Cloud Lovers : ชวนรู้จัก ‘ลมข้าวเบา’ & ‘ลมข้าวดอ’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

ช่วงปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ อยากชวนคุยเรื่องลมที่คนไทยเราให้ความสำคัญมานับแต่อดีตครับ

เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะเปลี่ยนเป็นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากความกดอากาศสูง หรือมวลอากาศเย็นแถบมองโกเลียจะทำให้เกิดลมหนาวเย็นพัดลงมาสู่ประเทศไทย ลมหนาวนี้จะเข้าสู่ภาคเหนือและภาคอีสานก่อน จากนั้นก็จะผ่านพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคตะวันออก ก่อนลงสู่อ่าวไทย

เริ่มจากมุมของชาวนาภาคกลางในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยากันก่อน ลมหนาวแรกพัดมาในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน ช่วงนี้ข้าวพันธุ์เบา หรือ “ข้าวเบา” พร้อมเก็บเกี่ยวได้ (“ข้าวเบา” หมายถึง กลุ่มพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตเร็วกว่ากลุ่มพันธุ์ข้าวอื่น) ทุ่งนาที่ปลูกข้าวเบาซึ่งเคยเขียวขจีจะกลายเป็นสีเหลืองอร่าม ชาวนาภาคกลางจึงเรียกลมหนาวแรกนี้ว่า “ลมข้าวเบา” และเนื่องจากลมข้าวเบาโยกต้นข้าวจนโอนเอนลู่ไปมาตามแรงลม จึงมีชื่อเรียกว่า “ลมโยกข้าวเบา” ด้วย

Advertisement

เพลงเก่าบางเพลงอาจเรียกชื่อต่างออกไปอีกเล็กน้อย เช่น เพลง “ร้องไห้กับเดือน” เรียกว่า “ลมล่องข้าวเบา” เพลงนี้คุณคัมภีร์ แสงทอง เป็นผู้แต่งทั้งเนื้อร้อง ทำนอง และร้องด้วยตนเอง ท่อนหนึ่งร้องว่า

“เคยเคลียคลอ พนอเดินเล่นกับน้อง ครั้งเมื่องาน เดือนเพ็ญสิบสอง เมื่อตอนลมล่องข้าวเบา
เพื่อนฮาเราเฮ สรวลเสรักกันหนุ่มสาว อุ่นไอรักรวงข้าว โถเจ้าไม่น่าหน่ายหนี”

ส่วนเพลง “คอยลม” เรียกว่า “ลมโบกข้าวเบา” เพลงนี้เป็นของวงดนตรีสุนทราภรณ์ แต่งโดย ครูศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผมคัดบางท่อนมาให้อ่านดังนี้

Advertisement

“ข้าวเบาหน้านี้รวงดีเพราะมีลมโบก ได้ลมฉ่ำฝนจนโชก แต่ใจข้าโศกหนักหนา
เจ้าสิ้นใจรัก ข้ายังภักดีเรื่อยมา นี่หรือน้ำใจเจ้ากล้า ทิ้งข้าไปได้ลงคอ
สาวเอย โถน้ำใจเจ้าช่างดำ แกล้งรักให้ช้ำ รักพรากเจ้าเป็นคนก่อ
เจ้าลืมแล้วหรือ โถข้าซื่อตรงรอ กลับเถิดหนอ ใจข้าโศกเหมือนคอยลมโบกข้าวเบา”

สุวรรณ ยนต์พันธ์

ส่วนทางอีสานนั้น เรียกข้าวเบาว่า “ข้าวดอ” และเรียกลมข้าวเบาว่า “ลมข้าวดอ” เกร็ดความรู้นี้ผมได้มาจาก คุณสุวรรณ ยนต์พันธ์ หรือ “วรรณ” ซึ่งเป็นแม่บ้านประจำอาคารที่ทำงานของผม คือ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ วรรณเป็นชาวผู้ไท พื้นเพอยู่ที่ตำบลบ้านผึ้ง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ผมขอให้เธอช่วยออกเสียงคำว่าข้าวดอในสำเนียงผู้ไท เสียงที่ผมได้ยินคือ “ข้าว-ด๋อ” วรรณยังบอกด้วยว่าข้าวดอแถวๆ บ้านเธอเป็นข้าวเหนียว มีรสหวานอร่อย

เพื่อนคนอีสานอีกท่านหนึ่ง คือ คุณมรกต มูลสาร หรือ “หมอโจ๋” เป็นพยาบาลอยู่ที่ อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร หมอโจ๋เล่าว่า “หลังออกพรรษาอากาศจะเย็นสบาย ลมพัดเอื่อยๆ พวกเรารับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนฤดู ลมจะเปลี่ยนทิศ ชาวบ้านเรียกว่า หัวลมอ่วย (คำว่า อ่วย แปลว่า เปลี่ยนกลับทิศทาง แบบตรงกันข้าม) หรือ หัวลมออก (ซึ่งบ่งว่าความหนาวเย็นเริ่มมาเยือนแล้ว) อากาศช่วงนี้จะเย็นสบายดีมาก หนูจะชอบอากาศช่วงนี้มากที่สุด เพราะไม่หนาวมาก….เดือนตุลาคมจะได้กินข้าวใหม่แล้ว ข้าวที่เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมนี้ชาวอีสานเรียกว่า ข้าวดอ หรือข้าวเบา เป็นข้าวไวแสงค่ะ (ส่วนใหญ่ชาวนาจะปลูกข้าวที่ไม่ไวแสง จะเก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน คือจะช้ากว่าข้าวดอ) ลมในช่วงนี้เขาจึงเรียกว่า ลมข้าวดอ เพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวดอ”

หมอโจ๋ยังแนะนำเพลง เพลงสัญญาปลาข่อน ขับร้องโดยเอกพล มนต์กระการ ท่อนแรกขึ้นมาก็ร้องว่า “ลมพัดข้าวดอหัวใจอ้ายรอฟังข่าว คึดฮอดผู้สาวที่เคยเว้ากันปีก่อน ว่าสิคืนนาทุกคราเมื่อยามปลาข่อน แต่พอเจ้าจรปลาข่อนบ่เห็น…คำแพง….”

น่ารู้ด้วยว่า คำว่า “ดอ” เป็นภาษาถิ่นทั้งทางแถบอีสานและล้านนา พจนานุกรมภาษาถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดพิมพ์โดย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ อธิบายว่าคำว่า “ดอ” และ “เข้าดอ” (สะกดแบบนี้ในพจนานุกรม)

ดอ ว. มาก่อนเวลาที่ควร เช่น เข้าดอ = ข้าวพันธุ์ที่ให้ผลเร็ว, ถั่วดอ = ถั่วพันธุ์ที่ออกผลเร็ว, บ่าวดอ = เด็กชายที่ยังไม่แตกเนื้อหนุ่ม แต่ประพฤติอย่างคนหนุ่ม และสนใจเพื่อนหญิงมากเกินวัย.

เข้าดอ น. ข้าวเบา

ส่วน พจนานุกรมคำเมือง เขียนโดยอาจารย์มาลา คำจันทร์ ระบุว่า

ดอ ว. เร็วกว่าปรกติ เช่น เข้าดอ–คือข้าวที่สุกเร็วกว่าปรกติ คือข้าวเบา, เป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัยอันควร

คราวนี้ ลองมองในอีกมุมบ้างคือ การเล่นว่าวของคนไทยแต่เดิม

ลมหนาวที่เริ่มพัดมานี้เหมาะแก่การนำว่าวขึ้นสู่ท้องฟ้า และนี่เองที่ทำให้ คนเหนือ คนอีสาน และคนในภาคกลางแต่เดิมเล่นว่าวในช่วงต้นหน้าหนาว

กรณีของคนเหนือ ผมได้สอบถามเพื่อน 2 คน คนแรกคือ ครูน้อย-วิไลลักษณ์ แสนเสนา ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนสองพิทยาคม อ.สอง จ.แพร่ ครูน้อยเล่าว่า “ตอนเด็กๆ พากันเล่นว่าว ตอนหน้าเกี่ยวข้าวเสร็จ คือเดือนยี่ ประมาณปลายพฤศจิกายนถึงธันวาคม สมัยก่อนเรียกว่า ลมล่อง (แต่เดี๋ยวนี้ลมชักแปรปรวน เดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวล่อง ^__^) เล่นว่าวเสร็จ ตอนเย็นอาบน้ำแสบขามากเพราะตอซังข้าวบาดเอา จำได้ว่าพ่อเอาตอซังข้าวที่เป็นปล้องแข็งๆ หน่อยมาปาดให้เป็นรูด้านบน เป่าเป็นนกหวีดได้ด้วยค่ะ”

เพื่อนคนเหนืออีกคนหนึ่งคือ ลูกเกด-เกสราภรณ์ แสงแก้ว ซึ่งอยู่ที่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เล่าว่า “สมัยก่อนเล่นว่าวตอนช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ประมาณต้นฤดูหนาว จำได้ว่าฟางบาดขา หน้าหนาวเลยอาบน้ำทั้งเย็นทั้งแสบค่ะ 555” ลูกเกดยังเล่าต่ออีกว่า “แม่ก็ว่าหลังฤดูเกี่ยวข้าวนาปีก็คือต้นฤดูหนาว จะมีลมว่าวมา สมัยก่อนการเล่นว่าวก็ไม่ค่อยฮิต หาคนทำว่าวยาก แถมยังต้องรอฤดูกาลอีก พอมาถึงสมัยนี้ แถวบ้านไม่เห็นมีใครเล่นว่าวกันเลยค่ะ”

กรณีของคนอีสาน ผมขอยกข้อความของผู้ที่ใช้นามปากกาว่าคุณพริกขี้หนู ซึ่งเขียนบทความว่า “ลมหนาว…เล่นว่าวกัน” ในเว็บไซต์ www.GuideUbon.com ความตอนหนึ่งว่า “คนอีสานจะเล่นว่าวกันในช่วงต้นฤดูหนาว หรือช่วงที่ลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดมา นั่นคือหลังงานบุญออกพรรษา ช่วงทำนาเสร็จ ชาวบ้านจะรอให้ข้าวออกรวงแล้วเกี่ยวข้าว ช่วงนี้เราจะเรียกว่า ‘ช่วงลมอ่วย’ หรือช่วงลมเปลี่ยนทิศ ซึ่งจะพัดจากเหนือลงใต้ เรามักจะได้ยินชื่อเรียกลมนี้ว่า ‘ลมว่าว’….”

กรณีของคนภาคกลางก็น่าสนใจ เพราะแต่เดิมนั้นคนภาคกลางก็เล่นว่าวในช่วงหน้าหนาวด้วยเช่นกัน ลองมาดูหลักฐานกัน เช่น หากเปิดพจนานุกรม สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ของพระสังฆราชชอง-บาตีสต์ ปาเลอกัว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2397 หน้า 400 ก็จะพบคำว่า ลมเว่า (สะกดตามต้นฉบับ) แปลว่า wind of the north (ลมที่พัดมาจากทิศเหนือ) และหน้า 855 ก็จะพบคำว่า ลมเว่า แปลว่า The north-wind (ลมที่พัดมาจากทิศเหนือ) และ ข้างทิศเว่า แปลว่า On the north side (ทางด้านทิศเหนือ)

ส่วนพจนานุกรม อักขราภิธานศรับท์ ของคุณหมอแดน บีช บรัดเลย์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2416 หน้า 651 ก็มีคำว่า ลมว่าว โดยอธิบายไว้ว่า) ลมว่าว, คือ ลมระดูหนาว มันพัดมาแต่ฝ่ายทิศอีศาน, มักให้เกิดความหนาวเอย็นนัก. (สะกดตามต้นฉบับ)

ในหนังสือ ถึงอย่างไรก็อยู่กันมาได้ ของคุณนิพัทธ์พร เพ็งแก้ว มีบทความเรื่อง ผู้อยู่กับลม ซึ่งเล่าเรื่องลมประจำถิ่นในท้องที่ต่างๆ เอาไว้ค่อนข้างละเอียดและน่าอ่าน ทั้งนี้ในหน้า 75-76 มีหัวข้อเรื่อง ลมของมิสเตอร์ เอช. วาริงตัน สมิธ ซึ่งเป็นชาวอังกฤษที่เข้ามารับราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ในตำแหน่งรองเจ้ากรมโลหกิจและภูมิวิทยา กระทรวงเกษตราธิการ ท่านผู้นี้บันทึกเกี่ยวกับการเดินทางสำรวจทางธรณีวิทยาและหาสายแร่ไปทางตะวันตกเฉียงใต้ของสยามในปี พ.ศ. 2438 และเมื่อเดินทางออกจากชุมพรกลับเข้ากรุงเทพฯ ก็ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ลม” ในทิศทางต่างๆ ไว้โดยระบุว่า ลมว่าว คือลมที่พัดมาจากทิศเหนือด้วยเช่นกัน

ในปัจจุบัน คนในภาคกลางนิยมเล่นว่าวในหน้าร้อน (ช่วงเดือนเมษายน) โดยใช้เป็นลมฝ่ายใต้ (อาจหมายถึงลมที่พัดมาจากทิศใต้ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้) เรียกว่า ลมตะเภา ดังนั้น คำว่า “ลมว่าว” สำหรับคนภาคกลางในปัจจุบันจึงมักจะหมายถึงลมตะเภานี้นั่นเอง ไม่ได้หมายถึงลมหนาวเหมือนในอดีตอีกต่อไป

เห็นมั้ยครับว่า เรื่องของลมประจำถิ่นในช่วงปลายฝน-ต้นหนาว มีทั้งแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ วิถีชีวิตของชาวนา การละเล่น แต่เดิม ตลอดจนคำที่ปรากฎในเพลง

เพราะทั้งหมดนี้เป็นแง่มุมต่างๆ ของชีวิตมนุษย์และวิถีของชุมชนที่ผูกพันกับธรรมชาตินั่นเองครับ

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ข้อมูลเกี่ยวกับลม(โยก)ข้าวเบา ผมนำมาจาก บทความเรื่อง ลมข้าวเบา ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง เล่ม ๑๒ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ (หน้า 5751-5752) เรียบเรียงโดยคุณเบญจมาส แพทอง

ฟังเพลง “คอยลม” ขับร้องโดยครูยรรยงค์ เสลานนท์ ได้โดยการสแกน QR Code

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image