ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ไปที่ไหนๆ ..ก็มีไชน่าทาวน์ (4) : หลวงพ่อแช่มเสกของดี.. สู้กับอั้งยี่ยึดเมืองภูเก็ต..

อั้งยี่ ตามความหมายของพจนานุกรมของราชบัณฑิต คือ สมาคมลับของคนจีน ชื่อความผิดอาญาฐานเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดําเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เรียกว่าความผิดฐานเป็นอั้งยี่

…ต่อจากตอนที่แล้ว ..กลุ่มอั้งยี่ที่อพยพหนีลงเรือมาจากเมืองจีน แห่กันไปทำงานเป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่เมืองภูเก็ต แบ่งกันเป็นอั้งยี่ 2 แก๊ง นับพันคน ยกพวกถล่มกัน เหตุเพราะขัดผลประโยชน์จากการทำเหมืองแร่ดีบุกในเมืองภูเก็ต

เหตุอั้งยี่ก่อจลาจล มิได้เกิดเฉพาะในสยาม ทางราชการสยามใช้วิธีเดียวกับรัฐบาลสิงคโปร์คือ เลี้ยงอั้งยี่ กล่าวคือ ใช้วิธีการเลือกคนจีนมาตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ คอยห้ามปรามไม่ให้แรงงานชาวจีนตีกัน ทั้งยังมีหน้าที่รวบรวมปัญหาเสนอรัฐบาล

ผมขออ้างอิงพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ครับ

Advertisement

“…ต่อมาในปี พ.ศ.2419 ได้เกิดเหตุจลาจลขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งนี้เป็นการจลาจลครั้งใหญ่ อั้งยี่ ‘กลุ่มปุนเถ้าก๋ง’ ไม่พอใจที่นายเหมือง ไม่จ่ายค่าแรง เนื่องจากภาวะราคาดีบุกตกต่ำ ประกอบกับมีความแค้นเคืองเจ้าเมืองเป็นทุนเดิม จึงได้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวกกว่า 2,000 คน ก่อการกบฏ

อั้งยี่ ฝ่ายละ 2,000-3,000 คน วิวาท ห้ำหั่นกันกลางเมือง ถือว่าเป็นสงครามย่อยๆ นะครับ

กลุ่มอั้งยี่พร้อมอาวุธ เข้าล้อมศาลากลางภูเก็ต ปล้น-ฆ่าราษฎรไทย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ เกินกำลังเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในท้องถิ่นจะควบคุมได้ ต้องขอกำลังจากส่วนกลางมาสนับสนุน

อั้งยี่ ควบคุม สั่งการกรรมกรเหมืองแร่ชาวจีนอพยพเป็นจำนวนนับพันคนพร้อมอาวุธ แยกกันก่อเหตุวุ่นวาย ถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดภูเก็ต ชาวบ้านไม่มีพลังที่จะต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลอง ชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือน ปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือน หมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้

กลุ่มชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง นิมนต์ให้หลวงพ่อแช่มหลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย หลวงพ่อแช่มท่านไม่ยอมหนี หลวงพ่อแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกโพกศีรษะคนละผืน คนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่นๆ ที่หลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด หอก ดาบ เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่

พวกอั้งยี่ ชะล่าใจ ประมาท รุกไล่ฆ่าชาวบ้านเข้าไปถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียด ไล่ฆ่าฟันอั้งยี่แตกหนีไป

ชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ทำให้ชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างพากลับมารวมกำลังกันอย่างคึกคัก ณ วัดฉลอง

หลวงพ่อแช่มได้ปลุกเสก มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัว เพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจในการต่อสู้ จนพวกอั้งยี่เรียกพวกชาวบ้านว่าพวกหัวขาว

เมื่อคนพร้อม อาวุธพร้อม ของขลังครบ ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ก็สามารถปราบอั้งยี่ได้สำเร็จ ผู้คนในเมืองภูเก็ตกล่าวยกย่องหลวงพ่อแช่ม แล้วยกมือท่วมหัว เหตุจลาจลในภูเก็ตยุติลง

หลังเหตุการณ์อั้งยี่คิดกบฏจะยึดเมืองภูเก็ตสงบลง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ทรงทราบเรื่อง จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงพ่อแช่มเดินทางเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ที่กรุงเทพฯ แล้วพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูวิสุทธิ-วงศาจารย์ญาณมุนี มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น

โอกาสเดียวกันก็พระราชทานนามวัดฉลองเป็น ไชยธาราม แต่ชาวภูเก็ตส่วนใหญ่ก็ยังติดปากกันว่าหลวงพ่อแช่มวัดฉลอง

หลวงพ่อแช่ม เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวภูเก็ตตั้งแต่นั้นมา

หลวงพ่อแช่มไม่เพียงเป็นที่เคารพนับถือของคนภูเก็ตเท่านั้น ชาวมาเลเซียและปีนังก็ให้ความเคารพศรัทธาท่านด้วย เมื่อมีเรื่องทุกข์ร้อนใดก็พากันมาบนบาน ให้หลวงพ่อช่วยเหลือเสมอ

แฟนภาพยนตร์จีนคงคุ้นกับคำกล่าวว่า… “10 ปี ล้างแค้นมิสาย” กลุ่มอั้งยี่ร้อยพ่อพันแม่หนีคดีมาจากเมืองจีน ที่เป็นลูกหลานจีนแท้ในเมืองภูเก็ต จัดฉาก ล่อเหยื่อเพื่อมาชำระแค้น สังหารกันแบบสยดสยองอีกครั้ง

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ไว้อย่างละเอียดว่า

“….ในปี พ.ศ.2422 พวกอั้งยี่ ‘กลุ่มเกี้ยนเต็ก’ ออกอุบายลวงพวกอั้งยี่ ‘กลุ่มปุนเถ้าก๋ง’ คู่อริมากินเลี้ยง มอมเหล้าและฆ่าจุดไฟเผาทั้งเป็น นับร้อยคนในวัน 17 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจีน

อั้งยี่กลุ่มปุนเถ้าก๋ง ศัตรูตลอดกาล ถูกไฟคลอกทุรนทุราย ถูกรุมทำร้าย ถูกสังหาร ตายเกลื่อนสนาม กลุ่มเกี้ยนเต็กสะใจได้ล้างแค้น

ชาวกะทู้รุ่นหลัง ฝันเห็นวิญญาณเหล่านี้ พากันมาร้องขอที่อยู่อาศัย จึงได้ร่วมใจกันจัดหาที่ดินในบริเวณหมู่ 4 ตำบลกะทู้ สร้างศาลเจ้าขึ้น เพื่อเป็นที่สถิตของดวงวิญญาณเหล่านั้น โดยทำซินจู้หรือแผ่นป้ายชื่อผู้ตายในคราวนั้น ตั้งไว้ในศาล แทนรูปเทพเจ้าต่างๆ พร้อมกับขนานนามศาลแห่งนี้ว่า “ศาลเจ้าต่องย่องสู” อันมีความหมายถึงศาลเจ้าของผู้กล้าที่มีความซื่อตรง และซื่อสัตย์ และทุกปีในวัน 17 ค่ำเดือน 6 ตามปฏิทินจีน ชาวบ้านกะทู้และชาวจีนในภูเก็ตจะพากันมาเซ่นไหว้ดวงวิญญาณที่ศาลแห่งนี้

อั้งยี่เชื้อสายมังกรจีนจะเขม่น และยกพวกทำร้ายกันเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่ประสงค์จะก่อเหตุกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นี่เป็นเรื่องจริงราว 140 ปีที่แล้ว เกิดขึ้นบนเกาะภูเก็ต ประเทศไทยนะครับ ยืนยันว่าไม่ใช่หนังจีน

 

เล่าเรื่อง เรียบเรียงประวัติศาสตร์ มาถึงช่วงเวลาของอั้งยี่ก่อกบฏในเมืองภูเก็ต ต้องบอกกล่าวถึง “ภาพรวมของแรงงานชาวจีน” ในสยาม ณ เวลานั้น…

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดีว่า “…ถึง พ.ศ.2398 สยามทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่ง การค้าขายในสยามเจริญรวดเร็ว มีโรงสีข้าว โรงเลื่อยไม้ กระบวนการขนสินค้าต้องใช้แรงงานเพิ่ม ช่วงนั้นเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ จีนใหม่เพิ่มจำนวน พวกเถ้าเก๋เริ่มมีการแย่งชิงคนงาน แย่งกันไปๆ ก็กลายเป็นอั้งยี่…”

เหตุการณ์ที่เมืองภูเก็ตเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ทำให้เข้าใจได้เลยว่า สถานการณ์เรื่องขาดแคลนแรงงานไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ เกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว จนถึงปัจจุบัน พ.ศ.2561 ประเทศไทยยังต้องนำเข้าแรงงานจากเมียนมา ลาว เขมรนับแสนคน และประเทศไทยยังต้องการแรงงานอีกมหาศาล

เรื่องราวของอั้งยี่จากเมืองจีน เป็นเรื่องที่เชื่อมโยง พัวพันกันระหว่างแรงงาน ฝิ่น โพยก๊วน และอาชญากรรมทั้งปวง ที่สร้างความระส่ำระสายในแผ่นดินสยามตั้งแต่ต้นสมัยในหลวง ร.3 เป็นต้นมา

ที่เรียบเรียง ทยอยเล่ามานี้มาทั้งหมด เป็นเรื่องเฉพาะเหตุการณ์ที่ภูเก็ตครับ หากแต่ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่ภูเก็ต ยังมีสงครามขนาดย่อมในอีกหลายพื้นที่ในสยามที่ลูกหลานมังกรจีนมาสำแดงเดช…

เมื่อ พ.ศ.2385 เกิดกบฏอั้งยี่ในแขวงนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบปรามได้โดยไม่ต้องใช้กำลัง

พ.ศ.2387 พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นในป่าแสม ริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ พื้นที่ระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการ ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับหัวหน้าได้ อั้งยี่ก็สงบลงอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ.2390 พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากกว่าแต่ก่อน พระยาพลเทพ (ปาน) ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่น ออกไปจับเองถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ 400 คน และจับหัวหน้าได้จึงสงบ

ลึกๆ ในใจ อั้งยี่ไม่เคยคิดทำงานแบบมือสมัครเล่น อั้งยี่เมื่อก่อการจะ “จัดหนัก-จัดเต็ม” เสมอ ถึงขนาดสังหารผู้ว่าราชการจังหวัด

พ.ศ.2391 พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฏ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น

ในหลวง ร.3 โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู้พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า 3,000 คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ

ในช่วงรัชสมัยในหลวง ร.3 มีเหตุการณ์ความไม่สงบจากอั้งยี่มากที่สุด

ในรัชสมัย ร.4 ขยายแนวคิดเรื่อง “การบำรุงจีน” ซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้ชาวจีนปกครอง ดูแล พูดคุย แก้ปัญหากันเอง

เมื่อตอนปลายรัชกาลที่ 4 มีพวกชาวจีนจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกส เข้ามาหากินในกรุงเทพฯมากขึ้น ทำให้เกิดหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ ชาวสยามพากันเรียกชาวจีนที่มีเส้นสาย มีลูกพี่ฝรั่งคอยโอบอุ้มว่า “พวกร่มธง” หมายความว่า “อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สับเย็ก” (Subject) หมายความว่าคนของชาตินั้นๆ ไม่ต้องตกอยู่ในอำนาจหรือในบังคับของรัฐบาลของบ้านเมืองสยาม

นี่เป็นความยุ่งยากแสนสาหัส ในการปกครองบ้านเมือง เพราะมันคือ “อำนาจรัฐซ้อนรัฐ”

ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ ผมเองก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน ไม่เคยได้เรียน เรื่องของ “สิทธิพิเศษทางกฎหมาย” นึกว่ามีแต่เฉพาะชาวตะวันตกที่มี “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ในดินแดนสยาม

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ ต่อไปว่า…

“…แม้กงสุลต่างประเทศจะช่วยห้ามมิให้ ‘จีนในร่มธง’ เป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง ….เมื่อเปลี่ยนรัชกาลได้ 3 สัปดาห์ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีน ขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี หลวงพิพิธภัณฑ์วิจารณ์ กับหลวงพิชัยวารี ทั้ง 3 ท่านนี้ เป็นลูกจีนเกิดในสยาม เป็นผู้พิพากษา ชำระตัดสินคดีระหว่างชาวจีนในสยามด้วยกัน

การชำระความในศาลในช่วงนั้น ต้องใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา เพราะที่ผ่านมา การแปลภาษจีนเป็นภาษาไทย มีหายหกตกหล่น แปลผิดบ้าง ถูกบ้าง เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม สร้างความปั่นป่วนแสนสาหัส ศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมานี้ ถ้าเป็นกรณีชาวจีนวิวาทกับชาวสยาม ศาลจะไม่รับชำระความ ต้องเป็นคดีความระหว่างชาวจีนกับชาวจีนเท่านั้น

การบริหารบ้านเมืองในเวลานั้นเลยต้องใช้ปลัดจีน รับผิดชอบตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีชาวจีนอยู่มาก เช่น ในสำเพ็ง และในอีกหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้น

ลองมาดูเหตุร้ายในบ้านเมืองที่อั้งยี่สำแดงเดช ที่เราอาจไม่เคยทราบมาก่อน…

เมื่อราวต้นรัชสมัยในหลวง ร.5 มีเหตุพวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯ ต่อสู้ขัดขวางการจับกุมเจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วน ที่ริมวัดสัมพันธวงศ์ ถึงขั้นสู้รบกันในสำเพ็ง

อั้งยี่ ก่อเหตุปิดเมืองปล้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี ทางราชการส่งกองทัพไปปราบแบบเด็ดขาด จับตัวหัวหน้าก่อการได้ ส่งตัวเข้ามาในกรุงเทพฯ พิพากษาประหารชีวิตหัวหน้ากลุ่ม ส่วนลูกสมุนจับยัดใส่ตะรางทั้งหมด

มลายู สิงคโปร์ ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ก็ต้องจัดกำลังทหาร ตำรวจต่อสู้ ปราบปรามการก่อเหตุของกลุ่มอั้งยี่ เช่นเดียวกับสยาม

สยาม เรียนรู้จากอังกฤษว่าการปกครองอั้งยี่ ที่ร่ำรวยด้วยฤทธิเดชต้องมีทั้ง “พระเดช และ พระคุณ”

อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ อีกอย่างหนึ่งนั้น คือ สมเด็จเจ้าพระยาฯ สั่งการให้ขุนนางเจ้าภาษี พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ 14 คนไปทำพิธีถือน้ำ กระทำสัตย์ในวิหารหลวงพ่อโต ณ วัดกัลยาณมิตร ซึ่งชาวจีนเคารพนับถือมาก

ทุกฝ่ายต้องกล่าวคำสาบาน สัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยควบคุมพวกอั้งยี่ในสังกัดของตนมิให้คิดคดทรยศทำร้ายเจ้าหน้าที่ ไม่เป็นภัยอันตรายต่อผู้อื่น จะทำมาหากินโดยสุจริต แล้วให้ปล่อยตัวอั้งยี่ ระดับหัวหน้าไปทั้ง 14 คน

ศิลปะการเป็นผู้นำขั้นเทพ อีกวิธีหนึ่ง คือ การเอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นมาใช้งาน คอยเป็นหูเป็นตา ให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบก่อการ ก็ประสบความสำเร็จแบบง่ายๆ ไม่ต้องฆ่า ต้องแกงใคร ใช้วิธีการอะลุ้มอล่วย ยืดหยุ่น อย่างแยบยลเข้าควบคุมสถานกาณ์ได้ในที่สุด

อิทธิฤทธิ์ของกลุ่มอั้งยี่ลูกหลานมังกรจีน ที่ปะปนมากับชาวจีนอพยพ มาประกาศศักดาห้าวหาญในสยาม ยังทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้อีกหลายเหตุการณ์

โปรดติดตามตอนต่อไปนะครับ

เรียบเรียงโดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image