รื่นร่มรมเยศ : พุทธวิธีเสริมสุขภาพ ตอน 3 : เสฐียรพงษ์ วรรณปก

องค์ประกอบที่ 2 “ธัมมวิจยะ” หรือ “ธรรมวิจัย” แปลว่า การวิจัยธรรม วิจัย นั้นแปลว่า การเฟ้นหรือเลือกเฟ้น คือการใช้ปัญญาไตร่ตรอง พิจารณา สอดส่อง ค้นคว้า ธรรม ก็คือความจริง ความถูกต้อง สิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลนั้น

สิ่งนั้นอาจจะอยู่ต่อหน้าก็ได้ เช่นว่าเรามองเห็นอะไรอยู่ข้างหน้าหรือขณะนี้ เรากำลังเผชิญกับอารมณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เราก็เฟ้น คือมองค้นคว้าให้เห็นธรรม เฟ้นเอาธรรมออกมาให้ได้ หรือมองให้เป็นธรรม

ถ้ามองไม่ดี ใจของเราก็วุ่นวาย ปั่นป่วน กระวนกระวายเดือดร้อน แต่ถ้ามองให้ดี ถึงแม้สิ่งนั้นคนทั่วไปเขามองว่าไม่ดี ไม่ชอบใจ เมื่อจำเป็นที่เราต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นเฉพาะหน้าแล้ว เราก็มองให้เป็นธรรมไป หรือมองให้เห็นธรรมขึ้นมา ทำแบบนี้ก็เป็นธรรมวิจัยอย่างหนึ่ง เรียกว่ามองอะไรก็ได้ ถ้ามองให้ดีแล้วมันเป็นธรรม หรือทำให้เห็นธรรมได้หมด

เหมือนอย่างอาจารย์ที่สอนธรรมบางท่าน ท่านเน้นในเรื่องนี้ว่า มองอะไรให้เห็นเป็นธรรม มองใบไม้ อิฐ ดิน อะไรก็เป็นธรรมหมด ถ้ามองไม่ดี อะไรๆ อะไรก็เป็นอธรรมไปหมด ทำให้ใจของเราเสียหาย เช่นเห็นคนไม่น่าดู ถ้ามองไม่ดีก็เกิดโทสะ แต่ถ้ามองให้ดีอาจเกิดกรุณา เกิดความสงสาร อย่างนี้ เป็นต้น

Advertisement

หรืออย่างพระเถรีท่านหนึ่งในสมัยพุทธกาลถึงวาระมีหน้าที่ไปจัดยามอุบากองก็ไปจุดเทียนขึ้นมา แสงเทียนสว่าง มองที่เปลวเทียนนั้น เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอมองอย่างนี้ก็เห็นธรรม ทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา

ฉะนั้น สิ่งทั้งหลายนี้ขึ้นอยู่กับที่เรามอง จึงต้องรู้จักมอง มองให้ดี มองให้เห็นธรรม หรือมองให้เป็นธรรม

ทีนี้ประการต่อไป ธรรมวิจัยนั้นพิจารณาไตร่ตรองสิ่งที่สติดึงมา อย่างที่ได้กล่าวไว้เมื่อกี้ว่าเราอาจจะใช้สติดึงสิ่งที่อยู่ห่างไกล เช่น สิ่งที่เราได้เล่าเรียนมาแล้ว ได้ฟังมาก่อนแล้ว อาจเป็นธรรมคำสอนต่างๆ เข้ามาสู่จิต แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาเฟ้นหาความหมาย เฟ้นหาสาระ เลือกเฟ้นเอามาใช้ให้เหมาะหรือให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการจะใช้ให้ได้ผล

Advertisement

เช่น เวลาเราอยู่นิ่งๆ ว่างๆ เราก็ระลึกนึกถึงทบทวนธรรมที่ได้เล่าเรียนมาแล้ว เอามาเลือกเฟ้น นำมาใช้ให้ถูกกับโอกาส ใช้ให้เหมาะสมกับกิจเฉพาะหน้า หรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเราให้ถูกต้องได้ ให้พอดี การเลือกเฟ้นออกมาให้ถูกต้องนี้ก็เรียกว่า ธรรมวิจัยเหมือนกัน แม้กระทั่งว่า เฟ้นให้รู้ความหมายของหลักธรรมนั้นคืออะไร ในกรณีนั้นๆ มุ่งเอาแง่ไหนอย่างนี้ก็เรียกว่า “ธรรมวิจัย”

องค์ประกอบที่ 3 “วิริยะ” วิริยะ แปลว่า ความเพียร ความเพียรนี้แปลตามศัพท์ว่า ความเป็นผู้กล้าหาญ หรือความแกล้วกล้า วิริยะหรือวีริยะก็มาจากวีระ ได้แก่ความเป็นวีระ อย่างที่เราพูดกันในคำว่า วีรชน วีรบุรุษ วีรสตรี เป็นต้นนั้นเอง

วิริยะ หรือความแกล้วกล้านี้ หมายถึงพลังความเข้มแข็งของจิตใจ ที่จะเดิน ที่จะก้าวหน้าต่อไป ถึงจะเผชิญอุปสรรค ความยุ่งยาก ความลำบาก ถึงจะเป็นงานหนัก หรือมีภัย ก็ไม่ครั่นคร้าม ไม่หวั่นหวาด ไม่กลัว ใจสู้ ไม่ย่อท้อ ไม่ท้อถอย และไม่ท้อแท้ มีกำลังประคับประคองใจของตัวเองไว้ไม่ให้ถอย อันนี้เรียกว่า วิริยะ ก็เป็นหลักสำคัญ เป็นตัวสร้างกำลังความเข้มแข็งเป็นองค์ประกอบที่จะให้ทำได้สำเร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image