ภาพเก่า..เล่าตำนาน : ไปที่ไหนๆ ..ก็มีไชน่าทาวน์ (2) : ใคร คือ…เจ้าพ่อซำปอกง?

คน คือ ทรัพยากรที่สยามขาดแคลน สยามจะสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องมีคนอยู่อาศัยในแผ่นดินเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ แสดงขอบเขตราชอาณาจักร…

ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มีประวัติการอพยพย้ายถิ่นฐานไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลกมานานนับพันปี มีนิสัยเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ทำงานแบบถวายชีวิต ไปอยู่ที่ไหนก็ขอทำงาน การค้าขาย คือลมหายใจ

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอย้อนไปราว 1 พันปี ที่ขอเปิดเผยเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของชาวจีนคนหนึ่ง ที่เปรียบประดุจเทพเจ้าแห่งการเดินเรือเกือบรอบโลก

ในสมัยราชวงศ์หมิง เจิ้ง เหอ (Zheng He หรือ Cheng Ho) ได้รับคำสั่งจากจักรพรรดิให้นำกองเรือมหึมา และส่งชาวจีนนับหมื่นคนออกไปสำรวจทะเลจีนใต้ และบริเวณมหาสมุทรอินเดีย การเดินเรือต้องใช้เวลาเดินทางนานนับปี เสี่ยงเป็น เสี่ยงตายในทะเล

Advertisement

ชาวจีนที่เดินทางไปกับขบวนเรือ ส่วนมากเป็นชาวกวางตุ้ง และชาวฮกเกี้ยน ชาวจีนจำนวนมากเมื่อพบดินแดนใหม่ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ ดินดำ น้ำชุ่ม พืชพันธุ์เขียวขจี ก็ขอปักหลักอยู่ถาวร ณ ดินแดนต่างๆ ตลอดเส้นทางเดินเรือ มีครอบครัวกับชาวพื้นเมือง สร้างชีวิตใหม่ รักษาขนบประเพณีความเป็นจีน และมิได้กลับมายังประเทศจีนอีกเลยจำนวนมหาศาล

ลองมาทำความรู้จักนักเดินเรือทะเลชาวจีนที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก ชื่อ เจิ้ง เหอ ที่คนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นชื่อแซ่นัก เพราะเคยได้ยินแต่ชื่อของโคลัมบัส

เจิ้ง เหอ มีนามเดิมว่า หม่า ซันเป่า (คนไทยรู้จักกันดีในนามว่า “ซำปอกง”) เป็นชนชาติหุย มณฑลยูนนาน เกิดในปี พ.ศ.1914 (ตรงกับช่วงอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี)

ปู่และพ่อของเขาล้วนเป็นชาวจีนมุสลิมที่เคร่งครัด เคยไปแสวงบุญที่เมกกะ (Macca) มาแล้ว จึงรอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับดินแดนอื่นๆ นอกจากจีน เคยพบเห็นดินแดนมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ

เมื่อ หม่า ซันเป่า อายุ 10 ขวบ เขาถูกนำตัวไปยังนครนานกิง เพื่อทำงานให้กับราชวงศ์หมิง ซึ่งอยู่ห่างไกลบ้านเกิดของเขากว่าพันกิโลเมตร เพื่อถวายเป็น “ขันที” ในราชสำนักและโดนตอน (ตัดลูกอัณฑะ และอวัยวะเพศทิ้ง)

หม่า ซันเป่า มีความสามารถสูง เฉลียวฉลาด ได้รับความไว้วางใจ กระทั่งต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพคู่ใจของเจ้าชายจูตี้ ในการทำศึกรบพุ่งกับกองทหารมองโกลทางตอนเหนือ

หม่า ซันเป่า ยกทัพเข้ายึดนครนานจิง ช่วงชิงราชบัลลังก์จากพระราชนัดดาคือ จักรพรรดิ หมิงฮุ่ยตี้ ที่สืบราชบัลลังก์ต่อจากหมิงไท่จู่ ปฐมจักรพรรดิราชวงศ์หมิง

หม่า ซันเป่า มีส่วนสำคัญช่วยให้จูตี้ได้รับชัยชนะขึ้นสู่บัลลังก์เป็นจักรพรรดิ หมิงเฉิงจู่ เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 3 แห่งราชวงศ์หมิง มีชื่อรัชกาลว่า หย่งเล่อ

ในปี พ.ศ.1947 จักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ ตั้งให้หม่า ซันเป่า เป็นหัวหน้าขันที และพระราชทาน “แซ่เจิ้ง” ให้เรียกว่า เจิ้ง เหอ หัวหน้าขันทีผู้นี้ มีรูปร่างสูงใหญ่กว่า 7 ฟุต น้ำหนักเกิน 100 กก. ท่วงท่าเดินสง่าน่าเกรงขามเหมือนราชสีห์ น้ำเสียงกังวานมีพลัง

ปี พ.ศ.1948 เมื่อเจิ้ง เหอ มีอายุ 34 ปี พระจักรพรรดิจูตี้มีพระราชโองการให้ เจิ้ง เหอ เป็นหัวหน้าคณะทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับดินแดนที่อยู่แถบมหาสมุทรทางตะวันตกโดยขบวนเรือ ขบวนเรือของเจิ้ง เหอ ออกเดินทางจากท่าเรือแม่น้ำแยงซี นครนานกิง

แผ่นดินจีนในราชวงศ์หมิง รุ่งเรืองเฟื่องฟูเรื่องการเดินเรือทะเล นครนานกิงในสมัยนั้นมีอู่ต่อเรือราว 40 แห่ง เป็นแหล่งชุมนุมของช่างต่อเรือจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ฝีมือการต่อเรือเดินทะเลไม่เป็นสองรองใครในโลก

จีนแสดงอานุภาพทางทะเล โดยเจิ้ง เหอนำ “เรือสำเภา” ขนาดยักษ์ ลำที่ใหญ่สุดมีตันระวางขับน้ำสูงถึงหนึ่งพันตัน จัดเป็นเรือทะเลที่เดินเรือทางไกลใหญ่ที่สุดในโลกในเวลานั้น

เจิ้ง เหอ เป็นผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของจีนท่องทะเลไปดินแดนไกลโพ้นสุดขอบฟ้า เรือสำเภาขนาดใหญ่ ภาษาจีนเรียกว่า “เป่าฉวน” แปลว่า “เรือมหาสมบัติ” เริ่มออกเดินทางครั้งประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.1948 (ตรงกับรัชสมัยพระรามราชาธิราชแห่งราชวงศ์อู่ทอง แห่งกรุงศรีอยุธยา)

ขบวนเรือสำเภาของเจิ้ง เหอ ประกอบด้วยเรือสำเภาใหญ่เล็กต่างๆ ราว 100 ลำ ลูกเรือทั้งหมดมีประมาณ 2 หมื่นนาย สิ่งของที่บรรทุกไว้บนเรือนั้น มีผ้าไหม เครื่องกระเบื้อง ศิลปหัตถกรรมและงานศิลปะ ซึ่งเป็นสิ่งของ-สินค้าที่ทำในจีนเท่านั้น

เมื่อถึงดินแดนแคว้นใด เจิ้ง เหอ ก็จะประกาศพระราชโองการสร้างสัมพันธไมตรีของพระจักรพรรดิราชวงศ์หมิงของจีน แล้วนำสิ่งของพระราชทานจากพระจักรพรรดิของจีนไปถวายแด่พระจักรพรรดิของดินแดนนั้นๆ แล้วเชิญชวนประเทศเหล่านี้จัดส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชวงศ์หมิงของจีน

ราชวงศ์หมิงของจีนทำงานการทูตระดับโลกมาก่อนใครและเป็นผลสัมฤทธิ์ในด้านความเป็น “พี่เบิ้ม” ในภูมิภาค

ขบวนเรือสำเภาของเจิ้ง เหอ ได้รับการบันทึกว่า เดินทางไปไกลสุดถึงทะเลแดง (Red Sea) และชายฝั่งทะเลตะวันออกของทวีปแอฟริกา ผ่านทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา 3 ทวีป รวมกว่า 30 ดินแดนและเขตแคว้น

น่าทึ่งนะครับ ราว 1 พันปีมาแล้ว ชาวจีนมีความรู้ ความชำนาญการเดินเรือในทะเลแบบท่องโลก ไปสร้างไมตรี ไปปูทางการค้าขาย กับดินแดนต่างๆ ได้ (ต้องขอเรียนท่านผู้อ่านว่า คำว่า “ประเทศ” ยังไม่มี มีแต่ “ดินแดน-อาณาจักร”)

เจิ้ง เหอ ชาวจีนผู้นี้แหละ คือคนที่เปิดความลี้ลับของดินแดนต่างๆ เปิดโลกให้บรรดาชาวจีนทั้งหลายเดินทางออกนอกแผ่นดินจีน การเดินเรือไปยังดินแดนแถบมหาสมุทรตะวันตกของเจิ้ง เหอ คือการสร้างประวัติศาสตร์ให้ชาวจีนบุกเบิกพัฒนา ปูทางให้ชาวจีนมองเห็นโอกาสในดินแดนใหม่ๆ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เส้นทางขบวนเรือสำเภา” อันยิ่งใหญ่ของ เจิ้ง เหอ คือการค้นพบเส้นทางคมนาคมทางทะเลจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เจิ้ง เหอ ปูทางให้ชาวจีนจำนวนมากย้ายถิ่นมายังเวียดนาม ลาวเขมร สยาม มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย ด้วยความมั่นใจ

เรือมหาสมบัติของเจิ้ง เหอ ยาวประมาณ 400 ฟุต ขนาดใหญ่กว่าเรือ ซานตา มาเรีย ของโคลัมบัสที่ยาวเพียง 85 ฟุต ถึง 5 เท่า

เส้นทางเดินเรือของมหาอำนาจจีนในยุคนั้นคือ แล่นเลียบชายฝั่งฟุเกี้ยน ผ่านไปยังอาณาจักรจามปา (ในเวียดนาม) ชวา มะละกา สมุทรา (เซมูเดรา) และแลมบรีทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา จากนั้นเดินทางต่อไปยังเกาะลังกา กาลิกัต ขากลับได้นำคณะทูตจากเมืองเหล่านี้มาเข้าเฝ้าจักรพรรดิหย่งเล่อของจีน

ข้อมูลประวัติศาสตร์ตรงนี้ จึงเป็นการเฉลยว่า ชาวจีนอพยพ เคลื่อนย้าย ออกนอกดินแดนของตนมานานนับพันปี โดยทางเรือ และส่วนหนึ่งอพยพมาสู่ดินแดนสยามต่อเนื่องยาวนาน

คุณูปการของเจิ้ง เหอ ที่มีต่อชาติจีนและชาวโลกนั้นมหาศาล เมืองที่กองเรือของเขาเคยจอดแวะ ชาวจีนได้ตั้งศาลเพื่อสักการะเจิ้ง เหอ ในความหมายของเป็น “เทพเจ้าแห่งการเดินเรือ” เรียกว่า “ศาลเจ้าซำปอกง” ขณะที่เจิ้ง เหอ เป็นมุสลิม

ศาลเจ้าในแถบตะวันออกเฉียงใต้มีที่ สะมารัง จ.ชวาตะวันออก ปาเล็มบัง เกาะสุมาตรา ในประเทศอินโดนีเซีย มะละกา ปีนัง กูชิง กัวลาตรังกานู ในมาเลเซีย ซูลู ในฟิลิปปินส์ ประเทศบรูไน และในประเทศไทย

ในสังคมไทย เจิ้ง เหอ เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “เจ้าพ่อซำปอกง” วัดซำปอกง หรือชื่อเป็นทางการคือ วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีหลักฐานว่าเจิ้ง เหอ เคยนำกองเรือมหาสมบัติเข้ามาเยือนกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนครอินทร์

จุดเชื่อมโยงของเรื่องราวของวัดพนัญเชิงกับกองเรือมหาสมบัติของเจิ้ง เหอ อีกประการ น่าจะเป็นที่ตั้งของวัดพนัญเชิงอยู่ที่แหลมบางกะจะ ซึ่งเป็นท่าจอดเรือทางตะวันออกเฉียงใต้เกาะเมืองกรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่โบราณ

บางกะจะเป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักจนทำให้เกิดเป็นน้ำวนขึ้น จึงปรากฏเรียกว่าเป็นบ้านน้ำวน หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าตำบลสำเภาล่ม ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะในอดีตมีเรือสำเภาล่มเพราะน้ำวนจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นที่จอดเรือสำเภามาแต่อดีต

จากการศึกษาโบราณคดีใต้น้ำยังได้มีการขุดพบโบราณวัตถุจากเรือที่จมอยู่ใต้ท้องแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดไก่เตี้ยพฤฒารามราษฎร์บำรุง ซึ่งอยู่ห่างจากวัดพนัญเชิงและตำบลสำเภาล่มลงมาทางใต้ (คนละฟากแม่น้ำ) ราว 5 กิโลเมตร ได้แก่ เครื่องถ้วยสังคโลก เชือกเถาวัลย์ อาวุธ รวมไปถึงก้านและปีกของสมอเรือโบราณ รวมถึงท่อนไม้ยาว 10 เมตร ที่สันนิษฐานว่าจะเป็นเสากระโดงของเรือสำเภาขนาดใหญ่

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่มีหลักฐานความเชื่อมโยงกับเจิ้ง เหอ ก็มีเพียงวัดเดียว คือวัดพนัญเชิง ที่เรียกหลวงพ่อโตพระประธานว่าซำปอกง และจากข้อความที่ระบุว่า มีพระพุทธรูปสูงเท่าหลังคาบ้าน ก็ดูสอดคล้องกับขนาดของหลวงพ่อโตที่ใหญ่โตมากโดยมีหน้าตักกว้าง 20.71 เมตร และมีความสูงจากชายพระชงฆ์ถึงพระรัศมี 19 เมตร เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดซำปอกงในประเทศไทย มี 3 แห่ง แต่ละแห่งจะมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือ “วัดกัลยา” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ฝั่งใต้ และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

เจิ้ง เหอ เป็นผู้ริเริ่ม กล้าหาญ ทำให้จีนเจริญรุ่งเรืองกว่าดินแดนใดๆ แต่โชคไม่ดีที่จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงองค์ต่อๆ มาระงับการเดินทางอันเป็นปรากฏการณ์ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ และนับตั้งแต่นั้นมา จีนไม่มีกองเรือที่จะยิ่งใหญ่เทียบเท่ากับกองเรือมหาสมบัติ ของเจิ้ง เหอ อีกเลย

มหาบุรุษเจิ้ง เหอ ชาวจีน เดินทางด้วยขบวนเรือท่องโลกถึง 7 ครั้งด้วยความสง่างาม ยิ่งใหญ่ เจิ้ง เหอ เสียชีวิตลงในปี พ.ศ.1976 (ตรงกับรัชสมัยสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ของอยุธยา)

กลับมาคุยกันเรื่องชาวจีนอพยพ ย้ายถิ่นฐานมาสยามครับ

ชาวจีนเรียนรู้การเดินทางลงใต้จากข้อมูลการเดินเรือของเจิ้ง เหอ ส่วนหนึ่งและเรียนรู้จากพ่อค้านักเดินเรืออาชีพ ทำให้การอพยพเข้ามาสยามเกิดขึ้นแบบไม่ขาดสาย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคล่าอาณานิคม ในขณะนั้นเป็นสมัยของราชวงศ์ชิง ดินแดนที่เป็นอาณานิคมจำนวนมากขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่จังหวัดฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง มีแรงงานเกินความต้องการ รัฐบาลของราชวงศ์ชิงจึงถูกเจ้าอาณานิคมทั้งหลายบีบบังคับให้นำประชากรจีนไปเป็นแรงงานในดินแดนอาณานิคมของตน

ชาวฮกเกี้ยน และชาวกวางตุ้งจำนวนมาก เลือกที่จะไปทำงานในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องด้วยความสัมพันธ์ของชาวจีนและดินแดนนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง

เมื่อค้นข้อมูลในรายละเอียด ชาวจีนที่ลงเรือหนีตายกันมาเมืองสยาม จะใช้เวลาเดินทางในทะเลราว 20 วัน บางลำอาจจะใช้เวลา 1 เดือน ขึ้นอยู่กับว่าออกจากท่าเรือที่ไหน เรือส่วนมากเป็นเรือสินค้า ทำมาค้าขาย เรือจะแวะตามเมืองท่าต่างๆ มาตลอดทาง มิได้แล่นตรงมาเมืองสยาม เรือสินค้าเป็นเรือสำเภา ต้องใช้แรงลม

ชาวจีนที่รอดตายได้ขึ้นบก เล่าให้ลูกหลานรุ่นหลังฟังต่อมาโดยให้ยึดถือสุภาษิตว่า “หากเดินเรือดูทิศทางลมไม่เป็น แค่ล่องเรือจากจีนไปญี่ปุ่น 3 ปีก็ไปไม่ถึง”

คำกล่าวนี้ ย่อมเป็นการบอกว่าการโล้เรือสำเภาในสมัยบรรพบุรุษชาวจีน ต้องอาศัยทิศทางลมช่วยในการเดินเรือ การเดินทางจากจีนมาเมืองไทย ก็เป็นฤดูกาลที่มีแรงลมส่ง

ช่วงเวลานั้น เริ่มมีเรือกลไฟ (ใช้เครื่องยนต์) ออกมาบ้างแล้ว

ถ้าอ้างอิงจากนิราศตังเกี๋ย ของหลวงนรเนติบัญชากิจ ที่เดินทางจากสยาม ผ่านสิงคโปร์ ไปฮ่องกง และซัวเถานั้น ในช่วงปี พ.ศ.2430 ท่านบันทึกตำนานของชาวแต้จิ๋วว่า…

…“เรื่องอาหาร บนเรือ ใช้วิธีเลี้ยงเป็ด ไก่ไว้บนเรือ กินเนื้อและไข่ มาตลอดทาง ที่ต้องประหยัดสุดสุด คือน้ำจืดที่ใช้ดื่มกิน.. อาหารหลักคือ ข้าวต้มใส่เกลือ ที่ต้องซื้อกินบนเรือ…”

“…มีคนเจ็บป่วยเพราะเมาคลื่น ขาดน้ำ มีคนตาย ก็โยนศพลงทะเลไป แต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5-6 มีเรือยนต์เดินทะเลแล้วการเดินทางเข้ามาจากจีนสู่ไทยก็รวดเร็วขึ้น …ในช่วงปลายสมัยในหลวง ร.5-6 มีบัญชีเรื่องคนเข้าเมืองและต้องเสียค่าธรรมเนียมเข้าเมือง…”

ชาวแต้จิ๋ว อพยพเข้ามาสู่สยามมากที่สุด ใน พ.ศ.2452 สมัยในหลวง ร.5 มีจำนวนมากถึง 8 หมื่นกว่าคน

เมืองแต้จิ๋ว เป็นชื่อเมืองสมัยโบราณเหมือนอู่ทองของไทย มีชื่อเป็นทางการว่าเฉาอัน เมืองแต้จิ๋วนี้ตั้งอยู่ห่างจากอ่าวซัวเถาลึกเข้าไป 40 กิโลเมตร มีภูเขาล้อมรอบเมืองสามด้านและมีแม่น้ำหานเจียงไหลผ่านเมือง

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ที่ชาวแต้จิ๋วที่แห่กันอพยพกันมาตั้งหลักแหล่งในสยามมากที่สุดคือชาวแต้จิ๋วที่มาจาก 6 อำเภอ ได้แก่ เฉาอัน เฉาหยาง เฉิงห่าย ผู่หนิง เจ้หยาง และเหราผิง (Chaoan, Chaoyang, Chenghai, Puning, Chiehyang และ Jaoping) เมื่อเข้ามาอยู่ในสยามก็ไล่เรียงชื่อแซ่ ก็แทบจะเป็นญาติโยมกันทั้งนั้น

ชาวแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองไทยในช่วงแรกๆ ล้วนลงเรือที่ท่า “จางหลิน” ในสมัยต่อมาเมื่อมีการเปิดท่าเรือซัวเถาที่เมืองซัวเถาหรือซานโถว (Shantou) ชาวแต้จิ๋วจึงออกเดินทางจากท่าเรือซัวเถา

เมืองซัวเถาจึงกลายเป็นศูนย์กลางของเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋ว

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงเป็นเชื้อสายแต้จิ๋วโดยแท้ ..โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปครับ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image