Cloud Lovers : ชวนรู้จัก Mamma ‘เมฆเต้านม’ : โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

มีเมฆรูปแบบหนึ่งซึ่งดูแปลกตาน่าตื่นเต้น โดยเฉพาะสำหรับคนที่ได้เห็นเป็นครั้งแรก เมฆนี้เป็นก้อนกลมๆ จำนวนมาก ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ที่สำคัญคือ ก้อนกลมๆ เหล่านี้คล้ายกับว่าถูกแขวนห้อยลงมาจากฟ้า หรือห้อยอยู่ใต้ฐานเมฆ ดูภาพที่ 1 และ 2 ครับ

ภาพที่ 1 : แมมมา
8 พฤษภาคม พ.ศ.2561 18.34 น.
สุราษฎร์ธานี
ภาพ : Kwanteera Praedum

Advertisement

ภาพที่ 2 : แมมมา
9 มิถุนายน พ.ศ.2555 18.21 น.
สวนหลวง ร.๙ มองไปทางทิศตะวันออก
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

คุณผู้อ่านเห็นแล้วนึกถึงอะไรครับ? ส่วนฝรั่งดันตาทะเล้นมองก้อนกลมๆ เป็นเต้านม! องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงระบุไว้ใน International Cloud Atlas ว่าให้เรียกเมฆที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า mamma ซึ่งมาจากคำในภาษาละตินแปลว่า เต้านม นั่นเอง ส่วนพจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็บัญญัติชื่อเรียกว่า เมฆเต้านม ด้วยเช่นกัน

Advertisement

คำว่า mamma จะเขียนทับศัพท์ว่า “แมมมา” แต่ออกเสียงเป็น “แมม-ม่า” นะครับ

ส่วนชื่ออย่างไม่เป็นทางการ แต่วงการวิชาการนิยมใช้ ได้แก่ mammatus clouds (เมฆแมมมาตัส) ดังเช่นที่ปรากฏในวารสารวิชาการอย่างเช่น Journal of the Atmospheric Science Volume 63 October 2006 เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ แมมมาไม่ใช่เมฆเดี่ยวๆ แต่จะต้องเกิดร่วมกับเมฆบางสกุลเสมอ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงจัดให้แมมมาเป็นลักษณะเสริม (supplementary feature) หรือ “เครื่องประดับ” รูปแบบหนึ่งในบรรดา 11 รูปแบบที่เป็นไปได้ครับ

ผมเคยนำเสนอลักษณะเสริมทั้ง 11 รูปแบบเอาไว้แล้วในบทความ “ลักษณะเสริมของเมฆ” มี 2 ตอน ที่ www.matichon.co.th/columnists/news_877474 และ www.matichon.co.th/columnists/news_888156

สกุลของเมฆที่อาจมี “เต้านม” หรือแมมมาเป็นลักษณะเสริม ได้แก่ ซีร์รัส (Cirrus) ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) แอลโตสเตรตัส (Altostratus) สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) และคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)

อย่างไรก็ดี แมมมามักจะดูโดดเด่นหากเกิดกับคิวมูโลนิมบัส โดยแมมมาจะห้อยอยู่ใต้ส่วนที่ยื่นออกไปจากยอดเมฆส่วนบนที่เรียกว่า อิงคัส (incus) ทั้งนี้ อิงคัสก็จัดเป็นลักษณะเสริมรูปแบบหนึ่งของเมฆฝนฟ้าคะนองด้วยเช่นกัน คำว่า incus มาจากภาษาละตินแปลว่า ทั่ง เพราะฝรั่งมองเห็นเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีส่วนบนยื่นออกมาเหมือนทั่งสำหรับใช้ตีโลหะนั่นเอง ดูภาพที่ 3 ครับ

ภาพที่ 3 : แผนภาพแสดงแมมมาซึ่งอยู่ใต้อิงคัส

มีข้อสังเกตว่ายิ่งเมฆฝนฟ้าคะนองทรงพลังมากเท่าไร แมมมาก็จะยิ่งเด่นชัด หรือเต้านมจะยิ่ง “อึ๋ม” มากขึ้นเท่านั้น!

ภาพที่ 4 แสดงขนาดของแมมมาเมื่อเทียบกับเครื่องบิน จากการสอบถามนักบินผู้มีประสบการณ์ ได้แก่ กัปตัน Nattaya Kwanrak พบว่าเครื่องบินในภาพน่าจะเป็น Airbus A330-300 ซึ่งมีความยาว 63.67 เมตร จากภาพจะเห็นว่าแมมมาแต่ละเต้าใหญ่กว่าเครื่องบินอย่างน้อย 5 เท่า นั่นคือ แมมมากว้าง 320 เมตร เป็นอย่างน้อย

ภาพที่ 4 : ขนาดของแมมมาเทียบกับเครื่องบิน
9 มิถุนายน พ.ศ.2555 18.21 น.
สวนหลวง ร.๙ มองไปทางทิศตะวันออก
ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจาก Wikipedia ระบุว่าแต่ละเต้าของแมมมากว้างราวๆ 1-3 กิโลเมตร ยาวเฉลี่ย 0.5 กิโลเมตร และมักจะคงตัวให้เห็นนานราว 10 นาที แต่เนื่องจากแมมมามักจะมาทีละหลายๆ เต้า ผลก็คือ
แมมมาทั้งกลุ่มอาจจะคงตัวอยู่นานอย่างน้อย 15 นาที ถึงราว 2-3 ชั่วโมงก็เป็นไปได้

เมฆเต้านมเกิดขึ้นได้อย่างไร? ในกรณีของแมมมาที่เกิดใต้รูปทั่งของเมฆคิวมูโลนิมบัส อธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า บริเวณทั่งที่ยื่นออกไปนี้ได้สูญเสียความร้อนไปโดยการแผ่รังสี ผลก็คือเมฆบริเวณนี้เย็นลง และค่อยๆ จมลงด้านล่าง เกิดเป็นบริเวณนูนๆ ห้อยลงมาเป็นเต้าๆ นั่นเอง

อีกประเด็นหนึ่งที่มีคนสงสัยก็คือ แมมมาเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวหรือไม่? คำตอบก็คือ จากหลักการและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่พบว่าแมมมาเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวแต่อย่างใด

หมั่นมองท้องฟ้าบ่อยๆ ครับ ถ้าโชคดี คุณอาจหลงเสน่ห์แมมมาเหมือนกับอีกหลายๆ คนก็เป็นได้ 😉

ขุมทรัพย์ทางปัญญา
ขอแนะนำคลิปแสดงรูปแบบอันหลากหลายของแมมมาที่

บัญชา ธนบุญสมบัติ
www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image