ปากท้องประชาชน จุดตายจุดชี้ขาด เลือกตั้ง 2562

คําถามว่า 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะมีการเลือกตั้งหรือไม่เริ่มจางเสียงลงไป

กลายเป็นคำถามว่า พรรคไหนจะเป็นผู้กำชัยในการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 ที่จะมาถึง

ในการนี้ คนทั่วไปยกให้ “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นเต็งหนึ่ง

และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน มีโอกาสที่จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

Advertisement

ด้วยพลังอำนาจที่เหนือกว่าคู่แข่งทุกพรรคในทุกวิถีทาง

ทั้งเครือข่ายอำนาจรัฐ เครือข่ายอำนาจทุนที่เข้ามาสนับสนุน

และอำนาจจากการใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมหาศาล

Advertisement

กระนั้นในความเหนือกว่าก็มีความไม่แน่นอนปรากฏอยู่

เป็นไปอย่างที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย สรุปข้อเท็จจริงภายหลังจากการเดินไปคารวะแผ่นดินมาหลายพื้นที่เกือบทั่วประเทศว่า

ประชาชนในต่างจังหวัดประสบความทุกข์ยากจากการที่ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด ตกต่ำติดต่อกันมาหลายปี

ในขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพมหานครก็ประสบปัญหาการครองชีพ

และเป็นประเด็นที่พรรคจะนำมาสรุปเป็นนโยบายหาเสียง

เช่นเดียวกับเนื้อหาการขึ้นปราศรัยบนเวทีรับเชิญต่างๆ ในระยะหลังของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่เน้นถึงปัญหาความทุกข์ยากในการครองชีวิตของคนชั้นล่าง

อันเนื่องมาจากโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐที่ยิ่งเอื้ออำนวยให้ช่องว่างนี้ถ่างกว้างขึ้น

ถามว่าปัญหาหรือจุดอ่อนที่ดำรงอยู่นี้

รัฐบาลหรือพรรคพลังประชารัฐรับทราบหรือไม่

คำตอบก็คือทราบ

ไม่เช่นนั้นจะมีนโยบาย “อัดฉีด” เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลออกมาในช่วงสิ้นปี ต่อเนื่องไปจนกระทั่งถึงช่วงก่อนการเลือกตั้ง

ออกมาเป็นชุดเช่นนี้หรือ

เริ่มต้นจากการเพิ่มวงเงินในบัตรคนจน 14.5 ล้านใบขึ้นมาอีกคนละ 500 บาท เป็นการชั่วคราว

ตามมาด้วยการเพิ่มวงเงินสงเคราะห์คนชรารายละ 1,700 บาท

และล่าสุดคือการเพิ่มวงเงินค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) จากคนละ 600 เป็น 1,000 บาท/เดือน ด้วยวงเงิน 12,000 ล้านบาท

ยังไม่นับมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่เริ่มต้นจากการส่งเสริมให้ซื้อหายางรถยนต์ หนังสือ และสินค้าโอท็อป ที่สามารถนำไปหักภาษีได้เป็นมูลค่า 15,000 บาท

ก่อนจะขยายไปยังการจับจ่ายใช้สอยทุกประเภทในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท/ราย ที่จะได้รับภาษีกลับคืนในอัตราร้อยละ 5

ตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ไปจนกระทั่งถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน

ที่อยู่ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น

และที่ลืมมิได้ก็คือการอนุมัติวงเงินมหาศาล 120,000 ล้านบาท เพื่อเข้าไปโอบอุ้มสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ โดยเน้นไปที่พืชผล 3 ประเภทหลัก

อันได้แก่ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพด

คําถามง่ายๆ มีอยู่ว่า การอัดฉีดรอบล่าสุดนี้จะได้ผลหรือมัดใจผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้หรือไม่

ตรงกับความต้องการของผู้รับความช่วยเหลือ หรือสามารถบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้หรือไม่

ด้านหนึ่ง ผลการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์จะเป็นเครื่องชี้ขาด

ด้านหนึ่ง มีผลสำรวจล่วงหน้าออกมาก่อนโดย “นิด้าโพล” ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนต้องการนั้นมีอะไรบ้าง

ร้อยละ 57.6 บอกว่าต้องให้อุดหนุนพืชผล พัฒนาสินค้าทางการเกษตร

ร้อยละ 23.12 ให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ

ร้อยละ 22 ขอให้เพิ่มการจ้างงานและแรงงานนอกระบบ

ร้อยละ 21.44 ให้คุมราคาสินค้า

ร้อยละ 14 ให้ลดภาษี

ร้อยละ 10.96 ให้ส่งเสริมการท่องเที่ยว และมอบเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

ร้อยละ 6.8 ให้สนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ

ร้อยละ 5.67 ให้เพิ่มประสิทธิภาพในการส่งออก

ร้อยละ 4.24 ให้กระจายอำนาจและความเจริญสู่ภูมิภาค

ร้อยละ 3.28 ให้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่

หากไม่นับความบาดหมางระหว่างรัฐบาลกับโพลครั้งที่ผ่านมา

เสียงสะท้อนเช่นนี้จะมีผลอย่างไรต่อการตัดสินใจใช้จ่ายเงินก่อนการเลือกตั้งของรัฐบาลหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image