อีกหนที่พ่าย สนามรบไซเบอร์ สนามรบ‘กูมี’

กรณี “ประเทศกูมี” สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนด้อย เพลี่ยงพล้ำ

และความเป็นรองของรัฐบาล และ คสช. ในโลกโซเชียลอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

จากเพลงแร็พที่กระจายกันอยู่เฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนที่มีรสนิยมคล้ายคลึงกัน

ระดับ “หลักแสน”

Advertisement

พลันที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกรัฐบาลคนใหม่ ออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเพลงนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังทางการเมืองในเย็นวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม

และ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ออกมารับลูกต่อในวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม ด้วยการ “เตือน” ว่าทั้งคนร้องและคนเผยแพร่เพลงดังกล่าวอาจจะมีความผิด

ในข้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคง

ติดตามมาด้วย “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รักษาการผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง นายตำรวจที่มีผลงานการจับกุมมากที่สุดในยุคปัจจุบัน

ออกมาสำทับว่าอาจจะต้องดำเนินการทางกฎหมายกับคนสองกลุ่มดังกล่าว

จำนวนผู้เข้าไปรับชมมิวสิกวิดีโอก็กระโดดจากหลักแสนผ่านหลัก 10 ล้านในช่วงระยะเวลาเพียง 1 วัน

และใช้เวลาอีก 1 วัน กระโดดจากหลัก 10 ล้านผ่านไปถึง 20 ล้าน

ชนิดที่รัฐบาล หรือผู้ประกาศว่าจะจับกุมได้แต่ทำตาปริบๆ

ต่อเมื่อทั้ง พล.ต.อ.ศรีวราห์ และ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ทยอยกันออกมาให้สัมภาษณ์ในเช้าวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคมว่า

สามารถรับฟังและเผยแพร่เพลงนี้ได้ตามปกตินั่นดอก

กระแสความร้อนแรงจึงค่อยทุเลาลง

จากระดับผู้ติดตาม 2 วัน 20 ล้าน

ลงมาเหลือ 2 วัน 3.5 ล้าน

แต่ถึงจะเรียกว่า “ช้าลง” แล้ว

เมื่อเทียบกับการรับชมผลงานหรือเนื้อหาสาระที่ฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นเพจประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือเว็บไซต์-เครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ

ก็ยังถือว่ามากกว่ากันหลายสิบหรือหลายร้อยเท่า

เป็นอีกครั้งที่สะท้อนให้เห็น “จุดอ่อนด้อย” ของรัฐบาลในโลกไซเบอร์

เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะมาถึงในไม่ช้า

ความพยายามในการเปิดเว็บไซต์ เพจ อินสตาแกรม ไปจนกระทั่งถึงทวิตเตอร์ของนายกรัฐมนตรี

เพื่อจะให้ครอบคลุมทุก “แพล็ตฟอร์ม” ของโลกดิจิทัลก็ดี

ความพยายามในการ “ปรับภาพ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ “ซอฟต์” ลง มีมุมอื่นนอกจากความขึงขังเด็ดขาด

แม้กระทั่งสวมชุดเต็มยศไปโล้ชิงช้าชาวเขาก็ดี

จะสามารถเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

หรืออย่างน้อยก็คือเรียกคะแนนนิยมในโลกไซเบอร์ให้เพิ่มขึ้นมาได้หรือไม่

ยังต้องอาศัยเวลาอีกระยะในการประเมิน

แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า เพลงวิพากษ์วิจารณ์สังคมได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัล เมื่อรัฐบาล-คนของรัฐแสดงปฏิกิริยาในทางลบต่อเรื่องดังกล่าวก็ดี

ไปจนกระทั่งถึงการที่ทีมงานของนายกรัฐมนตรี พยายามอย่างเต็มที่ในการรุกเข้าสู่เวทีโลกเสมือนก็ดี

ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่ามีจุดอ่อนช่องว่างในพื้นที่นี้อยู่จริง

และรัฐบาลพยายามเข้ามากอบกู้แก้ไขจุดอ่อนช่องว่างนี้อยู่จริง

ส่วนความพยายามนี้จะทันท่วงที หรือจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะมาถึงในอีกไม่นานนี้หรือไม่

ประเด็นอาจไม่ได้อยู่เพียงแค่การรักเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นรอง หรือการปรับภาพพจน์เท่านั้น

แต่ยังอยู่ที่การประเมินสถานการณ์และความเป็นจริงของ 4 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย

ว่าอะไรคือด้านลบและอะไรเป็นด้านบวก

ยังอยู่ที่เนื้องานทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ

ที่ประชาชนทั่วไปรับรู้อยู่ด้วยประสบการณ์ตรง ว่าที่รัฐบาลทำมานั้นเป็นคุณหรือเป็นโทษกับตนเอง

ปฏิกิริยาในโลกดิจิทัลนั้นเสมอเป็นเพียงช่องทาง เป็นเรื่องรอง

เนื้องานและการประเมินผลงานอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกตัวเอง ไม่เอาใจผู้มีอำนาจต่างหาก

ที่เป็นเรื่องจริง

ที่เป็นตัวชี้ขาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image