การเมืองแบบทำให้และแบบทำเอง : นิธิ เอียวศรีวงศ์

พรรคการเมืองส่วนใหญ่คิดว่า “คนรุ่นใหม่” คือคนอายุน้อย เมื่อใดที่คิดจะหาเสียงกับ “คนรุ่นใหม่” จึงต้องจัดให้สมาชิกที่มีอายุน้อยไปเข้าร่วมอภิปราย ซึ่งก็มักจะพูดอะไรที่ไม่ต่างจาก “คนรุ่นเก่า” แต่อย่างไร

ทีวีช่องหนึ่งรับเอาแนวคิด “คนรุ่นเก่า” ที่อายุน้อยเช่นนี้ ไปให้ความหมายที่เจาะจงมากขึ้นว่าคือ first voters หรือผู้ได้สิทธิลงคะแนนเสียงครั้งแรก ฉะนั้นจึงนับหัวออกมาได้ว่า มีอยู่ประมาณ 6 ล้านคนในประเทศไทย

แถมยังไปสัมภาษณ์ความเห็นทางการเมืองของกลุ่มคนซึ่งทีวีนิยามว่าคือ “คนรุ่นใหม่” บางคน (ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมืองใหญ่) คนอายุน้อยเหล่านั้น ก็ระบุว่าอยากได้นักการเมืองที่มีความซื่อสัตย์, ทำงานเพื่อประชาชน, ส่งเสริมการศึกษาของเยาวชน, ฟังเสียงของเยาวชนบ้าง ฯลฯ

ไปสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่ของเยาวชนเหล่านี้ ก็คงได้คำตอบไม่ต่างจากกัน หรือแม้แต่ไปสัมภาษณ์ถึงคุณปู่คุณย่า ก็คงได้คำตอบเดียวกันนี้อีกนั่นแหละ

Advertisement

ทัศนคติทางการเมืองของเยาวชนที่ถูกสัมภาษณ์ รวมทั้งเยาวชนในจินตนาการของตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมอภิปรายหาเสียงกับ “คนรุ่นใหม่” นั้น อาจสรุปให้เหลือเพียงลักษณะเดียว คือเป็น การเมืองแบบทำให้ นั่นคือเป็นการเมืองที่นักการเมือง (ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือปล้นอำนาจมา) เก็งเอาเองว่าคนกลุ่มต่างๆ น่าจะอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วก็สัญญาว่าจะให้ หรือลงมือแจกจ่ายสิ่งเหล่านั้นให้เลย

เช่นคนจนก็คงอยากได้เงิน ฉะนั้นจึงแจกเงินในรูปของบัตรสวัสดิการ แต่ในขณะเดียวกันก็หันไปบอกกับคนชั้นกลางว่า สอนคนจับปลาดีกว่าแจกปลา

ในการเมืองแบบทำให้ ประชาชนไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง แล้วนอนรอว่าสิ่งที่ตนประสงค์จะตกมาถึงมือเมื่อไร หากไม่ตกมาเสียที ก็หันไปสนับสนุนคนกลุ่มอื่นที่มีทีท่าว่าจะ ทำให้ ได้ดีกว่า

Advertisement

คนอายุน้อยที่คิดอย่างเดียวกับที่คนไทยคิดมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้วเช่นนี้ (แม้ไม่ได้ผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง) จะถือว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” ได้อย่างไร

ควรกล่าวไว้ด้วยว่า การเมืองแบบทำให้ไม่ได้ผิดในตัวของมันเอง ในภาวะที่สังคมดำเนินไปเป็นปกติ โดยไม่มีสัญญาณของความเปลี่ยนผ่านให้เห็น ธรรมชาติของมนุษย์กระมังที่ทำให้คิดว่า เพียงแค่บอกความต้องการของตนแก่อำนาจด้วยเสียงดังๆ (เสียงข้างมากในหีบบัตร) เขาก็น่าจะทำให้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประมาณ 2540 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดว่าการเมืองไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน แม้แต่ตัวรัฐธรรมนูญ 2540 เอง ก็ผ่านออกมาบังคับใช้ได้เพราะการเคลื่อนไหวอย่างใหญ่ของประชาชนในเขตเมืองทั่วประเทศ (อันเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของคนไทยส่วนใหญ่) ในขณะที่นักการเมืองในสภาขณะนั้น ต่างอภิปรายตำหนิติเตียนร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ แต่ก็ต้องจำใจยกมือสนับสนุนให้ผ่าน เพราะแรงของ การเมืองแบบทำเอง ของประชาชน

รัฐธรรมนูญ 2540 จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดของ การเมืองแบบทำเอง ในประเทศไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน อีกทั้งยังเป็นการ ทำเอง ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วย คือได้สิ่งที่เป็นความต้องการของประชาชน โดยไม่ต้องเสียเลือดเสียเนื้อของฝ่ายใดเลย

ประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวรับรองร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ประกอบด้วยคนหลากหลายวัย และนั่นคือ “คนรุ่นใหม่” ที่เห็นว่าต้องยุติ การเมืองแบบทำให้ เสียที มิฉะนั้นแล้ว การเมืองก็จะไม่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างใหญ่ไพศาลซึ่งกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย การเคลื่อนไหวครั้งนั้นและเช่นนั้นต่างหาก ที่เป็นการเคลื่อนไหวของ “คนรุ่นใหม่” และให้บทเรียนว่าเราต้องแยกระหว่างการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” กับการเมืองของ “วัยรุ่น” ออกจากกัน

หากสับสนในเรื่องนี้ ก็ไม่ต้องมีความหวังอันใดกับการเมืองไทยอีกเลย รายการทีวีที่อ้างถึงข้างต้นจบรายการลงโดยบอกด้วยว่า จากตัวอย่างของสังคมอื่น “วัยรุ่น” หรือ first voters ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งน้อย คือประมาณ 25-30% เท่านั้น นัยก็คือ first voters ไม่ใช่พลังที่มีความสำคัญทางการเมืองแบบเลือกตั้งนัก

ถึงแม้แต่สมมุติให้ first voters ไปลงคะแนน 100% คนจำนวน 6 ล้านคน ซึ่งกระจายไปในเขตเลือกตั้งอย่างกว้างขวาง จะสามารถเลือก ส.ส.ได้หนึ่งที่นั่งก็คงยาก นั่นคือเหตุผลที่พรรคการเมืองมักพยายามสร้างฐานคะแนนในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง

“คนรุ่นใหม่” ในสังคมอะไรก็ตาม จึงย่อมไม่ใช่ “วัยรุ่น” มิฉะนั้นแล้ว คำว่า “คนรุ่นใหม่” ก็ไม่ใช่พลังทางการเมืองที่ต้องคิดถึงมากนัก

แต่ “คนรุ่นใหม่” หมายถึงคนซึ่งพร้อมจะเข้าไปมีบทบาทในการเมืองแบบทำเองต่างหาก ที่เป็นพลังทางการเมืองอย่างแท้จริงของสังคมไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นขณะนี้

เมื่อพรรคการเมืองสองสามพรรคประกาศว่า หากได้รับเลือกตั้งจนได้จัดตั้งหรือมีส่วนจัดตั้งรัฐบาล จะล้มเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนที่เข้าใจว่าตนเองเป็น “คนรุ่นใหม่” จำนวนหนึ่งบอกว่านั่นเป็นความเพ้อฝัน ใครก็คงเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ร่างขึ้นเพื่อหวงอำนาจไว้กับกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งมีส่วนในการก่อรัฐประหาร ขัดขวางพัฒนาการของประชาธิปไตยไทยตราบเท่าที่คนกลุ่มนี้ยังมีอำนาจ โดยเฉพาะในกองทัพ ก็ยากที่ใครจะสามารถยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

มองจาก การเมืองแบบทำให้ ข้อเสนอนี้จึงเป็นการเพ้อฝันโดยแท้ แต่ลำพังพรรคการเมืองไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม จะมีอำนาจถึงกับพลิกผันโครงสร้างอำนาจให้เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านโดยง่ายได้อย่างไร หากปราศจากการสนับสนุนอย่างจริงจังและอย่าง “กัมมันตะ” (active) ของประชาชนในวงกว้าง ดังนั้น เมื่อมองจาก การเมืองแบบทำเอง ไม่มีความต้องการทางการเมืองอะไรของประชาชนที่เพ้อฝันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนพร้อมจะร่วมกับพรรคการเมืองเพื่อทำให้ความ “เพ้อฝัน” ของตนให้สัมฤทธิผลอย่างเป็นรูปธรรมหรือไม่

พรรคการเมืองเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่ง ซึ่งมีความพร้อมสูงกว่าอีกหลายองค์กรในสังคม ในการรวบรวมกำลังของสังคม เพื่อเคลื่อนไหวผลักดันนโยบายที่คนในสังคมใฝ่ฝัน พรรคการเมืองไม่ใช่องค์กรที่สามารถทำอะไรได้เองตามความคิดของผู้บริหาร โดยไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับประชาชนเลย ตราบเท่าที่คนไทยยังคิดว่าความประสงค์ทางการเมืองของตนจะสัมฤทธิผลได้ก็ต่อเมื่อนักการเมืองและพรรคการเมือง ทำให้ คนไทยก็ควรคาดหวังจากการเมืองเพียงเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เท่านั้น อย่าได้หวังอะไรมากไปกว่านั้นถึงขนาดประชาธิปไตย, ลดความเหลื่อมล้ำ, หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ฯลฯ เลย

การเมืองแบบทำเอง ไม่ติดอยู่กับวัยและตัวบุคคล แม้แต่คุณลักษณะส่วนตัวของผู้บริหารพรรคก็ยังมีความสำคัญไม่สู้มากนัก เราจะเชื่อถือศรัทธาต่อนโยบายที่พรรคการเมืองเสนอหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ยิ่งเป็นนโยบายที่ดูเหมือนเพ้อฝัน ก็ยิ่งขึ้นอยู่กับว่า เราแก่ตัวลงขนาดที่มีและรักษาความฝันในชีวิตไว้ได้หรือไม่ หากแก่ขนาดหมดความฝันไปเสียแล้ว เราก็ไม่ใช่ “คนรุ่นใหม่” อีกต่อไป และถึงอย่างไรก็คงดิ้นไม่หลุดจาก การเมืองแบบทำให้ ความเชื่อมั่นและนับถือตนเองมากพอเท่านั้น ที่จะบันดาลให้ “คนรุ่นใหม่” พร้อมจะลงมือทำเอง ทางการเมือง

ด้วยเหตุดังนั้น การเมืองแบบทำเองจึงเป็นการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” โดยแท้ แต่ไม่ใช่การเมืองของ “วัยรุ่น”

ที่จริงแล้ว ในยามเปลี่ยนผ่านที่สังคมไทยต้องเผชิญอยู่เวลานี้ การเมืองแบบทำให้ เสียอีก ที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการที่ชนชั้นนำจะใช้ เพื่อขัดขวางการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการเมืองและสังคมที่พวกเขาไม่ต้องการ เขาจะดูแลให้แผนยุทธศาสตร์ชาติดำเนินไปตามเป้าประสงค์ ให้ เขาจะดูแลบ้านเมืองให้ไม่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงให้ เขาจะไม่ปล่อยให้ประชาธิปไตยเข้ามาทำลายความเป็นไทย ให้ และจะทำอะไรที่คาดว่าเป็นความต้องการของประชาชน ให้ อีกหลายอย่าง

การต่อสู้ทางการเมืองของไทยในช่วงนี้ คือการต่อสู้ระหว่างการเมืองแบบทำให้กับการเมืองแบบทำเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าหรือไม่ หากเราหวังจะบรรลุถึงการเมืองของระบอบประชาธิปไตย ที่ยอมรับความเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคน ก็อย่าหวังให้มีใครอื่นมาทำให้ ไม่ว่าจะทำให้ด้วยการยึดอำนาจซ้ำ หรือทำให้ผ่านหีบบัตรเลือกตั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image