คุณแม่ขา อย่าอ้วน!

องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนสถานการณ์ความอ้วนที่น่าเป็นห่วง ในสามสิบปีที่ผ่านมา มีคนอ้วนมากกว่าเดิมถึงสามเท่า แม้โรคอ้วนถือว่าเป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่พบว่าทั่วโลกมีผู้คนเสียชีวิตซึ่งเป็นผลพวงจากโรคอ้วน ปีละไม่ต่ำกว่า 2.8 ล้านคน เนื่องจากความอ้วนมีผลมากมายต่อสุขภาพ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเส้นเลือดสูง กรน ตามมาด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เส้นเลือดในสมองอุดตัน และภาวะขาดออกซิเจน

โรคอ้วน คำนวณจากดัชนีมวลกาย ใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัม หารด้วยส่วนสูงเป็นเมตร ยกกำลังสองค่าดัชนีมวลกาย = 18.5-24.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักปกติ

ค่าดัชนีมวลกายต่ำกว่า 18.5 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าผอม

ค่าดัชนีมวลกาย = 25-29.9 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ถือว่าน้ำหนักเกิน เป็นโรคอ้วนระดับ 1

Advertisement

ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เป็นโรคอ้วนระดับ 2

ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เป็นโรคอ้วนระดับ 3 ซึ่งเป็นโรคอ้วนที่มีอันตรายมาก

ปัจจุบันผู้ใหญ่ที่อายุ 19 ปีขึ้นไป ร้อยละ 39 เป็นโรคอ้วน

ร้อยละ 26 เป็นโรคอ้วนระยะที่ 1

ร้อยละ 13 เป็นโรคอ้วนระยะที่ 2-3

แม้แต่เด็กและวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ซึ่ง 30 ปีก่อน พบโรคอ้วนไม่เกินร้อยละ 1-4 ปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 18 โดยเพศหญิงเป็นโรคอ้วนมากกว่าเพศชาย

โรคอ้วนสัมพันธ์กับปัญหาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Sexual dysfunction) ทั้งหญิงและชาย ในฝ่ายหญิง งานวิจัยพบว่า โรคอ้วน ลดความสุขทางเพศ ลดความต้องการ ทำให้ร่วมเพศได้ลำบาก บางคนอาย จึงหลีกเลี่ยงเพศสัมพันธ์ ในฝ่ายชาย โรคอ้วน สัมพันธ์กับการลดลงของฮอร์โมนเพศชายเทสทอสเตอโรน อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรืออีดี (Erectile dysfunction) อสุจิมีจำนวนน้อย มีปัญหาในการสอดใส่

เมื่อท้อง หญิงโรคอ้วนจะมีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์สูงกว่าคนน้ำหนักตัวปกติ เช่น

แท้งลูก น้ำหนักตัวปกติแท้งร้อยละ 10 โรคอ้วนระดับ 1 ร้อยละ 11 โรคอ้วนระดับ 2 ร้อยละ 12 โรคอ้วนระดับ 3 ร้อยละ 17 โรคอ้วนที่มีฮอร์โมนผิดปกติ (Polycystic ovarian syndrome) ร่วมด้วย ร้อยละ 20-40

เป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวปกติโอกาสเป็นโรคเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ร้อยละ 7 โรคอ้วนระดับ 1 ร้อยละ 12 โรคอ้วนระดับ 2 ร้อยละ 17 โรคอ้วนระดับ 3 ร้อยละ 22

เป็นโรคความดันโลหิตสูง และครรภ์เป็นพิษ น้ำหนักตัวปกติมีโอกาสเป็นร้อยละ 5 โรคอ้วนระดับ 1 ร้อยละ 10 โรคอ้วนระดับ 2 ร้อยละ 20 โรคอ้วนระดับ 3 ร้อยละ 40

คลอดก่อนกำหนดและเกินกำหนด แม่โรคอ้วนมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด มากกว่าแม่น้ำหนักตัวปกติ 1.3 เท่า เสี่ยงสูงขึ้นหากน้ำหนักตัวมากขึ้น มีโอกาสคลอดเกินกำหนดมากกว่าแม่น้ำหนักตัวปกติ 1.2-1.7 เท่า ภาวะทั้งสองเสี่ยงต่อทารกขาดออกซิเจน ทารกพิการทางสมองและเสียชีวิต

ลูกพิการแต่กำเนิด แม่โรคอ้วนมีโอกาสที่ลูกจะพิการสูงกว่าแม่น้ำหนักตัวปกติ 1.2-2.2 เท่า เช่น หัวใจและหลอดเลือดผิดปกติ ปากแหว่งเพดานโหว่ ทวารหนักและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Anorectal malformation) ผิดปกติ แขนขาสั้นผิดปกติ มีความผิดปกติของการปิดของท่อระบบประสาท (Neural tube defect) ได้แก่ กะโหลกศีรษะไม่ปิด (Anencephaly) มีความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida) ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) เป็นต้น

ตั้งครรภ์แฝด แม่โรคอ้วน มีโอกาสตั้งครรภ์แฝดสูงกว่าแม่น้ำหนักปกติสองเท่า เชื่อว่าฮอร์โมนระดับสูงทำให้ไข่ตกหลายใบ ครรภ์แฝดมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ การคลอดและหลังคลอดสูงกว่าปกติ

แม่คลอดยาก ปวดท้องคลอดนาน ต้องผ่าตัดคลอด แม่โรคอ้วนมีโอกาสผ่าคลอดมากกว่าน้ำหนักตัวปกติ 2-4 เท่า เพราะมีโอกาสลูกตัวโตน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม ศีรษะเด็กไม่เป็นสัดส่วนกับอุ้งเชิงกราน

เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด แม่โรคอ้วนมีโอกาสแผลฝีเย็บหรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ ระบบปัสสาวะอักเสบ ติดเชื้อระบบหายใจ หยุดหายใจเวลานอนหลับ ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด ปวดกล้ามเนื้อ ซึมเศร้าสูงกว่าแม่น้ำหนักปกติ

ลูกอ้วน เป็นความเสี่ยงระยะยาวที่เกิดจากแม่โรคอ้วน ลูกที่คลอดมามักจะมีน้ำหนักมาก เมื่อโตขึ้นก็จะอ้วนมากกว่าคนทั่วไป เชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆ ในแม่โรคอ้วน ที่ส่งผ่านให้ลูกในขณะที่อยู่ในครรภ์ ทำให้ลูกโตมามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วน

สรุป คุณแม่ขา…อย่าอ้วน!

หญิงโรคอ้วน ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน ควรลดน้ำหนักให้ใกล้เคียงปกติให้ได้ก่อนตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงในขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด หลังคลอด และความเสี่ยงต่อลูกทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะหญิงที่เป็นโรคอ้วนระดับ 2-3 ไม่ควรตั้งครรภ์ แต่หากตั้งครรภ์ขณะเป็นโรคอ้วน ควรควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นมาก แม่โรคอ้วนระดับ 1 น้ำหนักทั้งการตั้งครรภ์ ควรขึ้นไม่เกิน 7-11 กิโลกรัม โรคอ้วนระดับ 2-3 ไม่เกิน 5-8 กิโลกรัม จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้บ้าง

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image