กฎ‘หมา’450(บาท) โดย : กล้า สมุทวณิช

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 น่าจะเป็น “กฎหมาย” ที่มีปัญหาในการบังคับใช้ และ “ดราม่า” หนักที่สุด ฉบับหนึ่งที่ออกมาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติภายหลังการรัฐประหาร 2557

ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผ่านการต่อสู้ผลักดันกันมาหลายสิบปี เพื่อให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์เช่นในอารยประเทศ ซึ่งถ้าจะกล่าวไปแล้ว “โดยหลักการ” ก็ถือเป็นเรื่องดี

หากปัญหาที่เกิดขึ้นจนเป็นดราม่าบ่อยครั้ง คือ การที่กฎหมายฉบับนี้ถูกบังคับใช้ในขาของการ “ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์” อยู่ขาเดียว มีข่าวการดำเนินคดีกับคนที่ทำร้ายสัตว์ ซึ่งหลายกรณีก็เป็นเรื่องที่สมควรโดนจริงๆ เช่น ทำทีไปรับอุปการะลูกแมวหาบ้าน แล้วจับมาทรมานเล่นจนตาย

แต่หลายกรณีก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะสัตว์ (ทั้งหมดคือหมา) นั้น มาก่ออันตรายหรือความเสียหายให้ก่อน เช่น ทำอันตรายกับคน ก่อความเดือดร้อนรำคาญ ทำลายทรัพย์สิน หรือแม้แต่กัดสัตว์เลี้ยง แต่เมื่อผู้เสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนโต้ตอบกลับไปบ้าง ก็อาจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานทารุณกรรมสัตว์

Advertisement

และที่สมัยหนึ่งเคยมีเรื่อง “ตลกร้าย” ว่าการทำร้ายร่างกาย “คน” นั้น หากไม่รุนแรงหรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า “ไม่เป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” นั้น มีโทษเบากว่าการทารุณกรรมสัตว์เสียอีก ที่แม้ตอนหลังมีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเพื่อเพิ่มโทษในกรณีหลัง แต่ก็เพียงแต่ทำให้โทษนั้นมีระดับเท่ากันเท่านั้น

เป็นที่มาของคำกล่าวเชิงประชดประชันว่า “หมากัดอย่าตีหมา ให้ต่อยเจ้าของ เพราะโทษเบากว่า”

หากแท้จริงแล้ว กฎหมายที่กล่าวถึงนี้มี “สองขา” คือ การป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ และการจัดสวัสดิภาพสัตว์

Advertisement

การจัดสวัสดิภาพสัตว์ คือกฎหมายส่วนที่วางข้อกำหนดว่าด้วยการเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ ให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อให้สัตว์นั้นมีความเป็นอยู่ที่ดีตามสมควร ในส่วนนี้มีรายละเอียดมาก เช่น สมมุติถ้าเป็นการเลี้ยงสุนัข จะต้องกำหนดว่า จะต้องมีการฉีดวัคซีนอะไร อย่างไร มีพื้นที่ให้มันอย่างไร ดังนี้โดยปกติแล้วจะต้องออกมาเป็นกฎหมายลูกอีกระดับหนึ่ง

แต่ส่วนที่สำคัญของการ “จัดสวัสดิภาพสัตว์” คือการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเจ้าของที่จะต้องดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเองไม่เอาไปปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นสัตว์จรจัด ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 ที่ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งไม่รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ซึ่งประสงค์จะนำสัตว์ไปดูแลแทน โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 32 ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

ในกรณีที่สัตว์เลี้ยงไปก่ออันตรายหรือความเดือดร้อนเสียหายให้ผู้อื่น แม้ว่าไม่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายนี้ แต่ก็ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377 กำหนดความผิดและโทษสำหรับผู้ควบคุมสัตว์ดุหรือสัตว์ร้าย ที่ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นเที่ยวไปโดยลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่รวมถึงว่าอาจถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433

อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของกฎหมายทั้งหมดนี้แทบจะใช้บังคับไม่ได้ หากไม่สามารถพิสูจน์ปัญหาเบื้องต้นที่ว่า “สัตว์ที่ก่อปัญหานั้นเป็นของใคร”

จึงเป็นที่มาของการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ให้มีการกำหนดให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงนำสัตว์เลี้ยงของตนไปลงทะเบียนกับท้องถิ่น โดยมีค่าใช้จ่ายคำนวณรวมแล้ว 450 บาท แต่หากไม่นำไปลงทะเบียน ก็มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท

จนเกิดเป็น “ดราม่า” กันใหญ่โต ว่ารัฐบาลจะเก็บภาษีการเลี้ยงหมาแมว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดประการแรก เนื่องจากการจัดเก็บเงินตามกฎหมายนี้ เป็นค่าธรรมเนียมในการ “ลงทะเบียน” ครั้งเดียวตลอดอายุสัตว์ตัวนั้น เงินตรงนี้ไม่เหมือนภาษีที่ต้องเสียทุกปี แต่คล้ายๆ ค่าธรรมเนียมเวลาคุณไปขอใบขับขี่หรือใบอนุญาตอะไรต่างๆ จากภาครัฐมากกว่า

นอกจากเรื่องเงิน 450 บาท ที่เป็นดราม่ากันแล้ว ก็มีข้อโต้แย้งว่า กฎหมายการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงนี้ จะก่อปัญหาให้กับการเลี้ยงสัตว์ในความเป็นจริงตามสังคมไทย เช่น การเลี้ยงสัตว์ในสังคมชนบทซึ่งเป็นการกึ่งเลี้ยงกึ่งปล่อย ไม่ใช่การเลี้ยงเป็นลูกหรือเป็นเพื่อน เหมือนในสังคมคนชั้นกลางในเมือง

รวมถึงกรณีของการ “อุปการะสัตว์” จำนวนมากของผู้ใจบุญ ทั้งชนิดรับมาไว้ในบ้าน และอุปการะไว้นอกบ้านด้วย

หลายคนจึงเห็นว่า กฎหมายที่กำหนดมาตรการเช่นนี้ ไม่น่านำมาใช้ได้ เพราะขัดกับ “วิถี” แบบ “ไทยๆ”

ซึ่งเรื่องนี้เป็นข้อพิจารณาให้ต้องระวังกันนิดหนึ่งว่า การใช้ข้ออ้างว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” อันเป็นมาตรฐานหรือคุณค่าสากล (แทนค่าด้วย A) นั้น ไม่เหมาะสมกับ “ความเป็นไทย” นั้น จึงไม่สมควรนำมาใช้ หรือควรถูกดัดแปลงให้เป็นอะไรที่ “ไทยๆ” เสียก่อนนั้น

“สิ่งใดสิ่งหนึ่ง” หรือ A นั้น อาจเป็นไปได้กับทุกอย่างที่เป็นคุณค่าสากล ซึ่งรวมถึง “ประชาธิปไตย” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ด้วย

การปฏิเสธการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงด้วยตรรกะชุดเดียวกันนี้ ก็ไม่ต่างกับการบอกว่า “ประชาธิปไตย” “สิทธิมนุษยชน” “ความเสมอภาค” หรือแม้แต่ “การคาดเข็มขัดนิรภัย” และการ “ใส่หมวกกันน็อก” นั้นไม่เหมาะกับคนไทยหรือสังคมไทย ดังนั้น จึงควรจะมี “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” หรือ “สิทธิมนุษยชนแบบไทยๆ” รวมถึงการ “ขับรถแบบไทยๆ” นั่นแหละ

ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้สมาทานกับการปกครองในระบอบ “ประชาธิปไตย” ในมาตรฐานสากล แต่ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงด้วยเหตุผลเช่นนี้ จึงต้องทบทวนให้มากกว่าคนที่อาจจะไม่เลื่อมใสศรัทธาในประชาธิปไตยหรือคุณค่าใดๆ อันเป็นสากล

ข้อพิจารณาที่อยากยกขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง คือ “การเลี้ยงสัตว์” หรือจำเพาะเจาะจงคือ “หมาและแมว” แบบ “ไทยๆ” นั้นมีปัญหาอยู่หรือไม่

การเลี้ยงสัตว์แบบไทยๆ ที่อ้างถึงนั้น คือการเลี้ยงด้วยการให้ข้าวให้น้ำ แต่ปล่อยให้มันใช้ชีวิตอิสระอยู่ ถ้าเป็นสังคมชนบท ก็คือการปล่อยไว้ในทุ่งในสวนเพื่อเฝ้าดูแลสถานที่ ซึ่งอาจจะไม่เป็นปัญหาเท่าใด แต่สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในเมืองด้วยวิถีทางแบบเดียวกัน คือการปล่อยให้สัตว์หมาของคุณนั้นวิ่งเล่นไปอย่างอิสระในหมู่บ้านหรือทางสาธารณะ

ทางสาธารณะที่อาจจะมีเด็ก คนแก่ หรือคนขี่จักรยานใช้พื้นที่นั้นร่วมด้วย

ยังจำข่าวสลด ที่ “หมา” มีเจ้าของ ที่เลี้ยงด้วยวิถีทางที่ว่า กัดเด็กผู้หญิงอายุเพียง 4 ขวบ ที่ขี่จักรยานเล่นในหมู่บ้านจนเสียชีวิตอย่างทุรนทุรายได้หรือไม่ นี่ใช่ไหม “วิถีการเลี้ยงสัตว์แบบไทยๆ” ที่เราควรจะปรับกฎหมายให้ยอมรับล้อตาม ?

ปัญหาอีกอย่างที่เป็นข้อโต้แย้งว่ากฎหมายนี้อาจจะก่อปัญหาให้ คือการเลี้ยงหรือรับอุปการะสัตว์เลี้ยงไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากเจตนาดี เพราะเป็นการเก็บเอาสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งมาดูแลในรูปแบบของที่พำนักคุ้มภัยให้สัตว์จร

แต่ความปรารถนาดีดังกล่าว ก็อยู่บนความอดทนหรือลำบากเดือดร้อนของเพื่อนบ้านหรือคนในละแวกนั้น ที่จะต้องรับทั้งเสียง กลิ่น ความสกปรกวุ่นวายอื่นๆ หลายครั้งก็เกิดการปะทะหรือทะเลาะวิวาทกันในชุมชนเป็นข่าวออกมาเช่นกัน ที่ย้ำด้วยประโยคเดิมว่า นี่ใช่ไหม “วิถีการเลี้ยงสัตว์แบบไทยๆ” ที่เรารู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะมีการเปลี่ยนแปลง

แต่ที่ร้ายยิ่งกว่าร้าย คือการ “อุปการะ” สัตว์ข้างทางโดยปราศจากความรับผิดชอบ เช่นที่คนใจบุญกลุ่มหนึ่งนิยมเอาอาหารไปเลี้ยงสัตว์โลกผู้น่าสงสาร แล้วก็ขับรถหรือขี่จักรยานจากไป บางคนไม่ได้อยู่ในซอยหรือพื้นที่นั้นด้วยซ้ำ (อาจจะเป็นย่านที่ผ่านหรือที่ทำงาน) ปล่อยให้คนในพื้นที่ต้องรบรากับปัญหาสัตว์ติดที่ ที่มีผู้อุปการะด้วยวิธีการเช่นนี้ ซึ่งใครทนรำคาญไม่ไหวหรือถูกคุกคามก่อความเสียหาย ลากเอาไม้มาตีสักทีหรือวางยาเบื่อ ก็เสี่ยงที่จะถูกท่านผู้รักสัตว์และเจ้าของในเงามืดเหล่านั้นไปแจ้งความดำเนินคดีฐานทารุณกรรมต่อสัตว์ตามกฎหมายนี้

เรายินดีที่จะอยู่ในสภาพเช่นนี้กันจริงหรือไม่ หรือเราคิดว่าควรจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง

การบังคับตามกฎหมายกำหนดให้ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงนั้น จะช่วยป้องกันปัญหาได้อย่างน้อยสองเรื่อง คือการป้องกันการทอดทิ้งสัตว์ตั้งแต่เบื้องแรก นั่นก็เพราะว่าเมื่อเขานำสัตว์ที่ลงทะเบียนไว้ไปทิ้ง เขาก็ต้องรับผิดตามกฎหมายตามที่บัญญัติไว้

และอีกประการหนึ่ง คือเมื่อสัตว์นั้นไปก่อความเดือดร้อนเสียหายประการใด ก็หาตัว “ผู้ที่ต้องรับผิดชอบ” มาลงโทษหรือรับผิดตามกฎหมาย ต่อผู้เสียหายและสังคมได้

การแก้ไขกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ที่ให้นำสัตว์เลี้ยง เริ่มต้นจากหมาแมวที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ที่สุดมาลงทะเบียนนี้ คือความพยายามใช้ขาอีกข้างของกฎหมาย คือการ “จัดสวัสดิภาพสัตว์” มาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกระทบกระทั่งกันของสัตว์กับคนในสังคม หลังจากที่กฎหมายนี้ใช้ “ขา” ข้างป้องกันการทารุณกรรมสัตว์มาเป็นเวลาร่วม 4 ปี

เพราะเรายอมรับว่าสัตว์นั้นก็คือสัตว์ ไม่รู้เรื่องอะไร เราจึงไม่ควรไปทารุณทุบตีมัน แต่ผู้ที่รับผิดชอบก็คือ “มนุษย์ผู้รู้คิด” ซึ่งเป็นผู้นำเอาสัตว์นั้นมาเลี้ยง

แต่แน่นอนกว่า ปัญหาเรื่องสัตว์เลี้ยงในสังคมนี้เป็นปัญหาเรื้อรังสะสม การแก้ปัญหาจึงต้องมีศิลปะในการที่จะเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่อย่างไรให้นุ่มนวลและก่อปัญหาให้สังคมน้อยที่สุด ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดบทเฉพาะกาล

เอาที่ผู้เขียนคิดได้เร็วๆ ก็ เช่น หากกฎหมายมีผลใช้บังคับจริงแล้ว ให้กำหนดวันบังคับใช้กฎหมาย ทอดออกไปสักหกเดือนครึ่งปี เพื่อการเตรียมตัว ส่วนในปีแรกนั้น การลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงต้องฟรีหรือเก็บในอัตราที่น้อยที่สุด กรณีเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก เช่น คุณลุงคุณป้าที่อุปการะหมาแมวไว้หลายสิบหรือเป็นร้อยตัว อาจจะใช้การ “ลงทะเบียนเจ้าของ” แทน แล้วทำประวัติสุนัขไว้ว่า บ้านนี้มีกี่ตัว (รวมถึงถามความยินยอมจากเพื่อนบ้านด้วยว่าประสงค์จะให้มีบ้านสงเคราะห์สัตว์เช่นนั้นอยู่ในละแวกที่พักของตนหรือไม่)

ส่วนสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งก่อนหรือหลังจากมาตรการนี้ ก็ต้องหาสถานที่และมาตรการรองรับ จนกว่าจะตายไปจนหมดรุ่น

ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไร เราก็จะได้บ่นกับเรื่องหมาขี้หน้าบ้าน หมาเห่าทั้งคืนนอนไม่หลับ หมากัดเด็กปางตายแต่ห้ามตีหมา ตลอดจนปัญหาแมวๆ หมาๆ กันไม่จบไม่สิ้น รวมถึงเราต้องมาหาบ้านให้หมาที่เจ้าของทิ้งขว้างกันต่อไป เพียงแต่การเริ่มนั้น ก็ต้องให้กระทบกระเทือนกับผู้มีส่วนได้เสียน้อยที่สุดเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image