ประชาธิปไตยท้องถิ่น : คอลัมน์ แท็งก์ความคิด

ปีนี้ได้ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่มีงบประมาณน้อยหลายแห่ง

เสน่ห์ของ อบต. ที่มีขนาดเล็ก มีงบประมาณน้อยแต่อยู่ได้คือ ความร่วมมือ

หรือที่เรียกกันว่าการมีส่วนร่วม

การมีส่วนร่วม คือ การร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ

Advertisement

มี อบต. เป็นองค์กรส่งเสริม มีประชาชนเป็นแรงผลักดัน

ทำเพื่อประชาชน ทำโดยประชาชน

ความสำเร็จจากการมีส่วนร่วม คือความยั่งยืนของท้องถิ่น

ทำให้ท้องถิ่นอยู่ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อสัปดาห์ก่อนมีโอกาสแวะที่ อบต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ที่นั่นมี นายนิวัฒน์ ปะระมา เป็นนายก

นายกชักชวนสถาบันพระปกเกล้าให้ลงไปดู เผื่อว่าจะมอบรางวัลพระปกเกล้า ด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้เป็นกำลังใจ

อบต.แห่งนี้มีประชากรอยู่เพียง 8 พันกว่าคน มีงบประมาณไม่กี่ล้านบาท

วิธีการดำรงอยู่ของ อบต.เวียงตาล คือ “การมีส่วนร่วม”

ทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน ทำให้ปัญหาที่นี่คลี่คลาย

อบต.สามารถทำถนนในหมู่บ้าน สามารถสร้างฝายและซ่อมแซมฝายน้ำล้น

และทำอะไรต่อมิอะไรได้ โดยไม่พึ่งพางบประมาณแผ่นดิน

อบต.สามารถใช้วัตถุดิบที่บริจาคจากภาคเอกชน สามารถใช้แรงงานจาก

ชาวบ้าน

และใช้ความรู้จากภาครัฐ มาช่วยทำให้งานต่างๆ ลุล่วง

เสน่ห์อีกอย่างที่สัมผัสได้ คือ อบต.สามารถนำเฟซบุ๊กและไลน์มาใช้ประโยชน์ในการบริหาร

ใช้เฟซบุ๊กกระจายข่าวสาร และประชาสัมพันธ์งานของ อบต.

ใช้ไลน์ในการรวมกลุ่ม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง อบต.กับชาวบ้าน

อบต.ที่นี่จึงกลายเป็น “เพื่อน” ของชาวบ้าน

เวลามีความขัดแย้งระหว่างกัน ชาวบ้านจะแจ้งมาทางไลน์

แล้วนายกจะรับหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งตามแนวทางสมานฉันท์

หรือใครมีปัญหาอื่นใด ก็สามารถอาศัยช่องทางออนไลน์ปรึกษาหาทางออกกับทาง อบต.ได้

นี่ถ้าไม่ไว้วางใจกันจริงๆ คงไม่มีใครฝากปัญหาทางไลน์ให้ อบต.ช่วยเคลียร์

ในด้านความโปร่งใส อบต.แห่งนี้ได้รางวัลจาก ป.ป.ช.หลายปีติดต่อกัน

มองในมุมการมีส่วนร่วม ทาง อบต.ก็เปิดทางให้ชาวบ้านมาช่วยตรวจสอบหลายอย่าง

อาทิ เปิดอบรมความรู้ให้ชาวบ้านที่จะเป็นกรรมการตรวจรับ

เปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านได้รับรู้การดำเนินการ

มีข้อแนะนำว่า น่าจะขยายผลเรื่องความโปร่งใสนี้ทางออนไลน์

ทำให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูล หรือส่งต่อข้อมูล รวมทั้งตรวจสอบข้อมูลได้ทางออนไลน์

แล้วชาวบ้านนี่แหละจะเป็นผู้การันตีความโปร่งใสให้ อบต.

เมื่อ อบต.โปร่งใส ประชาชนเชื่อมั่น ความร่วมมือร่วมใจก็ติดตามมา

แม้ อบต.จะมีขนาดเล็ก แม้งบประมาณจะน้อย แต่ถ้าทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกัน

เรื่องที่ใหญ่ก็กลายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องที่ไม่คิดว่าจะทำได้ก็สามารถทำสำเร็จ

ไปดูการทำงานของ อบต.เวียงตาลแล้ว ตอกย้ำความเชื่อ

ความเชื่อที่ว่า ความสุจริตและความดี เป็นทุนสำคัญของชีวิต

สุจริตชน และคุณความดี ทำให้คนดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

แม้หลายคนจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองมากนัก

แต่ความสุจริตและความดีก็จะชักนำให้ผู้พบเห็นยินดีให้ความเกื้อหนุน

อบต.ก็เช่นกัน ขอเพียงสุจริต โปร่งใส ทำเพื่อประชาชน

สักพักเดียวประชาชนที่พบเห็นก็จะมาช่วยเหลือ

จากความร่วมมือสู่การร่วมคิด ร่วมตัดสิน และร่วมทำ

กลายเป็นองค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วม กระทั่งรู้สึกเป็นเจ้าของ

กลายเป็น อบต.ที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ

เป็น อบต.ของประชาชน เพื่อประชาชน โดยประชาชน

ตรงตามนิยาม “ประชาธิปไตย” ที่ไม่ต้องรอ “ส่วนกลาง” 

แต่เป็น “ประชาธิปไตย” ที่ท้องถิ่นสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมากันเองได้

ในรูปแบบที่ขอเรียกว่า “ประชาธิปไตยท้องถิ่น”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image