“คนรุ่นใหม่” กับอนาคตการเมืองไทย โดย อุเชนทร์ เชียงเสน

แม้ไม่อาจหยั่งรู้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองใหม่ๆ จะเหลือรอดและมีที่นั่งในสภาหรือไม่ แต่ความสำเร็จของพรรคการเมืองใหม่อย่างหนึ่ง ณ เวลานี้คือ การชูธงเป็นพรรค “คนรุ่นใหม่” แล้วทำให้พรรคการเมืองอื่นๆ ต้องระดมเปิดตัวคนรุ่นใหม่อายุน้อยๆ ของพรรค เพื่อร่วมแย่งชิงคะแนนเสียงกลุ่มวัยรุ่นที่จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกนี้ด้วย

ด้วยมีอาชีพการงานเกี่ยวข้องกับคนรุ่นนี้ในต่างจังหวัด ในพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดครองมายาวนาน เมื่อพบเจอเพื่อนฝูงในแวดวงต่างๆ จึงมักถูกสอบถามเรื่องคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาเสมอ ดังนั้น จึงขอทดลองเสนอการวิเคราะห์และร่วมถกเถียง เพื่อเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนในวงกว้างต่อไป จากการสังเกตและคลุกคลีแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยวงแคบๆ ของตนเอง

1.ประสบการณ์ทางการเมือง : คนรุ่นใหม่ กับ กปปส.

เหตุการณ์ทางการเมืองหนึ่งเดียวที่พวกเขาได้เข้าไปเกี่ยวข้อง คือ การเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯ หัวเมืองใหญ่ และขัดขวางการเลือกตั้งของ กปปส. ปลายปี 2556 ถึงกลางปี 2557 ขณะกำลังเรียนมัธยมชั้นปีที่ 3-6 จากการสัมภาษณ์พบว่า บางคนดีใจที่ครูจะ “ปิดโรงเรียน” ไปประท้วง บางคนถูกเกณฑ์ไปร่วมกิจกรรม บางคนไปชุมนุมกับครอบครัวหลังเลิกงาน นักศึกษารู้สึกตื่นเต้นกับกิจกรรมพวกนี้เหมือนไปเที่ยวงานวัด สนุกสนานกับสินค้าและผู้คน (แต่มีแอบบ่นเรื่องห้องน้ำที่ไม่สะอาดและเพียงพอ)

Advertisement

กล่าวได้ว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้ร่วมกิจกรรมด้วยความคิดหรือจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน แต่เพราะ“คนอื่น” ไม่ใช่ด้วยตัวพวกเขาเองที่ยังไม่ประสีประสาทางการเมือง ดังนั้น การเมืองแบบ กปปส. จึงมีผลต่อความคิดพวกเขาน้อยมาก

ในช่วงหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพื่อนนักวิชาการในที่อื่นบ่นว่า เมื่อหลักนิติรัฐถูกละเมิด จะสอนวิชาที่เกี่ยวข้องอย่างรัฐธรรมนูญและสถาบันการเมืองกันอย่างไร? ทำได้ยากลำบาก แต่จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองกลับตรงกันข้าม

เมื่อผู้เขียนเป็นอาจารย์ใหม่ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว กปปส. กำลังเป็นใหญ่ในแผ่นดิน การสอนในวิชาเหล่านี้ยุ่งยากซับซ้อนหน่อยเพราะนักศึกษาชั้นปีสูงเติบโตมาด้วยบริบทของการต่อต้านนักการเมืองและการเลือกตั้ง หลายคนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยอุดมการณ์ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปลุกระดม และดังนั้น การทำงานในฐานที่มั่นของ กปปส. มีเพื่อนร่วมงานและนักศึกษาเข้าร่วมอย่างมีสำนึก จึงต้องระมัดระวังมากขึ้นภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่รุนแรงและเหตุผลของมนุษย์ถดถอยลง

Advertisement

แต่สำหรับนักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 3-6 ในตอนนั้น ที่เป็นนักศึกษาในตอนนี้ บริบทแวดการก่อตัวความรับรู้ทางการเมืองของพวกเขา คือ ประเทศที่ปกครองด้วยทหาร นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คล้ายตัวตลกและขาดความสามารถในการควบคุมตนเอง ไม่ใช่บริบทของความคิดหรือวาทกรรมต่อต้านการเลือกตั้ง นักการเมือง แบบรุ่นก่อน หากจะมีก็เป็นกระแสทวน วิพากษ์วิจารณ์ต่อต้านเผด็จการ บทบาททางการเมืองของทหารที่กำลังกลับมาใหม่

สิ่งเหล่านี้เลยกลายเป็นทรัพยากรหรือตัวอย่างที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดของระบอบ เปรียบเทียบและนำเสนอหลักการในวิชานั้นได้ง่ายและเป็นรูปธรรม

ไม่นับภาพรวมเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงจนสัมผัสรู้สึกได้เอง ราคายางพาราและปาล์มน้ำน้ำมัน พืชเศรษฐกิจหลักของครอบครัว ที่ตกต่ำ

ดังนั้น การหาเสียงกับคนรุ่นนี้ด้วยจุดยืนสนับสนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ นอกจากไม่ได้คะแนนเสียงแล้ว ยังจะกลายเป็น “ไอ้เท่ง” “ไอ้หนูนุ้ย” (ตัวตลกในหนังตะลุง) ที่เรียกเสียงหัวเราะในร้านน้ำชาไป

2. ขอบฟ้าความคิด : การเมืองของคนใต้และพรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ครองพื้นที่ภาคใต้ตอนบนมานาน ด้วยความสำเร็จในการสร้างความเป็น “พรรคคนใต้”ผ่านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และหัวหน้าพรรค และการสร้างอัตลักษณ์ คนใต้ “คนดี” มีอุดมการณ์ ไม่ซื้อสิทธิ์ขาดเสียง  ฯลฯ เปรียบเทียบกับผู้คนในที่อื่น ที่เลือกนักการเมืองโกง คอร์รัปชั่น จนกลายเป็นคำบอกเล่าสืบทอดกันมาว่า “คนใต้ต้องเลือกประชาธิปัตย์”

เมื่อการเมืองเชิงนโยบายสำคัญมากขึ้น ความภักดีก็ถูกอธิบายผ่านนโยบายด้วยเช่นกัน อย่างครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน นักศึกษาลงพื้นที่สัมภาษณ์เหตุผลในการเลือกพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อถูกซักรายละเอียดลงไป ผู้ให้สัมภาษณ์กลับตอบไม่ได้ว่าคือนโยบายอะไร

ขณะที่ “นายหัวชวน” นายกฯ คนใต้ ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดครั้งที่สอง (พฤศจิกายน 2540 – กุมภาพันธ์ 2544) พวกเขายังแบเบาะ ส่วนการเป็นนายกฯ ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ธันวาคม 2551 – 5 สิงหาคม 2554) ซึ่งไม่มีอัตลักษณ์อะไรร่วมกัน พวกเขาอยู่ในชั้นประถมปลายหรือมัธยมต้น

ดังนั้น สิ่งที่ทำให้พวกเขาพอจะนึกถึงบทบาทของประชาธิปัตย์ได้ก็มีเพียงในการเคลื่อนไหวของ กปปส. ที่มี สส. และหัวคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ จัดการชุมนุมในตัวจังหวัด และระดมคนขึ้นมาสมทบกำลังกับลุงกำนันที่กรุงเทพฯ ไม่มีใครคิดว่า กปปส. และ พรรคประชาธิปัตย์ ไม่เกี่ยวข้องกันเลย

เอาเข้าจริงตอนนี้ ภาพลักษณ์ของ กปปส. เองก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจนัก อย่างหลายวันก่อนกรณีการสรุปบทเรียนประชาสังคมไทยกับการทำให้เป็นประชาธิปไตย และกรรมการบริหารพรรคสามัญชน วีรกรรมของพวกใน กปปส. กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากจะพูดถึง หรือบางครั้งต้องปกปิดซ่อนเร้น

ดังนั้น สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษานี้ ขอบฟ้าความคิดของพวกเขาจึงถูกเปิดขึ้น ไม่ถูกจำกัดไว้ที่พรรคประชาธิปัตย์แบบเดิมเหมือนรุ่นก่อนหน้าหรือบรรพบุรุษของพวกเขา

3.บริบทแวดล้อมที่เผชิญหน้า : ความรุ่งเรืองของความคิดอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมในสถาบันการศึกษา

แม้ 2 ปัจจัยแรกจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาใช้ความคิดและเหตุผลของตัวเองได้มากขึ้น แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่าทศวรรษ การเกิดขบวนการอนารยะสังคม ที่ปลุกระดมความเกลียดชังด้วยอุมดการณ์  แล้วประสบชัยชนะทางการเมือง ทำให้ความคิดเผด็จการ/อำนาจนิยม อนุรักษ์นิยมรุ่งเรืองเฟืองฟู ขณะที่สิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกเหวี่ยงออกไปข้างทาง ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงเกิดขึ้นในระดับชาติ แต่แพร่กระจายไปทุกหัวระแหงและซอกมุมของสังคม ในสถาบันการศึกษาก็เช่นเดียวกัน แม้ปกติในชุมชนหนึ่งจะประกอบด้วยผู้คนหลากหลาย ทั้งซ้ายและขวา ก้าวหน้าและอนุรักษ์นิยม แต่กระแสภายนอกก็เป็นลมใต้ปีกหนุนความคิดแบบนี้ให้แข็งกล้าขึ้นเช่นกัน

หลายคนอาจจะคิดว่าไม่เกี่ยวกัน แต่อยากให้ลองทบทวนดูอีกครั้ง พวกเราหลายคนได้เป็นประจักษ์พยานของปรากฏการณ์บางอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนชั่วชีวิตนักศึกษาของเราเอง ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นในที่อื่นหลายมหาวิทยาลัย

การ (กึ่ง) บังคับ “จิตอาสา” และ (กึ่ง) บังคับเป็น “คนดี” ด้วยการสร้างระบบ “คะแนนความดี” ที่ถูกใช้เป็นเงื่อนไขจบการศึกษา การกู้ยืมกองทุนเพื่อการศึกษา การได้รับทุนต่างๆ เป็นต้น โดยสถาบันการศึกษาใช้คะแนนความดีนี้เป็นกลไกระดมนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่วนต่างๆจัดขึ้น เพื่อสร้างชื่อเสียงหรืออะไรก็ตามแต่ของมหาวิทยาลัย

ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอาจไม่เท่าทันหรือเปี่ยมด้วยความหวังดี ต้องการให้นักศึกษาทำกิจกรรม ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ ทำเพื่อส่วนร่วม/สร้างจิตสาธารณะ แต่หารู้ไม่ว่านั่นได้ทำลายจิตวิญญาณ “อาสา” ลงไป กลายเป็นการบังคับโดยอ้อมหรือ “เกณฑ์แรงงาน” ทำงานเพื่อ “เอาหน้าเอาตา” สร้างมาตรฐาน “ความดี” แบบผักชีโรยหน้าขึ้นมา และสะท้อนความสามารถในการสร้างสรรค์กิจกรรมให้ดึงดูดน่าสนใจของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเอง

สถาบันการศึกษาแทนที่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้การใช้เหตุผลของมนุษย์ หลายครั้งกลายเป็นผู้ลิดรอนเสียเอง ไม่มีเหตุการณ์ใดแสดงความโดดเด่นของกระแสนี้เท่ากับอาจารย์กระชากนักศึกษาที่ไม่ยืนเคารพในพิธีกรรมบางอย่างเมื่อไม่นานมานี้

เหล่านี้เป็นปลายยอดที่โผล่มาในห้วงเวลาแห่งชัยชนะและความคึกคักของความคิดแบบอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยม

4.“คนรุ่นใหม่” กับการเมืองไทย : ความคาดหวังต่อคนรุนใหม่

คำอธิบายความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับคนรุ่นใหม่ที่เป็นนักศึกษาข้างต้น ไม่ได้บอกว่า พวกเขาจะก้าวหน้าด้วยตัวเองโดยอัตโนมัติ แต่พยายามชี้ให้เห็นว่า เงื่อนไขหรือบริบทของการเติบโตและก่อตัวทางความคิดแบบนี้ ทำให้พวกเขาไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบเดิมเหมือนรุ่นก่อนหน้าและเปิดกว้างต่อการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ แม้กระทั่งกระแสอนุรักษ์นิยม/อำนาจนิยมที่เฟื่องฟูก็มีส่วนกระตุ้นพวกเขา นักศึกษาไม่น้อยไม่พอใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมเชิงบังคับ ทั้งเพราะขี้เกียจ อยากพักผ่อน อ่านหนังสือเรียน หรือความคิดต่อต้านอำนาจนิยม ปะปนกันไป จำนวนหนึ่งไม่กล้าแสดงออก จำนวนหนึ่งกล้าหาญ หลังมีสถานภาพนักศึกษาเพียงไม่กี่วัน ก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยโดยไม่เกรงกลัว

นี่กลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นอย่างหนึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

อาจจะพูดได้ว่า “คนรุ่นใหม่” กับ “รุ่นเก่า” ไม่ได้วัดกันที่อายุแต่วัดที่ความคิดทางการเมือง แต่การตีความเกินเลยไปว่า “รุ่น” ไม่มีผลต่ออะไรเลยนั้นก็ง่ายเกินไป คนใดคนหนึ่งในรุ่นหนึ่ง อาจจะขวาหรือซ้ายก็ได้ ด้วยมีปัจจัยสารพัดอย่างที่เกี่ยวข้อง แต่ปัจจัยแวดล้อมการก่อตัวทางความคิดของพวกเขา ทั้งสังคมการเมือง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรูปร่างหน้าตาและความโน้มเอียงทางความคิดของพวกเขา ทำให้ความนึกคิดของรุ่นหนึ่งต่างจากคนอีกรุ่นหนึ่ง

แน่นอน อาจจะยังไม่เห็นผลในระยะสั้นๆ รวมทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วนี้ เพราะรุ่นนี้น่าจะเป็นช่วงต้นของการเปลี่ยนผ่านนี้ แต่ก็น่าสนใจในระยะยาว

นอกจากนั้น การคิดว่า “คนรุ่นใหม่” ต้อง “ทำเอง” มากกว่า “ทำให้” ก็คาดหวังมากเกินไป เพราะชีวิตของคนส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ ไม่ได้ติดอยู่กับกิจกรรมหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นนอกสถาบันการเมืองปกติ ตรงกันข้าม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน บางครั้งรบกวนชีวิตปกติและมีต้นทุนในการเข้าร่วมไม่น้อย

ดังนั้น สิ่งที่พอคาดหวังได้ เป็นไปได้จริงมากกว่า และดังนั้น จึงความสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมผ่านสถาบันทางการเมืองปกติ พรรคการเมือง การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสถาบัน “ทำแทน” นี่แหละ ซึ่งเป็นการมีส่วนร่วมที่ทำได้ง่ายและสะดวกกว่า ผู้คนเข้าถึงได้มากกว่า และที่สำคัญอยู่ในกรอบกติกามากกว่า

การกระทำในระดับนี้เป็นคนละเรื่องกับการมีหรือไม่มีจิตสำนึกทางการเมือง และท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตทางการเมืองของผู้คนก็มีทั้ง “ทำเอง” และ “ทำให้” คละเคล้ากันไป

ต้องเน้นย้ำอีกครั้งว่า การ “ทำเอง” นอกสถาบันการเมือง ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งที่ดีเสมอไป ประสบการณ์ระยะใกล้ของสังคมไทยเตือนสติเราเสมอ

ในสถานการณ์ที่พรรคการเมืองต่างๆ เปิดพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่มากขึ้น การมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองกลายเป็นช่องทางที่น่าสนใจ พรรคการเมืองใดก็ได้ที่สอดคล้องกับอุดมการณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในองค์กรระดับท้องถิ่นซึ่งเป็นฐานสำคัญของพรรคการเมือง ที่สมาชิกมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมพื้นฐานต่างๆ อย่างหลากหลายและใกล้ชิด

การมีคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดหรือมุมมองใหม่ๆ เข้าไปมีบทบาทในพรรคการเมือง น่าจะมีส่วนในการปรับปรุง พัฒนาพรรคการเมืองให้ดีขึ้น ทันสมัยขึ้น มีความเป็นสถาบันทางการเมืองมากขึ้น อย่างน้อยการต่อสู้กันในกรอบของระบบประชาธิปไตยก็พอเป็นหลักประกันได้บ้าง

ดังนั้น หากเห็นแก่อนาคตทางการเมืองของไทย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะมาจากที่ใด เป็นหนี้บุญคุณใครมาก่อน ควรที่จะเปิดทางให้พวกเขาเหล่านี้เข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในระดับต่างๆ ได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น การใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตภูมิลำเนาที่ไม่ซับซ้อนและยุ่งยากจนเกินไป การเปิดให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมอย่างเต็ม เพื่อเปิดทางเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น และทำให้การแข่งขันในการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image