Cloud Lovers : เหตุใดญี่ปุ่นจึงถูกพายุไต้ฝุ่นโจมตีบ่อยๆ? : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ใครๆ ก็รู้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติค่อนข้างบ่อย แต่ปี ค.ศ.2018 นี้ดูเหมือนจะหนักเป็นพิเศษ เพราะว่ามีทั้งแผ่นดินไหวที่เมืองโอซากา (18 มิถุนายน) และเกาะฮอกไกโด (6 กันยายน) ฝนตกหนักครั้งประวัติศาสตร์ ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินโคลนถล่ม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 225 คน (ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม) และ คลื่นความร้อนพิฆาต ซึ่งไม่เพียงแค่ทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในภาพรวมของญี่ปุ่นและอุณหภูมิสูงสุดของกรุงโตเกียว แต่ยังคร่าชีวิตคนญี่ปุ่นไปอย่างน้อย 80 คน และอีกกว่า 22,000 คน ต้องถูกส่งเข้าโรงพยาบาล

แต่ที่เป็นข่าวอย่างต่อเนื่องคือ พายุไต้ฝุ่น ที่เข้าโจมตีญี่ปุ่นลูกแล้วลูกเล่า ทั้งแบบซัดเข้าจังๆ และแบบเข้ามาเฉียดแต่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

หากนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคม มีพายุไต้ฝุ่นที่เล่นงานญี่ปุ่นแล้วถึง 9 ลูก ได้แก่ พระพิรุณ (Prapiroon) มาเรีย (Maria) ชงดารี (Jongdari) ชานชาน (Shanshan) ซูลิก (Soulik) ซีมารอน (Cimaron) เชบี (Jebi) จ่ามี (Trami) และกองเร็ย (Kong-rey)

Advertisement

ภาพที่ 1 แสดงเส้นทางพายุไต้ฝุ่น 7 ลูกแรกในปี ค.ศ.2018 ยังไม่รวมพายุไต้ฝุ่นจ่ามี (20 กันยายน ถึง 1 ตุลาคม) และพายุไต้ฝุ่นกองเร็ย (28 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม)

ภาพที่ 1 : พายุไต้ฝุ่น 7 ลูกที่มีผลกระทบต่อญี่ปุ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง 25 กันยายน ค.ศ.2018

ถึงตรงนี้ มีแง่มุมบางอย่างที่น่ารู้และช่วยให้เข้าใจคมชัดขึ้น ดังนี้ครับ

ประการแรก ถ้าคิดตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน ค.ศ.2018 จนถึงราวต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.2018 โดยนับรวมพายุดีเปรสชั่นและพายุโซนร้อนร่วมด้วย (นั่นคือ นับพายุหมุนเขตร้อนทั้งหมดที่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น) จะพบว่ามีทั้งสิ้น 16 ลูก เป็นพายุไต้ฝุ่น 9 ลูกที่ว่ามาแล้ว ส่วนอีก 7 ลูก แบ่งเป็นพายุโซนร้อน 6 ลูก และพายุดีเปรสชั่น 1 ลูก

ประการที่สอง ช่วงเวลาในแต่ละปีที่ญี่ปุ่นโดนพายุไต้ฝุ่นเล่นงาน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม โดยช่วงเดือนที่พีคสุดคือ สิงหาคมและกันยายน

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะพายุหมุนเขตร้อนที่ถล่มญี่ปุ่นจะเกิดในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก (West Pacific) ซึ่งหากเราดูสถิติที่ผ่านมา จะพบว่าทั้งซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นล้วนเกิดบ่อยในเดือนสิงหาคมและกันยายนนั่นเอง ดูภาพที่ 2 ครับ

ภาพที่ 2 : ความถี่การเกิดซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ไต้ฝุ่นและพายุโซนร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก
สำหรับแต่ละเดือนในช่วงปี ค.ศ.1959-2010

ประการที่สาม พายุไต้ฝุ่นบางลูก เช่น พายุไต้ฝุ่นพระพิรุณ ได้ “ผนึกกำลัง” กับแนวปะทะอากาศคงที่ ทำให้ปริมาณน้ำฝนมากมายท่วมท้นจนกลายเป็นฝนตกหนักครั้งประวัติศาสตร์ เกิดน้ำท่วมหนักและดินโคลนถล่มรุนแรง

ประการที่สี่ พายุไต้ฝุ่นที่รุนแรงที่สุดในปีนี้ และพุ่งถล่มญี่ปุ่นแบบจังๆ (นับจนถึงต้นเดือนตุลาคม ค.ศ.2018) ได้แก่ พายุไต้ฝุ่นเชบี ซึ่งสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 2 พัน 3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ พายุลูกนี้ก่อตัวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ขึ้นฝั่งญี่ปุ่น 4 กันยายน และสลายตัวในวันที่ 7 กันยายน

อาจมีคุณผู้อ่านบางท่านสงสัยว่า เหตุใดญี่ปุ่นถึงโดนพายุหมุนเขตร้อน (ซึ่งบางครั้งรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่น) เล่นงานบ่อยๆ ทุกปี?

ลองดูภาพรวมของเส้นทางพายุหมุนเขตร้อนในภาพที่ 3 ก่อนครับ จะเห็นว่าพายุก่อตัวขึ้นเหนือพื้นมหาสมุทรเสมอ ส่วนทิศทางการเคลื่อนที่ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สนามของลมแวดล้อมโดยรอบ บริเวณความกดอากาศที่อยู่ใกล้ๆ การเลื่อนบีตา และลมเฉือน ดังที่ได้อธิบายไว้ในบทความ “พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนไปไหน อะไรกำหนด?” ที่ www.matichon.co.th/article/news_1161650

หากพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวห่างจากญี่ปุ่นค่อนไปทางใต้ค่อนข้างมาก และเคลื่อนที่ไปในทิศตะวันตกเป็นหลัก ก็มักจะไม่ส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่น

แต่หากพายุหมุนเขตร้อนซึ่งก่อตัวห่างจากญี่ปุ่นค่อนไปทางใต้ แต่จากนั้นเคลื่อนที่โดยเลี้ยววกขึ้นเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ ก็อาจพุ่งเข้าหาหรือพุ่งเฉียดญี่ปุ่นได้ (ต้องไม่ลืมว่าพายุหมุนเขตร้อนอาจมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กสุดหลายสิบกิโลเมตร จนถึงใหญ่สุด 2,000 กิโลเมตร! ดังนั้น บางลูกที่แค่เฉียดก็อาจส่งผลกระทบได้ด้วยเช่นกัน)

ภาพที่ 3 : เส้นทางพายุหมุนเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก
ช่วงวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.2017 ถึงปลายเดือนกันยายน ค.ศ.2018

ยกตัวอย่างกรณีพายุไต้ฝุ่นก็องเรย (28 กันยายน-8 ตุลาคม ค.ศ.2018) พบว่าความกดอากาศสูงซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพายุนี้ ได้ทำให้พายุหมุนลูกนี้เคลื่อนที่เลาะไปตามขอบของความกดอากาศสูง นั่นคือ เคลื่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ จนเมื่อถึงด้านตะวันตกของความกดอากาศสูง พายุหมุนจึงเปลี่ยนทิศทางขึ้นเหนือ แล้วเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นฝั่งที่เกาหลี แต่ส่งผลกระทบต่อบางส่วนของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญคือ การที่ญี่ปุ่นประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย ก็หมายถึงว่าไม่มีพื้นแผ่นดินของประเทศอื่นมาช่วยกั้นพายุให้ลดความรุนแรงลงเมื่อพายุขึ้นฝั่ง

เกณฑ์คร่าวๆ ที่ใช้ระบุว่าปีใดมีพายุไต้ฝุ่นมากหรือน้อยก็คือ ดูที่ระยะห่าง 300 กิโลเมตร กล่าวคือ ในแต่ละปีหากมีพายุไต้ฝุ่นเข้าใกล้ญี่ปุ่นในระยะดังกล่าวตั้งแต่ 12 ลูกขึ้นไป ก็ถือว่าปีนั้น “มีพายุไต้ฝุ่นมาก” แต่ถ้ามี 8 ลูกหรือน้อยกว่า ก็ถือว่าปีนั้น
“มีพายุไต้ฝุ่นน้อย”

ทั้งนี้ข้อมูลในบทความ Typhoons in Japan ระบุว่า แต่ละปีจะมีพายุไต้ฝุ่น 10.3 ลูก โดยเฉลี่ยเข้ามาในระยะดังกล่าว และแต่ละมีพายุไต้ฝุ่นขึ้นฝั่งญี่ปุ่นโดยเฉลี่ย 2.6 ลูกครับ (ตัวเลขสถิติจะเปลี่ยนไปได้บ้างเมื่อเวลาผ่านไป)

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำข้อมูล Typhoons in Japan ใน Facts and Details
ที่ http://factsanddetails.com/japan/cat26/sub160/item856.html

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image