การลงทุนและนวัตกรรม โดย กานดา นาคน้อย

ฉันอ่านบทความและฟังคลิปเกี่ยวกับข้อเสนอแนะว่า“หัวใจของการพัฒนากลับไม่ใช่เรื่องภาษา แต่กลับเป็นเรื่องคณิตศาสตร์” โดยอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง [1] พบว่ามีข้อมูลคลาดเคลื่อนและตรรกะสับสน โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์ที่ท่านอธิการบดีอ้างอิง จึงขออธิบายเพื่อนำเสนอว่า“หัวใจการพัฒนาคือการลงทุนสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน” ทั้งคณิตศาสตร์และภาษาต่างชาติไม่ใช่หัวใจการพัฒนา

ก่อนอื่นขอชี้แจงข้อมูลและตรรกะเกี่ยวกับประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ก) แม้เศรษฐีจีนและรัฐบาลจีนลงทุนในต่างประเทศ จีนยังเป็น“ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง”กลุ่มเดียวกับไทย เศรษฐีไทยก็ไปลงทุนในจีนและประเทศอื่นเช่นกัน การจัดอันดับประเทศกลุ่มรายได้ต่างๆอ้างอิงสถิติรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร ดูข้อมูลได้ที่ธนาคารโลก [2]

ข) ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จัดว่าเป็นประเทศรายได้สูง ปัจจุบันมีประเทศรายได้สูงมากถึง 81 ประเทศ และมีประเทศรายได้สูงที่ประชากรพูดภาษาต่างชาติได้มากมาย อาทิ เยอรมัน ฝรั่งเศส สวีเดน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ฯลฯ ใกล้ๆไทยก็มีประเทศสิงคโปร์ ส่วนประเทศรายได้ต่ำมี 34 ประเทศและไม่ได้จำกัดแค่ในทวีปแอฟริกา

Advertisement

ค) ไม่ใช่ว่าคนญี่ปุ่นไม่เห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ตอนเปิดประเทศค้าขายกับตะวันตกเมื่อ 150 ปีที่แล้วทั้งรัฐบาลทั้งภาคธุรกิจญี่ปุ่นส่งคนไปศึกษาที่ประเทศตะวันตก กลับมาสร้างเทคโนโลยีใหม่ด้วยการแปลตำราเป็นภาษาญี่ปุ่น ซื้อสินค้าตะวันตกมาทำวิจัยต่อยอด ภาคเอกชนที่ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนวิจัยและผลิต ภาครัฐเป็นผู้ผลิตบุคลากรด้วยมหาวิทยาลัยและเป็นผู้ซื้อสินค้าเทคโนโลยี เช่น เรือดำน้ำ เครื่องบิน พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เปลี่ยนมาผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อส่งออก เช่น รถยนต์ เลนส์กล้อง เลนส์แว่นตา คนญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลโนเบลมี 26 คนก็ไม่ได้อ่อนภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผลงานวิจัยเป็นภาษาอังกฤษด้วย บางคนสอนที่มหาวิทยาลัยในประเทศตะวันตกหรือทำงานวิจัยร่วมกับชาวตะวันตกแต่ยังถือสัญชาติญี่ปุ่น

ง) ปัจจุบันบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นบางแห่งหันมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการแทนภาษาญี่ปุ่น เช่น ราคุเท็น ฮอนด้า ชิเซโด เพื่อความคล่องตัวในการบริหารและลงทุนข้ามชาติ [3] การลงทุนดังกล่าวครอบคลุมถึงการลงทุนวิจัยซึ่งใช้นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติด้วย ภาษาอังกฤษทำให้การแลกเปลี่ยนความรู้ในกลุ่มนักวิจัยคล่องตัวขึ้น นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นกำลังปฏิรูปการสอนภาษาอังกฤษเพื่อผลิตคนรุ่นใหม่ที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น จำนวนบริษัทข้ามชาติญี่ปุ่นที่หันมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการน่าจะมากขึ้นในอนาคต

จ) การบอกว่าคนจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ไม่เก่งภาษาอังกฤษ“เหมือนคนไทย”อาจอำพรางความจริงที่ว่า มีศาสตราจารย์จาก 3 ชาตินี้สอนที่มหาวิทยาลัยวิจัยที่มีชื่อเสียงที่สหรัฐฯจำนวนมาก ถ้าไม่เก่งภาษาอังกฤษก็ย่อมเป็นศาสตราจารย์ที่สหรัฐฯไม่ได้

Advertisement

ฉ) การสื่อสารต้องใช้ภาษากายด้วย แม้ว่าปัญญาประดิษฐ์ที่ญี่ปุ่นเขียนนิยายได้แต่ยังไม่มีการลงทุนสร้างหนังสร้างละครเพลงมิวสิคัลจากบทประพันธ์โดยปัญญาประดิษฐ์ ปัญญาประดิษฐ์ผลิตตัวเลขข้อมูลได้มากมายรวดเร็ว ทำงานซ้ำซากได้และแปลบทสนทนาได้ตามที่ท่านอธิการบดีอ้างอิง ในอนาคตปัญญาประดิษฐ์อาจวิวัฒนาการจนเดินแฟชั่นก็ได้ แต่ยากที่ปัญญาประดิษฐ์จะทำงานแทนผู้พิพากษา นักกฎหมาย นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักเศรษฐศาสตร์ตามธนาคารกลาง เพราะมนุษย์เป็นผู้เขียนกติกาควบคุมสังคมมนุษย์

ช) ในฐานะนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ที่ท่านอธิการบดีอ้างอิงว่าใช้คณิตศาสตร์ ฉันขอยืนยันว่าภาษาสำคัญเท่ากับคณิตศาสตร์ คนเก่งคณิตศาสตร์แต่อ่อนภาษาแปลสมการเพื่อสือสารความคิดไม่ได้ ทักษะภาษาและคณิตศาสตร์เป็นทักษะที่ส่งเสริมกัน คนเก่งภาษาไม่จำเป็นต้องอ่อนคณิตศาสตร์ และคนเก่งคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องอ่อนภาษา ยกตัวอย่าง อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเพอร์ดูคนหนึ่ง จบปริญญาตรีศิลปศาสตร์เอกภาษาอังกฤษ ภายหลังสนใจดาราศาสตร์ก็ศึกษาเองและเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ ทำวิจัยจนเป็นศาสตราจารย์และอธิการบดี ภายหลังเป็นผู้อำนวยการมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัย

ซ) ในฐานะอาจารย์ขอเสนอว่ากระทรวงการศึกษาควรเลิกแบ่งแยกสายวิทย์และศิลป์ในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัยควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาจบปริญญาตรีข้ามคณะได้ อาทิ อนญาตให้นักศึกษาเอกวิศวกรรมศาสตร์มาลงจบเอกเศรษฐศาสตร์ได้ด้วย การเรียนปริญญาตรีไม่ได้เรียนลึกด้านเทคนิคแบบปริญญาเอก ควรให้โอกาสทดลองเรียนรู้ข้ามคณะ ถ้านักศึกษาไม่ชอบหรือไม่สนใจก็ถอนตัวไปเอง การสอนในระดับปริญญาตรีคือการสอนให้มีทักษะด้านการสื่อสารและการศึกษาด้วยตัวเอง เมื่ออยากรู้ลึกก็ศึกษาต่อด้วยการวิจัยในระดับปริญญาเอกได้ ถ้าอยากปฏิบัติการไม่อยากวิจัยก็ยังนำทักษะด้านการสื่อสารและการศึกษาด้วยตัวเองไปส่งเสริมอาชีพได้

การร่วมทุน vs การลงทุน

เร็วๆนี้ฉันอ่านข่าวพบว่าสถาบันของท่านอธิการบดี“ร่วมทุน”กับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนจากสหรัฐอเมริกาเพื่อเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ [5] โมเดลการร่วมทุนไม่ใช่ของใหม่ สินค้าและบริการเทคโนโลยีที่นิติบุคคลไทยร่วมทุนกับต่างชาติมีมากมายในประวัติศาสตร์ไทยหลังเซ็นสนธิสัญญาเบาวริ่ง เช่น บริษัทรับสัมปทานไม้สัก ธนาคารไทยพาณิชย์ในยุคแรก ในยุคศตวรรษที่ 20 มีการร่วมทุนเพื่อผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น ผลิตยาร่วมกับบริษัทยุโรปและอเมริกัน ผลิตบริการระบบเอทีเอ็มและบัตรเครดิตร่วมกับบริษัทอเมริกัน ฯลฯ

สินค้าและบริการจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันของท่านอธิการบดีและมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนคืออะไร? คือปริญญาจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ บริการฝึกทักษะภาษาอังกฤษและทักษะการทดลอง ไม่ชัดเจนว่าบริการหางานหลังจบหลักสูตรจะเป็นบริการหนึ่งจากการร่วมทุนของ 2 สถาบันนี้หรือไม่? ห้องทดลองที่มหาวิทยาลัยคาร์เนกี้เมลลอนที่สหรัฐฯจะเปิดตำแหน่งเพื่อนำเข้านักวิจัยไทยที่จบหลักสูตรนี้หรือไม่?

ถ้าศิษย์เก่าหลักสูตรโครงการนี้สามารถจดสิทธิบัตรสินค้าใหม่ได้ก็นับได้ว่าพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ แต่การพัฒนาเทคโนโลยีไม่รับประกันว่าจะสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้ จะนำสิทธิบัตรไปสร้างรายได้ก็ต้องอาศัยการลงทุนจากภาคการเงิน ยกตัวอย่างบริษัทเฟซบุ๊ค กว่าจะได้กำไรและเข้าตลาดหุ้นต้องใช้เวลาหลายปี ผู้ลงทุนเสี่ยงให้เงินทุนแก่นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กและยินยอมให้บริษัทขาดทุนในช่วงแรก

การลงทุนสร้างเทคโนโลยีใหม่ยากกว่าการร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยีเดิม เพราะการร่วมทุนคือการแบ่งปันกำไรจากเจ้าของเทคโนโลยีเดิม โครงการร่วมทุนมักมาพร้อมคำว่า“ถ่ายทอดเทคโนโลยี” การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติเกิดขึ้นจริงแต่เกิดในวงแคบ แม้ปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าอิเล็กโทรนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่าสินค้าเกษตร (ทำให้ไทยได้รับชื่อว่าเป็นประเทศอุตสาหกรรม“ใหม่”) แต่แรงงาน 1 ใน 3 ของแรงงานไทยยังอยู่ในภาคเกษตร (ทำให้ไทยยังไม่ได้สถานะประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศรายได้สูง) นี่คือข้อจำกัดของการ“ร่วมทุน”

ไทยไม่ได้ขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกร

ท่านอธิการบดีเรียกร้องให้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตนักศึกษาสายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ (STEM) ที่จริงแล้วนี่คือนโยบายปัจจุบันของสหรัฐฯที่ตอบสนองต่อภาวะขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรในภาคเอกชนตั้งแต่การปฏิวัติเทคโนโลยีสื่อสารเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว

“ภาวะขาดแคลน”คือภาวะที่ผลผลิตในประเทศไม่พอต่อความต้องการจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ภาคเอกชนที่สหรัฐฯลงทุนสร้างเทคโนโลยีจนต้องนำเข้าบุคลากรด้านนี้ แต่ไทยไม่ได้นำเข้านักวิทยาศาสตร์และวิศวกร แรงงานต่างชาติที่ไทยนำเข้าคือแรงงานที่ทักษะไม่ซับซ้อน ภาวะขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจะเกิดขึ้นในไทยหลังจากที่ภาคเอกชนขยายการลงทุนผลิตสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น

การร่วมทุนระหว่างสถานศึกษาไทยที่นำเข้าอาจารย์จากต่างประเทศแสดงว่าไทยขาดแคลนอาจารย์ที่ตอบโจทย์ทางด้านบริการศึกษา อาทิ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ แต่นั่นไม่ใช่การขาดแคลนบุคลากรที่ผลิตเทคโนโลยีเพราะอาจารย์จากต่างประเทศไม่ได้ผลิตสินค้าหรือบริการเทคโนโลยีขายนักศึกษาไทย อาจารย์ต่างชาติผลิตบริการการศึกษาและผลิตปริญญา

สิ่งที่ไทยขาดแคลนไม่ใช่วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ แต่ไทยขาดแคลนการลงทุนโดยภาคเอกชนในตลาดสินค้าและบริการที่ต้องใช้วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ภาคเอกชนในที่นี้ไม่ใช่เพียงภาคการผลิตและรวมถึงภาคการเงินด้วย การร่วมทุนระหว่างสถาบันศึกษาและการลงทุนของภาคการผลิตภาคการเงินเป็นคนละเรื่องกัน อาจเชื่อมโยงกันได้ถ้าสามารถผลักดันนโยบายที่เปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจ

บริษัทเทคโนโลยีไทยนิยมขายปลีก

ลักษณะเด่นของบริษัทเทคโนโลยีไทยที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 คือการนิยมขยายกิจการด้านการขายปลีก
ก) บริษัทปตท.ยักษ์ใหญ่ด้านปิโตรเคมีมีทุนมหาศาล ปตท.ขายปลีกน้ำมันและทำร้านขายกาแฟด้วย
ข) บริษัทซีพีร่วมทุนกับบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพต่างชาติ มีร้านขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค
ค) บริษัทปูนซีเมนต์ไทยร่วมทุนกับบริษัทเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นมากมาย เช่น รถยนต์ กระจก เครื่องจักร แต่ก็มีร้านขายปลีกวัสดุก่อสร้าง

ลองเปรียบเทียบกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ

ก) บริษัทน้ำมันอเมริกันให้ตัวแทนขายปลีกน้ำมันเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน
ข) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพต่างชาติที่ร่วมทุนกับซีพีไม่ทำร้านขายปลีกในประเทศตนเอง
ค) บริษัทแอปเปิ้ลเช่าร้านตามศูนย์การค้าและย่านการค้าทำร้านขายปลีกและศูนย์บริการหลังขาย ไม่ลงทุนเป็นเจ้าของที่ดินร้านขายปลีก ที่สำคัญบริษัทแอปเปิ้ลลงทุนวิจัยต่อไป

ถ้านักศึกษาไทยเชี่ยวชาญคณิตศาสตร์มากขึ้นจะทำให้บริษัทเทคโนโลยีไทยหันมาลงทุนวิจัยอย่างหนักแบบแอปเปิ้ลไหม? ภาคการเงินจะหันมาลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีเกิดใหม่เมื่อนักเรียนไทยเก่งคณิตศาสตร์มากขึ้นหรือ? ลองถามผู้บริหารสถาบันการเงินไทยดีไหม?

หัวใจการพัฒนาคือการลงทุนสร้างนวัตกรรมในภาคเอกชน

การผลิตบุคลากรด้านเทคโนโลยีโดยไม่คำนึงถึงความต้องการในตลาดแรงงาน และไม่มีแผนยุทธศาสตร์ผลักดันให้เอกชนลงทุนสร้างนวัตกรรมจะผลักดันให้บุคลากรด้านเทคโนโลยีไหลไปประเทศที่ยังมีภาวะขาดแคลนบุคลากร หลีกเลี่ยง“ภาวะสมองไหล”ไม่ได้เมื่อสถานศึกษาผลิตแรงงานที่ไม่สัมพันธ์กับโครงการสร้างผลิตในประเทศ ควรผลักดันด้านการลงทุนโดยภาคเอกชน เช่น ปฏิรูประบบภาษี ปฏิรูปกติกาการลงทุน นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ตราบใดที่ไม่ทำก็ยากที่จะเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต

หมายเหตุ : ผู้อ่านแลกเปลี่ยนทัศนะกับผู้เขียนได้ที่ https://twitter.com/kandainthai

อ้างอิง
[1] หัวใจของการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่ภาษา? ประธาน ทปอ. – อธิการบดี สจล. ถูกวิจารณ์กรณีคลิป ‘คณิตฯสร้างชาติ’https://thematter.co/brief/news-1539252000/62220

[2] World Bank Country and Lending Groups:
https://datahelpdesk.worldbank.org/knowledgebase/articles/906519-world-bank-country-and-lending-groups

[3] When a Japanese Company Adopted English as a First Language: https://www.strategy-business.com/article/When-a-Japanese-Company-Adopted-English-as-a-First-Language?gko=82a6b
[4] Biography – Frances Cordova: https://www.nsf.gov/news/speeches/cordova/cordova_bio.jsp
[5] มจล.ร่วมคาร์เนกีเมลลอนส่งเสริมพัฒนาคนพันธุ์ดิจิทัล: http://www.thansettakij.com/content/302267

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image