อธิบายเรื่องการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐอเมริกา,6/11/2018 : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

การเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐอเมริกา (The US mid-term election) คือการเลือกตั้งเมื่อประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ดำรงตำแหน่งมาถึงครึ่งสมัยหรือ 2 ปีแล้วนั่นเอง ซึ่งผลของการเลือกตั้งกลางสมัยนี้ถือว่าเป็นปรอทวัดความพอใจของประชาชนที่มีต่อประธานาธิบดี โดยพิจารณาจำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีสังกัดได้รับการเลือกตั้งมามากกว่าของพรรคฝ่ายค้านก็แสดงว่าประชาชนพอใจในการทำงานของประธานาธิบดี แต่หากสมาชิกของพรรคการเมืองที่ประธานาธิบดีสังกัดได้รับการเลือกตั้งมาน้อยกว่าของพรรคฝ่ายค้าน ก็แสดงว่าประชาชนไม่พอใจในการทำงานของประธานาธิบดี และยิ่งกว่านั้นหากผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคการเมืองฝ่ายค้านสามารถกุมเสียงข้างมากได้ทั้งสองสภาแล้วก็อาจจะทำการถอดถอนประธานาธิบดี (impeachment) ได้อีกด้วย

การเลือกตั้งกลางสมัยที่มีขึ้นในวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 (เมื่อวานนี้) เป็นการชิงชัยระหว่างพรรคการเมือง 2 พรรค คือ พรรครีพับริกัน (พรรครัฐบาล) กับพรรคเดโมแครต (พรรคฝ่ายค้าน) เพื่อที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ทั้งหมดทั้งสภาซึ่งมีที่นั่ง ส.ส.อยู่ 435 ที่นั่ง และชิงชัยในวุฒิสภาเพื่อที่นั่งของ ส.ว.จำนวน 35 ที่นั่ง จากที่นั่งทั้งหมด 100 ที่นั่ง กับตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐจำนวน 36 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 50 ตำแหน่ง

สำหรับการเลือกตั้งอันเป็นเสาหลักสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการแสดงออกซึ่งอำนาจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยนั้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาได้กำหนดว่าจะมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของสหรัฐทั้งหมด 435 คนในทุกๆ 2 ปี โดยกำหนดให้วันอังคารแรกของเดือนพฤศจิกายนเป็นวันเลือกตั้ง กล่าวคือผู้แทนราษฎรของสหรัฐมีสมัยในการดำรงตำแหน่ง 2 ปีเท่ากันหมดทุกคน

ส่วนการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกของวุฒิสภาสหรัฐนั้น รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้แต่ละมลรัฐนั้นมีจำนวน ส.ว.เท่ากันมลรัฐละ 2 คน โดยมีสมัยในการดำรงตำแหน่ง 6 ปีเท่ากันทุกคนแต่จะมีการเลือกตั้งใหม่ ส.ว. จำนวน 1/3 ของ ส.ว.ทั้งหมด กำหนดเป็น 3 รอบ รอบละ 2 ปี เพื่อให้มี ส.ว.ที่มีประสบการณ์อยู่เป็นพี่เลี้ยง ส.ว.รุ่นใหม่ ดังนั้น ในการเลือกตั้งกลางสมัยเมื่อวันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 นี้จึงเลือกตั้ง ส.ว.เพียง 35 คน

Advertisement

ส่วนตำแหน่งผู้ว่าการมลรัฐที่มีทั้งหมด 50 ตำแหน่ง ซึ่งมีระยะการดำรงตำแหน่งแตกต่างกันไป สำหรับการเลือกตั้งกลางสมัยครั้งนี้ก็มีการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐถึง 36 ตำแหน่ง จัดว่าเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐใหม่เกือบ 3/4 ของจำนวนผู้ว่าการมลรัฐทั้งหมดเลยทีเดียว

ครับ ! การเลือกตั้งกลางสมัยทุก 2 ปีนั้น แม้จะสำคัญน้อยกว่าการเลือกตั้งใหญ่ทุก 4 ปีก็ตาม แต่ผลเลือกตั้งการเลือกตั้งกลางสมัยจะตัดสินอนาคตของรัฐบาลสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เนื่องจากการเลือกตั้งใหญ่ใน พ.ศ.2559 ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งพรรครีพับริกันเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีนั้น ปรากฏว่าพรรครีพับริกันก็ชนะพรรคเดโมแครตโดยรวมคือได้เสียงข้างมากในรัฐสภา กล่าวคือในสภาผู้แทนราษฎรโดยพรรครีพับริกันได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 240 ที่นั่ง ในขณะที่พรรคเดโมแครตได้ที่นั่งเพียง 193 ที่นั่ง (ว่าง 2 ที่นั่งเนื่องจากตายหรือลาออก) เรียกว่าในสภาผู้แทนราษฎรนั้นเสียงของฝ่ายรีพับริกันชนะขาดเลยทีเดียว

ส่วนในวุฒิสภาพรรครีพับริกันได้ที่นั่ง 51 ที่นั่ง พรรคเดโมแครตได้ 49 ที่นั่ง แบบว่าสูสีกันแต่การยกมือลงมติชนะเสียงเดียวก็ถือว่าชนะแหละครับ

Advertisement

ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าการมลรัฐนั้นไม่สำคัญนักเพราะการปกครองของสหรัฐอเมริกาเป็นแบบรัฐรวมถือว่ามลรัฐก็คือประเทศประเทศหนึ่ง ผู้ว่าการมลรัฐก็ดูแลปกครองภายในมลรัฐไป ส่วนเรื่องระดับชาติโดยรวมแล้วเป็นเรื่องของประธานาธิบดีและรัฐสภาแห่งสหรัฐ

สรุปแล้วผู้เขียนคาดว่าผลการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐครั้งนี้พรรคเดโมแครตอาจได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรค่อนข้างแน่นอน เนื่องจากชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจการบริหารงานของประธานาธิบดีทรัมป์ แต่ในวุฒิสภาคาดว่าคงจะยังคงสูสีกันตามเดิม โดยพรรครีพับริกันอาจจะยังครองเสียงข้างมากอยู่ได้ เนื่องจากการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกนั้นใช้เขตมลรัฐเป็นเขตเลือกตั้งไม่เหมือนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีเขตเลือกตั้งหลายเขตใน 1 มลรัฐ ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ว.จึงมีแนวโน้มในการเลือกตัวบุคคลมากกว่าเลือกพรรค

ครับ ! คอยดูผลการเลือกตั้งกลางสมัยของสหรัฐ วันนี้ (พุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2561) ช่วงเย็นๆ ค่ำๆ ก็รู้หมดแล้วละครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image