ชาวคณะคนดี กับบัญชีแห่งความไม่ไว้วางใจ : กล้า สมุทวณิช

ท่านผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนนับถือท่านหนึ่ง เคยให้คำนิยามสั้นๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ว่า เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งความไม่ไว้วางใจ”

นั่นคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ร่างขึ้นเพื่อ “ปราบโกง” ตามเจตนาตั้งต้นของคนร่าง ดังนั้น เนื้อหาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญนี้ จึงมีสมมุติฐานว่า ทุกคนจะเข้ามาเพื่อโกง จึงต้องวางกลไกป้องกันการใช้อำนาจเอาไว้ให้ละเอียดถี่ถ้วน ตรวจสอบกันทุกเม็ด เช่นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็กำหนดไว้ละเอียดยิบย่อย ระบุฐานความผิดอันเป็นลักษณะต้องห้ามกันไปเป็นรายกระทง และหากฝ่าฝืนกระทำผิดหรือมีความบกพร่อง ก็กำหนดบทลงโทษไว้อย่างหนักและรุนแรง

ในเมื่อแม่บทนั้นมีฐานจากความไม่ไว้วางใจ ก็ส่งผลถึงกฎหมายลูกบทต่างๆ ที่รับเอากรอบคิดหรือหัวใจนี้ถ่ายทอดลงมา

ปรากฏการณ์กฎหมายเป็นพิษล่าสุด ก็ได้แก่ ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐนั่นเอง

Advertisement

โดยหลักการแล้ว การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สุดทั้งในแง่ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยหลักการง่ายๆ คือการให้แสดงว่า ก่อนเข้ามาสู่อำนาจรัฐ คุณมีอะไรติดตัวมาบ้าง และเมื่อคุณจากไป คุณเอาอะไรจากไปบ้าง นอกจากค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นที่รัฐมอบจ่ายให้คุณแล้ว มีส่วนเกินจากการใช้อำนาจบ้างหรือไม่ รวมถึงออกไปแล้วหนึ่งปีก็ยังตามตรวจสอบว่ายังมี “ลูกหลง” ของการใช้อำนาจอีกหรือเปล่า

หากการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดยอธิบายที่มาที่ไปไม่ได้ ก็จะมีความผิดฐานร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งจะถูกดำเนินคดีทั้งในทางอาญาและการริบยึดทรัพย์สินที่เพิ่มมานั้น พร้อมดอกเบี้ยอีกต่างหาก

ความร่ำรวยผิดปกตินั้นถือเป็นความผิดในตัวเอง ที่ไม่จำเป็นต้องไล่ตามสืบหาว่า ไปทำอะไรมาจึงรวยเช่นนี้ และยังเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้น จะต้องเป็นฝ่ายชี้แจงให้ได้ด้วยว่าทรัพย์สินนั้นงอกขึ้นมาได้อย่างไร การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงเป็นทั้งมาตรการป้องกัน เพราะผู้ที่ทุจริตจะต้องคิดหนักว่า จะเอาทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้จากการนั้นไปซ่อนซุกไว้ที่ไหน หากตรวจพบจะอธิบายอย่างไร และมาตรการในการปราบปราม เพราะหากพบทรัพย์สินของใครงอกขึ้นมาผิดหูผิดตาแล้วไม่ปรากฏในบัญชีที่เคยยื่นไว้ นั่นก็อาจชี้ว่าทรัพย์สินนั้นอาจจะได้มาโดยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

Advertisement

เช่นนี้ ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินจึงต้องมีสภาพบังคับด้วยว่าการยื่นจะต้องถูกต้องตรงตามความเป็นจริง มิใช่เพียงแบบพิธีที่จะไม่ใส่ใจให้ความสำคัญ โทษของการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรแจ้งให้ทราบนั้น จึงเป็นความผิดในตัว ผิดตั้งแต่ยังไม่ได้ “ร่ำรวย” ขึ้นแม้แต่บาทเดียวด้วยซ้ำ

คดีทางการเมืองเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติส่วนใหญ่ เริ่มต้นขึ้นจากการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนี้เป็นส่วนมาก ตั้งแต่คดี “ซุกหุ้น” ของคุณทักษิณในสมัยเป็นนายกฯ สมัยแรก คดี “นาฬิกาเพื่อน” ของผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หรือเช่นล่าสุดที่ลงโทษอดีตข้าราชการระดับสูงชั้นปลัดกระทรวงไป ก็เป็นเรื่องการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนี้ไม่ครบทั้งสิ้น ยังไม่ได้ลงไปในเนื้อเรื่องความร่ำรวยผิดปกติหรือทุจริตประพฤติมิชอบอะไรเลย

แต่การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นภาระและความยุ่งยาก โดยเฉพาะผู้ที่มีทรัพย์สินมาก หรือแม้แต่มีไม่มากแต่ไม่มีการจัดระเบียบที่ดี รวมถึงกรณีที่ทรัพย์สินเกลื่อนกลืนไม่ชัดเจนจนเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าต้องยื่นแสดงหรือไม่ ความยุ่งยากนี้มีราคาที่ต้องจ่ายหากยื่นผิดหรือแสดงพลาด ได้แก่การลงโทษทั้งในทางการเมืองและในทางอาญา โดยเฉพาะคดีอาญาก็ต้องลุ้นว่าศาลท่านจะรอการลงโทษให้หรือจำคุกจริงๆ ซึ่งเหมือนเป็นแนวทางในช่วงหลังๆ ว่ายิ่งตำแหน่งสูงแล้วไม่ยื่นแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นจำนวนอันมีนัยสำคัญ ก็รับรองว่าได้เปลี่ยนเสื้อผ้าเข้าเรือนจำวันอ่านคำพิพากษากันเลย

ราคาแสนแพงอันมีคุกตะรางเป็นประกันนี้เอง ทำให้ใครที่รู้สึกว่า “ถ้าไม่จำเป็น” ก็ไม่อยากที่จะยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เว้นแต่เข้าสู่ตำแหน่งที่สูงพอที่จะยอมแลกกับความยุ่งยากและความเสี่ยงเช่นนั้น

ปัญหาในตอนนี้เกิดขึ้นเพราะอย่างที่เท้าความมาข้างต้นว่าเป็นผลของแม่บทแห่งความไม่ไว้วางใจ ทำให้เรารู้สึกว่า ควรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแทบทุกตำแหน่งต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ไม่ว่าจะตำแหน่งเล็กใหญ่อย่างไร จนลืมคำนึงถึงความพอเหมาะพอสมได้สัดส่วน และด้วยกรอบคิดอันไม่ไว้วางใจเช่นนั้น ก็เหวี่ยงแหกวาดเก็บบุคคลที่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินไปจนทั่วอีกด้วย

ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ออกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งได้รับมอบอำนาจมาจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 324 (3) อีกทีหนึ่งนั้น รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ว่านี้ให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. อย่างกว้างขวางในการกำหนดตำแหน่งที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ซึ่งนอกจากตำแหน่งที่ควรจะต้องยื่นแสดง เช่นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรรมการในองค์กรอิสระ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงแล้ว ยังเปิดช่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สามารถกำหนดกวาดกองตำแหน่งที่เห็นสมควร บังคับให้ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยก็ได้

ซึ่งการกวาดกองนี้รวมไปถึงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการในองค์กร กองทุน สถาบัน สถานศึกษาต่างๆ ของรัฐด้วย ส่งผลให้เกิดการโต้แย้งและขอลาออกของกรรมการมหาวิทยาลัย หรือองค์กรของรัฐ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก เมื่อบุคคลในตำแหน่งดังกล่าวพอทราบเรื่องของกฎหมายนี้ ก็ชักแถวกันยื่นใบลาออกจากตำแหน่งต่างๆ ให้เป็นที่โกลาหล แถมผลของกฎหมายยังส่งผลถึงสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งถือเป็นนายกสภามหามงกุฏราชวิทยาลัยด้วย

แต่เรื่องที่ตลกร้ายที่สุด คือแม้กระทั่งตัวผู้ร่างรัฐธรรมนูญ “ปราบโกง” อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เองก็ยื่นเรื่องขอลาออกจากการเป็นกรรมการมหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่งอยู่ โดยให้เหตุผลว่าไม่ใช่เพราะกลัวการตรวจสอบ แต่ไม่อยากวุ่นวาย เนื่องจากหากเกิดข้อผิดพลาดในการยื่นบัญชีที่ว่า จะตามมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายมากมาย

ที่จริงแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวก็ใช่จะฟังไม่ขึ้น เพราะด้วยขั้นตอนกระบวนการอันยุ่งยากและแนวคำพิพากษาของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องนั้นก็เป็นเรื่องจริง อีกทั้งข้อแตกต่างสำคัญของตำแหน่งต่างๆ เหล่านั้น ที่แตกต่างจากตำแหน่งทางการเมืองหรือตำแหน่งระดับสูง นั่นคือ ตำแหน่งดังกล่าวเป็นตำแหน่งประเภท “รับเชิญ” ให้มาเป็น

โดยผู้มาดำรงตำแหน่งนั้นเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือคงประสบการณ์จากภาครัฐหรือเอกชน ซึ่งคณะกรรมการหรือองค์กรต่างๆ ที่ว่า เห็นว่าเกี่ยวข้องกับขอบเขตภารกิจของตัวเอง ก็ไปเชิญบุคคลเหล่านั้นมาดำรงตำแหน่ง

ดังนั้น การไปบังคับให้บุคคลเหล่านั้นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จึงเป็นเหมือน “ราคา” ที่พวกเขาไม่ได้ต้องการจะจ่าย หรือคาดหมายว่าจะต้องจ่ายมาตั้งแต่ต้น ซึ่งแตกต่างจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ที่ขันอาสาสมัครรับเลือกตั้งเข้ามา หรือแม้แต่ตำแหน่งระดับสูงเช่นตุลาการในศาล หรือกรรมการในองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ “สมัครใจ” มาเป็น และได้รู้ “ราคา” หรือเงื่อนไขของการต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนี้มาก่อนแล้วตั้งแต่ต้น

ก็เหมือนใครสักคนให้รถยนต์คุณมาสักคัน แล้ววันหนึ่งมาบอกว่า ท่านครับ รถนี้ยังผ่อนไม่หมด ท่านต้องผ่อนต่อ เช่นนี้ใครก็คงไม่อยากเก็บรถยนต์ที่ว่านี้ไว้

ดังนั้น เหตุผลของนายมีชัย หรือบรรดากรรมการในองค์กรหรือสถาบันต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จึงไม่ถึงกับเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

และยังอาจจะเสริมด้วยเหตุผลเชิงความรู้สึกที่อาจจะเป็นการคาดเดา คือการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินนั้น เป็นภาระที่เข้ามาก้าวก่ายต่อความเป็นอยู่ส่วนตัว เพราะต้องแสดงทรัพย์สิน หนี้สิน หุ้นส่วน ทรัพย์สมบัติต่างๆ ที่มีราคาของตัวเอง มีรายได้จากทางไหนเท่าไรบ้าง มีบัญชีเงินฝากกี่บัญชี บัตรเครดิตกี่ใบ สมัยหนึ่ง ดร.โภคิน พลกุล ถึงกับต้องเขียนในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่าเลี้ยงนกแก้วมาคอว์ไว้กี่ตัว ตัวละกี่บาท ละเอียดกันลงไปเบอร์นั้น

แม้จะเปรียบเทียบกันไม่ได้ตรงนัก แต่อารมณ์มันเหมือนสามีภรรยาหรือคู่สมรสของคุณขอให้เปิด LINE ในโทรศัพท์ให้ดูทุกเช้าก่อนออกจากบ้านและตอนเย็นก่อนนอน ต่อให้ไม่มีความลับอะไร แต่มันก็ให้ความรู้สึกแห่งการไม่ไว้วางใจอย่างที่กล่าวไป

เพราะการเหวี่ยงแหเพื่อใช้กฎหมายอย่างล้นเกิน การใช้มาตรการตรวจสอบที่ไม่คำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน หรือไม่พิจารณาถึงสาระสำคัญที่แตกต่างกันระหว่างตำแหน่งที่ “เสนอตัวเข้ามา” กับ “ถูกเชิญให้เป็น” มาตรการที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ดี จึงปะทะเข้ากับบรรดาคนดี (ต่อให้เรายอมรับว่าเขาดีจริงก็เถิด) ซึ่งไม่อยากเข้าสู่กระบวนการอันยุ่งยากที่เขาไม่ได้เป็นผู้เลือก มาตรการที่เขาเคยคิดว่าเป็นเรื่องดีๆ เอาไว้ปราบโกง มาตรการที่คิดเอาไว้รัดกุมแน่นหนา เพื่อจะลงโทษไอ้พวกชอบซ่อนทรัพย์ซุกหุ้น ภายใต้วาทกรรมว่าถ้าไม่ผิดทำไมจะกลัวการตรวจสอบ แต่ลืมคิดไปว่าหากเรื่องแบบนี้มันเกิดเป็นบูมเมอแรงมาเข้าตัวเองแล้ว ตัวเองจะอยากถูก “ตรวจสอบ” หรือไม่ แม้ว่าตัวเองจะไม่มีพิรุธหรือความผิดใด

ต้องให้เจอกับตัวเองนี่แหละ เขาจึงเข้าใจจากประสบการณ์ของตัวเองว่า ความยุ่งยากที่จะถูกบังคับตามกระบวนการที่หยุมหยิมและมีโทษร้ายแรงนั้น เป็นคนละเรื่องกับการกลัวการตรวจสอบเพราะมีแผลเน่าหรือมัวหมอง

เรื่องนี้จึงเป็นตลกร้ายอันเป็นผลพวงมาจากระบอบแห่งความไม่ไว้วางใจในรัฐธรรมนูญที่คุณมีชัยร่างขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ และเหล่าคนดีผู้สร้างวาทกรรมเรื่องปราบโกง ประเทศไทยเต็มไปด้วยคนขี้โกง ซึ่งคำว่า “พวกขี้โกง” ในจินตนาการของเหล่าคนดีที่กล่าวถึงนั้นก็นึกออกแต่ใบหน้านักการเมือง หรือข้าราชการผู้หิวเงินและไม่รู้จักพอเพียง ลืมนึกไปว่าหากมาตรการนี้มันใช้บังคับกับตัวเองและมิตรสหาย “คนดี” บ้าง จะรู้สึกอย่างไร

ความเดือดร้อนเพราะกฎหมายดีๆ ของเหล่าคนดี จึงเป็นเรื่องที่ชวนยิ้มอ่อนมองบนของประชาชนชาวเราด้วยประการฉะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image