เอดส์ไทย…

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องในร่างกาย มีประวัติมายาวนานในโลกมนุษย์ของเราอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 50 ปีที่ผ่านมาแล้ว ระยะเวลาดังกล่าวในแวดวงการศึกษาวิจัย การแพทย์ การระบาดวิทยา รวมถึงศาสตร์สาขาอื่นๆ มีความพยายามที่จะหยุดยั้งโรคดังกล่าวให้หายขาดไปจากมนุษยชาติ วันเวลาที่ผ่านมาชีวิตมนุษย์แทบจะเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการตายด้วยโรคเอดส์ไปจำนวนหลายล้านชีวิต บางคำถามที่ยังคงต้องการคำตอบก็คือเมื่อใด เวลาใด โรคเอดส์จะหายขาดหรือหมดไปจากโลกมนุษย์

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ได้มีการพบเป็นครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ.1969 หรือ พ.ศ.2512 ในผู้ชายชาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ชื่อ Robert R. เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมืองเซนต์หลุยส์ นักวิจัยยืนยันถึงการตรวจพบเอชไอวี-1 ในเลือดและเนื้อเยื่อ แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยจะประกอบอาชีพโสเภณี หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีแทบทุกประเทศทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้มีรายงานประจำปี ค.ศ.2018 หรือปี พ.ศ.2561 ถึงการลดลงของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จาก 3.4 ล้านคนในปี ค.ศ.1996 หรือ พ.ศ.2539 ลดลงมาที่ 1.8 ล้านคนเมื่อปีที่แล้ว คือ พ.ศ.2560 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วมา พ.ศ.2558 มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกจำนวน 36.7 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2.1 ล้านคน หรือทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1 คน และเสียชีวิตจากโรคเอดส์ 1.1 ล้านคน ความเสี่ยงของผู้ติดเชื้อเอชไอวียังมีจำนวนที่สูงขึ้นในการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย รองลงก็อยู่ที่ผู้หญิงที่ขายบริการทางเพศ การใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น ขณะเดียวกันองค์การสหประชาชาติได้มีนโยบายถึงการยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ภายใน 12 ปีข้างหน้าในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ.2573

ในสังคมไทยเรามีข้อมูลหนึ่งจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีรายงานปี พ.ศ.2560 พบว่าผู้ที่ทราบว่าตนเองเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมีชีวิตอยู่ในจำนวน 67,087 คน และเข้าสู่กระบวนการรับยาต้านไวรัสและมีชีวิตอยู่ที่ 37,627 คน และไม่สามารถที่จะติดตามได้อีกจำนวน 29,460 ราย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในกรุงเทพมหานครมีผู้ติดเชื้อไปรับยาต้านไวรัสเป็นคนไทย 166 คน แรงงานข้ามชาติ/คนไทยไร้สิทธิ 154 คน โดยมีบริการการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEp) และหลังการรับเชื้อเอชไอวีที่ไม่ใช่จากการทำงาน (HIV non-occupational Post-Exposure Prophylaxis : HIV nPEP) โดยมีผู้ที่เข้าไปรับบริการในจำนวน 133 รายจากศูนย์บริการสาธารณสุข 12 แห่ง…(มติชนรายวัน 23 ตุลาคม 2561 หน้า 7)

Advertisement

เมืองไทยเราได้มีการพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกในปี พ.ศ.2527 ตลอดระยะเวลา 34 ปีมาแล้วคนไทยและวิชาชีพต่างๆ ที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ก็ยังคงมีความมุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่อง ช่วงระยะแรกๆ ของการมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์ในสังคมไทยเราขณะนั้น ประชาชนชาวบ้านหรือแม้แต่แวดวงของการแพทย์ พยาบาล ก็มีความตื่นกลัว มีการปฏิเสธผู้ติดเชื้อเอชไอวีในอยู่อยู่ร่วมกันในบ้าน

บางโรงพยาบาลที่มีผู้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากก็มีวิธีการโดยให้ผู้ป่วยไปพักรักษาตัวที่บ้านและชุมชน…

ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์หลายรายไม่สามารถกลับไปอยู่ในบ้านและชุมชนของตนเองได้เนื่องด้วยความเจ็บป่วยและรวมถึงการไม่มีงานทำไม่มีรายได้ที่จะทำให้ชีวิตของตนยืนยาวพร้อมๆ กับการดูแลรักษาอาการของโรค สถานที่เป็นองค์กรสงเคราะห์เอกชน วัด ศาสนา เอ็นจีโอเกิดขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วเมืองไทยเรา ในช่วงแรกๆ ของสถานการณ์เอดส์ในบ้านเรา รัฐบาลได้ให้ความสนใจในภาพรวมแทบทุกด้าน อาทิ งบประมาณในการรณรงค์ป้องกัน การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเอดส์ หรือแม้กระทั่งการประชุมสัมมนาในระดับชาติที่ยิ่งใหญ่บ่อยครั้ง…

Advertisement

วันเวลาผ่านไปองค์กรการกุศลที่เคยให้การช่วยเหลือเป็นที่พักหลับนอน เอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาทั้งตัวผู้ป่วยและญาติต้องปิดตัวลงตามลำดับ ขณะเดียวกันนโยบายการทำงานของภาครัฐก็มีการปรับเปลี่ยนทั้งงบประมาณสนับสนุน การรณรงค์เผยแพร่การป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ หน่วยงานที่รับผิดชอบของภาครัฐมีความก้ำกึ่งในภาระและหน้าที่ ไม่อาจจะรวมถึงการมองคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงชีวิตความเป็นอยู่ของเขาทั้งหลายต่างก็ใช้ชีวิตทั้งแรงงาน การเสียภาษี อาจจะรวมไปถึงฐานคะแนนเสียงในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งในปีหน้านี้อีกด้วย เหล่าบรรดานักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ต่างได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่ยังคงมีลมหายใจอยู่ในสังคมไทยรวมอยู่ด้วยหรือไม่…

พฤติกรรมความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี ทั้งในสังคมไทยเราและสังคมโลกก็ยังคงมีพฤติกรรมที่คล้ายๆ กับอดีตเมื่อหลายปีที่ผ่านมาแล้ว ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย การใช้ยาเสพติดชนิดที่ฉีดเข้าเส้น การสักยันต์ การขายบริการทางเพศ หรือแม้กระทั่งการมีเพศสัมพันธ์ในกลุ่ม (LGBTQ) เลสเบี้ยน lesbian เกย์ gay ไบเซ็กชวล bisexual คนข้ามเพศ transgender หรือ transsexual และเควียร์ queer หรือกลุ่มคนที่นิยมในเรื่องเพศที่ไม่มีกรอบและประเพณีวัฒนธรรม ในเมืองไทยเราที่ผ่านมามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่อการเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ทั้งการซื้อขายน้ำนมจากมารดาบางคนเพื่อไปให้กับลูกของผู้หญิงบางคนที่ไม่มีน้ำนมจากมารดา การจับกลุ่มมีเพศสัมพันธ์แบบสวิงกิ้ง การประกาศขายบริการทางเพศจากหญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอด…

ความเสี่ยงจากการรับเชื้อเอชไอวีทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์หรือแหล่งที่ค้าขายบริการทางเพศในเมืองไทยเราก็ยังคงมีทั้งสถานที่และวิธีการที่หลายหลากทั้งซ่อง ผับบาร์ คาราโอเกะ อาบอบนวด พริตตี้สปา นวดกระปู๋ ร้านเสริมสวยทำผม นวดแผนโบราณ ถนนที่มีรถบรรทุกขนาดใหญ่จอดเป็นจำนวนมาก เด็กแว้น ชายทะเลที่เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวหรือแม้กระทั่งการประกาศขายตัวในสื่อสังคมออนไลน์หรือที่เรียกว่า การขายตรง สิ่งหนึ่งที่เราท่านได้รับทราบข้อเท็จจริงก็คือ วันเวลาที่ผ่านมาสังคมไทยเราได้มีการจับแม่เล้าที่อายุอยู่ในวัยรุ่นหรือวัยเรียน การขายบริการทางเพศก็มีอยู่ในวัยดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง

อาจจะมีคำถามไปยังรัฐบาลที่ว่า นโยบายการรณรงค์ป้องการให้ความรู้ หรือการสร้างความตระหนักต่อโรคติดต่อที่จะเกิดขึ้นภายหน้ารัฐได้ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศด้วยหรือไม่

พฤติกรรมของความเสี่ยงหนึ่งที่อาจจะมิได้ปรากฏต่อสังคมบ่อยนักก็คือเหล่าบรรดาผู้ต้องขัง หรือผู้ที่เป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำในระยะเวลาที่ยาวนาน ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกัน ใช้ยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การสักยันต์ และพฤติกรรมเสี่ยงอย่างอื่นที่จะเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในสังคมไทยเรา การดูแลรักษาโรคด้วยทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันด้วยยา เวชภัณฑ์ยังคงต้องใช้งบประมาณของรัฐที่จะช่วยเหลือชีวิตเขาเหล่านั้น ผู้เขียนไม่ค่อยแน่ใจมากนักต่อการเปิดเผยตัวเลขของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์จากเรือนจำ สถานพินิจ ทัณฑสถานทั่วเมืองไทยเราที่มีนักโทษอยู่ล้นคุกตะราง ภาพหรือข้อมูลหนึ่งที่เรารับรู้กันเป็นอย่างดีนั่นก็คือ การเข้าตรวจค้นที่พบสิ่งผิดกฎหมายอยู่ในสถานที่ดังกล่าว รวมไปถึงการให้ออกของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานบกพร่อง รัฐบาลจะบริหารจัดการทั้งจำนวนนักโทษล้นคุกได้อย่างไร หรือว่าจะบริหารจัดการหน่วยงานให้จำนวนคน งบประมาณที่สมดุลกับการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์…

เพศศึกษา หรือการเรียนการสอนเพศวิถีได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 ถึงการตระหนักรู้ในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศยังคงมีบริบททั้งในสถานศึกษาระดับประถม มัธยม อาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย ในรอบปีที่ผ่านมาเราท่านได้รับข้อมูลหนึ่งก็คือ มีคุณแม่วัยใสตั้งครรภ์ในวัยเรียนเพิ่มขึ้น การนำเด็กทารกของแม่วัยใสที่ไม่มีความพร้อมไปทิ้งยังสถานที่ต่างๆ ยังคงมีให้พบเห็นในสังคมไทยเรา ตัวเลขของเด็กวัยรุ่นวัยเรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาจำนวนหลายแสนคนต่อปี นอกจากปัญหาความยากจนและเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของความสัมพันธ์ทางเพศ การตรวจค้นจับสถานบริการทำแท้ง ในรัฐบาลของ คสช.ได้มี พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปี พ.ศ.2559 จำนวน 24 มาตราที่ได้ให้แม่วัยรุ่น “สิทธิเด็กท้อง” ข้อเท็จจริงหนึ่งซึ่งมีกฎหมายที่ว่าด้วยสถานศึกษาใดที่มีวัยรุ่นวัยเรียนท้องก็สามารถศึกษาเล่าเรียนให้จบการศึกษาได้ ซึ่งในวิถีชีวิตจริงเขาเหล่านั้นสามารถตั้งท้องจนกระทั่งคลอดบุตรขณะเล่าเรียนได้จริงหรือไม่…

สังคมไทยเราในขณะนี้เป็นสังคมของผู้สูงอายุ ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ต้องเกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศก็คือ ผู้สูงอายุบางคนที่ร่างกายแข็งแรง มีทรัพย์สินสมบัติ และฐานะในระดับดีบางคนนิยมการมีภรรยาหลายๆ คนโดยบริหารจัดการแต่ละครอบครัวอยู่ในระดับดี สำหรับบางคนก็หาทางออกด้วยการไปใช้บริการทางเพศในแหล่งที่เหมาะสมกับรสนิยมและฐานะทางเศรษฐกิจของตน สถานบริการทางเพศหนึ่งทั้งอาบอบนวดและนวดแผนโบราณก็จะมีผู้หญิงที่เป็นผู้สูงวัยคอยให้บริการสำหรับเหล่าบรรดานักเที่ยว อาจจะมีคำถามที่ว่าสถานที่เหล่านั้นเป็นสถานที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือมีวิธีการป้องกันที่รัดกุมเพื่อไม่ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่

แรงงานข้ามชาติถือว่าเป็นแรงงานหลักส่วนหนึ่งของเมืองไทยเราที่นำเข้าจากเพื่อนเราทั้งเขมร ลาว เมียนมา จีน แขก อาจจะรวมถึงฝรั่งบางชาติที่เข้ามาทำงานสุจริตปกติและการขายบริการทางเพศ การตรวจจับคนต่างชาติที่อยู่ในธุรกิจทางเพศของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปรากฏในสื่อของไทยในรอบปี การหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย การติดกามโรคและเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี การที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐถือว่าเป็นสิทธิของเขาเหล่านั้นรวมอยู่ด้วยหรือไม่…

เอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่คงอยู่ในสังคมไทยเราที่ยาวนานเกือบ 35 ปี ผู้ติดเชื้อและบุคลากรเจ้าหน้าที่ทั้งของรัฐและองค์กรการกุศลสาธารณะต้องดูแลชีวิตเขาเหล่านั้นถูกละเลยจากบางรัฐบาลที่ผ่านมา โดยนักการเมืองและคนในรัฐบาลอาจจะมองว่าเขาเหล่านั้นอาจจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีผลประโยชน์และส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับความเป็นนักการเมือง ช่วงที่มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรทั้งการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณแทบจะไม่มีการกล่าวถึงคุณภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์เกิดขึ้นจากผู้ที่เรียกว่า ผู้แทนของประชาชน รัฐบาล คสช.ได้จัดสรรงบประมาณ 3,046.31 ล้านบาทให้กระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปบริหารจัดการในภาพรวม ขณะที่คาดการณ์จะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 16 คน นั่นหมายความว่าในหนึ่งปีมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,760 คน

ทุกๆ วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก World AIDS Day โดยมีคำขวัญวันเอดส์โลกใน พ.ศ.2531 คือ เอดส์ป้องกันได้ หากร่วมใจกันทั่วโลก : Communication about AIDS ในปีที่แล้ว พ.ศ.2560 มีคำขวัญที่ว่า Right to health : สิทธิ สุขภาพ ปราศจากตีตราสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เอดส์เป็นโรคที่มนุษย์ต้องตายด้วยภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง เราท่านมีลมหายใจในวันนี้มีภูมิคุ้มกันในการมีชีวิตอย่างดีแล้วหรือไม่…

เฉลิมพล พลมุข

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image