กระจายอำนาจการศึกษา เรื่องเก่าเล่าใหม่

คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนฉบับ พ.ศ.2542 ผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 ตุลาคม 2561 เตรียมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

คณะผู้ยกร่างต่างวาดหวังกันว่ากฎหมายฉบับใหม่จะเป็นยาหม้อใหญ่ แก้วิกฤตการศึกษาไทยให้พ้นจากหล่ม กับดักทั้งหลาย ทำให้คุณภาพและโอกาสทางการศึกษามีมากขึ้น เพราะมีสาระสำคัญ 3 ข้อใหญ่ คือ ให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการบริหารจัดการศึกษา การปฏิรูปครูและการเรียนการสอน และมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ถ้ากฎหมายใช้บังคับสำเร็จ ต่อไปนี้สถานศึกษาของรัฐจะเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการศึกษาทั้ง 4 ด้านคือ การบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีสมัชชาการศึกษาระดับจังหวัดในแต่ละจังหวัดโดยการจัดตั้งไม่บังคับ ให้เป็นไปตามความพร้อมและความสมัครใจรวมตัวกันของภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและหน่วยงานของรัฐ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด

Advertisement

ครับ สาระสำคัญที่ว่าจึงเป็นที่มาของความหวัง ที่จะเกิดจากการออกแบบแนวทางปฏิรูปเชิงระบบและโครงสร้าง เป็นหลัก

แต่ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยที่มีส่วนสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ พฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลายแหล่ ยอมรับปฏิบัติตามระบบที่ออกแบบมาแค่ไหน

นี่แหละครับ ถึงมีคำเตือนใจที่ว่า กฎหมายอยู่ที่กระดาษ ความสามารถอยู่ที่คน เพราะคนเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย และปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย

Advertisement

หากศึกษากฎหมายฉบับใหม่โดยละเอียดต้องยอมรับว่าพบทั้งแนวคิด กลไก กระบวนการใหม่ๆ ซึ่งเป็นเครื่องมือเพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาการศึกษาไทยหลายอย่าง แต่ขณะเดียวก็จะพบว่าทั้งหลักการ และกลไกอีกหลายเรื่อง เคยปรากฏอยู่ในกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 มาก่อนแล้วทั้งสิ้น

ตัวอย่างเช่น การกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาและสถานศึกษา กองทุนพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา กองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ

โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหารให้ลงไปถึงสถานศึกษา อดีตที่ผ่านมาเคยก้าวหน้าไปถึงขั้นมีการออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา พ.ศ.2550 ประกาศเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 โดย นายวิจิตร ศรีสะอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กำหนดให้กระจายอำนาจทั้งด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ ด้านการบริหารงานบุคคล และด้านการบริหารทั่วไป ไปยังคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถานศึกษา

กฎหมายเขียนไว้ชัดแต่การปฏิบัติจริง เป็นอย่างไรครับ 10 ปีผ่านไป ข้อความทำนองเดียวกันถูกนำมาเขียนไว้ในกฎหมายฉบับใหม่อีกครั้ง นั่นยอมเป็นสิ่งยืนยันถึงความล้มเหลว หรือย่อหย่อนการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

ฉะนั้นประเด็นปัญหาจึงไม่ใช่กฎหมายไม่มี หรือกฎหมายล้าสมัย แต่ผู้รับผิดชอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ

สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการฝ่าฝืน เพราะกฎหมายขาดสภาพบังคับ ไม่มีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตาม

ขณะเดียวกัน กลไก กระบวนการ ติดตาม ควบคุม ตรวจสอบ กำกับ อ่อนแอทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการประจำ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองขาดความต่อเนื่อง เปลี่ยนแปลงบ่อย

ทำให้รากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงยังดำรงอยู่อย่างเหนียวแน่น คือการรวบศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนบนและส่วนกลาง จนกลายเป็นวัฒนธรรมอำนาจ แก่นแท้ของระบบราชการ ซึ่งแข็งตัว เน้นการสั่งการแนวดิ่งมากกว่าแนบราบ

กฎหมายการศึกษาฉบับใหม่จึงออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพบังคับ เสพติดอำนาจ และไร้ประสิทธิภาพของผู้ปฏิบัติ ด้วยการฝากความหวังไว้ที่กลไกระดับบนคือคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา

โดยมีกลไกที่เกิดขึ้นใหม่คือสมัชชาการศึกษาจังหวัด ที่มีภาคประชาชน ประชาสังคม และเอกชน ร่วมอยู่ด้วยเป็นตัวช่วย แต่ให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมและสมัครใจของแต่ละจังหวัด

แสดงว่า มีก็ได้ถ้าพร้อม ไม่มีก็ได้ถ้าไม่พร้อม

เมื่อเป็นเช่นนี้ กลไกที่จะช่วย ติดตาม กำกับ ให้เกิดการกระจายอำนาจการบริหารลงไปยังสถานศึกษาอย่างแท้จริง เป็นจริง เมื่อไหร่ ใครเป็นผู้วัดความพร้อม จะต้องกำหนดหลักการและหลักเกณฑ์ ตัวบ่งชี้ความพร้อมกันอีกนานเท่าไหร่

ระหว่างรอที่จะเริ่มต้นกลไก และกระบวนการใหม่นี้ ซึ่งภาคประชาสังคมหลายจังหวัดเดินหน้าไปไกลแล้ว เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น สิ่งที่ควรทำและทำได้เลย ทำทันที ให้เห็นผลกันจริงๆ ก่อน คือ ทำให้กรรมการสถานศึกษามีบทบาทอย่างที่สมควรจะเป็น ไม่ใช่เป็นเพียงไม้ประดับ เพราะผู้บริหารสถานศึกษาคอยฟังผู้บังคับบัญชาเบื้องบน ที่มีผลต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการของตนมากกว่า

สมัชชาการศึกษาจังหวัด ซึ่งในอนาคตอาจพัฒนาเป็นสหพันธ์สมัชชาการศึกษาจังหวัด ไม่เพียงแต่คอยติดตามกำกับการศึกษาในแต่ละจังหวัดเท่านั้น แต่ต้องกำกับการปฏิบัติของกลไกระดับชาติตั้งแต่กรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติและกรรมการระดับรองลงไปอีกทั้ง 4 คณะ อย่างเข้มแข็งและเข้มข้น ไปพร้อมกันทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image