาร์เมน” (Carmen) แถมด้วยซิมโฟนีคอนเสิร์ตอีก 2 รอบ โดยวงออเคสตราของคณะอุปรากรนี้ ผู้เขียนได้อ่านคำชมเชยมากมายในโลกสื่อออนไลน์ทั้งหลาย ในการแสดงซิมโฟนีหมายเลข 9 (Choral) ของเบโธเฟน โดยวงออเคสตราของคณะอุปรากรนี้ ภายใต้การอำนวยเพลงโดย สุบิน เมห์ทา ครั้นมีการแสดงซิมโฟนี 2 บทของไชคอฟสกีในค่ำวันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ.2561 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จึงได้เสาะแสวงหาโอกาสไปชม

การแสดงครั้งนี้ออกจะแปลกสักหน่อย เพราะเป็นการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 4 ของไชคอฟสกีในครึ่งแรก และซิมโฟนีหมายเลข 6 (Pathetique) ของไชคอฟสกีเช่นเดียวกันในครึ่งหลัง โดยไม่มีบทเพลงเดี่ยวเครื่องดนตรี (Concerto) หรือบทโหมโรงใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น

ข้อสรุปสั้นๆ ในการบรรเลงครั้งนี้ก็คือเป็นการบรรเลงในแนวทางไปในเชิงแบบไชคอฟสกียุคอดีตสหภาพโซเวียต กล่าวคือ “หูดับตับไหม้” ความจริงแล้วการบรรเลงในลักษณะนี้ผู้เขียนมิได้ปฏิเสธใดๆ เลย (แม้ว่าในยุคปัจจุบัน เราจะหาการบรรเลงดนตรีในแนวทางนี้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ) แต่ข้อแตกต่างที่จะขอสรุปสั้นๆ ในที่นี้ก็คือ การแสดงความแตกต่างในความดัง-ค่อยของเสียง (Dynamic) ที่วงในยุคอดีตสหภาพโซเวียตนั้นเขาอวดได้อย่างน่าทึ่ง

เบาจนเราต้องเกร็งหน้าท้อง และดังจนขนหัวลุก

แต่ในครั้งนี้ วงดนตรี Teatro di San Carlo นั้นบรรเลงกันแบบ “เบาไม่เป็น” เสียงดังคับโรงแบบ “ใครดีใครอยู่” น่าประหลาดใจทีเดียว ที่การกำกับวงของสุบิน เมห์ทา ในแต่ละครั้งกับวงดนตรีในแต่ละวงของเขา (เท่าที่เคยชมมาในเมืองไทยทั้งหมด) ไม่เคยมีแนวทางในการขับเคลื่อนเชิงตีความ จากวาทยกรที่ชัดเจนใดๆ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่าแต่ละครั้งนั้นราวกับว่าวงดนตรีต่างบรรเลงขับเคลื่อนกันไปได้ด้วยตัวเองล้วนๆ

ประเด็นที่น่ากล่าวถึงไปยิ่งกว่าเรื่องคุณภาพการแสดงดนตรีก็คือ พฤติกรรมผู้ชมที่น่าบันทึกเก็บไว้ ท่านสุบิน เมห์ทา คงรักเมืองไทยขึ้นอีกมาก เพราะผู้ชมชาวไทยคงเป็นผู้ชมเพียงที่เดียวที่ปรบมือให้เขามากที่สุดในโลก ซิมโฟนี 2 บท มี 8 ท่อน ผู้ชมปรบมือสนั่นลั่นโรง ในทันทีทุกครั้งที่แต่ละท่อนจบลง หมายความว่าเพลงมี 8 ท่อนผู้ชมก็ปรบมือ 8 ครั้งในวันนั้น (คงมีผู้ชมส่วนหนึ่งที่รู้สึกอึดอัดและอับอายต่อสุบิน เมห์ทา และนักดนตรีกับพฤติกรรมปรบมือในทุกๆ ท่อนนี้ ของแฟนเพลงชาวไทย เรื่องที่เราเคยต้องพร่ำสอนกันก่อนไปฟังดนตรี ด้วยความระมัดระวัง)

ผู้ฟังส่วนหนึ่งเดินออกจากโรง (พร้อมกับเสียงส้นรองเท้ากระทบพื้นดังก๊อกๆ) หลังจบท่อนแรกของซิมโฟนีหมายเลข 4 (คงเซลฟี่เป็นหลักฐานเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงไม่จำเป็นต้องอยู่ให้ครบ) ผู้ฟังบางคนเล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วย ในขณะที่ดนตรีบรรเลง “ผ่านหู” ของเขา

ผู้เขียนคิดว่า คงไม่จำเป็นต้องพูดถึงมารยาทการชมดนตรีคลาสสิกให้ยืดยาว เอาแค่การเดินชมพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศเราก็จะรู้ดีว่ามีกติกามารยาทต่างๆ มากมายที่ผู้ชมไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจ หรือแค่การไปเที่ยวชมอุทยานแห่งชาติ, ป่าสงวนในยามค่ำคืนเราก็ไม่สามารถส่งเสียงดังรบกวนสัตว์ป่าได้แล้ว เราควรจะมีการรณรงค์ให้การศึกษาเรื่องนี้ก่อนการชมคอนเสิร์ตหรือไม่ หรือเราต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเปลี่ยนไป เราต้องยอมรับเสียงคุยกันในโรงคอนเสิร์ตในที่ขณะดนตรีกำลังบรรเลง, ยอมรับเสียงโทรศัพท์มือถือที่อาจดังขึ้นเมื่อใดก็ได้ (ในโลกยุคปัจจุบัน), เสียงลูกเล็กเด็กแดงที่กระจองอแงด้วยความง่วงนอน, หงุดหงิด เพราะผู้ปกครองอยากปลูกฝังรสนิยมดีๆ ด้วยการพาเขามาฟัง “ของจริง”, ผู้ชมที่เดินออกจากโรงในขณะที่เพลงยังไม่จบเป็นสิ่งที่เรากำลังเริ่มพบเห็นได้มากขึ้นๆ จนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไปแล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับเพื่อให้ดนตรีคลาสสิกดำรงอยู่ได้ในโลกปัจจุบันจริงๆ หรือกฎกติกามารยาทในการชมคอนเสิร์ต (Concert Manners) ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยต้องพร่ำสอนกันเป็นเพียงเรื่องล้าสมัย และไม่จำเป็นหรืออย่างไร? ข้อห้ามการปรบมือระหว่างท่อน (ในขณะที่เพลงยังไม่จบบริบูรณ์) ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อเหตุผลอะไร? สิ่งเหล่านี้ดูจะสร้างความสับสนอยู่ไม่น้อยสำหรับการชมดนตรีคลาสสิกในปัจจุบัน

แรกเริ่มเดิมทีผู้เขียนคิดว่าจะเขียนถึงคอนเสิร์ตโดยวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งชาติเกาหลี (Korean Symphony Orchestra) ในค่ำวันจันทร์ที่ 24 กันยายนด้วย แต่เมื่อลงมือเขียนได้เพียง 2 งานก็หมดพื้นที่หน้ากระดาษพอดี ความจริงเรื่องวงดุริยางค์แห่งชาติเกาหลีวงนี้มีอะไรๆ ดีๆ ทางดนตรีเกินคาด ที่น่ากล่าวถึงมากมาย ความก้าวหน้าทางดนตรีคลาสสิกของอารยประเทศในแถบเอเชียที่ถ้าไม่ได้มาฟังด้วยหูตัวเอง ก็แทบจะไม่เชื่อหากมีใครมาเล่าให้ฟัง โลกดนตรีคลาสสิกในศตวรรษที่ 21 นี้กำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ทวีปเอเชียแล้วหรือ?

บทความของผู้เขียนในครั้งหน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image