การคว่ำบาตรอิหร่านครั้งที่สองของสหรัฐอเมริกา โดย : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

โครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านดำเนินการร่วม 60 ปีแล้ว พร้อมๆ กับประเทศไทยของเรานั่นแหละ โดยเป็นโครงการนิวเคลียร์เพื่อสันติไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาเป็นอาวุธนิวเคลียร์แต่อย่างใด แต่ภายหลังการเกิดเหตุผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพุ่งเข้าชนตึกเวิลด์เทรดในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2544 (9/11) สหรัฐอเมริกาสืบทราบว่าอิหร่านลักลอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และสนับสนุนผู้ก่อการร้าย จึงได้ขอให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) เข้าไปตรวจสอบโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านอยู่ในระดับที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ แม้อิหร่านจะอ้างมาโดยตลอดว่า เป็นโครงการเพื่อสันติและหวังผลในแง่ของการใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน

จนในที่สุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเมื่อ พ.ศ.2558 เหตุการณ์ในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอิหร่านอย่างหนัก จนทำให้อิหร่านต้องยอมเจรจากับกลุ่มชาติมหาอำนาจ ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย จีน และเยอรมนี เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร อิหร่านก็ยอมลงนามในข้อตกลงแผนปฏิบัติการร่วมที่สมบูรณ์แบบในระยะยาว (JCPOA) วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2558

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว อิหร่านให้สัญญาว่าจะทำการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นสูงสุดไม่เกิน 3.67% เป็นเวลา 15 ปี ซึ่งความเข้มข้นระดับดังกล่าวเพียงพอสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ไม่เพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ นอกจากนี้ อิหร่านสัญญาว่าจะไม่สร้างโรงงานเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมแห่งใหม่เป็นเวลา 15 ปี และจะลดปริมาณยูเรเนียมเสริมสมรรถนะในคลังจาก 10,000 กิโลกรัม ให้เหลือ 300 กิโลกรัม ในช่วงระยะเวลา 15 ปี
และยอมให้สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล เข้าตรวจสอบโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านทั้งหมดอีกด้วย

ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านใน พ.ศ.2558 ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของรัฐบาลสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดีโอบามาทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรบางส่วนต่ออิหร่านซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรอุตสาหกรรมน้ำมัน การส่งออกเครื่องบิน การซื้อขายทองคำและโลหะอันมีค่าและอนุญาตให้รัฐบาลอิหร่านซื้อธนบัตรและพันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์ได้ (เนื่องจากเงินสกุลนี้เป็นเงินตราที่ยอมรับมากที่สุดในโลก)

Advertisement

ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ออกมาแสดงท่าทีในด้านบวก โดยสหภาพยุโรป (EU) ก็ได้ยอมยกเลิกมาตรการ คว่ำบาตรทางการเงินและเศรษฐกิจต่ออิหร่าน จะมีก็แต่อิสราเอลเท่านั้นที่แสดงจุดยืนชัดเจนที่ไม่ยอมเชื่อถือว่าอิหร่านจะรักษาสัญญาตามข้อตกลงนิวเคลียร์ และอิหร่านก็ได้ทำการทดลองยิงขีปนาวุธ 2 ครั้ง นับตั้งแต่มีการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยอิหร่านอ้างว่าการทดสอบขีปนาวุธเป็นการซ้อมรบของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่านซึ่งฟังไม่ขึ้น

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้คว่ำบาตรชาวอิหร่าน 13 คน และองค์กร 12 แห่ง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการลงโทษที่อิหร่านทำการทดลองยิงขีปนาวุธ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าสหรัฐอเมริกาจะยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่อิหร่านทำไว้กับ 6 ชาติมหาอำนาจแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวว่า ข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับนี้เป็นข้อตกลงที่เลวที่สุดเปรียบประดุจการให้กำลังแก่อิหร่านในการขยายการทำสงครามและสนับสนุนการก่อการร้ายได้สะดวกขึ้น

ดังนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้คว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2561 ทั้งต่อภาคการเงินและอุตสาหกรรมของอิหร่าน คือ 1) ห้ามการซื้อหรือได้มาของธนบัตรดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลอิหร่าน 2) ห้ามการค้าทองและโลหะมีค่าอื่นๆ ของอิหร่าน 3) ห้ามการซื้อแกรไฟต์ อะลูมิเนียม เหล็ก ถ่านหิน และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในกระบวนการทางอุตสาหกรรม 4) ห้ามการซื้อขายที่มีความเกี่ยวข้องกับเงินเรียลของอิหร่าน 5) ห้ามกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกตราสารหนี้ของรัฐบาลอิหร่าน 6) คว่ำบาตรอุตสาหกรรมยานยนต์ของอิหร่าน

Advertisement

การคว่ำบาตรอิหร่านรอบแรกนี้สหรัฐอเมริกามีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นรัฐบาลอิหร่านในการเข้าซื้อสกุลเงินดอลลาร์, การทำธุรกรรมในเงินตราสกุลเรียลของอิหร่านในบัญชีธนาคารระหว่างประเทศ การออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน รวมทั้งทำการซื้อขายทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านหิน อะลูมิเนียม และเหล็ก เพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมและรถยนต์

จากนั้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ที่จะถึงนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเป็นรอบที่สองที่มีแนวโน้มสร้างความเสียหายอิหร่านมากขึ้น โดยจะพุ่งเป้าไปยังการทำธุรกรรมของธนาคารกลาง การส่งออกน้ำมันของอิหร่านที่กำลังการผลิตถึงวันละ 4.5 ล้านบาร์เรล และการขนส่งสินค้าทางเรือของอิหร่าน คือ 1) คว่ำบาตรผู้ประกอบการในส่วนท่าเรือ พลังงาน การขนส่งทางเรือ และการผลิตเรือของอิหร่าน 2) คว่ำบาตรการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปิโตรเลียมของอิหร่าน 3) คว่ำบาตรการติดต่อซื้อขายระหว่างองค์กรทางการเงินต่างชาติกับธนาคารกลางของอิหร่าน

ตลอดช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาการที่อิหร่านต้องเผชิญกับคำขู่คว่ำบาตรจากสหรัฐ ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเรียลของอิหร่านที่ต้องลดค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเงินเรียล ดิ่งลงแตะระดับ 101,000 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ เป็นการอ่อนค่าลงถึง 58,000เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ หรือเป็นการดิ่งลงถึง 135% ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือน เมื่อเทียบกับระดับ 43,000 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ เมื่อเดือนมกราคมปีนี้

ด้วยอิทธิพลของเงินดอลลาร์ซึ่งถือว่าเป็นเงินตราของโลกทำให้บริษัทนานาชาติหลายบริษัทได้ประกาศว่าจะหยุดการดำเนินการในตลาดอิหร่านแล้วและหลายประเทศได้แสดงท่าทีว่าจะลดหรือยกเลิกการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน เป็นการกดดันให้อิหร่านต้องหยุดพฤติกรรมที่คุกคามสันติภาพด้วยการขยายขอบเขตของสงครามและให้การสนับสนุนแก่กลุ่มผู้ก่อการร้าย และกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก หรือจะถูกโดดเดี่ยวทางด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ออกแถลงการณ์ร่วมกับสหภาพยุโรป (อียู) โดยระบุว่าข้อตกลงนิวเคลียร์ที่กำลังดำเนินการกันอยู่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับความมั่นคงของโลกซึ่งประเทศทั้งสามและสหภาพยุโรปได้เปิดเผยถึง “ข้อบังคับสกัดกั้น” (blocking statute) ที่จะช่วยปกป้องบริษัทยุโรปที่ไปลงทุนทำธุรกิจกับอิหร่านไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาดังที่เคยทำมาแล้วจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่อคิวบา และยังทำความตกลงร่วมมือกับรัสเซียและจีนเพื่อช่วยเหลืออิหร่านจากการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอเมริกาผู้ไม่ประสงค์จะเปิดเผยชื่อกล่าวว่า สหรัฐอเมริกามิได้กังวลเป็นพิเศษกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรที่ช่วยอิหร่านจากการคว่ำบาตรอิหร่านในครั้งนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตด้วยว่าอิหร่านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก นับจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวจากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคม ปีนี้อิหร่านก็ได้รับความเสียหายเกือบร้อยละ 80 ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image