‘ความเงียบ’ คือ ‘ทองคำ’ โดย : กล้า สมุทวณิช

หากใครเคยไปใช้ชีวิตใน “เมืองฝรั่ง” โดยเฉพาะฝั่งยุโรปสักระยะหนึ่ง คงเคยมีคัลเจอร์ช็อกเล็กๆ เกี่ยวกับความเคร่งครัดในเรื่อง “เสียง” ของผู้คน โดยเฉพาะในยามวิกาล

แม้แต่ว่าจะไม่ได้ก่อเสียงดังร้ายแรงอะไรตามมาตรฐานเรา เอาแค่เสียงเล็กๆ น้อยๆ เช่นการ “กดชักโครก” ในอาคารรวมเช่นหอพักหรืออพาร์ตเมนต์ก็เป็นเรื่องต้องห้ามหลังเวลา 22 นาฬิกา ที่อาจจะถูกร้องเรียนได้เป็นเรื่องปกติ และก็ไม่ต้องพูดถึงกรณีของเสียงที่ดังและรบกวนกว่านั้น เช่นเสียงเพลงหรือการจัดปาร์ตี้ ซึ่งอาจถูกเพื่อนบ้านเรียกตำรวจมาเคาะห้องตักเตือนหรือดำเนินคดีกันได้ ก่อนที่เราเอาฝรั่งพวกนั้นไปนินทาอย่างพิศวงงงใจว่า ทำไมช่าง “เรื่องเยอะ” กับเสียงกันขนาดนี้

มีคำพังเพยแต่ก่อนเก่าที่ตรงกันทั้งภาษาไทยและภาษาฝรั่ง คือ “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” อย่างในภาษาอังกฤษว่า “speech is silver, silence is golden.” ซึ่งในความหมายโดยแท้จริงนั้นหมายถึงว่าในหลายสถานการณ์ การไม่พูดอะไรเลยนั้นมีค่า (หรือไม่ทำให้เสื่อมค่า) ยิ่งกว่าคำพูดเสียอีก

หากในบริบทที่จะชวนพิจารณากันในอีกแง่หนึ่งของ “ความเงียบนั้นเป็นทอง” นั้นคือว่า การที่เราสามารถ “ร้องขอความเงียบ” ได้นั้น อาจจะมีราคากว่าที่เราคิด หรืออาจกล่าวได้ว่า ในสังคมเมืองปัจจุบัน การเลือกที่จะได้อยู่กับความเงียบได้นั้น เป็นเรื่องของความ “หรูหรา” ในระดับหนึ่งทีเดียว

Advertisement

เพราะหากลองทบทวนแล้ว มันไม่ง่ายนัก ที่เราอยากให้โลกรอบตัวเราเงียบเสียงได้ดังใจเรา โดยใครที่ทำได้ อาจจะต้องมีสิทธิอำนาจบางประการ เช่น ถ้าหากคุณเป็นพนักงานในบริษัทสักแห่งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยากจะนั่งทำงานเงียบๆ สงบๆ คุณจะมีทางเลือกอย่างไรบ้าง

โดยสมบูรณ์ที่สุด คือคุณต้องเป็นผู้บริหารระดับที่มีห้องทำงานส่วนตัวและมีบารมีอำนาจพอที่ให้ผู้คนรอบข้างไม่อาจทำเสียงรบกวนได้หากคุณไม่อนุญาต ชั้นรองลงมา คือความสามารถที่จะขอสถานที่มุมทำงานที่เงียบสงบได้ หรือแม้แต่ขอปลีกตัวออกไปหาความวิเวกได้โดยผู้ที่อยู่เหนือกว่าไม่ขัดข้อง

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเรื่องของสิทธิที่มาจากอำนาจบางประการทั้งสิ้น ส่วนระดับสุดท้ายนั้น คือไปหาหูฟังที่มีระบบตัดเสียงรบกวน (Noise Canceling) มาใช้ ซึ่งหูฟังที่ว่าก็มีราคาสูงประมาณหนึ่ง (ยิ่งดีมากยิ่งแพงขึ้น) แต่นั่นคือคุณต้องมีสิทธิขั้นต่ำสุดที่ยังอนุญาตให้คุณใส่หูฟังทำงานและปฏิเสธการรบกวนได้บางระดับ เพราะหากคุณเป็นแคชเชียร์ร้านสะดวกซื้อหรือทำงานนั่งเคาน์เตอร์บริการแล้วก็เป็นอันว่าจบกัน

Advertisement

หรือสำหรับความเงียบในความเป็นอยู่ส่วนตัว การได้อยู่ในย่านหรืออาคารที่เงียบสงบนั้นแปรผันตรงตามราคาที่คุณพอจะจ่ายได้สำหรับที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะซื้อหรือเช่า หากคุณจะต้องเช่าอพาร์ตเมนต์หรือหอพักใกล้ที่ทำงาน คุณไม่มีวันได้รับความเงียบที่สมบูรณ์ได้ง่ายนัก หากจะกล่าวลึกลงในรายละเอียดจะยิ่งชัดเจนว่าระดับความเงียบที่คุณเรียกร้องเอาได้นั้นสัมพันธ์กับความสามารถทางเศรษฐกิจจริงๆ เช่นถ้าคุณอยู่ในย่านของคนทำงานรายวันหรือทำงานเป็นกะ ซึ่งแต่ละคนมีเวลานอนไม่ตรงกัน กับห้องที่ผนังบางแม้แต่เสียงผายลมก็ยังได้ยินถึงกันแล้ว คุณจะเรียกร้องความเงียบที่ว่านั้นได้ยากเหลือเกิน จนกว่าที่คุณจะมีความสามารถย้ายไปอยู่ในหมู่บ้านหรือคอนโดชั้นดีอันสงบสุข

หากจะกล่าวไป ปัญหาเรื่อง “สิทธิในความเงียบ” นั้นเป็นปัญหาของคนชั้นกลางชาวเมืองในชีวิตแบบธุรกิจและอุตสาหกรรม นั่นเพราะในสังคมชนบท ความเงียบนั้นไม่ใช่แค่เหลือเฟือเพียงเดินเข้าไปในทุ่งนาป่าละเมาะเท่านั้น แต่คุณแทบไม่ต้องการ “ความเงียบ” ไปเพื่ออะไรเลย

เพราะที่เราต้องการ “ความเงียบ” นั้นก็เพื่อการพักผ่อนหรือสงบจิตสงบใจเพื่อสร้างประสิทธิภาพประสิทธิผลในการทำงาน หรือแม้แต่ในการนอนหลับพักผ่อนประจำวัน ซึ่งนอกจากจะต้องทำเป็นเวลาโดยเคร่งครัดแล้ว เราส่วนใหญ่ยังมีเวลาเพื่อการนอนลดน้อยลงทุกที หากคุณเลิกงานแล้วกลับถึงบ้านหลังสองทุ่มด้วยเหตุสภาพจราจร และต้องออกไปบนท้องถนนใหม่ก่อน 6 โมงเช้า เวลาที่คุณพอจะนอนได้ก็คือช่องว่างระหว่างขอบเวลาดังกล่าว และในช่วงเวลาแห่งการพักผ่อนในห้วงนิทรานั้น คนส่วนใหญ่เรียกร้องต้องการความเงียบด้วยกันทั้งสิ้น

หรือต่อให้คุณทำงานไม่ประจำที่ถึงไม่มีขอบเวลาตายตัว แต่ด้วยรูปแบบการทำงานเช่นนั้น มันก็ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “ช่วงเวลาทองคำ” ที่คุณจะทำงานได้มากได้ดีเป็นพิเศษยิ่งกว่าช่วงเวลาไหนอื่นของแต่ละวัน ดีไม่ดีช่วงเวลาทองคำนี้ มีคุณค่าต้องหวงแหนยิ่งกว่าเวลาเข้างานของคนทำงานประจำเสียอีก ดังนั้น นอกจากคุณจะต้องการ “ความเงียบ” ไว้เพื่อการพักผ่อนในช่วงที่ไม่ใช่เวลาทองคำแล้ว ในระหว่างเวลาทำงานนั้น คุณก็ต้องการความเงียบระดับที่คุณสามารถคงสภาพการทำงานอันลื่นไหลนั้นไว้ได้

ที่กล่าวมาทั้งสิ้นนั้นคือเรื่องของ “ความเงียบ” อันจำเป็น และก็ยังมี “ความเงียบสงบอันหรูหรา” สำหรับรูปแบบการใช้ชีวิตได้ด้วย หากใครอ่านบทความ หนังสืออะไรในแนวทางของการใช้ชีวิตแบบง่ายงาม คงจะผ่านตาเรื่องคุณค่าของความเงียบ การได้อยู่กับตัวเองในความคิด อยู่ในความเงียบที่ปลอดจากการรบกวนใดๆ

ความเงียบจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของสิทธิส่วนบุคคล เป็นอำนาจของปัจเจกชนแต่ละคนในการเรียกร้องความเงียบไว้สำหรับตัวเอง หรือกล่าวในอีกทางหนึ่ง สิทธิในการร้องขอความเงียบนั้น คือการขอตัดขาดออกจากสังคมในบางช่วงเวลาที่เราเลือกได้ นั่นเพราะในความเงียบนั้น ผู้เดียวที่จะทำลายสภาพอันสงบนั้นได้ก็มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะก่อให้เกิดเสียงใดขึ้นมา การปลอดจากเสียงคือการปลอดจาก “คนอื่น” ส่วนเรื่องเสียงในธรรมชาตินั้นก็อาจจะเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ (แต่ก็เช่นนั้นเอง ความสามารถในการได้เลือกว่าจะอยู่ในสถานที่เงียบหรือไม่ นั้นขึ้นกับอำนาจทางใดทางหนึ่งเช่นที่กล่าวไปแล้วเบื้องต้น)

ในสังคมยุคใหม่ เราจึงได้เห็นการต่อสู้เรียกร้อง “สิทธิในความเงียบ” กันมากขึ้น หลายปีก่อนหากใครจำได้ มีใครกลุ่มหนึ่งเรียกร้องสิทธิแห่งความเงียบในขบวนรถไฟฟ้า ที่ตั้งแต่ขณะนั้นจนปัจจุบันถูกแทรกแซงรบกวนด้วยสื่อโฆษณาภาพและเสียง ข้อเรียกร้องนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องของพวกคนสุนทรีย์เรื่องเยอะ จึงไม่เป็นผลได้รับการพิจารณาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ความเงียบอันเรียกร้องนี้จึงเป็นความหรูหรา และอาจจะออกเป็นปัญหาของสังคมที่ทันสมัยทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ความคิด และวัฒนธรรม การยอมรับในเรื่อง “สิทธิในความเงียบ” ในสังคมไทยปัจจุบันนี้จึงอยู่ในระดับต่ำกว่าสิทธิความเป็นส่วนตัว สิทธิที่จะถูกลืม
หรือสิทธิเลือกตั้งเป็นไหนๆ

ถึงกระนั้นเราก็เริ่มมีการเรียกร้องสิทธิในความเงียบหรือความสงบกันอย่างเป็นปัจเจก และนั่นทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างผู้ที่เรียกร้องสิทธินี้ และฝ่ายที่คิดว่าสิทธินี้นั้นไม่มีจริง ตัวอย่างที่หลายคนคงรับรู้และอาจจะมีประสบการณ์ที่เจ็บปวดกับเพื่อนบ้านที่ล่วงเกินสิทธิแห่งความเงียบนี้ทั้งแบบเป็นประจำต่อเนื่อง เช่นการประกอบกิจการที่ส่งเสียงดังแทบจะตลอดเวลา การเลี้ยงสัตว์ส่งเสียงไว้จำนวนมาก หรือแม้แต่การส่งเสียงดังในครอบครัวเป็นกิจวัตร หรือการรบกวนแบบนานๆ ถี่ เช่น การจัดปาร์ตี้หรือคาราโอเกะตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง

แม้ในทางกฎหมาย เราจะมีสิทธิเรียกร้องขอให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาจัดการเหตุเดือดร้อนรำคาญทางเสียงได้เช่นเดียวกับในประเทศที่เจริญแล้วตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อมหรือการสาธารณสุข แต่ในทางปฏิบัติแล้ว โอกาสที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีงานล้นมือแล้วจะ “เอาธุระ” ให้เรานั้นมีน้อยเต็มที หรือต่อให้เขายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ก็ใช่จะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด และคุณก็อาจจะกลายเป็นตัวประหลาดเรื่องมากในละแวกบ้าน ตราบใดที่สิทธิในความเงียบนั้นไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นกฎหมายในเชิงความรู้สึกของคนส่วนมาก

และไม่ต้องพูดถึงว่า หาก “สิทธิในความเงียบ” นั้นไปขัดกับ “สาธารณชน” หรือคนส่วนใหญ่ สิทธินั้นก็จะถูกละเมิดได้เหมือนเทียนน้อยถูกลมเป่า หากคุณเรียกร้องสิทธิในความเงียบเอาในช่วงเทศกาลหรือลอยกระทง คำตอบของทางบ้านเมืองคือ นั่นเป็นปัญหาของคุณที่จะต้องอดทน
กับประเพณีเทศกาลของคนส่วนใหญ่

หรือแม้แค่ว่าคุณอยากอยู่เงียบๆ แต่มีคอนเสิร์ตมาเล่นข้างที่พัก ก็เป็นคุณที่จะต้องเป็นฝ่ายอดทนเสียสละสิทธิในความเงียบ เพื่อสิทธิของคนส่วนใหญ่ที่จะได้รับความบันเทิงกันไป แบบเรียกร้องเอาแก่ใครได้ยาก

ในทางหลักการแล้ว มันมีสิทธิหลายอย่างที่ไม่ว่าจะเป็นคนส่วนใหญ่เพียงใด ก็ไม่สามารถละเมิดต่อสิทธินั้นของปัจเจกชนแม้แต่คนเดียวได้ อย่างสิทธิในชีวิตร่างกาย พูดง่ายๆ คือเราจะอ้างเทศกาลสงกรานต์แล้วลวนลามคน หรือใช้เสียงข้างมากรุมกระทืบใครตายไม่ได้ แต่สิทธิในความเงียบนั้นไม่ได้จัดอยู่ในชั้นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรกับคำพูดของผู้ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาให้เป็นผู้ว่าการนครหลวงที่ให้คนรำคาญกับเสียงระฆังวัดที่เป็นประเด็นสังคมกันในสัปดาห์ที่แล้วนั้นย้ายไปอยู่ที่อื่นง่ายกว่า

แท้แล้ว “ดราม่า” เรื่องระฆังวัดกับคอนโดนั้น คือการปะทะกันระหว่างสิทธิในความเงียบอันเป็นส่วนตัวของปัจเจกชนและเสรีภาพของคนส่วนมาก ทั้งยังซับซ้อนเข้าไปอีกเมื่อมีเรื่องของศาสนาและความเชื่อเข้ามาปนเป อีกไม่เท่านั้นก็ยังเป็นความขัดแย้งกันในเชิงความคิดของผู้คนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอีกด้วย นั่นคือวัฒนธรรมที่มองเห็นว่าสิทธิในความเงียบนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงและบุคคลอาจเรียกร้องได้ กับความคิดที่มองว่าการเรียกร้องขอความเงียบนั้นเป็นเรื่องของคนเรื่องมาก เป็นปัญหาของคนมีสตางค์ประสาทหูอ่อน (ซึ่งถูกชี้นำด้วยการใช้คำเรียกคอนโดที่เกิดเหตุว่า “คอนโดหรู”) คนเพี้ยน หรือฝรั่งจู้จี้

เช่นนี้ในสังคมเรา “ความเงียบ” นั้นจึงเป็น “ทองคำ” ที่คุณจะต้องซื้อหาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าจะตรงไปตรงมาด้วยเงินทอง หรือโดยอิทธิพลอำนาจบางอย่างที่สามารถต่อตรงเข้าสู่อำนาจรัฐที่จะเรียกร้องความเงียบให้เกิดกับคุณได้ในยามที่ต้องการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image