รื่นร่มรมเยศ : พระไตรปิฎกกับนักการเมือง : โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก

เคยเชื่อกันว่า พระไตรปิฎกเป็นเรื่องของพระสงฆ์เท่านั้น ชาวบ้านไม่เกี่ยวข้อง ถ้าอยากจะรู้อะไรก็ให้พระสงฆ์ท่านเทศน์สอนอีกต่อหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่อย่างนั้นแล้วครับ

ชาวบ้านอย่างพวกเราสนใจพระไตรปิฎกเพิ่มมากขึ้น อดีตเจ้าหน้าที่กรมการศาสนาคนหนึ่ง ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐเล่าให้ฟังว่า เมื่อเปิดให้ประชาชนสั่งจองพระไตรปิฎก จำนวนผู้สั่งจองสมัยก่อนมีอยู่สองประเภทคือ ประเภทที่หนึ่งสั่งซื้อเพื่อนำไปถวายวัด ประเภทที่สองสั่งซื้อเพื่อนำไปบริจาคแก่ห้องสมุดต่างๆ แต่ช่วงหลังๆ มีเพิ่มอีกประเภทหนึ่งคือ ผู้สั่งซื้อไว้สำหรับศึกษาค้นคว้าเป็นส่วนตัว ซึ่งได้แก่นักศึกษา ประชาชน และนักวิชาการทั่วไป และนับวันจะมีมากขึ้น

จนกระทั่งพระไตรปิฎกที่กรมการศาสนาสั่งพิมพ์ไว้นั้นไม่พอขาย เดี๋ยวนี้ถึงจะกำเงินหมื่นเงินแสนไปซื้อก็ซื้อไม่ได้เพราะขาดตลาดมานานแล้ว

ที่พอหาได้ในขณะนี้ก็คือ พระไตรปิฎกชุดที่มหามกุฎราชวิทยาลัยจัดพิมพ์ ชุดนี้ใหญ่เป็นพิเศษ เพราะรวมแปลทั้งบาลีพระไตรปิฎกและอรรถกถาไว้ด้วยกัน ราคาชุดละ 2 หมื่นกว่าบาท ยังมีผู้ใฝ่การศึกษาซื้อหาไปอ่านอยู่เรื่อยๆ

Advertisement

ยิ่ง “พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน” ที่ อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ รวบรวมด้วยแล้ว ขายดิบขายดี

นี้แสดงว่าแนวโน้มของผู้สนใจศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้าจากคัมภีร์อันเป็นต้นเดิมมีเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นการดีกว่าจะไปจดจำจากปากเกจิอาจารย์เจ้าสำนัก ซึ่งบางรายก็ไม่ค่อยได้เปิดพระไตรปิฎกด้วยซ้ำ ตีความพุทธวจนะบิดเบี้ยวเข้าข้างตัวตามใจชอบ

บางรายกล่าวว่า ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั้น ทรงสอนระดับพื้นฐานเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า ทุกอย่างเป็นนิจจัง เป็นสุขัง และเป็นอัตตา อย่างนี้ก็มี คนพวกนี้ต้องจับมานั่งอ่านพระไตรปิฎกใหม่ ถ้าตายไปแล้วก็จงมาเกิดใหม่ มาศึกษาเสียให้เข้าใจ

Advertisement

ชื่อ “ติปิฎก” (พระไตรปิฎก) เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธองค์เสด็จขันธ์ปรินิพพานแล้ว สมัยพุทธกาลนั้นยังไม่มีการรวบรวมคำสอนเป็นหมวดหมู่ พระสาวกที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาช่วยกันจำไว้ พระสารีบุตรอัครสาวก ได้เริ่มรวบรวมไว้เป็นบางส่วนแต่ยังไม่เสร็จท่านก็ดับขันธ์เสียก่อน หลังจากพุทธปรินิพพานได้สามเดือน พระอรหันต์ 500 รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประมุขได้ร่วมกัน “ร้อยกรอง” เป็นหมวดหมู่เฉพาะส่วนที่เป็นพระวินัยและพระธรรม (พระสูตร) แล้วถ่ายทอดกันมาโดยระบบท่องจำ

พอถึงราวพุทธศตวรรษที่สาม ส่วนที่เป็นพระอภิธรรมได้ถูกร้อยกรองเพิ่มขึ้น คำสอนของพระพุทธเจ้า จึงมีสามส่วน เรียกว่า “ติปิฎก” (พระไตรปิฎก) ตั้งแต่บัดนั้นมา และได้รับการจารเป็นลายลักษณ์อักษรเมื่อ พ.ศ.450 ที่ประเทศศรีลังกา ภาษาที่จารพระพุทธวจนะเรียกว่า “ปริภาสา” (ภาษาบาลี) ซึ่งก็เพิ่งจะมาเรียกกันทีหลัง ก่อนนั้นเรียกว่าอะไร นักวิชาการทางพระพุทธศาสนายังเถียงกันอยู่

พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เราเพิ่งแปลเสร็จเมื่อคราวฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษมานี้เอง ในขณะที่ฝรั่งที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา (สมาคมบาลีปกรณ์ ประเทศอังกฤษ) เขาแปลก่อนเราตั้งเกือบศตวรรษ และสำนวนแปลของเขาใครๆ ที่รู้ภาษาฝรั่งต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เข้าใจง่ายกว่าฉบับภาษาไทยมากนัก ขอยกตัวอย่างเช่นข้อความภาษาบาลีว่า กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา นิรยํ โส อุปปชฺชติ

ฉบับภาษาไทยแปลตามตัวว่า “เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าถึงนรก”

ฝรั่งเขาแปลว่า After death he will be born in hell.

ที่พูดนี้ไม่ใช่ว่าเห็นฝรั่งวิเศษวิโส แต่เป็นเพราะเขาไม่สุกเอาเผากิน และ “แปล” ก็คือแปล มิใช่ “ถอดตามตัวอักษร” โดยไม่คำนึงถึงความอ่านยังไงก็ไม่รู้เรื่อง

แต่เอาเถอะครับ เท่าที่มีอยู่ก็ดีถมไปแล้ว ถ้าผู้ศึกษามีฉันทะค่อยอ่านค่อยทำความเข้าใจไปคงเข้าใจได้ง่ายในที่สุด เพื่อนผมบางคนแต่ก่อนก็เห็นพระไตรปิฎกเป็นยาขมเดี๋ยวนี้ติดยิ่งกว่าอะไรดี

พระไตรปิฎกคือขุมทรัพย์แห่งสติปัญญาที่เราจะพึ่งตักตวงเอาไม่รู้หมด ไม่เฉพาะนักศึกษา ประชาชนท่านั้น นักการเมืองก็ควรอ่านด้วย แล้วท่านจะได้รู้ว่า การเป็นนักการเมืองที่ดีนั้นจะต้องทำอย่างไร การแก้ปัญหาความอยากจนของคนในประเทศ (ที่ท่านท่องอยู่เป็นนกแก้วนกขุนทองนั้น) ถ้าจะทำให้สำเร็จอย่างดีจะต้องทำอย่าไร พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ทั้งนั้นแหละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image