มาตรามหากาฬของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 : โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

เมื่อวานนี้ผู้เขียนเข้าสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญให้กับนักศึกษาในช่วงบ่าย ระหว่างที่อยู่ในช่วงถามตอบกันอยู่นั้นก็มีนักศึกษาชายคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า

“ผมได้อ่านบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ของบ้านเราตามที่อาจารย์แนะนำให้อ่านเพราะว่ารัฐธรรมนูญจะเขียนดีวิเศษอย่างไรก็ตามมักจะมีการลบล้างส่วนที่ดีวิเศษนั้นออกเกือบหมดโดยบทเฉพาะกาลนี่แหละ ซึ่งผมก็เห็นพ้องกับที่อาจารย์ แต่เมื่อผมอ่านมาตรา 279 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้ายในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 แล้วรู้สึกว่ามาตรานี้เป็นมาตรามหากาฬจริงๆ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจะมีคนกล้าเขียนออกมาอย่างนี้จริงๆ เท่าที่ผมอ่านบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับแล้วต้องยอมรับว่ามาตรา 279 เป็นมาตราที่เป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นั่นเป็นมาตรามหากาฬจริงๆ”

พอนักศึกษาผู้นั้นพูดจบก็เกิดเสียงฮือฮาขึ้นในชั้นเรียนแบบว่าประหลาดใจกับชอบอกชอบใจกับสำบัดสำนวนของเพื่อนนักศึกษาที่พูดว่า มาตรามหากาฬนั่นเอง ผู้เขียนจึงนำเอามาตรามหากาฬตามที่นักศึกษาผู้นั้นอ้างถึงขึ้นจอหน้าห้องบรรยายดังนี้

“มาตรา 279

Advertisement

บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่มีผลใช้บังคับ ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น เป็นประกาศ คำสั่ง การกระทำ หรือการปฏิบัติ ที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก หรือแก้ไขเพิ่มเติมประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่ง ที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี

บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย”

เมื่อเอามาตรา 279 อันเป็นมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ขึ้นจอหน้าชั้นเรียนแล้วก็มีการวิเคราะห์วิจารณ์ตามสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นพ้องกับฉายาที่ถูกตั้งขึ้นโดยเพื่อนนักศึกษาที่ร่วมชั้นเรียนที่ว่าเป็น “มาตรามหากาฬ” เพราะแยกตามความหมายของคำแล้ว ได้ดังนี้คือ

Advertisement

มหา = มากมาย ยิ่งใหญ่ เยอะแยะ

กาฬ = ดำ

รวมกันเป็นมหากาฬ คือดำอย่างยิ่งใหญ่จนทับหลักการสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไปหมดแบบมืดจนมองไม่เห็นเลยทีเดียว แถมหากจะแก้ไขก็แก้ได้ยากเย็นและเชื่องช้าเอาเสียเหลือเกินดังที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 279 นี้

ขณะที่จะสรุปผลการวิเคราะห์วิจารณ์ก็มีนักศึกษาคนหนึ่งลุกขึ้นมาอ้างตามหลักตีความทั่วไปของกฎหมายว่าหากพิจารณาศัพท์ทางกฎหมายใดที่ตกลงกันไม่ได้ให้ใช้พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักยึดซึ่งคำว่า “มหากาฬ” นั้นทางราชบัณฑิตยสถาน (ปัจจุบันคือ ราชบัณฑิตยสภา) แปลว่า

น. ชื่อยาไทยชนิดหนึ่งสําหรับแก้โรคปากเปื่อย คอเปื่อย ลิ้นเปื่อย

น. ชื่อไม้ล้มลุกมีหัว ดอกสีเหลืองส้ม ใบใช้ทํายาพอก ว่านมหากาฬ ก็เรียก

ครับ! เรื่องเลยยาวแต่สรุปการเรียนรู้ของวันวานได้ว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ออกจะเป็นรัฐธรรมนูญที่พิลึกๆ ที่สุดในโลกฉบับหนึ่งเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image