อิสรภาพที่หัวมุมถนน : โดย กล้า สมุทวณิช

ในช่วงมหกรรมหนังสือระดับชาติเมื่อกลางเดือนตุลาที่ผ่านไป พี่ปอ นิวัติ พุทธประสาท บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เจ้าของบูธ Alternative Writers ซึ่งเป็นที่พึ่งพาทั้งใจกายและพื้นที่ขายหนังสือของคนวรรณกรรม เขียนเล่าไว้ในเฟซบุ๊กว่า มีพนักงานจากบริษัทแห่งหนึ่ง มาเปิดบิลซื้อหนังสือ

ซึ่งเมื่อไต่ถามก็ได้ทราบว่า ผู้บริหารมีนโยบายให้พนักงานได้อ่านหนังสือที่หลากหลาย หนังสืออะไรก็ได้ จึงให้งบมาซื้อหนังสืออ่านกันในงานนี้

บริษัทที่ว่านี้ก็คือบริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ผู้สร้างตำนานจากผงสมุนไพรผงหอมศรีจันทร์อายุ 80 ปี ที่ยังคงทำงานกันด้วยระบบพิมพ์ดีดและกระดาษจนถึงยุค 2000 ก่อนจะมีการรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ในปี 2556 ไปสู่แบรนด์เครื่องสำอางสุดชิคที่ทันสมัย เป็นกระแสพูดกันสนั่นวงการในครั้งที่เปิดตัวครั้งใหม่ด้วยโฆษณาที่ฉีกเกือบทุกกฎ ก่อนจะสร้างความประหลาดใจให้คนดูว่า นี่คือเครื่องสำอางแบรนด์คนไทย ยี่ห้อเดียวกับผงแป้งสมุนไพรรุ่นคุณย่า

ซึ่งเรื่องการให้งบพนักงานซื้อหนังสืออ่านนี้อาจจะไม่น่าแปลกใจนัก ถ้าเราทราบว่าผู้บริหารของศรีจันทร์ คือ คุณรวิศ หาญอุตสาหะ เป็นนักอ่านที่อ่านหนังสือมากและหลากหลาย และยังเป็นนักเขียนหนังสือแนวบริหารธุรกิจ การตลาด และการพัฒนาตัวเอง ที่ขายดีระดับเบสเซลเลอร์หลายเล่ม เช่น “คิดจะไปดวงจันทร์ อย่าหยุดแค่ปากซอย” “อย่าให้ใครฆ่าวาฬของคุณ” และเจ้าของเพจ Mission to the Moon ที่สำหรับนักฟัง Podcast ชาวไทย น้อยรายนักที่จะไม่รู้จัก Podcast รายการนี้ และเชื่อกันว่าผู้ที่ทำให้วงการ Podcast เมืองไทยคึกคัก มีคนมาร่วมกันจัดรายการมากขึ้น ก็เป็นเพราะได้อิทธิพลกับแรงบันดาลใจจากคุณรวิศและ Mission to the Moon นี่เอง

Advertisement

เชื่อว่าผู้ติดตามคุณรวิศ คงรู้สึกสงสัยตรงกันว่า คุณรวิศเอาพลังงาน พลังใจ และเวลาที่ไหนมากมายในการทำสิ่งต่างๆ รวมถึงอีกเรื่องที่ไม่ได้เล่าไว้ข้างต้น คือการออกกำลังกายทุกวันและวิ่งมาราธอนด้วย

ความลับของเรื่องนี้อาจจะอยู่ในบทที่ 3 บทที่ชื่อว่า 42.2 กิโลเมตรแรก สอนอะไรผมบ้าง ในหนังสือ “ที่หัวมุมถนน” (Closer than you think) ซึ่งเป็นหนังสือเล่มใหม่ของคุณรวิศหนึ่งในสองเล่มที่ออกในปีนี้

กล่าวโดยสรุป คือ หลังจากเปิดปี 2561 มาเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนัก ในวันแรกของเดือนมีนาคม เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนแปลงรูปแบบชีวิตสองสามอย่าง ส่วนหนึ่งคือการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และกลับมาออกกำลังกายด้วยการวิ่งอีกครั้ง และวันที่ 11 ของหนึ่งเดือนต่อมา เขาตัดสินใจ “วิ่งมาราธอน” โดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อนที่เกียวโตและทำสำเร็จ ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง

ในท้ายบท คุณรวิศได้ยกข้อความของ เอลิอุด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) นักวิ่งมาราธอนชาวเคนยา ผู้ซึ่งเพิ่งทำสถิติมาราธอนที่เร็วที่สุดด้วยเวลา 2.01.39 ชั่วโมง ซึ่งอีกนิดเดียวเขาจะทำลายขีดจำกัดของมนุษย์ในการวิ่งระยะทางมาราธอนได้ในเวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมงได้แล้ว

ข้อความดังกล่าวมีว่า “หากคุณไม่มีวินัย คุณจะตกเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึก คุณจะตกเป็นทาสของความลุ่มหลง และนั่นคือความทุกข์” และด้วยประโยคนี้ คุณรวิศสรุปว่า “วินัยไม่ใช่กรงขังอย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นกุญแจไขสู่ชีวิตที่มีอิสรภาพ”

ประโยคนี้ของหนังสือเล่มดังกล่าวนี่เองที่ทำให้ผมกลับมาครุ่นคิดทบทวนเรื่อง “อิสรภาพ” อีกครั้งหนึ่ง

“อิสรภาพ” ที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า Freedom หรือ Liberty ที่ในทางกฎหมายมหาชน เรามักจะแปลว่า “เสรีภาพ” เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression)

ในทางกฎหมายมหาชน ให้นิยามของคำว่า “เสรีภาพ” หรือ “อิสรภาพ” นี้ว่า หมายถึง สภาวะที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะมีความสามารถในการตัดสินใจที่จะกระทำการหรือไม่กระทำการของตนได้โดยใจสมัคร ปราศจากการบังคับแทรกแซงจากอำนาจรัฐใดๆ เช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ก็ได้แก่ว่า เราย่อมสามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้ปกครองประเทศได้โดยไม่ถูกจับไปขัง หรือถ้าพูดให้เลยกรอบอำนาจรัฐออกไป เสรีภาพหรืออิสรภาพนั้นจะต้องปลอดพ้นจากการบังคับโดยกลไกสังคมต่างๆ เช่น ศาสนา จารีตประเพณี ค่านิยมทางสังคมต่างๆ ด้วย

แต่ความเป็นอิสระจากอำนาจบังคับภายนอกเพียงเท่านั้น คือเสรีภาพหรืออิสรภาพที่แท้จริงกระนั้นหรือ นอกจากคิปโชเก ที่มองว่าอิสรภาพที่แท้ต้องมาจากการมีวินัยต่อตัวเองแล้ว ยังมีนักปรัชญาเคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องของ “เสรีภาพ” เอาไว้ว่า ลำพังเพียงการตัดสินใจกระทำการโดยปลอดจากอำนาจบังคับภายนอกนั้นเพียงพอหรือไม่ที่จะเรียกการนั้นว่าเป็นเสรีภาพ

ผู้ตั้งคำถามนี้คือ อิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชาวเยอรมัน

คานท์นั้นเห็นว่า การกระทำตามปรารถนาเพียงเท่านั้นไม่ทำให้เรามีเสรีภาพ เพราะเราไม่ได้เป็นอิสระจากกิเลส ความต้องการ หรือสิ่งอื่นที่มีอิทธิพลเหนือเราอีกทีหนึ่ง ไม่ต่างจากสัตว์ที่หาอาหารกินเพราะความหิวกระหาย เช่น เราจะมองว่าเรามีอิสรภาพในการดื่มน้ำหรือไม่ดื่มน้ำหรือไม่ ในเมื่อเราถูกความกระหายตามธรรมชาตินั้นเข้าครอบงำบังคับ การกระทำตามกฎธรรมชาติ หรือกิเลสความต้องการที่เราไม่อาจควบคุมได้นี้ จะถือว่าเรามีเสรีภาพหรืออิสรภาพไม่ได้ เพราะนั่นเท่ากับเรากระทำไปตามกฎหรือแรงโน้มตามธรรมชาติ อารมณ์ หรือความรู้สึก

การกระทำไปตามเหตุปัจจัยข้างต้น เรียกว่ากระทำตามอัญญาณัติ (Heteronomy) ซึ่งแตกต่างจากเสรีภาพหรือความเป็นอิสระที่แท้ ซึ่งเกิดจากการกำหนดของตัวเราเอง หรืออัตตาณัติ (Autonomously) ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่นภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ศีลธรรม จารีตประเพณี หรือแม้แต่กิเลสและสัญชาตญาณ

ข้อความของคิปโชเกและบทสรุปของคุณรวิศ จึงทำให้ผมย้อนนึกทบทวนถึงเรื่องอัญญาณัติกับอัตตาณัติดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ในจุดร่วมของเรื่องนี้ คือการที่คิปโชเกมองว่า การไม่มีวินัยทำใจปรารถนานั้นคือการอิสระ เท่ากับตกเป็นทาสของอะไรบางอย่าง วินัยต่อตนเองต่างหาก คือการหลุดพ้นจากอำนาจบังคับของอารมณ์และความปรารถนาเหล่านั้น ที่อาจจะเทียบได้ว่า “วินัย” ของคิปโชเก ในที่นี้แหละ คืออัตตาณัติของคานท์

เพราะการที่เราใส่รองเท้าออกไปวิ่งแม้จะไม่อยากวิ่ง การอดทนวิ่งให้ครบ 42.2 กิโลเมตร แม้ร่างกายจะส่งสัญญาณความเหนื่อยล้าเจ็บปวดต่างๆ ออกมา นั่นต่างหาก คืออิสรภาพหรือเสรีภาพที่แท้ ที่เราเลือกที่จะให้ตัวเองยังคงวิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่ถูกบังคับจากอารมณ์ หรือแม้แต่การตอบสนองของร่างกายตามธรรมชาติ วินัยจึงเป็นการกำหนดกฎของตัวเองขึ้นมาจากความตั้งใจก่อน และปฏิบัติตามกฎที่ตั้งไว้ต่อตัวเองนั้นโดยไม่สนใจเรื่องอื่น

ฟังดูเป็นความเคร่งครัด แต่ความเคร่งครัดนี้แหละคือ “เสรีภาพ” อันแท้จริง ไม่ใช่การ “ทำอะไรก็ได้” อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ

แม้วินัยหรือระเบียบถูกมองว่าเป็นด้านตรงข้ามของเสรีภาพ ในแง่นี้อาจจะจริงหากวินัย ระเบียบ หรือกฎเกณฑ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดขึ้นจากอำนาจเหนืออื่นใดภายนอก แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่วินัยเกิดจากการกำหนดของเรา นั่นต่างหากจึงจะเป็นเสรีภาพ ด้วยนัยนี้ การมีวินัยต้องไปทำงานทุกวันตามกฎของบริษัท ถ้าไม่งั้นจะถูกเลิกจ้าง จึงไม่ใช่ “วินัย” ที่เป็นอิสรภาพตามอัตตาณัติ แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของอัญญาณัติที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อใดก็ตามที่เราไปทำงานเพราะเราจะไปทำงาน ไปทำงานตรงเวลาโดยไม่จำเป็นต้องไป และไม่ใช่การไปเพราะรักษาความรู้สึกถูกผิดหรือรับผิดชอบของตัวเองอะไรด้วย ไปเพียงเพราะเรากำหนดตัวเองว่าเราจะไปทำงานตรงเวลาทุกวัน นั่นแหละจึงจะเป็นเสรีภาพที่แท้จริงอันเป็นอิสระจากปัจจัยอื่นใดทั้งปวง

ดังนั้น “กฎของตัวเอง” (หรือกฎศีลธรรม) ของคานท์นั้นจึงจะแตกต่างจาก “วินัย” ในความหมายทั่วไปในแง่นี้เอง และอาจจะแม้แต่แตกต่างจากวินัยของคิปโชเกหรือคุณรวิศด้วย หากการมีวินัยของคิปโชเกนั้น เป็นการซ้อมเพราะเชื่อว่าจะช่วยในการทำลายสถิติของตัวเอง ของโลก และของมนุษยชาติ นั่นคือวินัยที่มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย ซึ่งไม่ว่าจะในแง่ดีหรือไม่ดี นี่ก็ถือว่าเป็นกิเลสที่ทำให้การที่คล้ายว่ารักษาวินัยนั้น คือการถูกขับเคลื่อนไปตามกิเลศความต้องการในการบรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่ง เช่นนี้ หากเรากำหนดต่อตัวเองขึ้นมาเมื่อไรว่า “เราจะมีวินัยทางการเงินเพราะ…(เราเป็นหนี้สินรุงรัง) หรือ (เพราะเราอยากเป็นเศรษฐี)…” นั่นก็ไม่ใช่อิสรภาพ

และเช่นเดียวกัน “วินัย” แบบรัฐที่สถาบันทางสังคมต่างๆ เช่น โรงเรียน เรียกร้องเอากับบุคคลใต้บังคับ ก็ไม่ใช่ “อิสรภาพ” หรือ “กฎศีลธรรม” ของคานท์ เพราะวินัยของคานท์คือวินัยที่ปราศจากจุดหมายโดยสิ้นเชิง ก็เหมือนกับอุปมานิทัศน์เรื่องคนเกลียดมนุษย์ ที่ว่าถ้ามีคนที่คิดจะช่วยชีวิตมนุษย์เพราะรักในเพื่อนมนุษย์ แม้การช่วยชีวิตมนุษย์ของเขาจะเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ไม่ถือว่ามีศีลธรรม

ในทางตรงข้าม คนที่เกลียดมนุษย์และอยากเห็นมนุษย์ทั้งโลกตาย แต่เขาก็ยังช่วยชีวิตมนุษย์อยู่ดีเพราะเขารู้สึกว่านี่เป็นหน้าที่ของเขาต่างหาก จึงจะถือว่ามีศีลธรรม (ในแบบคานท์) สูงกว่า

ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้อาจจะเข้าใจยากไปสักนิด และดูเหมือนเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวในการเรียกร้องให้เรามี “วินัย” และรักษา “กฎศีลธรรม” ต่อตัวเองเพื่อได้มีอิสรภาพจากภายใน ภายใต้รัฐภายนอกที่พยายามบังคับเราทุกทิศทุกทางจากอำนาจรัฐ กฎหมาย และจารีตประเพณีต่างๆ ที่ถูกสถาปนาขึ้น การคิดในเรื่องที่ว่าเสรีภาพหรืออิสรภาพที่แท้นั้นจะคือการรักษาวินัย อาจจะเป็นบ่อทรายใช้ทดลองเล่นทางความคิดที่ไร้ประโยชน์ในสายตาของหลายคนที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิหรือเสรีภาพของพลเมือง ซ้ำร้ายอาจจะถูกตีความไปในทางว่านี่คือความพยายามหาข้ออ้างให้ตัวเองในการทำตัวเป็นพลเมืองเซื่องๆ ของรัฐ หรือ สสส. ที่จะลดละเลิกการดื่มสุราแล้วไปออกกำลังกาย (ซึ่งถ้าไปออกกำลังกายเพื่อลดพุงลดโรคนั้นก็ยังไม่ใช่เสรีภาพโดยอัตตาณัติอยู่ดีนั่นแหละ)

กระนั้น แม้จะไม่มีประสบการณ์ตรง แต่จากการอ่านหนังสือหลายเล่ม ก็ปรากฏมีผู้เขียนไว้ตรงกันว่า ในห้วงยามที่ฮารูกิ มูราคามิ วิกรานต์ (ปอแก้ว) หรือคุณรวิศ และผู้ที่วิ่งมาราธอนเป็นครั้งแรกกำลังวิ่งผ่านกิโลเมตรที่ 35 สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ทำให้พวกเขายังคงก้าวเท้าวิ่งต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ แม้จะไม่เหลือความคิดความรับรู้อะไรอีกแล้วนอกจากถนนที่ไหลผ่านเท้าไป

ห้วงยามที่พวกเขาวิ่งเพื่อการวิ่ง เพื่อจะก้าวเท้าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ไปหยุดที่เส้นชัยอย่างที่ตั้งใจไว้ ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อวิ่งให้ครบ 42.2 กิโลเมตรนั้น นั่นแหละคืออิสรภาพที่หัวมุมถนน อันเป็นอิสรภาพที่ปลอดจากการแทรกแซงใดๆ ทั้งภายนอกและภายใน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image