ความเหลื่อมล้ำทางการเมือง โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ของไทยที่ถูกพูดถึงมาเกิน 20 ปีแล้ว แต่มิติที่ขาดหายไปหรือไม่ได้รับความสำคัญคือมิติทางการเมืองของความเหลื่อมล้ำ เพราะอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันหรือไม่แม้แต่จะใกล้เคียงกันของคนกลุ่มต่างๆ คนกลุ่มไร้หรือด้อยอำนาจจึงถูกแย่งชิงทรัพย์สิน, โอกาส และการสนับสนุน ที่พึงมีพึงได้ จนไม่อาจพัฒนาตนเองให้พ้นจากความยากจนไปได้

ซ้ำสมรรถนะส่วนตัวที่อาจใช้ประโยชน์ได้ ก็มักถูกนโยบายรัฐขัดขวางกีดกันให้ใช้ได้อย่างจำกัด ดังนั้น ถึงจะขยันขันแข็งและเก่งกล้าสามารถสักปานใด โอกาสที่คนไร้หรือด้อยอำนาจจะยกฐานะของตนเองและครอบครัวให้ก้าวสูงขึ้น จึงเป็นไปได้ยากมาก

มิติทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือทำให้ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นแล้วดำรงอยู่ต่อไป ในประวัติศาสตร์ของความมั่งคั่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุที่โลกสมัยใหม่ไขว่คว้ามาได้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะบรรเทาลงได้ก็ต่อเมื่อความเหลื่อมล้ำทางการเมืองต้องบรรเทาลงก่อน หรือบรรเทาลงพร้อมกัน

คนไร้หรือด้อยอำนาจซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ต้องมีอำนาจต่อรองที่เท่าเทียม หรือใกล้เคียงกับคนส่วนน้อยที่อยู่ข้างบนเท่านั้น จึงสามารถบังคับให้รัฐ (ซึ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก) หันมาเปิดโอกาสที่เป็นไปได้ในความเป็นจริงแก่พวกเขา หรือป้องกันไม่ให้รัฐใช้อำนาจขัดขวางการพัฒนาของพวกเขา เพื่อประโยชน์ของนายทุนจำนวนน้อย

Advertisement

(เช่น ออกกฎหมายกีดกันมิให้รายเล็กผลิตสินค้าแข่งกับนายทุนรายใหญ่ได้)

น่าประหลาดที่ในเมืองไทย คณะรัฐประหารต่างๆ ซึ่งยึดอำนาจแล้วอ้างว่าจะลดความเหลื่อมล้ำ หรือปลดปล่อยประเทศจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กลับทำลายอำนาจต่อรองทางการเมืองของประชาชนส่วนใหญ่ลงเสีย และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่เคยมีคณะรัฐประหารชุดใดประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำลงเลย แม้แต่คณะรัฐประหารที่ถือกันว่าประสบความสำเร็จที่สุด คือคณะของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แม้สามารถทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำก็ยังดำรงอยู่และอาจจะมากขึ้นด้วย เพราะคนจนซึ่งเคยมีรายได้จากธรรมชาติรอบตัว กลับถูกริบเอาไปให้คนรวยใช้ เหลือรายได้อยู่ทางเดียวคือค่าจ้าง (ซึ่งถึงแม้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องหมดไปกับการ “ครองชีพ”)

ยิ่งกว่าความเดือดร้อนเฉพาะแก่คนไร้หรือด้อยอำนาจ ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองมักนำมาซึ่งความตึงเครียดในสังคมอย่างสูง กลายเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ขัดขวางคนทุกกลุ่มให้ไม่อาจพัฒนาตนเองได้เต็มสมรรถภาพ แม้แต่นายทุนใหญ่ๆ ก็หลีกเลี่ยงที่จะลงทุนในสังคมที่มีความเครียดสูงเกินไป สู้นำเงินไปลงทุนในประเทศอื่นที่ดูจะให้ผลกำไรมั่นคงกว่าไม่ได้ หรือหากเป็นพันธมิตรของคณะรัฐประหาร ก็ถือโอกาสเอารัดเอาเปรียบคนส่วนใหญ่ได้อย่างโจ่งแจ้งตรงไปตรงมามากขึ้น เช่น เอาทรัพย์ส่วนกลาง (เช่น ที่ดินราชพัสดุ) ไปใช้ฟรีหรือในราคาค่าเช่าที่น้อยนิดด้วยระยะเวลาหลายชั่วคน หรือใช้งบประมาณรัฐส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงานของตนจำนวนมากจนราคาตกเรี่ยดิน

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำจึงกลับยิ่งสูงขึ้น และความตึงเครียดทางสังคมยิ่งมากขึ้น

ในประวัติศาสตร์ไทย ความตึงเครียดที่สูงเช่นนั้นเคยเกิดมาแล้วในช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยเฉพาะในเขตเมือง นวนิยาย, การ์ตูน, บทความหนังสือพิมพ์, ฯลฯ ในยุคนั้น ทั้งโจมตี เยาะเย้ยถากถาง และหมิ่นแคลนคนชั้นสูงอย่างรุนแรง ชนิดที่สื่อในระยะหลังไม่อาจนำเสนอเช่นนั้นได้อีก

คนชั้นกลางระดับล่างสมาทานความคิดทางการเมืองและสังคมแบบใหม่จากการศึกษาที่ตนได้รับ มากเสียจนล้ำหน้าชนชั้นปกครองไปไกลแล้ว ทำให้ชนชั้นปกครองซึ่งเคยเป็นผู้นำความทันสมัยมาก่อน กลับกลายเป็นฝ่ายปฏิกิริยาล้าหลัง และถูกต่อต้านในสื่อต่างๆ อย่างออกหน้า (ดังที่
Scot Barme ได้ศึกษาไว้ใน Woman, Man, Bangkok)

และในที่สุดก็ต้องลงเอยที่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เรามักถูกสอนให้เข้าใจว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 เกิดขึ้นจากกลุ่มนักเรียนนอกที่เรียกตนเองว่าคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียว แต่แท้จริงแล้ว สังคมไทยโดยเฉพาะในเขตเมืองเวลานั้นคุกรุ่นอยู่ด้วยความไม่พอใจระบอบปกครองเดิมอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว

ยิ่งกว่าความตึงเครียดทางสังคม การเมืองของความเหลื่อมล้ำที่ไม่เปิดให้มีการต่อรองที่เท่าเทียม มักเป็นการเมืองที่ค่อนข้างสกปรกและรุนแรง เพราะการต่อรองที่เท่าเทียมจะเป็นไปได้ก็ต้องมีกติกา เมื่อไม่มีการต่อรองที่เท่าเทียม ก็ไม่มีกติกาไปด้วย จึงมักอาศัยความรุนแรงหรือการข่มขู่ด้วยความรุนแรง เช่น ตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ประท้วงด้วยการทำให้บางส่วนของเมืองหรือทั้งเมืองกลายเป็นอัมพาต ใช้อาวุธเข้าทำร้ายกัน ยึดและปิดสถานที่ราชการและที่สาธารณะ ขัดขวางการเลือกตั้งตามกฎหมาย ฯลฯ

การเมืองที่สกปรกและรุนแรงเช่นนี้มักจบไม่สวย แทนที่ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองจะถูกแก้ไข เพื่อทำให้การเมืองสะอาดขึ้นและไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงอีก กลับเกิดการยึดอำนาจและทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองกลายเป็นสถาบันถาวร ด้วยประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหาร และรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารจ้างวานบริวารให้ร่างขึ้น

ตราบเท่าที่ไม่ขจัดความเหลื่อมล้ำทางการเมืองให้บรรเทาลง โอกาสที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็เป็นไปไม่ได้ และการเมืองไทยก็จะยังวนเวียนอยู่กับความสกปรกและความรุนแรงต่อไป

ฉะนั้น หากจะมีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อไร ประชาชนควรใช้สิทธิทางการเมืองซึ่งถูกบั่นรอนลงจนแทบไม่เหลือแล้วนี้ เพื่อเป้าหมายที่ยั่งยืนในการเมืองไทย นั่นคือทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองบรรเทาลงให้ได้

พรรคการเมืองบางพรรคประกาศว่า ไม่ว่าในระบอบใดก็ตาม ประชาชนย่อมเป็นใหญ่เสมอ แต่ภายใต้ระบอบ คสช. รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างขึ้นนี้ ประชาชนไม่ได้เป็นใหญ่อีกต่อไป การประกาศว่าประชาชนเป็นใหญ่ในทุกระบอบก็คือการประกาศยอมรับรัฐธรรมนูญที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการเมืองกลายเป็นสถาบันถาวร

นโยบายอะไรก็ไม่มีความหมาย แม้แต่นโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูง หากประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีอำนาจต่อรองได้จริง ภายใต้ระบอบที่ลิดรอนอำนาจต่อรองของประชาชนลงเท่ากับศูนย์เช่นนี้ สิทธิอันพึงมีพึงได้ของประชาชนกลายเป็นการสงเคราะห์หมด ไม่ว่าการมีสุขภาพที่ดี, การได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม, สวัสดิการและสวัสดิภาพของการทำงาน, และโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ฯลฯ

ขึ้นชื่อว่าสงเคราะห์ สินค้าและบริการที่กระจายออกไปย่อมไร้กฎเกณฑ์กติกาที่เป็นกลาง ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะกระจายไปทางไหนตามใจชอบของตนเอง และเมื่อเป็นเช่นนั้น การสงเคราะห์อย่างเป็นชิ้นเป็นอันจะตกถึงมือคนด้อยอำนาจย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่จะกระจายในหมู่ผู้ทรงอำนาจด้วยกันเองเท่านั้น เพียงแต่เมื่อตกถึงมือผู้ทรงอำนาจ ก็ไม่เรียกว่า “สงเคราะห์” อีกต่อไป แต่อาจเรียกไทยแลนด์ 4.0, ไทยเข้มแข็ง หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ

เพื่อให้นายทุนใหญ่ที่รวมตัวกับรัฐภายใต้ชื่อแปลกๆ เท่านั้น ที่จะได้ผลพวงของการสงเคราะห์จำแลงนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image