‘ปฏิญญาเปียงยาง’สัญญาใจเพื่อสันติภาพ : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การที่ “มุน แจอิน” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และ “คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือได้ลงนามใน “ปฏิญญาเปียงยาง” นั้น เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าสงครามได้ยุติแล้ว

ผู้นำทั้งสองได้ตกลงสร้างระบบความเชื่อถือซึ่งกันในทางการทหาร เช่น สร้างเขตปลอดทหารขึ้นที่เส้นแบ่งเขต 38 และจะร่วมจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ตลอดจนการอนุญาตให้คนเกาหลีไปมาหาสู่ร่วมกันทำกิจกรรม โดยก่อให้เกิดสันถวไมตรีโดยทั่วไป

“ปฏิญญาเปียงยาง” คือสัญญาใจสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เป็นความภูมิใจของชนชาติหมู่เกาะเกาหลี

“ปฏิญญาเปียงยาง” นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง อันเกี่ยวกับสถานการณ์เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและปัญหาอาวุธนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เป็นความปลื้มปีติของคนเกาหลี

Advertisement

มีผู้สังเกตการณ์ตั้งคำถามว่า 2 เกาหลีสามารถเจรจาปรองดองกันได้ เหตุใด 2 ฝั่งช่องแคบคือ จีนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่สามารถทำได้

ทว่ากรณีอยู่ที่คนเกาหลีและคนจีน มีวิสัยทัศน์แตกต่างกัน อันเกี่ยวกับการยอมรับในชนชาติและความเป็นเอกภาพของประเทศ

อัน “ปฏิญญาเปียงยาง” นั้น ประโยคแรกคือ “เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ยืนยันหลักเกณฑ์การกำหนดชะตาชีวิตด้วยตนเอง” เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงจุดเด่นของลัทธิประชาชาติอย่างเข้มข้น

Advertisement

เกาหลีเหนือตกลงยินยอม 2 ข้อ คือ 1.รื้อถอนสนามทดลองและสถานียิงขีปนาวุธอย่างถาวร 2.รื้อถอนบรรดาอุปกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดโดยรอบ แต่ทั้งนี้สหรัฐต้องปฏิบัติตาม “ปฏิญญาเกาหลี-สหรัฐ 612” โดยเป็นการตอบสนอง “ปฏิญญาเปียงยาง” ที่สมเหตุผล

สรุป “ปฏิญญาเปียงยาง” คือ การยุติการยิงขีปนาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข และยกเลิกธุรกรรมนิวเคลียร์อย่างมีเงื่อนไข

การประกาศยุติสงครามนั้น ถือเป็นการส่งสัญญาณให้จีนและสหรัฐในเชิงสัญลักษณ์ว่ากองกำลังทหารของสหรัฐและจีนที่คาบสมุทรเกาหลีไม่มีความหมายอีกต่อไปแล้ว

เมื่อเปรียบเทียบกับสองฝั่งช่องแคบคือจีนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่แล้ว ถือว่าความสัมพันธ์เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและนำหน้าไปไกล

ปัญหาของ “สองฝั่งช่องแคบ” ได้เกิดขึ้นเพราะเกาหลีเหนือ เป็นต้นเหตุของ “สงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งแรก” เมื่อ 1894 เป็นเหตุให้เกาะไต้หวันต้องตกเป็นของญี่ปุ่น

ต่อมา 1950 เกิดสงครามเกาหลี สหรัฐใช้กำลังต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่มิให้บุกไต้หวันทำการแบ่งแยก “สองฝั่งช่องแคบ” กลายเป็นปัญหายืดเยื้อต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 70 ปี

ดูผิวเผิน “สองฝั่งช่องแคบ” และ “เกาะเกาหลีเหนือใต้” มีส่วนคล้ายในสิ่งที่ตกทอดมาจากสงครามเย็น และการคุกคามจากภายนอก แต่คตินิยมหรือวิสัยทัศน์มีความแตกต่างกัน เช่น

เมื่อเดือนเมษายน หลังจากที่เกาหลีเหนือใต้ได้ลงนามใน “ปฏิญญาปันมูนจอม” นางฉ้าย อิงเหวิน ผู้นำสูงสุดไต้หวัน ได้อ้างอิงคำทักทายระหว่างผู้นำเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ โดยใช้คำว่า “ประธานาธิบดี” เป็นตัวอย่าง และเรียกร้องให้ผู้นำของ “สองฝั่งช่องแคบ” ควรต้องทักทายกันด้วยคำว่า “ประธานาธิบดี” โดยละเลยพื้นฐานทางการเมืองโดยสิ้นเชิง เพราะว่า

พื้นฐานทางการเมืองระหว่าง “สองเกาหลี” และ “สองฝั่งช่องแคบ” ต่างกันโดยสิ้นเชิง

หากวิเคราะห์จากการยอมรับของชาติพันธุ์ ต้องถือว่าคนเกาหลีใต้และเหนือยอมรับว่าเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน และต้องการความเป็นเอกภาพอย่างน้ำใสใจจริง

แม้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยของเกาหลีใต้ มีความแตกต่างกับเกาหลีเหนือมาก แต่ก็ไม่มีผู้ใดทัดทานการเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน และก็ไม่มีผู้ใดสนับสนุนให้สองเกาหลีเป็นเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เพราะเลือดย่อมข้นกว่าน้ำ อันเป็นคตินิยมของคนเกาหลีที่ทรงคุณค่ายิ่ง

ในอดีตของ “สองฝั่งช่องแคบ” มีส่วนคล้าย “สองเกาหลี” แม้ระบบการเมืองต่างขั้ว ทหารต่างกอง และมีการปะทะกันทางการทหารขนาดเล็ก แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธการเป็นชนชาติจีน

เพราะเลือดทุกหยดของคนจีนทั้งสองฝั่งมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน

แต่ระยะหลังคนไต้หวันเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่พรรคประชาก้าวหน้าของ “ฉ้าย อิงเหวิน” เข้าบริหารประเทศ กระแส “ไม่เอาจีนแผ่นดินใหญ่” ปรากฏเด่นชัด

เด่นชัดจนการเรียกร้อง “เอกราช” กลายเป็นประเด็นหลักทางการเมือง

จากมุมมองทางการเมือง เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้เปิดการเจรจากันในฐานะที่ต่างก็เป็นประเทศที่มีอธิปไตย ต่างก็เป็นสมาชิกถาวรในสหประชาชาติ

และเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก

ทั้งสองเกาหลีมีอาณาเขตและประชากรไม่ต่างกันมากนัก กำลังทางการทหารก็อยู่ในระนาบเดียวกัน ฐานะและศักดิ์ศรีระหว่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

แต่ “สองฝั่งช่องแคบ” ไม่ว่าจำนวนประชากร อาณาเขตประเทศ กำลังทหาร การทูต ล้วนทิ้งกันมองไม่เห็นฝุ่น และไม่มีเหตุผลใดๆ จะมาเทียบกับ “สองเกาหลี”

จุดต่างและจุดห่างราว “ฟ้ากับดิน”

ฉะนั้น ปักกิ่งจึงได้ชูธง “ฉันทามติ 1992” (Consensus 1992)

ภาษาจีนคือ “九二共識” (การรับรู้ร่วมกันปี 92)

เพื่อให้บรรลุ “นโยบายจีนเดียว” เช่น

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2015 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายหม่า อิงจิ่ว ผู้นำสูงสุดไต้หวันสมัยนั้นได้พบกันที่สิงคโปร์ ต่างได้ให้เกียรติซึ่งกันโดยทักทายกันด้วยภาษาจีนกลางว่า “先生” (มิสเตอร์) ทั้งนี้ เป็นการแอพพลาย “ฉันทามติ 1992” เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “จีนเดียว”

การทักทายเช่นนี้เป็นการไม่แบ่งชั้น และไม่มีช่องว่าง

สังคมโลกมองว่าความสัมพันธ์ได้กระชับเข้ามาแล้ว คนจีนสองฝั่งช่องแคบมีความยินดีปรีดาอย่างยิ่ง ทั้งสองเกาหลีเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารักน่าอิจฉา และน่าเอาเป็นตัวอย่าง

รัฐบาลเกาหลีใต้จึงส่งผู้แทนไปไต้หวัน เพื่อขอลอกเลียนแบบ “ฉันทามติ 1992” มาประยุกต์ใช้กับการ “รวมสองเกาหลี” เข้าด้วยกัน

อัน “ฉันทามติ 1992” นั้นคือ การที่รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และรัฐบาลไต้หวันต่างได้แต่งตั้งหน่วยงานที่มิใช่เป็นทางการ เพื่อทำการเจรจาให้บรรลุตามเป้าหมาย “จีนเดียว” จัดขึ้นที่ “ฮ่องกง” ในปี 1992 มติในที่ประชุมมิได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยพลัน

26 ปีผ่านไป การรวมจีนไต้หวันเข้ากับแผ่นดินใหญ่เป็นหนึ่งเดียวนั้น นอกจากยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด เหตุการณ์ “สองฝั่งช่องแคบ” กลับเลวร้ายลง ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้ว จนกระทั่ง เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ประกาศยุติสงบศึกรวมตัวกันแล้ว

ปัญหา “สองฝั่งช่องแคบ” ก็ยังดำรงอยู่

ฉะนั้น “ฉันทามติ 1992” ก็คือ “ยากล่อมประสาท” นั่นเอง

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image