‘ไอโอที’ กับความปลอดภัย : โดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์

เราพูดถึง “ไอโอที” กันอยู่บ่อยๆ พูดถึงสรรพสิ่งทั้งหลายที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อเข้ากับอินเตอร์เน็ต เชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน เพราะความสามารถของชิปคอมพิวเตอร์เล็กๆ

พูดถึงกันมากว่าชีวิตในยุคดิจิทัล จะสะดวกสบาย ทันสมัยกันอย่างไร ภายใต้การเชื่อมต่อไร้สิ้นสุดนี้

แง่หนึ่งที่เราไม่ค่อยพูดถึงกัน เมื่อพูดถึง “ไอโอที” ก็คือเรื่องของ “ความปลอดภัย” เรื่องของ “ซีเคียวริตี้” ครับ

ว่ากันว่า ทุกวันนี้มีอุปกรณ์ที่จัดว่าเป็นไอโอที คือสามารถเชื่อมต่อสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นๆ ได้ผ่านอินเตอร์เน็ตอยู่มากนับเป็นหลายพันล้านชิ้น

Advertisement

ไม่รู้ว่าจะเป็นการพูดให้ฟังดู “เว่อร์ๆ” เข้าไว้ก่อนหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ ก็คือ อุปกรณ์ไอโอทีทุกวันนี้มากมายจริงๆ

ผมหลับตาเห็นภาพ “บางคน” ก่อนหย่อนก้นลงกับโต๊ะทำงานตอนเช้า ควักสารพัดสมาร์ทโฟนมาเรียงไว้ตรงหน้า 3-4 เครื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นเชื่อมต่ออยู่ตลอดเวลากับกล้องไอพี คาเมร่า สำหรับรักษาความปลอดภัย สำหรับดูว่า เกิดเหตุอะไรขึ้นที่บ้าน หรือที่โรงงานหรือไม่

ข้อมือด้านซ้ายสวมสมาร์ทวอตช์ ข้างขวาเป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจจับชีพจร เผื่อไว้ตอนออกกำลังกายช่วงบ่ายคล้อย

Advertisement

นี่ยังไม่นับในรถที่ขับมาทำงาน ติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) พร้อมกับระบบอินเตอร์เน็ตไร้สาย ไว้สำหรับนำทาง แล้วก็ให้บริการบันเทิง รับรู้ข่าวสารไปในตัว

ที่บ้านยังมีสมาร์ทฮับ สำหรับทำหน้าที่เปิดไฟส่องสว่างได้ทั่วบริเวณจากที่ทำงาน เปิดแอร์ไว้ให้เย็นฉ่ำก่อนกลับไปถึง ประตูติดตั้งล็อกดิจิทัล และ ฯลฯ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่เราไม่พูดถึงกันเลยก็คือ ในขณะที่บรรดาผู้ผลิตทั้งหลายพากันเค้นสมองระดมสรรพสิ่งที่ชาญฉลาดออกมาให้เราเลือกซื้อหากันมากมาย และด้วยความรวดเร็วอย่างน่าทึ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ถูกสตางค์ลงไปเรื่อยๆ ใช้งานง่ายขึ้นเรื่อยๆ นั้น

ทั้งหมดแฝงความเสี่ยงติดมาให้กับเราด้วยเช่นกัน

เหตุผลเป็นเพราะ “ความปลอดภัยทางไซเบอร์” คือสิ่งสุดท้ายที่บรรดาผู้ผลิตจะคิดถึง เนื่องจากไม่เพียงทำให้ราคาแพงขึ้น ยังยุ่งยากและทำให้การผลิตช้าลง ไม่ทันคู่แข่งอีกต่างหาก

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้กลายเป็นช่องโหว่ชั้นดีให้บรรดาผู้ประสงค์ร้ายทั้งหลายแอบเข้ามา “ง่ายๆ” แล้วใช้มันเป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ได้ในพริบตา

ที่ว่ามานี้ไม่ใช่เรื่องสมมุติ หรือเรื่องที่ “อาจเป็นไปได้” นะครับ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆ เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคมปลายปี 2016 ที่ผ่านมา ที่มีคนปล่อยมัลแวร์ “มิราอิ บอทเน็ต” ออกมาอาละวาด ก็โดยอาศัยอุปกรณ์ ไอโอที นับล้านใช้วิธี “ดีดีเอส” (ดิสทริบิวท์ ดีไนอัล ออฟ เซอร์วิส) โจมตี ดีเอ็นเอส เซอร์วิสโพรไวเดอร์ ส่งผลให้เว็บไซต์จำนวนมากใช้งานไม่ได้ รวมทั้งทวิตเตอร์ เน็ตฟลิกซ์ และ แอร์บีเอ็นบี

“มิราอิ” ที่ใช้ ไอโอที เป็นเครื่องมือเหมือนกันที่ถล่ม “โอวีเอช” ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในฝรั่งเศสจนอินเตอร์เน็ตใช้งานไม่ได้ไปครึ่งประเทศ ในช่วงนั้น

ล่าสุด เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี่เอง ยังคงมีคนตรวจพบ “มิราอิ” อยู่อีก คราวนี้ไปอยู่ในอุปกรณ์แอนดรอยด์ครับ

ใครว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับตัวเอง ขอให้คิดใหม่ดู

ตัวอย่างง่ายๆ ที่ผมมักหยิบขึ้นมาบอกเล่าให้หลายคนฟังเพื่อตระหนักในเรื่องนี้ก็คือ คำถามที่ว่า เราจะรู้สึกอย่างไรถ้าหากว่า กล้องวงจรปิดที่ควบคุมผ่านระบบไอพีที่เราติดตั้งไว้ทั่วบ้านนั่นน่ะ แทนที่เราจะได้เห็นภาพจากกล้องเพียงคนเดียว หรือเพียงแค่ไม่กี่คนที่เป็นสมาชิกในบ้าน มันกลับไปโผล่อยู่บนอินเตอร์เน็ตที่ไหนสักแห่ง เห็นกันได้ทั่วโลก?

หรือไปโผล่อยู่ในมือของคนร้าย ที่จ้องตาเป็นมัน รอจังหวะปลอดคนเข้าไปปฏิบัติการ?

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ว่า ทำไมหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) อย่าง “ยูโรโพล” และหน่วยงานเพื่อความปลอดภัยด้านสารสนเทศและเครือข่ายของอียูถึงได้จัดประชุมใหญ่เมื่อปลายเดือนตุลาคม ถกกันอย่างเคร่งเครียดหาทางรับมือกับความปลอดภัยของไอโอที

ผลลัพธ์มีข้อเสนอแนะอย่างไร สัปดาห์หน้า ขออนุญาตเล่าสู่กันฟังต่ออีกสักตอนครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image