การเปลื้องปลดกฎหมายที่หมายกด (2) : โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำข้อเสนอจัดการผลพวงระบอบรัฐประหาร ที่จัดขึ้นโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยเป็นการนำเสนอผลการศึกษาของศูนย์ทนายความว่า ที่ผ่านมาสภาพการเกิดขึ้นในระบอบรัฐประหารของ คสช. ที่กินเนื่องยาวนานถึง 4 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงปลายเดือนตุลาคม 2561

ผลิตผลของระบอบการใช้อำนาจดังกล่าว ปรากฏเป็นคำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมประมาณ 342 ฉบับ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในรูปแบบที่แตกต่างกัน บางส่วนก็มีลักษณะเป็นการเฉพาะเจาะจงก็อาจจะเป็นคำสั่งโดยใช้อำนาจทั่วไปหรืออำนาจปกครอง หากส่วนที่มีลักษณะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจง หรือมุ่งเน้นใช้บังคับต่อกรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ ก็ถือว่าเป็น “กฎหมาย” และยังมีการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 ที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ทุกวันนี้ ในรูปของคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 195 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนี้บางส่วนเป็นกฎหมายหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย

ตลอดจนมีกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีก 302 ฉบับ ซึ่งเป็นผลงานที่พวกเขาภาคภูมิใจกันหนักหนาว่า เป็นยุคสมัยที่ตรากฎหมายผ่านสภาขึ้นมาได้มากที่สุด ทุบทำลายสถิติสภาที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะชุดไหนสมัยใด

Advertisement

เราไม่อาจตอบได้ว่ายุคสมัยเช่นนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่อย่างน้อย คือเราน่าจะมี “กฎหมาย” ที่เกิดจากระบอบรัฐประหาร ราวๆ 5-6 ร้อยฉบับ เป็นการบ้านให้เราคิดว่า หากเมื่อใดก็ตามที่ประชาชาติเกิดฉันทามติร่วมกัน โดยมีอำนาจอธิปไตยคืนมาเป็นของประชาชนโดยสมบูรณ์แล้ว เราจะเอาอย่างไรกับกฎหมายเหล่านี้

ส่วนสำคัญที่สุด คือ มารดาแห่งกฎหมายและคำสั่งดังกล่าวเหล่านั้นทั้งปวง คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 และรัฐธรรมนูญฉบับถาวรปัจจุบัน (ซึ่งยังมีส่วนที่ต่อช่องให้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่) ซึ่งมีที่มาจากการยกร่างของกลุ่มบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร แต่ก็มีความชอบธรรมจากการลงประชามติของประชาชน (ที่แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งบ้างในเรื่องความเสรีและยุติธรรมของกระบวนการประชามติ แต่ก็ปฏิเสธความชอบธรรมได้ยากพอสมควร)

การล้างผลพวงทางกฎหมายของระบอบรัฐประหารนี้จะทำอย่างไร? ข้อเสนอของเครือข่ายทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนสรุปได้ว่า ควรต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่ยกร่างขึ้นใหม่ได้ง่ายขึ้น

Advertisement

สําหรับกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ข้อเสนอคือให้มีการทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายเหล่านั้นโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งกฎหมายกลุ่มนี้จะใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการตีความสร้างเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนฝ่ายเดียว รวมถึงกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย โดยการแก้ไขกฎหมายอาจจะกระทำโดยสภาผู้แทนราษฎร ผ่านคณะกรรมาธิการที่มีส่วนร่วมจากผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาชน โดยมีกระบวนการและเงื่อนเวลาที่ชัดเจน

สำหรับคำสั่งของ คสช. ที่มีเงื่อนไขในการมุ่งหมายจัดการกับเป้าหมายทางการเมืองหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นต้องยกเลิกทันที ส่วนที่เป็นการบริหารราชการทั่วไป ก็สมควรมีการทบทวนโดยกลไกของสภาที่มีที่มาของประชาชน

นอกจากนี้ข้อเสนอของเครือข่ายทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเสนอให้จัดการกับคำพิพากษาบางฉบับที่ส่งผลให้สถานะการใช้บังคับกับกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือสิทธิมนุษยชนของประชาชน และที่วินิจฉัยลงโทษประชาชนด้วย

สำหรับข้อเสนอของผู้เขียนที่ได้เสนอในการประชุมดังกล่าว ต้องย้อนไปถึงการแบ่งประเภทของกฎหมายในระบอบรัฐประหารออกเป็น 5 กลุ่ม ที่ได้นำเสนอไปในคอลัมน์ตอนที่แล้ว

คือ กลุ่มที่หนึ่ง ได้แก่กฎหมายที่คณะรัฐประหารออกเพื่อให้การรัฐประหารของตนลุล่วง หรือเพื่อให้การใช้อำนาจของตนเองเกิดประสิทธิผลที่สุด อย่างที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า กฎหมายนี้ไม่มีประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย นอกจากผู้ก่อการรัฐประหาร ดังนั้น กฎหมายนี้จะกำหนดให้สิ้นผล หรือเสียเปล่าดังว่าไม่เคยมีผลใช้บังคับมาก่อนเลยก็น่าจะทำได้ โดยอาศัยอำนาจของรัฐสภาที่มีที่มาจากตัวแทนของประชาชน

ส่วนกฎหมายในกลุ่มที่สอง ได้แก่ กฎหมายที่สนับสนุนการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารโดยทางอ้อม กลุ่มที่สาม ได้แก่ กฎหมายที่มีผู้ถือโอกาสผลักดันขึ้นในสมัยแห่งการรัฐประหาร และกลุ่มที่สี่ ได้แก่ กฎหมายที่ควรมีการตราขึ้นหรือแก้ไขอยู่แล้วนั้น ผู้เขียนเสนอให้นำหลักเรื่อง “โมฆียกรรม” ที่ใช้ในกฎหมายแพ่งมาปรับใช้

“โมฆียกรรม” (Voidable) คือสภาวะไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมตามกฎหมายแพ่ง ที่ไม่ถึงกับเสียเปล่าไปโดยทันที แต่อาจบอกถูกผู้มีส่วนได้เสียบอกล้างให้เสียเปล่าไปได้ หรือรับรองให้สัตยาบันเพื่อให้มีความสมบูรณ์ชอบธรรมก็ได้ เช่น ผู้เยาว์ไปทำนิติกรรมซื้อขายที่เกินฐานานุรูป ถ้าผู้ปกครองมาทราบแล้วไม่เห็นชอบก็บอกล้างได้ แต่ถ้าว่าไม่เป็นไรก็ให้สัตยาบัน

ในทางแพ่ง เหตุแห่งการเป็นโมฆียกรรมประการหนึ่งคือ “นิติกรรมที่เกิดจากการข่มขู่” ให้ผู้ทำนิติกรรมนั้นต้องจำใจยอมทำนิติกรรมไปภายใต้อำนาจบังคับอันมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อใดก็ตามที่ผู้ทำนิติกรรมไม่ต้องเกรงกลัวต่ออำนาจเช่นนั้นแล้ว ก็สมควรที่จะทบทวนว่าจะยินดีให้นิติกรรมดังกล่าวนั้นมีผลต่อไปหรือไม่ก็ได้

เราก็อาจปรับได้ว่า กฎหมายที่ตราขึ้นหรือแก้ไขในยุคสมัยแห่งการรัฐประหารนั้น ถือเป็นกฎหมายที่เกิดจากนิติกรรมโดยการข่มขู่นั่นเอง เมื่อใดที่ประชาชาติไม่ต้องเกรงกลัวอำนาจดังกล่าวแล้ว ก็ชอบที่จะบอกล้างหรือทบทวนได้

การนำเรื่อง “โมฆียกรรม” มาปรับใช้กับกฎหมายจากระบอบรัฐประหาร กลุ่มที่สองถึงสี่ นั้น ได้แก่ การกำหนดให้กฎหมายดังกล่าวนั้นมีสภาพเป็น “โมฆียะ” ทั้งหมด และให้รัฐสภาที่มีที่มาจากประชาชน ทำการตรวจสอบเพื่อบอกล้างหรือให้สัตยาบันภายในกรอบเวลาที่กำหนด โดยมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันบ้าง คือ กฎหมายในกลุ่มที่สองนั้น กำหนดให้รัฐสภาจะต้องให้สัตยาบันหรือบอกล้างภายในเวลาที่กำหนด (เช่น 4 หรือ 5 ปี) หาไม่แล้ว กฎหมายในกลุ่มนี้จะถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติทั้งหมด

ส่วนกลุ่มที่สามและสี่ จะกำหนดกรอบเวลาระยะยาวเอาไว้ เช่น 10 ถึง 20 ปี หากสภาไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณาให้สัตยาบันหรือบอกล้าง หรือไม่มีใครนำเรื่องไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของตน ให้ถือว่ามีผลใช้บังคับต่อไป โดยถือว่าเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ หากจะยกเลิก ก็ต้องยกเลิกด้วยกระบวนการนิติบัญญัติปกติ คือตรากฎหมายขึ้นมาแก้ไขหรือยกเลิก หรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่จะยกเลิกแบบบอกล้างทั้งฉบับไม่ได้ หากพ้นระยะเวลาที่บอกล้างได้ไปแล้ว

สุดท้ายสำหรับกฎหมายที่ต้องออกมาเป็นรูทีนตามรอบเวลาปกติ คือกฎหมายในกลุ่มที่ห้า เช่น กฎหมายงบประมาณหรือภาษี ก็อาจจะต้องยอมรับให้มีผลสมบูรณ์ไป เพราะกฎหมายพวกนี้สิ้นผลบังคับไปตามรอบเวลาของมันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในการยกเลิกเพิกถอนกฎหมายเป็นการใหญ่นับร้อยๆ ฉบับเช่นนี้ต้องพิจารณาโดยรอบคอบ โดยคิดกันให้ละเอียดว่า ในบรรดากฎหมายที่กำหนดผลทางอาญาและลงโทษอาญาต่อบุคคลไปแล้ว จะให้มีผลอย่างไร หรือมีการเยียวยาอย่างไรต่อผู้ได้รับผลกระทบเพราะกฎหมายนั้น รวมถึงการแยกแยะการถูกดำเนินคดีโดยมีแรงจูงใจในทางการเมือง กับการถูกดำเนินคดีเพราะก่ออาชญากรรมจริงๆ ด้วย (เช่น กรณีของการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็มีทั้งกรณีที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และกรณีที่ก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์จริง เช่นการเจาะระบบหรือโจมตีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เราจะแยกคนสองกลุ่มนี้ออกจากกันได้อย่างไร)

หากกฎหมายดังกล่าวเหล่านั้นก่อให้เกิดนิติกรรมหรือนิติสัมพันธ์ในทางแพ่งระหว่างบุคคลไปแล้ว นิติกรรมเหล่านั้นจะมีผลอย่างไร รวมถึงหากกฎหมายข้างต้นนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองโดยสุจริต หรือให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนไปแล้ว จะให้มีผลต่อไปอย่างไร หากยกเลิกเพิกถอนกฎหมายจากระบอบรัฐประหารนั้นๆ ไปแล้ว

อาจจะมองว่านี่คือการคิดเกินไกลไปเลยเถิด โอกาสที่จะได้ “ล้างผลพวง” ระดับนั้นมองไปอย่างไรก็ยากจะมาถึง ไม่ว่าจะเป็นโดยระยะเวลาหรือหนทางวิธีการ ในสภาวการณ์ปัจจุบันอันนิยามได้สั้นที่สุดว่าเป็นช่วงเวลาที่ “นิติรัฐที่พังทลาย” ซึ่งกฎหมายและกระบวนยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกระชับและบริหารอำนาจของคนกลุ่มเดียว คือคณะผู้ปกครอง ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเก่าอย่างไรก็ได้ และมีมือไม้กลไกกระบวนการใช้บังคับของตัวเอง หากเป็นสภาพที่ท่านอาจารย์ผู้หนึ่งเรียกว่า เป็นสภาพ “นิติรัฐลูกครึ่ง” เพราะกลไกการบังคับใช้กฎหมายนั้นยังมีอยู่ระดับหนึ่ง เพราะหากไร้ซึ่งนิติรัฐสมบูรณ์แล้ว หากใครมาตีหัวชิงเงินเราไป ก็คงไม่สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้

สภาพ “นิติรัฐที่พังทลาย” ใน “รัฐลูกครึ่ง” นี้ จึงทำให้ใครสักคนที่หากว่าจะกันตัวออกพ้นจากเขตขอบการต่อต้านอำนาจรัฐหรือคณะรัฐประหาร หรือปิดให้ต่อมความสนใจทางการเมืองหยุดทำงานลงชั่วคราวได้แล้ว ก็จะไม่ได้รับผลกระทบอะไร แถมเผลอๆ ด้วยกลไกกระบวนยุติธรรมด้านอื่นๆ ที่มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ เช่น กระบวนการดำเนินคดีปกครองที่มีประสิทธิภาพ ศาลยุติธรรมที่พัฒนาเข้าสู่ระบบ e-Court ความพยายามลดเลิกการละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาด้วยระบบการปล่อยตัวชั่วคราวที่ชัดเจนขึ้น มีการนำเทคโนโลยีพวกเครื่องติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้ต้องหาหรือผู้ต้องถูกควบคุมตัวในคดีอาญา หรือแม้แต่กลไกระงับข้อพิพาทเบื้องต้นอย่างศูนย์ดำรงธรรมหรือผู้ตรวจการแผ่นดิน อาจจะทำให้รู้สึกว่า “การเรียกร้องความยุติธรรม” ทำได้ง่ายขึ้น

หรือ “การเข้าถึงกระบวนยุติธรรม” ได้รับการยกระดับขึ้นด้วย

แต่กระนั้น “กระบวนยุติธรรม” ที่เหมือนจะก้าวหน้าทั้งหลายจะเปลี่ยนไปเป็นหนังคนละม้วน หากเรื่องของคุณข้ามเข้าไปสู่แดนแห่ง “การเมือง” เป็นการต่อต้านอำนาจรัฐและคณะรัฐประหาร การตีความกฎหมายแบบพิสดารเพื่อเอาผิด การดำเนินคดีที่ล่าช้าเหลือเชื่อ การปัดป่ายไม่ยอมรับดำเนินคดีหรือดำเนินการสอบสวนไต่สวนไม่ว่าจะโดยเจ้าพนักงานตำรวจ หน่วยงานของรัฐหรือองค์กรอิสระ จะเป็นโลกในอีกมิติหนึ่งของนิติรัฐลูกครึ่ง เป็นฝั่งฟากเงามืดอันพังทลาย

ความพยายามในการตั้งข้อหาให้ศิลปินและผู้เกี่ยวข้องกับเพลง “ประเทศกูมี” ที่ร้อนแรงตลอดช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ คือประจักษ์พยานของนิติรัฐที่ล่มสลายนั้นได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามืดมนเพียงใด สมบัติสุดท้ายของมนุษย์มีอยู่คือความหวัง

ความหวังอย่างเดียวกับที่อยู่ใต้ก้นหีบแพนดอรา ความหวังเช่นเดียวกันนั้นที่ทำให้บรรดากบฏในภาพยนตร์ชุดสตาร์วอร์สลุกขึ้นต่อกรกับจักรวรรดิที่ทรงอำนาจและเหี้ยมโหดแม้มองไม่เห็นทางชนะ ในวันที่ดาวมรณะเถลิงลอยขึ้นกลางฟ้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image