น.3คอลัมน์ : ทิศทาง การเมือง ผ่าน เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ ทิศทาง ‘อำนาจ’

หากถือเอาการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเดือนเมษายน 2560 เป็นบาทก้าวสำคัญในทางการเมือง

การเมืองหลัง “รัฐประหาร”

การเปิดตัวเฟซบุ๊กของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนตุลาคม 2561 ก็เป็นอีกบาทก้าวหนึ่งซึ่งทรงความหมายเป็นอย่างสูง

ยิ่งเมื่อคนที่เสนอและเป็นแอดมิน คือ นายพุทธพงษ์ ปุณณกันต์ ยิ่งแหลมคม

Advertisement

แหลมคมเพราะไม่เพียงแต่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จะดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

หากยังเป็นกรรมการบริหาร “พรรคพลังประชารัฐ”

พรรคพลังประชารัฐอันมีรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเป็นหัวหน้า มีรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์เป็นรองหัวหน้า มีรัฐมนตรีพาณิชย์เป็นเลขาธิการ มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นโฆษก

Advertisement

ไชโย ประชารัฐ ไทยนิยม

ความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ ความหมายอันบ่งบอกว่ารถจักรได้ขึ้นไปอยู่บนรางแห่งโรดแมปการเลือกตั้งแล้ว

ยากอย่างยิ่งที่จะ “รั้ง”

เห็นได้จากการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ตามมา

แม้จะมี “แง่ง” ยื้อ ถ่วง หน่วง ดำรงอยู่ แต่ก็มีการเคลื่อนไหว

พลันที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ นำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่โลกแห่งโซเชียลมีเดีย โดยขั้นต้นเริ่มจากเฟซบุ๊ก ตามด้วยอินสตาแกรม ตามด้วยทวิตเตอร์ และมีความเป็นไปได้ที่จะเข้าสู่เฟซบุ๊กไลฟ์

นั่นหมายถึงการก้าวเข้าไปสู่โลกแห่ง “ดิจิทัล” เป็นลำดับ

โลกแห่งดิจิทัลไม่เพียงแต่จะยืนยันว่าอยู่ตรงกันข้ามกับโลกแห่งอนาล็อก หากแต่ยังเท่ากับเป็นการสมาทานพื้นที่แห่งความเป็นประชาธิปไตยอย่างสูง

การมาของ “ดิจิทัล” มีลักษณะสร้างสรรค์อย่างแน่นอน แต่กระบวนการของมันดำเนินไปในลักษณะอย่างที่สรุปในเวลาต่อมาว่า

เป็นการสร้างสรรค์บนพื้นฐานแห่ง “การทำลาย”

ด้านหนึ่ง ดิจิทัลสะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นประชาธิปไตย เปิดกว้าง ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่งก็เหลื่อมซ้อนและล่อแหลมที่จะไถลไปสู่ลักษณะแห่ง “อนาธิปไตย”

เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมายอมรับ

“บอกแล้วว่า ถ้าชอบผมมากๆ อีกพวกก็จะออกมาด่าผมมากขึ้น หรือบางพวกชอบผมก็ไปด่าคนอื่นเรื่องนี้ต้องทำใจ”

ต้องทำใจเพราะ “ก็มีทั้งด่าทั้งชม”

คนที่ติดตามกว่า 200,000 จึงมาพร้อมกับคนกดไลค์กว่า 200,000 และเป็นจำนวนที่มิได้หมายถึงชอบอย่างเดียว

นี่คือความเป็นจริงของ “โซเชียล มีเดีย” ความเป็นจริงของ “การเมือง”

การเข้าสู่โลกโซเชียลเท่ากับเป็นหมุดหมายยืนยันว่า การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นแน่นอน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปอีกแน่นอน

เป็นการยืนยันด้วยความมั่นใจ

มั่นใจในความสำเร็จของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มั่นใจในกฎกติกาที่จัดวางเอาไว้อย่างรอบคอบรัดกุม มั่นใจในความนิยมของประชาชน

ความมั่นใจนี้กำลังได้รับการตรวจสอบ พิสูจน์ทราบ จาก “การเลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image