หักเลี้ยว จุดตัด ของ ‘ประชาธิปัตย์’ จาก 7 ธันวาคม

การตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการปฏิเสธการเข้าสู่การประชุม “ร่วม” ระหว่าง คสช.กับพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม แหลมคมอย่างยิ่งในทางการเมือง

เหมือนกับเป็นการสร้าง “เส้นแบ่ง” อย่างสำคัญ

ไม่เพียงแต่จะเป็นเส้นแบ่งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับคำสั่งหัวหน้า คสช.ฉบับที่ 53/2560 อันเป็นพื้นฐานของการเรียกประชุม

หากคือการเป็นเส้นแบ่งของการปฏิเสธ “คสช.”

Advertisement

คล้ายกับการตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามแนวทางที่พรรคเพื่อไทยยืนหยัดมาอย่างยาวนาน

และต่อเนื่องมายังพรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ อันเป็นพันธมิตร

และตามมาด้วย “พรรคอนาคตใหม่” รวมถึงพรรคของนักพัฒนาเอกชนที่เป็นตัวของตัวเองอย่างพรรคสามัญชน

Advertisement

ไม่ใช่หรอก

อย่าลืมเป็นอันขาดว่าพรรคประชาธิปัตย์มีรากฐานมาตั้งแต่การแยกตัวออกจาก “คณะราษฎร” เมื่อเดือนเมษายน 2489

เคยเป็นรัฐบาลมาแล้วหลายครั้งหลายหน

องค์ประกอบของพรรคประชาธิปัตย์ในเบื้องต้น ไม่เพียงแต่อุดมด้วยคนชั้นสูงตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

กระทั่ง ลูกหลานอย่างตระกูล “เวชชาชีวะ” และ “จาติกวณิช”

กล่าวสำหรับในแวดวง “ทหาร” พรรคประชาธิปัตย์มีสายสัมพันธ์ตั้งแต่ยุคพล.อ.กฤษณ์ สีวะรา กระทั่งยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

จึงใกล้ชิดยิ่งกับวงศ์วานหว่านเครือของ “คนชั้นสูง”

การข่าวของพรรคประชาธิปัตย์จึงมิได้มีรากฐานจากนักการเมือง นักธุรกิจ หากแต่ที่สำคัญเป็นอย่างมากก็คือ สามารถต่อสายไป “ระดับสูง” ได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดา

การตัดสินใจของ “ประชาธิปัตย์” จึงสำคัญ

ความหมายจึงดำเนินไปอย่างที่ปัญญาชนสาธารณะอย่าง นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ตั้งข้อสังเกตต่อสถานะของ คสช. สถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ คนชั้นสูงเริ่มหงุดหงิด

เห็นว่าระยะนับแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 ผลงานและการบริหารจัดการบ้านเมืองของ คสช. และของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

สมควรจะให้ไป “ต่อ” เหมือนเป็นเรื่องปกติหรือไม่

ในฐานะพรรคการเมืองที่มีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน พรรคประชาธิปัตย์ย่อมสัมผัสได้ในอุณหภูมิและความรู้สึกที่ดำรงอยู่ในสังคม

จึงถึงเวลาที่จะต้อง “ตัดสินใจ” และ “เลือก”

จึงไม่เพียงแต่จะปฏิเสธการจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ หากพร้อมอย่างเต็มเปี่ยมในการปฏิเสธแม้กระทั่งคำสั่งหัวหน้า คสช.

นั่นก็คือ ไม่ร่วม “สังฆกรรม” กับ “คสช.”

การตัดสินใจนี้ของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นเอกเทศจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเพื่อชาติ

เป็นเอกเทศจาก พรรคอนาคตใหม่ พรรคสามัญชน

หากดำรงอยู่อย่างเป็นของ “ประชาธิปัตย์” ดำรงอยู่อย่างพร้อมที่จะขับเคลื่อนพรรคเข้าสัประยุทธ์กับพรรคพลังประชารัฐอันเป็นมือไม้ของ คสช.อย่างเต็มเปี่ยม

นี่คือความร้อนแรงที่จะตามมาก่อน “เลือกตั้ง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image