ยึดรัฐ ยึดสังคม : โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

กว่า 21 ล้านวิวแล้ว สำหรับแร็พ “ประเทศกูมี” ตอนที่เขียนบทความนี้

ผมรู้สึกยินดีมาก ไม่ใช่เพราะสะใจ เนื่องจากกว่า 4 ปีที่ผ่านมา มีแต่เรื่องให้สะใจตลอดมาอยู่แล้ว แต่ยินดีเพราะ 21 ล้านวิวเป็นประจักษ์พยานอย่างชัดเจนว่า มี “สังคม” ในเมืองไทย ซึ่งแยกและแตกต่างจาก “รัฐ” อย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะให้หารด้วย 4 หรือ 3 หรือ 2 เพราะถูกชมซ้ำหรือชมเพื่อเร้าความโกรธต่อคณะแร็พของตนเอง ที่เหลืออยู่ก็ยังเป็นสถิติที่สูงมากสำหรับคนไทย ซึ่งมีความคิดเห็นและความใฝ่ฝันทางการเมืองที่แตกต่างจาก “รัฐ” อย่างสุดขั้ว

รัฐและสังคมเป็นสองสิ่งที่นักวิชาการตะวันตกเห็นว่ามีปฏิสัมพันธ์กันตลอดมา นักรัฐศาสตร์ไทยบางท่านพูดว่าในโลกเสรีประชาธิปไตยตะวันตก สังคม “ล้อม” รัฐ (กำกับควบคุม) แต่ในสังคมไทย รัฐกลับเป็นผู้ “ล้อม” สังคมไว้ จนกระทั่งเจตจำนงใดๆ ของสังคมไม่สะท้อนออกมาในรัฐเอาเลย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ยังมีนักวิชาการตะวันตกในรุ่นหลังอีกไม่น้อยที่เห็นว่า ในเอเชีย รัฐและสังคมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จะแยกออกจากกันไม่ได้ โดยรัฐ (ขอนิยามว่าคือกลุ่มบุคคลที่แย่งและถืออำนาจระดับต่างๆ ในนามของรัฐ) เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดความเป็นไปของสังคม หรือ “ล้อม” รัฐไว้เสมอ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมจึงค่อนข้างเป็นไปในทางเดียว นั่นคือรัฐเป็นฝ่ายบอกให้สังคมทำอะไรหรือไม่ทำอะไร

ประเทศที่ถูกยกเป็นตัวอย่างอยู่เสมอคือสิงคโปร์ นับตั้งแต่เป็นเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ รัฐกำกับสังคมไปทุกด้าน จนถึงรายละเอียดการใช้ชีวิตของผู้คน นับตั้งแต่หมากฝรั่ง ที่ฉี่อันเหมาะสม เพลงที่ควรฟัง หนังสือที่ควรอ่าน ไปจนถึงควรพูดกันด้วยภาษาอะไร ความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐ ซึ่งโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง ก็ไม่ทำให้รัฐเลิก “ล้อม” สังคมไว้อย่างรัดกุมมิดชิดเหมือนเดิม

เช่นเดียวกับจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว ก็ยังใช้เงินและความรู้ทางเทคโนโลยีของตนในการอุดรูรั่วซึ่งโลกดิจิทัลเจาะเอาไว้ จนเกือบไม่เหลืออยู่เลย “ล้อม” สังคมไว้ภายใต้การกำกับควบคุมของรัฐอย่างทั่วถึง แม้จะปล่อยเสรีทางด้านชีวิตส่วนตัวมากขึ้น แต่ปฏิบัติการของบุคคลจะเป็นปฏิบัติการทางสังคมไม่ได้เป็นอันขาด จนกว่ารัฐจะบอกว่า “เห่า” (ทำได้)

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ผม “รู้สึก” ว่า (คือไม่กล้าใช้คำว่า “คิด”) สังคมเอเชียโตขึ้น และเริ่มมีอำนาจต่อรองกับรัฐมากขึ้น แม้ยังไม่สามารถ “ล้อม” รัฐได้ก็ตาม

ไม่ว่าเราซึ่งเป็นคนนอกจะผิดหวังกับออง ซาน ซูจี อย่างไร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อพม่ามีเสรีภาพมากขึ้น คนพม่ามีสิทธิในการเคลื่อนไหวทางสังคมมากขึ้นโดยไม่ต้องกลัวการสังหารหมู่ จะเต้นแร็พเต้นร็อกก็ทำได้โดยรัฐไม่ห้าม แม้แต่ที่สามารถฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาได้ ก็ (ว่ากันว่า) รัฐ โดยเฉพาะกองทัพ ได้รณรงค์ในหมู่ชาวพม่าให้เกลียดชังมุสลิมโรฮีนจามาก่อน เท่ากับว่ารัฐเอาสังคมเป็นพันธมิตร ไม่ใช่เป็นเบี้ยล้อมขุนเพียงอย่างเดียว

ไม่จำเป็นต้องพูดถึงเกาหลีใต้, มาเลเซีย, ตุรกี, อินเดีย หรือแม้แต่จีน ที่บางกลุ่มในสังคมลุกขึ้นมาแสดงทัศนคติทางการเมืองซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐ แม้เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่กลับได้รับความสนใจในสังคมอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ถูกปิดกั้นข่าวสารข้อมูลมาก

สิงคโปร์ซึ่งถูกยกเป็นตัวอย่างว่ารัฐและสังคมไม่แยกจากกันอาจเป็นข้อยกเว้น เพราะรัฐประสบความสำเร็จในหลายด้านเสียจนผู้คนไม่อยากรู้สึกแปลกแยกจากรัฐ

ไม่ต่างจากประเทศเอเชียอื่นๆ สังคมของประเทศไทยก็โตขึ้นในรัฐเหมือนกัน

เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นนายกฯครั้งแรก รัฐไทยสั่งให้สังคมแต่งตัวอย่างไร, พึงมีความสัมพันธ์ระหว่างหญิง-ชายในครอบครัวอย่างไร, ควรเคี้ยวหมากหรือไม่, ใช้สรรพนามภาษาไทยอย่างไร และสะกดคำในภาษาไทยอย่างไร ฯลฯ จนดูเหมือนไม่มีสังคมอยู่ในประเทศไทยขณะนั้นเลย

สถานการณ์เช่นนั้นดำรงสืบมาจนถึงสมัยสฤษดิ์-ถนอม แม้ไม่ลงรายละเอียดเท่า แต่รัฐก็กำกับสังคมอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่อย่านั่งกินกาแฟแล้วล้อมวงคุยกันนานเกินไป ห้ามเผยแพร่ข่าวที่เกี่ยวกับไทยบางเรื่องจากสำนักข่าวต่างประเทศ ห้ามชายหนุ่มไว้ผมยาว ฯลฯ

แต่สังคมไทยก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ โดยรัฐไม่ทันรู้สึกตัว เผด็จการที่จะครองอำนาจได้หลัง 14 ตุลา ต้องแสวงหาการยอมรับจากสังคมด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่สร้างความเป็นอริกับสังคมจนเกินไป แม้ว่าผู้มีอำนาจทางการเมืองหลายกลุ่มได้ตกลงจัดวางอำนาจกันมาอย่างลงตัวแล้วก็ตาม

รัฐบาลเผด็จการหลัง 14 ตุลา ที่คิดว่าจะสามารถย้อนกลับไปสู่ช่วงที่รัฐยังสามารถคุมสังคมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การบังคับกำกับสังคมอย่างเคร่งครัด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมกลายเป็นความเครียด บางฝ่ายในชนชั้นนำเองรู้สึกเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชนชั้นนำ จึงก่อรัฐประหารเพื่อเปลี่ยนนโยบาย ผ่อนปรนให้สังคมได้ขยับเขยื้อนอย่างอิสระจากรัฐมากขึ้น

รัฐบาลกึ่งเผด็จการที่ต้องอาศัยกองทัพหนุนหลัง เริ่มเรียนรู้ที่จะ “บริหาร” สังคมควบคู่กันไปกับรัฐ

รัฐประหารของกองทัพใน 2534 และ 2549 ก็เช่นเดียวกัน แม้เข้ายึดรัฐได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คณะรัฐประหารก็รู้ดีว่าจำเป็นต้องแสวงหาการยอมรับของสังคมควบคู่ไปด้วย

แต่การยึดรัฐของ คสช.ใน พ.ศ.2557 คิดทวนกระแส โดยอาศัยความแตกแยกที่ร้าวลึกของสังคม คสช.คิดจะยึดสังคมไว้พร้อมกัน แม้ว่าสังคมที่แตกแยกอาจต่อรองกับรัฐได้น้อยลงก็จริง แต่ก็ไม่ได้เพิ่มอำนาจรัฐในการกำกับควบคุมสังคมสักกี่มากน้อย

แม้ว่ากลุ่มนกหวีดสนับสนุนการรัฐประหารมาแต่ต้น และพร้อมจะสนับสนุน คสช.ตั้งแต่วันแรกที่ยึดอำนาจ แต่นี่คือกลุ่มที่มีความคาดหวังกับ คสช.สูง ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่ผิดหวังกับ คสช.เร็วและมากกว่ากลุ่มตรงข้าม ซึ่งไม่มีความหวังอะไรกับ คสช.อยู่แล้ว อันที่จริงกลุ่มนกหวีดไม่ได้หวังว่า จะปล่อยให้รัฐ คสช.กำกับควบคุมและนำตนไปสู่ความคาดหวังแต่เพียงลำพัง ยังหวังว่าตนจะเป็นพลังหลักฝ่ายสังคม ที่คอยกำกับและเสนอแนะรัฐ คสช.ให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ตนใฝ่ฝันด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยเป็นผู้นำนกหวีด

ในบรรดาคนที่ “นกหวีดติดคอ” ทั้งหมด คงไม่มีใครที่ติดคออย่างแรงเท่ากับ คสช. เพราะ คสช.ไม่เคยมีจินตนาการถึงการแบ่งอำนาจระหว่างรัฐและสังคมเอาเลย คิดแต่รัฐในฐานะผู้นำที่เด็ดขาดฝ่ายเดียว ฉะนั้นแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนตนก็มีหน้าที่เพียงส่งเสียงเชียร์เท่านั้น ไม่พึงเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐที่ถูกยึดไปแล้วมากไปกว่าที่ คสช.จัดให้

แต่จินตนาการเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมที่โตแล้ว แม้ว่าเป็นสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างผู้สนับสนุนหรือผู้คัดค้านการยึดรัฐ ก็ล้วนเป็นสังคมที่ “โตแล้ว” ทั้งนั้น จึงไม่พร้อมจะปล่อยให้รัฐเป็นฝ่ายนำอย่างมืดบอดดังสมัยที่สังคมยังเยาว์หรือยังไม่เกิด

แม้แต่การยึดรัฐใน 2549 และ 2557 ทำได้สำเร็จ ก็ไม่ใช่เพราะกำลังทหารอย่างเดียว ต้องอาศัยการเคลื่อนไหวของสังคมเป็นแรงหนุนอยู่นานพอสมควร ก่อนจะเคลื่อนกำลังออกมายึดรัฐได้

สมัยหนึ่ง การยึดรัฐเป็นเรื่องที่ชนชั้นนำตัดสินใจกันเอง เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน นั่นคือเป็นเรื่องที่จำกัดอยู่แต่เฉพาะรัฐเท่านั้น แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา สังคมเริ่มมีบทบาท “ยินยอม” หรือไม่มากขึ้น หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การยึดรัฐกลายเป็นเรื่องที่สังคมต้องเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น

มีแล้วจะให้ถอยกลับไปแค่ยินยอมเฉยๆ ไม่ได้อีกแล้ว รถไฟความเร็วปานกลาง, รางคู่, เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ทวงคืนผืนป่า, เรือดำน้ำ, นาฬิกาหรู ฯลฯ ล้วนแล่นไม่ค่อยไป เพราะติดหล่มสังคมทั้งกลุ่มนกหวีดและกลุ่มตรงข้าม จนทำให้รัฐ คสช.ต้องยอมให้เพลงแร็พ “ประเทศกูมี” โด่งดังยิ่งกว่าทุกเพลงที่ คสช.สู้แต่งทำนองเนื้อร้องมาเปล่งผ่าน “ปาก” ของรัฐ

การยึดรัฐด้วยวิธีรัฐประหารอาจทำได้ยากขึ้น ไม่ใช่เพราะอุปสรรคด้านการทหาร แต่เพราะสังคมกลายมาเป็น “ผู้เล่น” ในเกมด้วย ทำให้การรัฐประหารทำได้ยากขึ้น อีกทั้งอาจไม่ตอบโจทย์ของชนชั้นนำได้อย่างหมดจดอีกแล้ว ผู้นำการรัฐประหารจึงไม่ใช่ผู้บัญชาการกองทัพ แต่ต้องเป็นคนที่ยึดสังคมได้ก่อน จึงอาจยึดรัฐได้ คนที่เก่งและชาญฉลาดขนาดนี้ ทั้งต้องอยู่ในฐานะที่อาจใช้คุณสมบัติข้อนี้ของตน ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในทุกประเทศ

ด้วยเหตุดังนั้น ในอนาคตการยึดรัฐด้วยรัฐประหารจึงทำได้ยากขึ้น ถึงยึดได้ ก็ยากที่จะรักษาอำนาจไว้ได้นานนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image