เรื่องที่ท่านอยากรู้แต่ไม่กล้าถาม : กล้า สมุทวณิช

เคยเขียนไว้หลายต่อหลายที่ว่า คุณประโยชน์อย่างหนึ่งของวิกฤตการเมืองที่กินเวลายาวนานนับสองทศวรรษนี้ มีข้อดีคือทำให้หลักการทางวิชาการและคำศัพท์หลายคำที่เคยปรากฏแค่ในตำราเรียนนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และรัฐธรรมนูญนั้น กลายเป็นถ้อยคำที่พูดกันทั่วไปในสาธารณะ

เช่นก่อนหน้านี้ก็อย่างคำว่า “อำนาจปฐมสถาปนา” หรือ “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ไม่ก็ทับศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า Pouvoir Constituant

สำหรับคำล่าสุดที่เพิ่งมาฮิตในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ Gerrymandering และ Gerrymander ที่เป็นศัพท์ที่คนที่ลงเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ว่าในทางนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์จะต้องผ่านตา แม้ว่าจะไม่เคยมีกรณีที่ศึกษาที่ชัดเจนมากนักในประเทศไทย

ตำนานของศัพท์คำนี้มาจากครั้งหนึ่งในปี 1912 หรือ พ.ศ.2455 เอลบริดจ์ เจอร์รี ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ ได้ทำการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบพิสดารเพื่อขีดวงให้ฐานเสียงของพรรคตนเป็นเสียงข้างมากของแต่ละเขต แต่การขีดเส้นดังกล่าวนั้นจะต้องคดเคี้ยวเลี้ยวหลบให้พื้นที่ซึ่งมีฐานเสียงของตนอาศัยอยู่นั้นรวมตัวกันให้มากที่สุด เมื่อมองในแผนที่ จึงปรากฏเป็นร่องรอยยึกยือ เหมือนตัวซาลาแมนเดอร์ (ซึ่งในที่นี้หมายถึงสัตว์ในจินตนาการที่ชื่อและรูปร่างพ้องกับสัตว์ชื่อเดียวกันนี้ที่เป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกที่มีอยู่จริง)

Advertisement

ชื่อของคุณเจอร์รีจึงได้รับการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์แห่งความลดเลี้ยวซึ่งผู้ร่วมสกุลคงจะไม่ภูมิใจเท่าใดนัก

วิธีการแบบเจอร์รีแมนเดอร์ริ่งนั้นสามารถบิดเบือนผลการเลือกตั้งได้ จากตัวอย่างที่นิยมใช้อธิบายกัน คือ เขตเลือกตั้งที่มี ส.ส.ได้ 5 คน มีประชากร 500 คนพอดี ประชากร 300 คนเลือกพรรคสีแดง อีก 200 คนที่เหลือเลือกพรรคสีน้ำเงิน การทำเจอร์รีแมนเดอร์ริ่งสามารถบิดเบือนให้ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นว่า พรรคสีแดงชนะรวด 5 ที่นั่ง หรือพรรคสีน้ำเงินชนะพรรคสีแดง 3 จาก 2 ที่นั่งเลยก็ได้

ส่วนจะทำได้อย่างไรในเชิงวิธีการนั้น แนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การแบ่งเขตเลือกตั้ง… ทำไมถึงไม่เสร็จเสียที ของอาจารย์ณัชชาภัทร อมรกุล นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้าได้ ซึ่งเป็นบทความที่อธิบายได้ละเอียดเข้าใจง่ายจริงๆ

Advertisement

ทั้งๆ ที่สิ่งหนึ่งที่ผู้ร่างอ้างอวดว่าเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ซึ่งส่วนตัวก็ค่อนข้างเห็นด้วย) คือระบบเลือกตั้งบัญชีรายชื่อแบบสัดส่วนที่เชื่อว่าสามารถสะท้อนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศออกมาเป็นจำนวนผู้แทนราษฎรได้ใกล้เคียงที่สุด

นั่นคือ สมมุติว่า ในสภามี ส.ส.ได้ 500 คน มีผู้มาใช้สิทธิและลงคะแนนตีกลมๆ ว่า 32 ล้านเสียง พรรคที่ชนะได้เสียงไป 16 ล้านเสียง พรรครองลงมาได้ 11 ล้านเสียง ดังนั้น พรรคที่ชนะคิดเป็น 50% ก็ควรมีที่นั่งในสภา 250 ที่นั่ง ส่วนพรรครองได้ราว 34% ก็ได้ 170 เสียง ตามนี้ แต่ในการเลือกตั้งระบบเดิมที่ใช้ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านั้นสองฉบับที่มีผลบังคับมายี่สิบปีนั้น ผู้ชนะจะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภามากกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้ต่อผู้ออกเสียงอยู่พอสมควร เพราะเท่ากับว่า ยิ่งชนะ ส.ส.เขต ก็จะชนะในระบบบัญชีรายชื่อเข้ามาเติมให้ชนะขาดลอยเข้าไปอีก

การเลือกตั้งระบบใหม่จึงมีการกันที่นั่งระบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเอาไว้ 150 ที่นั่งเพื่อไปชดเชยให้แก่พรรคที่ยังได้คะแนนเสียง ส.ส.เขตไม่ถึงสัดส่วนของผู้มาออกเสียงทั้งหมดทั่วประเทศ

รายละเอียดของเรื่องนี้ อาจหาอ่านได้จากบทความและทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการด้านการเลือกตั้งได้ไม่ยากนัก

จึงออกจะแปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ไฉนเมื่อรัฐธรรมนูญได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ “สะท้อน” เสียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาเป็นจำนวนที่นั่งในสภามากที่สุด แต่กลับกลายเป็นว่าผู้คนในสังคมต่างกังขาว่า เมื่อมาถึงชั้นปฏิบัติเสียแล้ว จะมีการใช้กลไกวิธีที่ทำให้เสียงของประชาชนที่ไปลงคะแนนนั้นสะท้อนออกมาบิดเบี้ยวไปเสียอย่างนั้น

นั่นก็เพราะความไม่ชัดเจนหลายอย่าง ซึ่งแม้จะฟันธงไม่ได้ว่าจะมีการบิดเบือนเฉไฉหรือไม่ แต่ข้อแก้ตัวที่ไม่เข้าท่าและฟังไม่ขึ้นว่าทำไมการแบ่งเขตเลือกตั้งจึงไม่เสร็จเสียที พาให้ผู้คนนึกไปถึงข้อแก้ตัวแบบขอไปทีของ “ผู้มีอำนาจ” รัฐ หรือองค์กรอิสระที่ถ้าเมื่อไรที่คำตอบออกมาแปลกๆ เช่นยังไม่ได้รับใบเสร็จหรือเอกสารจากผู้นำเข้านาฬิกาหรู ก็มักจะทำใจไว้ล่วงหน้าว่าเรื่องนี้ถ้าจะจบยาก และเกรงกันไปล่วงหน้าว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้ก็จะตกอีหรอบเดียวกัน

อนึ่ง เท่าที่ศึกษา คำว่า Gerrymandering นั้นยังไม่มีคำแปลอย่างเป็นทางการในภาษาไทย ในทางตำราเรามักเรียกทับศัพท์กัน แต่ถ้าใครอยากลองเป็นตำนานเหมือนคุณเอลบริดจ์ จะลองทำดูก็ได้ เผื่อเราจะได้คำเรียกวิธีการฉ้อฉลในการแบ่งเขตเลือกตั้งนี้เป็นภาษาไทย ด้วยนามสกุลของท่าน กับชื่อสัตว์สักชนิด อาจจะเป็นเต่างอย (เติมนามสกุล) อะไรอย่างนี้

เราจึงพอจะมองโลกในแง่ดีได้ว่า ท่านผู้มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการการเลือกตั้ง คงจะไม่เอาชื่อเสียงของวงตระกูลไปเสี่ยงให้ปรากฏในตำราเรียนวิชากฎหมายเลือกตั้งไปชั่วกัปชั่วกัลป์อย่างนั้นแน่

ทั้งแม้ว่าจะมีผู้หยามเย้ยไยไพเรื่องการเลือกตั้งต่างๆ นานา เช่นว่าการเลือกตั้งนั้นไม่สะท้อนความต้องการประชาชนที่แท้จริงได้ เพราะมีการขายสิทธิซื้อเสียง คะแนนเสียงที่ออกมาจึงเป็นเพียงตัวแทนของจำนวนเม็ดเงินกระสุนที่นายทุนการเมืองยิงหว่านออกไป

หากเมื่อหลายๆ อย่างพิสูจน์ ทั้งที่มีผลการวิจัยเป็นทางการหรือจากผลการเลือกตั้งว่า ลำพังเพียงปัจจัยกระสุนเงินนั้นไม่อาจชี้ขาดผลการเลือกตั้งได้อย่างเบ็ดเสร็จเสมอไป ข้อโต้แย้งก็ออกมาในทำนองว่า เสียงข้างมากไม่ได้แปลว่าเป็นเสียงที่มีคุณภาพ หรือประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมีความรู้อะไรกับเรื่องประชาธิปไตยและการเลือกตั้งอย่างนั้นหรือ

แต่ข้อโต้แย้งเหล่านั้นก็หาอาจปฏิเสธข้อเท็จจริงได้ว่า ไม่มีอำนาจใดจะมีความชอบธรรม ไปกว่าอำนาจที่อ้างได้ว่ามาจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐประเทศนั้นมอบให้

และก็ไม่มีวิธีอื่นใดเท่าที่ปรากฏในรูปแบบการปกครองทั้งหลายในโลกนี้ ที่จะสามารถหยั่งชี้ฉันทามติหรือเจตนารมณ์ของผู้คนในประเทศไปได้ดีกว่าการเลือกตั้ง ยิ่งการเลือกตั้งนั้นเข้าใกล้องค์ประกอบที่ถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ชอบธรรมยอมรับได้ ได้แก่การเลือกตั้งเป็นการทั่วไป โดยตรง และโดยลับ มากเท่าไร การเลือกตั้งนั้นย่อมทรงพลังอำนาจในการเป็นฐานรองความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจรัฐได้เช่นนั้น

อาจจะมีผู้นำในระบอบเผด็จการที่ใช้การเลือกตั้งในระบบปิดเป็นข้ออ้างในการเข้าสู่อำนาจ (เช่นมีผู้สมัครรับเลือกตั้งอยู่สามคน คนหนึ่งสนับสนุนท่านผู้นำ คนที่สองเห็นด้วยกับท่านผู้นำ ส่วนคนที่สามนั้นเชื่อมั่นในท่านผู้นำ) แต่การเลือกตั้งปาหี่นั้นอาจจะใช้หลอกอ้างคนในประเทศได้ หรือไม่สนใจว่าชาวโลกจะคิดจะมองอย่างไรก็ย่อมได้ แต่ก็หลอกตัวเองได้ยากว่า ตัวเองมีอำนาจอยู่นี้ได้นั้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

เช่นนี้ท่านผู้นำที่ใจไม่ด้านพอขนาดนั้น ก็อยากที่จะได้ชัยในเวทีเลือกตั้ง หากรู้อยู่ว่าตัวเองนั้นได้รับความนิยมของประชาชนมากก็คงพร้อมปล่อยให้เลือกตั้งกันสบายๆ แต่ถ้าใครไม่ค่อยมั่นใจว่าประชาชนจะสนับสนุนอยู่หรือไม่ ก็อาจจะใช้วิธีการตุกติกหรือความได้เปรียบของอำนาจรัฐด้วยวิธีการต่างๆ ตามแต่ว่าใครจะทนทานต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดีระดับไหน เกมกลของการเลือกตั้งที่เลือกมาใช้ก็จะสะท้อนถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ท่านไม่ต้องสงสัยหรอก ว่าคนตัดหญ้าในสนามแถวที่ทำงานท่านนั้นจะมีความรู้เรื่องประชาธิปไตยแค่ไหน หรือชาวไร่ชาวนาจะรู้หรือไม่ว่าต้องพิจารณาอย่างไรจึงจะเลือกคนดีเข้าสภา เพราะสำหรับผู้ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบัน คำตอบที่ประชาชนจะให้ในการเลือกตั้งนั้นแสนจะเรียบง่าย คือหากเขารู้สึกพอจะตัดสินใจได้ว่าจะให้ท่านไปต่อในเวทีแห่งการใช้อำนาจหรือไม่ เพียงเท่านี้ก็มีคุณสมบัติพอที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้แล้ว

ซึ่งแม้แต่ในประเทศที่เป็นอารยะ การยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะถามประชาชนว่า ยังพอใจกับรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่นั้นหรือไม่ ก็เป็นวิธีการที่มีการทำอยู่เป็นปกติ เมื่อต้องประสงค์การชี้ขาดในความขัดแย้งทางการเมือง

สภาพของผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่เหมือนใจหนึ่งก็พร้อมจะให้มีการเลือกตั้ง กระตือรือร้น เตรียมตัวอย่างดีที่จะลงสนาม ดำเนินนโยบายรัฐเอาใจผู้คน แต่ในอีกทางหนึ่งก็เหมือนจะไม่มีความชัดเจนแน่ชัดว่าตกลงจะมีการเลือกตั้งจริงภายใต้กำหนดระยะเวลาหรือไม่ ชวนให้นึกถึงเพลงที่เคยฮิตมากในช่วงปี 2552 ที่อาจจะเรียกว่าเป็นเพลงชาติของนักแอบรักก็ว่าได้

เพลงนั้นมีชื่อว่า “อยากรู้แต่ไม่อยากถาม” ของแคลอรี่ส์ บลาห์ บลาห์ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่าน นั่นคือความรู้สึกที่ไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรกับเรา ซึ่งแค่ถามไปตรงๆ ได้รับคำตอบก็จบแล้ว แต่ก็ไม่กล้าที่จะถาม ขอจมอยู่กับความไม่แน่นอนชัดเจนเช่นนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาสถานะคลุมเครือของตัวเองต่อไปดีกว่า

เพราะถ้าถามไปแล้วคำตอบที่ได้นั้น กลัวรับมันไม่ไหว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image