พรรคนิช : โดย เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ

พรรคนิช (niche party) หมายถึง พรรคที่มีฐานเสียงเฉพาะกลุ่ม คำว่า “นิช” (niche) เป็นภาษาการตลาด หมายถึงฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มโดยหลักกว้างๆ แล้ว สามารถจำแนกพรรคนิชจาก “จุดยืน” บนเส้นอุดมการณ์ซ้าย-ขวา เพราะพรรคนิชมักเป็นพรรคสุดขั้วด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ในเยอรมนี พรรคนิชด้านซ้ายจัด ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์ ส่วนพรรคนิชด้านขวาจัด ได้แก่ พรรคชาตินิยมปีกขวา ส่วนที่อยู่กลางๆ ไม่ใช่พรรคนิช แต่เป็นพรรคใหญ่ ได้แก่ พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party) พรรคคริสเตียนดิโมแครต (Christian Democratic Union Party) และกลุ่มพรรคอนุรักษนิยมอื่นๆ (Conservative Party Families)

พรรคที่อยู่กลางๆ มักได้เป็นรัฐบาล เพราะมีนโยบายตอบสนองต่อคนทุกกลุ่ม (Catch-all Party) ในทางวิชาการจึงเรียกพรรคกลางๆ นี้ว่า “พรรคกระแสหลัก (mainstream party) อย่างไรก็ตาม พรรคที่อยู่กลางๆ นี้ยังค่อนไปซ้ายหรือขวา แตกต่างกันได้อีก เช่น ในเยอรมนี พรรคคริสเตียนดิโมแครตจัดเป็นพรรคกลาง-ขวา ส่วนพรรคสังคมประชาธิปไตยจัดเป็นพรรคกลาง-ซ้าย จุดยืนซ้ายหรือขวาที่ต่างกันนี้ส่งผลต่อนโยบายและการเลือกตั้ง เพราะพรรคค่อนมาทางซ้ายมักมีจุดยืนที่จะจัดสวัสดิการในดีกรีมากกว่าทางขวา ซึ่งส่งผลต่อการเลือกตั้ง ขึ้นอยู่กับว่าในเวลาเลือกตั้งนั้นสังคมต้องการสวัสดิการจากรัฐมากหรือน้อย ช่วงที่สังคมต้องการสวัสดิการมาก พรรคทางซ้ายจะได้รับเลือกมากกว่า ในทางกลับกัน หากสังคมต้องการให้รัฐลดบทบาทในการจัดสวัสดิการ โดยผลักดันไปให้เอกชนทำแทน พรรคทางขวาจะได้รับเลือกมากกว่า แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และบุคลิกภาพและความสามารถของผู้นำพรรคและผู้สมัคร

เม็กกวิด (Meguid) อธิบายว่า พรรคนิชมีลักษณะเด่น 3 ประการ คือ (1) พรรคนิชจะพยายามนำประเด็นใหม่ๆ (new issues) เข้ามาแข่งขันทางการเมือง (2) ประเด็นที่นำเสนอนี้จะไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ตรงกลาง     แต่ฉีกออกไปไม่ทางซ้ายก็ทางขวาและจะไม่เหมือนกับประเด็นเดิมๆ ที่พรรคใหญ่ใช้ในการหาเสียง และ    (3) พรรคนิชจำกัดประเด็นที่จะเสนอในการแข่งขันนี้ไม่มาก ตัวอย่าง พรรคกรีนเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมเพียงประเด็นเดียว และยังใช้เป็นประเด็นหลักในการหาเสียงเรื่อยมา อีกตัวอย่าง คือ พรรคชาติพันธุ์และดินแดน ซึ่งเน้นความเป็นอิสระของดินแดน หรือพรรคชาตินิยมขวาจัดที่เน้นเรื่องการจำกัดจำนวนผู้อพยพและให้ความสำคัญกับประเพณีดั้งเดิม

ถ้าเทียบกับบ้านเรา พรรคนิชของไทยน่าจะเป็น “พรรคทวงคืนผืนป่า” “พรรคพลังท้องถิ่นไท”หรือ        “พรรคประชาชาติ” ทำนองนี้

Advertisement

พรรคนิชมีความสำคัญต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและเสถียรภาพทางการเมือง เหตุผล คือ

ประการแรก พรรคนิชเป็นตัวแทนของคนกลุ่มน้อย ถึงแม้จะได้รับเลือกตั้งน้อย แต่ก็มีตัวแทนเฉพาะกลุ่ม

ประการที่สอง พรรคนิชมีส่วนเสริมสร้างเสถียรภาพรัฐบาล เพราะพรรคนิชมักเข้าไปเป็นรัฐบาลผสมจนกลายเป็นเสียงข้างมาก เช่น พรรคกรีนในเยอรมนีจับคู่กับพรรคสังคมประชาธิปไตยเป็นรัฐบาล ที่ผ่านมาพรรคทางซ้ายมักจับกับทางซ้ายทำนองเดียวกัน พรรคทางขวาก็มักจับกับทางขวา นานๆ จึงมีพรรคใหญ่จับคู่กันเองเป็นรัฐบาลผสม เรียกว่า “grand coalition” เช่น การจับคู่กันระหว่าง “พรรคสังคมประชาธิปไตย” กับ “พรรคคริสเตียนดิโมแครต” ในเยอรมนี แต่การจับคู่ระหว่างพรรคยักษ์ใหญ่ทั้งสองนี้เกิดขึ้นเพียงบางครั้ง เช่น การจับคู่กันใน ปี 1966, 2005, 2013 และ 2018 เหตุผลเป็นเพราะ “ยักษ์ใหญ่ทั้งสอง” มักระแวงว่าอีกฝ่ายจะ “ใหญ่” กว่าตน รวมทั้งกลัวว่าตนจะถูกอีกฝ่ายครอบงำ หรือไม่ก็เมื่อร่วมหัวจมท้ายเป็นรัฐบาลแล้ว คะแนนตกด้วยกันทั้งคู่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่บางพรรคสามารถจับคู่ได้ทั้งซ้ายและขวา เช่น พรรคฟรีดิโมแครต (FDP) ที่รวมได้ทั้งกับพรรคคริสเตียนดิโมแครตและพรรคสังคมประชาธิปไตย

Advertisement

ประการที่สาม พรรคนิชจะไม่ค่อยเปลี่ยน “จุดยืน” ถ้าเปลี่ยนจุดยืนเมื่อใด ก็จะไม่ได้รับความนิยม อาจถึงขั้นทำให้พรรคล่มสลาย เช่น พรรคกรีนมีจุดยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ชูประเด็นสิ่งแวดล้อมตลอด เพียงแต่อาจปรับประเด็นย่อยๆ ของเรื่องสิ่งแวดล้อมไปตามสถานการณ์บ้านเมืองหรือยกตัวอย่าง “พรรคทวงคืนผืนป่า” ของไทย คงไม่กล้าเปลี่ยนนโยบายไป “แจกเอกสารสิทธิที่ดิน” ให้ชาวบ้านครอบครองป่าเสื่อมโทรม

ประการที่สี่ พรรคนิชแทบจะไม่มี “party swithchers” คือ “พวกย้ายพรรค” สืบเนื่องมาจากจุดยืนที่ชูเป็นนโยบายนั้นต้องมั่นคงและไม่แปรเปลี่ยน ผิดกับพรรคใหญ่ที่มี ส.ส.นิยมย้ายพรรคมากกว่า เช่น ในสหรัฐอเมริกา การย้ายพรรคของ ส.ส.ช่วงหลังทศวรรษ 1950 มักย้ายไปอยู่พรรคใหญ่ด้วยกัน ส่วนการย้ายจากพรรคใหญ่ไปพรรคเล็ก หรือจากพรรคเล็กไปพรรคใหญ่ก็มีบ้าง แต่มีสาเหตุจากการไม่ได้รับเลือกให้ลงสมัครจากระบบไพรมารีหรือการหยั่งเสียงขั้นต้น หรือต้องการย้ายเพื่อเพิ่มโอกาสการได้เป็น ส.ส. ซึ่งบ้านเราต้องระวัง เพราะหากนำระบบไพรมารีมาใช้จริงๆ “คนแพ้” ก็คงย้ายพรรคเหมือนกัน

ประการที่ห้า พรรคนิชจะช่วยลดการเป็นเผด็จการรัฐสภา เนื่องจากพรรคนิชจะเข้าไปแชร์คะแนนเสียงและแชร์เก้าอี้ ส.ส. ทำให้จำนวนเสียงในสภากระจายออกไป แม้พรรคใหญ่อาจมีเสียงข้างมาก ก็ไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาด และเมื่อคราวที่ต้องเข้าไปเป็นรัฐบาลผสม พรรคนิชก็ต้องต่อรองเพื่อให้รัฐบาลผสมนำนโยบายของพรรคนิชไปปฏิบัติ

ประการที่หก ซึ่งน่าจะเป็นประการสำคัญที่สุด คือ พรรคนิชช่วยสลายขั้วการเมือง หรือลดความรุนแรงจากการแบ่งเป็นบล็อก (block) หรือป้อมค่ายทางการเมือง (ยกเว้นพรรคนิชที่แอบไปจับมือกับพรรคใหญ่ไว้ก่อน หากทำอย่างนั้นก็มีแต่ทำให้ขั้วการเมืองแข็งขึ้น) เหตุผลเพราะพรรคนิชนำการเมืองไปสู่ความสนใจประเด็นย่อยๆ เฉพาะด้าน ลงลึกกว่าการเมืองสองขั้ว ที่มองอัตลักษณ์กันเผินๆ แล้วแบ่งคนเป็น “เหลือง” หรือ “แดง” แบบบ้านเรา และปลูกฝังว่าตนเท่านั้น “ถูก” และอีกฝ่ายต้อง “ผิด” ทั้งที่อ้างประชาธิปไตยเหมือนกัน โดยไม่มีทางเลือกให้คนอยู่กลางๆ หรือฝ่ายอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่สองพวกข้างต้น

พลอยทำให้สื่อ นักวิชาการ นักการเมือง หรือชาวบ้าน ถูกกระทบจากการจัดข้าง จนกระอักกระอ่วนไปตามๆ กัน

ปัญหาของพรรคนิชอยู่ที่ทำอย่างไรจึงจะได้รับเลือกตั้ง เพื่อเข้าไปมีบทบาทในสภา ดูเวอร์เช่เคยเสนอหลักการไว้ว่า “ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน” (Proportional Representation Systems) ช่วยให้พรรคเล็กอยู่รอด ซึ่งในบรรดาพรรคเล็กที่อยู่รอดเหล่านี้จะมีพรรคนิชอยู่ด้วย ดังนั้น ระบบสัดส่วนจึงช่วยให้พรรคนิชเข้าไปแข่งขันและมีโอกาสชนะ โดยอาศัยจุดเด่นของพรรคที่มีความแตกต่างเฉพาะด้าน และมีปัจจัยอื่นๆ เป็นปัจจัยเสริม ได้แก่ การหาเสียงของพรรคนิช เช่น ถ้าคนชอบพรรคนิชมาก การหาเสียงก็ทำได้ง่าย หรือในทางกลับกัน หากหาเสียงมากและเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ พรรคนิชก็อาจได้รับความนิยมได้เช่นกัน อีกปัจจัยหนึ่ง เป็นตัวผู้สมัคร ถ้าเป็นผู้สมัครที่ได้รับความนิยมในพื้นที่ก็อาจส่งผลต่อความเป็นพรรคพวก (partisanship) กับพรรคสูง ทำให้พรรคนิชได้คะแนนด้วย ส่วนจุดอ่อนอยู่ที่พรรคนิชมักเป็นพรรคใหม่ ในแง่ของการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น พรรคใหม่มีความเป็นสถาบันน้อยกว่าพรรคเก่า พรรคเก่ากระตุ้นให้เกิดความมั่นคงและไว้วางใจพรรคได้มากกว่า แต่ประเด็นหลังนี้ไม่แน่นักสำหรับประเทศไทย เพราะพรรคเก่าก็ไม่ได้ “เก๋า” เสมอไป บางครั้งยิ่งเก่า กลับยิ่ง “ดื้อ” ก็มี ยิ่งกว่านั้น พรรคเก่าทุกพรรคต่างถูกจับดองเค็มมา 4-5 ปี ไม่รู้ว่ายังมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อะไรเหลืออยู่บ้าง ขณะนี้บางพรรคยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้จะขึ้นต้นตรงไหน บางพรรคหนักกว่านั้นอีก เพราะยังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่เป็นระบบอะไร ออกแบบมาเพื่ออะไร และจะวางยุทธศาสตร์ตอบโต้อย่างไร

ระบบเลือกตั้งบ้านเราปี 2562 ใช้กฎเกณฑ์การเลือกตั้งที่ไม่เป็นสัดส่วน (disproportional electoral rules) ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อพรรคนิช จึงน่าจับตาดูว่าพรรคนิชของไทยจะเหลือรอดเข้ามากี่คน และจะมีบทบาททางการเมืองสมกับที่เป็นพรรคนิชหรือไม่ เพียงใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image