100 บท : 100 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวรฯ(3) : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ผู้เขียนได้กล่าวถึง “100 บท พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก” ให้แฟนๆ มติชนได้อ่านมาแล้วในฉบับก่อนหน้านี้ถึงบทพระนิพนธ์ที่ 36 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2560 และขอกล่าวเพิ่มเติมถึงพระนิพนธ์ต่อไปอย่างต่อเนื่องจนครบ 100 บท ความว่า…

พระนิพนธ์ 37 : การทำความดีอย่างสบายๆ อย่างมีอุเบกขา คือ ทำใจเป็นกลาง วางเฉย ไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น การตั้งความหวังในผลของการทำดีนั้นเป็นธรรมดาของสามัญชนทั่วไป ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็จะถูกต้องกว่า หากจะไม่ตั้งความหวังเลย

การทำดีหรือทำบุญกุศลที่จะส่งผลสูงสุด ต้องเป็นการทำด้วยใจที่ว่างจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ และความหลง ความผูกพันในผลที่จะได้รับ เป็นความโลภและความหลง จึงไม่อาจให้ผลสูงสุดได้ แม้จะ
ให้ผลตามความจริงที่ว่า ทำดีจักได้ดี แต่เมื่อเป็นความดีที่ระคนด้วยโลภและหลง ก็ย่อมจะได้ผลไม่เท่าที่ควร มีความโลภมาบั่นทอนผลนั้นเสีย

พระนิพนธ์ 38 : ทำกรรมดีแล้วใจจักไม่ร้อน เพราะไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้รับผลไม่ดีต่างๆ ความไม่ต้องหวาดวิตกหรือกังวลไปต่างๆ นั้น นั่นแหละเป็นความเย็น เป็นความสงบของใจ เรียกได้ว่าเป็นผลดีที่เกิดจากกรรมดี ซึ่งจะเกิดขึ้นทันตาทันใจทุกครั้งไป เป็นการทำดีที่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริง

Advertisement

ส่วนผลปรากฏภายนอก เป็นลาภยศสรรเสริญต่างๆ นั้นมีช้ามีเร็ว มีทันตาทันใจ และไม่ทันตาทันใจ จนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากมายว่า ทำดีไม่ได้ดีบ้าง ทำชั่วได้ดีบ้าง

พระนิพนธ์ 39 : พรหมวิหารธรรม คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เป็นเรื่องของใจ จึงมีความพิเศษสุด ผู้มีบุญ มีปัญญา มีใจเข้มแข็งมั่นคงด้วยสัจจะ สามารถอบรมพรหมวิหารธรรมตั้งแต่ฐานถึงยอดได้ในเวลารวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องเนิ่นช้า สำคัญที่พึงต้องมี คือ มีศรัทธาตั้งมั่นว่า พรหมวิหารนั้นมีคุณประโยชน์แก่ชีวิตอย่างแท้จริง ไม่เช่นนั้นแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จักไม่ทรงแสดงไว้ว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่ของพรหม จึงพึงน้อมใจรับปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ในเรื่องการอบรมพรหมวิหารธรรมนี้

พระนิพนธ์ 40 : “อุเบกขา” เป็นธรรมสำคัญหมวดหนึ่ง คือ “พรหมวิหารธรรม” มนุษย์ก็ได้ชื่อว่าเป็นพรหม แม้มีธรรมหมวดนี้สมบูรณ์ คือ มีพร้อมทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา อุเบกขา หมายถึง การวางใจเป็นกลาง วางเฉย ไม่ยินดียินร้าย จึงไม่หวั่นไหวด้วยความยินดีหรือยินร้าย หวั่นไหวเพราะความยินดีแม้มาก ย่อมเป็นเหตุให้ฟุ้ง หวั่นไหวเพราะความยินดียินร้ายแม้มาก ย่อมเป็นเหตุให้เครียด อุเบกขาจึงเป็นธรรมโอสถ เครื่องรักษาโรคทางจิตทั้งสอง คือทั้งโรคฟุ้งและโรคเครียด ท่านผู้มีปัญญาเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของโอสถนี้ จึงสนใจอบรมอุเบกขา เพื่อรักษาใจให้ปราศจากโรค ให้เป็นใจที่สมบูรณ์สุขอย่างแท้จริง

Advertisement

พระนิพนธ์ 41 : เราทุกคนเดี๋ยวนี้เกิดมามีศาสนา ที่นับถือศาสนาสืบกันมาเหมือนอย่างมีบิดามารดา คนที่มีมรรยาท ย่อมไม่ลบหลู่ดูหมิ่นที่นับถือของใครๆ ไม่ดูหมิ่นวัตถุที่เคารพในศาสนานั้นๆ ไม่กล่าวหาศาสนาหรือวัตถุที่เคารพของใครว่าไม่ดี

คิดดูเถิด หลักมารยาทอันดีของคนธรรมดาสามัญนี่เองเป็นดังนี้ คนยิ่งสูงกว่าคนธรรมดาสามัญ ก็ควรจะยิ่งมรรยาทละเอียดมากขึ้น แต่ถ้าเสียมารยาทไปเสียแล้ว ก็ตกต่ำไปยิ่งกว่าคนธรรมดาสามัญเสียอีก

พระนิพนธ์ 42 : มาร แปลว่า ผู้ฆ่า ผู้ทำลายล้าง มารข้างนอก คือ ผู้มุ่งทำลายล้างข้างนอก มารข้างใน คือ กิเลสในใจของตนเอง เป็นต้นว่า ความรัก ความชัง ความหลง ซึ่งบังใจเราไม่ให้เกิดปัญญาในเหตุผล เมื่อชนะมารในใจของตนได้แล้ว มารข้างนอกก็ทำอะไรไม่ได้

พระนิพนธ์ 43 : พระพุทธเจ้าได้ทรงชนะ คือ ทรงชนะพระฤทัยของพระองค์แล้ว ด้วยพระบารมี คือ ความดีที่ทรงสร้างมาจนบริบูรณ์ ใครมีเรื่องจะต้องผจญใจ ก็ให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมารดังกล่าวนี้เถิด จะสามารถชนะใจตนเอง และจะเอาชนะเหตุการณ์ต่างๆ ได้ แต่ขอให้ระลึกถึงด้วยความตั้งใจจริงจนเกิดความสงบ แล้วจักเห็นหนทางชนะขึ้นเองอย่างน่าอัศจรรย์

พระนิพนธ์ 44 : คติธรรมดาที่ไม่มีใครที่เกิดมาในโลกนี้ จะหนีพ้นได้ คือ ความแก่ ความตาย แต่คนโดยมากพากันประมาทเหมือนอย่างว่าไม่แก่ ไม่ตาย น่าจะรีบทำความดี แต่ก็ไม่ทำ กลับไปทำความชั่วก่อความเดือดร้อนให้แก่กันและกัน ต่างต้องเผชิญทุกข์เพราะกรรมที่ก่อให้แก่กันอีกด้วย ฉะนั้นก็น่าจะนึกถึงความแก่ ความตายกันบ้าง เพื่อจะได้ลดความมัวเมา และทำความดี

พระนิพนธ์ 45 : หน้าที่ของคนเราที่จะพึงปฏิบัติต่อชีวิต ร่างกาย คือ บริหารรักษาให้ปราศจากโรค ให้มีสมรรถภาพ และรีบประกอบประโยชน์ให้เป็นชีวิตดี ชีวิตที่อุดม ไม่ให้เป็นชีวิตชั่ว ชีวิตเปล่าประโยชน์ (โมฆชีวิต) และในขณะเดียวกัน ก็ให้กำหนดรู้คติธรรมดาของชีวิตเพื่อความไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสห้ามมิให้ทำลายชีวิต ร่างกาย ถ้าจะเกิดความอยาก ความโกรธ ความเกลียด ในอันที่จะทำลายชีวิตร่างกายก็ให้ทำลายความอยาก ความโกรธ ความเกลียด นั้นแหละเสีย

พระนิพนธ์ 46 : อันความรัก หรือที่รัก เมื่อผู้ใดมีร้อยหนึ่ง ผู้นั้นก็มีทุกข์ร้อยหนึ่ง รักเก้าสิบ แปดสิบ เจ็ดสิบ หกสิบ ห้าสิบ เป็นต้น จำนวนทุกข์ก็มีเท่านั้น ถึงแม้มีรักเพียงอย่างหนึ่ง ก็มีทุกข์อย่างหนึ่ง ต่อเมื่อไม่มีรักจึงจะไม่มีทุกข์ ผู้หมดรักหมดทุกข์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า “เป็นผู้ไม่มีโศก ไม่มีธุลีใจ ไม่มีคับแค้น”

พระนิพนธ์ 47 : พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนให้เกิดสติขึ้นว่า…ความทุกข์นี้มีเพราะความรัก มีรักมากก็เป็นทุกข์มาก มีรักน้อยก็เป็นทุกข์น้อยจนถึงไม่มีรักเลย จึงไม่ต้องเป็นทุกข์เลย แต่ตามวิสัยโลกจะต้องมีความรัก มีบุคคลและสิ่งที่รัก ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีสติควบคุมใจ มิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ แต่ให้สติมีอำนาจควบคุมความรัก ให้ดำเนินในทางที่ถูก และให้มีความรู้เท่าทันว่าจะต้องพลัดพรากรักสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อถึงคราวเช่นนั้นจักได้ระงับใจลงได้

พระนิพนธ์ 48 : ชีวิตในชาติหนึ่งๆ กับทั้งสุขทุกข์ต่างๆ เกิดขึ้นเพราะกรรมที่แต่ละตัวตนทำไว้ ฉะนั้น ตนเองจึงเป็นผู้สร้างชาติคือความเกิดและความสุขทุกข์ของตนแก่ตนหรือผู้สร้างก็คือตนเอง แต่มิได้ไปสร้างใครอื่น เพราะใครอื่นนั้นๆ ต่างก็เป็นผู้สร้างตนเองด้วยกันทั้งนั้น จึงไม่มีใครเป็นผู้สร้างให้ใคร และเมื่อผู้สร้างคือคนสร้างให้เกิด ก็เป็นผู้สร้างให้ตายด้วย

ทำไมผู้สร้างคือตนเอง จึงสร้างชีวิตที่เป็นทุกข์เช่นนี้เล่าปัญหานี้ตอบว่า สร้างขึ้นเพราะความโง่ ไม่ฉลาด คือ ไม่รู้ว่าการสร้างนี้คือการสร้างทุกข์ขึ้น ถ้าเป็นผู้รู้ฉลาดเต็มที่ ก็จะไม่สร้างสิ่งที่เกิดมาต้องตาย

พระนิพนธ์ 49 : การคบหาสมาคมกันระหว่างบุคคลนั้น ท่านสอนให้เลือกคบ คือ ให้คบแต่บัณฑิตอันหมายถึงคนดี ไม่ให้คบคนพาลอันหมายถึงคนไม่ดี เพราะเมื่อคบกันก็หมายถึงจะต้องมีวิสาสะ คือ ความคุ้นเคยไว้วางใจกัน ถ้าไปไว้วางใจในคนไม่ดีก็จะเกิดอันตราย จึงได้ตรัสเตือนไว้ว่าภัยเกิดจากวิสาสะ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคคลอื่น แม้ตนเองจะไว้ใจตนเองเสมอไปได้หรือถ้ายังมีกิเลส คือ โลภ โกรธ หลงอยู่ จะไว้ใจที่มีกิเลสดังกล่าวนี้หาได้ไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ควรจะไว้ใจตนเองได้เสมอไปแล้ว จะไว้ใจผู้อื่นโดยไม่เลือก ไม่พิจารณาได้อย่างไร

พระนิพนธ์ 50 : อันมูลเหตุที่ให้เกิดความตึงเครียดขึ้นนั้น โดยตรงที่สุดก็คือตัณหา ความทะยานอยากในจิตใจของบุคคล หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสเหล่านี้เป็นไฟเผาโลกอยู่ทุกกาลสมัย และเป็นนายที่บงการมนุษย์ให้เบียดเบียน ทำลายล้างกันและกัน แม้บุคคลจะมีอำนาจครอบงำผู้อื่นได้มากมาย แต่ก็ต้องเป็นทาสของตัณหา จึงได้ขวนขวายเพื่อหักล้างผู้อื่นลงไปให้ย่อยยับโดยที่ไม่พยายามหักตัณหาในใจของตนเองลงไปเลย

เมื่อเป็นเช่นนี้ความสงบก็เกิดขึ้นได้โดยยาก ยิ่งแก้ด้วยวิธีเพิ่มเติมตัณหาให้แก่ตนและหักล้างผู้อื่นให้จำยอม ก็ยิ่งเพิ่มความไม่สงบ เพราะไม่มีใครยินยอมแก่กัน ต้องพากันพยายามป้องกันตนหรือคิดหักล้างเป็นการตอบแทนกันอยู่ตลอดไป

พระนิพนธ์ 51 : ทางที่ถูกควรจะเอาชนะอุปสรรคในทางที่ชอบ และพยายามรักษาส่งเสริมความดีของตน คิดให้เห็นว่า เราทำความดีก็เพื่อความดี มิใช่เพื่อให้ใครชม ใครจะชมหรือติ เราก็ยังไม่ควรรับหรือปฏิเสธ ควรนำมาคิดสอบสวนตัวเราเองดู เพื่อแก้ไขตัวเราเองให้ดีขึ้น แต่ไม่รับมาเป็นเครื่องหลอกตัวเองว่าวิเศษเพราะเขาชม หรือเลวทรามเพราะเขาติ เขาจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เราจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่การกระทำของเราเอง

พระนิพนธ์ 52 : โดยมากอุปสรรคต่างๆ เป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อย ไม่มีสาระ แต่มักจะรับเข้ายึดถือเป็นอารมณ์กวนใจให้เดือดร้อนไปเองจนถึงให้ทอดทิ้งความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นความฉลาด แต่เป็นความเขลาของเราเอง และทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าเป็นผู้แพ้ ส่วนการชนะนั้น ก็มิได้ประสงค์ให้ชนะทางก่อเวร แต่มุ่งให้เอาชนะตนเอง คือ ชนะจิตใจที่ใฝ่ชั่วของตน และเอาชนะเหตุการณ์แวดล้อมที่มาเป็นอุปสรรคแห่งความดี เพื่อที่จะรักษาและเพิ่มพูนความดีของตนให้ดียิ่งๆ ขึ้น

พระนิพนธ์ 53 : การพัฒนา ซึ่งมีความหมายถึงการสร้างเสริมปรับปรุงให้ดีเจริญขึ้น เป็นกิจที่ควรทำ เพราะบ้านเมืองจะเกิดความเจริญก็ด้วยการพัฒนาในส่วนต่างๆ ที่ยังด้อยความเจริญอยู่ แต่ก็ต้องพัฒนาคนด้วย ในการพัฒนาคน ก็จำต้องพัฒนาให้ถึงจิตใจ แต่จำต้องพัฒนาให้ถึงจิตใจ ถ้าคนมีจิตใจไม่เจริญ ก็ยากที่จะพัฒนาส่วนอื่นๆ ให้เกิดผลสำเร็จได้

หลักพัฒนาคนของพระพุทธเจ้า คือ ธรรมะเหล่านี้ เป็นเครื่องพัฒนาคนให้เป็นอริยบุคลหรืออารยชนคือคนเจริญ คิดดูง่ายๆ คนที่ไม่มีสมบัติผู้ดี ไม่มีหิริโอตตัปปะ มีจิตใจที่ทราม จะเป็นคนเจริญได้อย่างไร

พระนิพนธ์ 54 : คนพาลนั้น อาจจะเป็นคนพาลภายในคือตนเองก็ได้ กล่าวคือตนเองนั่นแหละ เมื่อทำผิด พูดผิด คิดผิด ก็ชื่อว่าเป็นคนพาลเหมือนกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ให้พิจารณาดูตนให้เป็นอัตตัญญู คือ รู้ตนว่าเป็นอย่างไร ตนทำผิด พูดผิด คิดผิดหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าตนเป็นดังนั้น ก็พึงรู้ว่าตนนั่นแหละเป็นพาล เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ต้องสละการทำผิด พูดผิด คิดผิดนั้นเสีย ไม่คบเอาไว้ เมื่อเช่นนี้ก็ชื่อว่าไม่คบตนเองที่เป็นคนพาล คือสละความเป็นพาลของตนเสีย นี้ก็ชื่อว่าไม่คบคนพาลประการหนึ่งด้วย

พระนิพนธ์ 55 : ผู้ชนะนั้นมักเข้าใจว่าตนเองเป็นผู้ได้ แต่โดยที่แท้เป็นผู้เสีย คือ เสียไมตรีจิตของอีกฝ่ายหนึ่งหมดสิ้น หรือจะเรียกว่าได้ก็คือได้เวร เพราะผู้แพ้ก็จะผูกใจเพื่อจะเอาชนะต่อไป จึงเป็นอันว่าไม่ได้ความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ส่วนผู้ที่ละได้ทั้งแพ้และชนะ จึงจะได้ความสงบสุข ทั้งนี้ก็ด้วยการไม่ก่อเรื่องที่จะต้องเกิดมีแพ้ฝ่ายหนึ่ง ชนะฝ่ายหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีใจหนักแน่นพอที่จะเผชิญผลได้ทุกอย่าง และสามารถที่จะเห็นความจริงว่า แพ้เป็นพระชนะเป็นมาร ทั้งนี้ก็จะต้องชนะตนเอง คือ “ชนะใจตนเองด้วย” นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image