บทนำ : การสรรหาส.ว. ประจำวันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน 2561

การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว.ไม่ถึงกับคึกคัก แม้มีการประชาสัมพันธ์พอสมควร ทำให้หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า เกิดจากกฎกติกาทำให้ผู้สมัครไม่แน่ใจว่า ความรู้ความสามารถของตนเอง จะเป็นปัจจัยช่วยให้ได้รับการสรรหาหรือไม่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เหตุที่ไม่เกิดความตื่นตัว เพราะคนทั่วไปไม่ได้เกี่ยวข้อง จะตื่นตัวเฉพาะคนที่สนใจไปสมัคร และเมื่อถึงเวลา เขาก็ไปเลือกกันเอง เราไม่ได้เป็นคนเลือก เราก็ไม่ต้องตื่นตัว จะให้ลุ้นก็ลุ้นไม่ได้ เพราะเขาไม่ให้เปิดเผยชื่อว่ามีใครบ้าง ตนเองก็ยังไม่รู้ว่ามีใครบ้าง โดยระดับอำเภอ จะเลือกในวันที่ 16 ธันวาคม ต่อมาจึงเป็นระดับจังหวัด และคัดเลือกระดับประเทศที่เมืองทองธานี จากนั้นจะส่งรายชื่อ 200 คน ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีคนสมัครน้อย อาจไม่หลากหลาย นายวิษณุกล่าว จะให้ทำอย่างไรต้องช่วยกันเชิญชวนให้ไปสมัคร แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนจะอยากเป็นกันมากมาย แค่เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ก็ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกันโกลาหลอลหม่าน ขณะที่ ส.ว.นั้นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ต้องเปิดเผยและปิดประกาศให้คนรู้ ทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องสนุกถ้าไม่ใช่คนที่สนใจจริงๆ เมื่อถามว่าจะได้ทราบว่า ส.ว.เป็นใครบ้าง ต่อเมื่อ คสช.คัดเลือกแล้ว และก่อนหน้านั้น สื่อไม่นำเสนอข่าวไม่ได้ นายวิษณุกล่าวว่า เราอาจจะไปสัมภาษณ์เจ้าตัวไม่ได้ แต่อีกหน่อยก็รู้อยู่ดี เมืองไทยไม่มีอะไรเป็นความลับ เพียงแต่ในชั้นต้นนี้เท่านั้นที่เปิดเผยไม่ได้

ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการสรรหา ส.ว.ที่ไม่ธรรมดา กติกาของการสรรหาคือ ให้ประชาชนสมัคร หรือกลุ่มวิชาชีพ 10 กลุ่มส่งสมัคร แล้วคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มจากอำเภอไปสู่จังหวัด จนไปถึงระดับประเทศให้เหลือ 200 คน แล้ว คสช.คัดเอา 50 คน ไปรวมกับอีก 200 ส.ว.ที่มาจากคณะกรรมการสรรหา ส่งชื่อให้ คสช.เลือก 194 คน และอีก 6 คน เป็นโดยตำแหน่ง แน่นอนว่า 250 ส.ว.ที่จะผ่านการสรรหา ย่อมมีความยึดโยงกับผู้เลือก คือ คสช. แต่เรื่องที่จะยึดโยงกับประชาชนในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย อาจจะเป็นปัญหา ซึ่งต้องไปดูที่บทบาทในวุฒิสภาต่อไปว่า จะเป็นไปเพื่อคนส่วนใหญ่หรือกลุ่มบุคคลที่เป็นผู้เลือกเข้ามา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image