ภาพเก่าเล่าตำนาน : โรซา พาร์ค ผู้หญิงผิวสี…ผู้เปลี่ยนโฉมอเมริกา : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

มนุษย์บนโลกใบนี้ ล้วนเกิดมาพร้อมกับ ความโลภ โกรธ หลง ผสมผสานกับ โลภะ โทสะ โมหะ ต้องการปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ที่ทะยานอยากนอกเหนือไปจากนั้น ยังปรารถนา ความร่ำรวย ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ

พฤติกรรมทำนองนี้ ติดตัวมากับมนุษย์ เกิดขึ้นมายาวนานนับพัน นับหมื่นปีมาแล้ว ..มากบ้างน้อยบ้าง

ปัญหาความขัดแย้งทางด้าน เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา สีผิว ที่อุบัติขึ้นมาในอดีตมาแสนนาน การกีดกันแบบต้องขีดเส้นแบ่งกันอยู่ ที่พัฒนาต่อยอดไปเป็นความเคียดแค้นชิงชัง ถึงขั้นประหัตประหารกันตายไปแบบผักปลานับร้อยล้านคน

แต่ต่อมา เมื่อมนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะตั้งกติกา รู้จักการแบ่งปัน มนุษย์เริ่มที่จะมีความเป็นอารยะ หาหนทางที่จะอยู่ด้วยกันให้ได้บนความแตกต่าง ทำให้สังคมบางหมู่เหล่าสงบสุขด้วยตัวของมันเอง มากบ้าง น้อยบ้าง

Advertisement

มนุษย์ที่สุขสบาย มั่งคั่ง มั่นคง จะหวงแหน ขอ “จำกัดความสุข” ไว้เฉพาะพรรคพวกของตน ไม่ต้องการให้ใครมาแบ่งปัน ในสัญชาตญาณลึกๆ คือ พยายามจะบอกว่า “แก..ไม่เท่าเทียมกับชั้นนะ..”

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ ขอเปิดเผยเรื่องราวของสังคมมนุษย์ที่ปรับตัว เรียนรู้ที่จะขจัดความขัดแย้ง ชิงชัง เอาเปรียบโดยอาศัยหลักกฎหมาย

เด็กหญิงโรซา หลุยส์ แมคคอลีย์ (Rosa Louise McCauley) เกิดเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2456 ที่เมืองทัสคีจี รัฐอลาบามา (Tuskeegee, Albama) คุณแม่เธอเป็นครู พ่อเป็นช่างไม้ มีน้องชายชื่อ ซิลเวสเตอร์

Advertisement

พ่อ-แม่ของเธอแยกทางกันตั้งแต่เธอยังเล็ก ในอเมริกาช่วงเวลานั้นมีลัทธิเหยียดผิวอย่างรุนแรง คนผิวสี (คนผิวดำ) ทั้งหลายต้องผจญกับความอยุติธรรม นางโรซา พาร์ค สตรีผิวสี โดนเพื่อนบ้านต่างสีผิวที่กลั่นแกล้งเสมอ แต่คุณแม่ของเธอ นางลีโอนา ไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรม

แม่ของโรซา พาร์ค ให้ความสำคัญต่อการศึกษาของลูก ขอสู้ชีวิต เธอพาลูกๆ อพยพย้ายไปในหลายเมือง เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของลูกๆ

ในที่สุด โรซา พาร์ค ก็จบการศึกษาระดับมัธยมปลาย กระนั้นในบรรยากาศทางการเมืองที่แยกผิวเด็ดขาด แม่จึงต้องพาเธอไปอาศัยอยู่กับคุณตาที่บ้านในฟาร์ม ที่เมืองเล็กๆ ในชนบท ตามกฎหมายของสหรัฐในยุคนั้น ทำให้เธอต้องไปเรียนที่โรงเรียนคนผิวสีที่แม่ของเธอเป็นครูสอน

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนผิวสีในอเมริกา มีความชัดเจนเรื่องการการกีดกัน แบ่งสีผิว ทุกอย่างต้องแยกกัน เรื่องการเข้าไปนั่งในร้านอาหาร เรื่องการเรียนหนังสือ การขึ้นรถเมล์ แม้กระทั่งก๊อกดื่มน้ำยังต้องเด็ดขาดปะปนกันไม่ได้ ที่น่าสนใจที่สุดคือ สิทธิในการนั่งบนรถเมล์

ชีวิตคนดำในอเมริกาขมขื่น เป็นเบี้ยล่าง “แบบถูกต้องตามกฎหมาย” เพราะคนผิวขาว นักกฎหมายตั้งใจเขียนกฎหมายไว้เช่นนั้น ทางเดียวที่จะหลุดพ้นจากการกดขี่ ความต่ำต้อยในสังคม คือ ต้องดิ้นรนหาโอกาสให้ได้เรียนสูงที่สุดเท่าที่จะไปได้

การศึกษา คือ ลมใต้ปีกที่จะทำให้นกสีดำทั้งหลายบินขึ้นจากนรกได้ แม่ของโรซาผลักดัน หาเงินให้ลูกสาวได้เรียนทุกวิถีทาง ปัญหาใหญ่ คือ ไม่ค่อยมีโรงเรียนให้คนดำเข้าเรียน

เป็นที่ทราบกันดีว่า บรรดารัฐทางใต้ของอเมริกาในช่วง พ.ศ.2460 เป็นแหล่งรวมคนผิวสีที่ “เป็นคนงานในภาคการเกษตร” คนผิวสีต้องทำงานทุกชนิดที่ต้องใช้แรงงานหนัก

ส่วนรัฐทางตอนเหนือของอเมริกามีคนดำปะปนบ้าง ซึ่งก็เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนผิวสี โดยมากทำงานเป็นคนรับใช้ โอกาสที่จะได้เรียนหนังสือริบหรี่ ชัดเจนที่สุด คือ คนขาวจะปิดกั้น ไม่ให้โอกาสคนดำได้เรียนหนังสือ

หลังจากโรซาจบชั้นมัธยมในชุมชน แม่ส่งเธอไปเข้าเรียนโรงเรียนอาชีวะมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา เป็นโรงเรียนอาชีวะสำหรับสตรี

โรซาฝ่าฟันจนจบการศึกษา เธอมุ่งหน้าจะต่อไปยังวิทยาลัยครูเพื่อต้องการให้ได้วุฒิบัตร แต่ความฝันดับสลายเมื่อแม่ป่วยหนัก เธอต้องลาออกเพื่อใช้เวลาดูแลแม่

พ.ศ.2475 โรซาพบรักและแต่งงานกับ เรย์มอนต์ ช่างตัดผมในเมืองมอนต์โกเมอรี เธอช่วยสามีทำงานและเธอกลับไปเรียนต่อ ความฝันที่จะมีวุฒิบัตรของสตรีผิวสีเป็นจริง

ในที่สุดเธอสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ณ วิทยาลัยครูรัฐอลาบามา (Albama State Teacher College)

เรื่องการกีดกัน การแบ่งแยกสีผิว เป็นเรื่องเกิดขึ้นจริง ในบางเมือง คนผิวขาวกับคนผิวสีจะไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ โรงเรียนต้องแยกกัน ใช้โบสถ์แยกจากกัน หม้อน้ำร้อนต้มกาแฟ ต้องแยกจากกัน แยกการใช้ลิฟต์ ห้องน้ำคนขาวจะอยู่ในอาคาร แต่ของคนดำจะแยกอยู่นอกอาคาร

มีป้ายติดในหลากหลายสถานที่ สิ่งของที่ต้องใช้ระบุว่า “สำหรับคนผิวขาว” และจะมีป้าย “สำหรับคนผิวสี”

ชีวิตของคนผิวดำ จะต้องไปนั่งที่เบาะตอนท้ายรถเมล์ที่มีป้ายเขียนว่า “คนผิวสี (for colored)” แม้กระทั่งมีที่นั่งว่างบนรถเมล์ทางตอนหน้า คนดำก็จะไปนั่งไม่ได้

กฎเกณฑ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นมาช้านาน มันคือ กฎเหล็กที่ต้องทำตาม และเป็นกฎหมาย เข้มงวดกวดขันมากโดยเฉพาะรัฐทางใต้ของอเมริกาที่เป็นถิ่นฐานของคนผิวสี แต่รัฐทางเหนือของอเมริกาไม่เป็นเช่นนี้

การเหยียดผิวในอเมริกา รังเกียจ รังแกกันถึงตายนะครับ ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินองค์กรที่เรียกว่า KKK เป็นสมาคมลับที่คนผิวขาวรวมตัวกันเพื่อตั้งใจทำลายล้าง กำจัดคนผิวสีให้หมดไปจากสังคมอเมริกัน

คนผิวขาวเหล่านี้จะนัดแนะกันสวมชุดคลุมสีขาว สวมถุงคลุมหัวเพื่อปกปิดตัวตน เปิดเฉพาะนัยน์ตา รวมตัวกันไปเผาโรงเรียนคนผิวสี ไปเผาบ้าน เผาโบสถ์คนผิวสีที่เข้ามาอยู่ในชุมชน

ในยุคนั้น ถึงแม้เจ้าของกิจการสื่อมวลชนของมะกันเป็นคนผิวขาว ก็กล้าหาญ ยุติธรรมพอ ใจกว้างพอ ที่จะนำเสนอเป็นข่าวลงหนังสือพิมพ์ ทำเป็นข่าวโทรทัศน์ให้สังคมทราบ ฮอลลีวู้ดก็ใจกว้าง ใจถึง เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ฉายเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ไม่ได้ปกปิดบิดเบือนอะไร เพราะคนผิวขาวส่วนใหญ่ก็ไม่ชอบการกีดกัน กลั่นแกล้ง การลอบสังหาร การเอาเปรียบคนผิวสี

สังคมอเมริกันเมื่อรับทราบความจริง เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเองว่ามันสนุกสุขใจ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วล่ะหรือ ?

KKK ย่อมาจาก Ku Klux Klan ออกเสียงว่า คู คลักซ์ แคลน เป็นกลุ่มคนขาวที่ก่อตั้งขึ้นในรัฐทางตอนใต้ของอเมริกา แล้วขยายอิทธิพลไปทั่วประเทศ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนคนผิวขาวและมีพฤติกรรมเป็นผู้ก่อเหตุร้ายที่ซ่อนตัวภายใต้หมวกรูปกรวย หน้ากากและชุดคลุมสีขาว

KKK เป็นกลุ่มที่จะใช้ศาลเตี้ย ในการตัดสินประหารชีวิตคนผิวสี เพื่อข่มขู่ สังหารชาวอเมริกัน-แอฟริกัน ชาวยิว และชนผิวสีอื่นๆ

ปี พ.ศ.2408 หลังสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ในสหรัฐ ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเหนือ ทำให้ทาสคนผิวสีได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระและมีสิทธิเทียบเท่ากับคนผิวขาว

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ส่วนหนึ่งของกองทหารฝ่ายใต้ไม่พอใจ จึงรวมกันตัวเพื่อสร้างสังคมที่ให้สิทธิพิเศษแก่คนผิวขาวขึ้นอีกครั้งที่เมืองพัลลาสกี รัฐเทนเนสซี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2408 และนี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่มคนผิวขาวนามว่า Ku Klux Klan

กลับมาที่เรื่องความกล้าหาญของนางโรซา พาร์ค ครับ…ทุกอย่าง..มันเกิดขึ้นบนรถเมล์

ชีวิตประจำวันในเมืองมอนต์โกเมอรี บ่อยครั้งที่เธอพบเห็นคนขับรถเมล์ผิวขาวทำร้ายผู้โดยสารผิวสี เพราะความผิดทำร้ายร่างกายมีโทษปรับเพียง 24 ดอลลาร์

โรซา ครุ่นคิดถึงความงี่เง่าของกฎหมายในเมืองนี้ เธออดทนอดกลั้นต่อความไม่เท่าเทียมมานาน เธอและสามีตัดสินใจว่า เธอต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมที่ดีกว่า คนผิวสีในเวลานั้นก็ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไร ทำได้เพียงการพูดคุยกัน

โรซา มองเห็นโอกาสที่จะสร้างความเท่าเทียม…

วันหนึ่ง…เธอนำกลุ่มเพื่อนนักเรียนแอฟริกัน-อเมริกัน ไปต่อคิวปะปนกับชนผิวขาวเพื่อขึ้นรถไฟ พวกเธอไปยืน ณ พื้นที่ที่คนผิวขาวรอรถไฟ

เธอต้องการแสดงออกให้ชัดเจนถึงความเท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ ชาวเมืองผิวขาวออกอาการ มีปฏิกิริยารังเกียจ ต่อต้านการกระทำของกลุ่มนักเรียนผิวสี เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะขอความเป็นธรรมต่อไปด้วยสันติวิธี

1 ธันวาคม พ.ศ.2498 ณ เมืองมอนต์โกเมอรี รัฐอลาบามา เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของสังคมอเมริกัน (อีกครั้งหนึ่ง) ที่โลกได้เรียนรู้

เย็นวันนั้น หลังจากเลิกงาน เธอไปรอรถเมล์กลับบ้าน เมื่อรถมาจอดตรงป้าย เธอก้าวขึ้นบนรถโดยสารประจำทาง (ดูภาพป้ายรถเมล์ที่ยังคงรักษาไว้ในเมือง)

“ในวันนั้นฉันเหนื่อยจากการทำงานเย็บผ้าที่ห้างสรรพสินค้ามอนต์เกอเมอรี แฟร์ …ปวดหลัง อยากนั่งพัก ไปรอรถเมล์.. รถเมล์คันแรกมาไม่ขึ้นเพราะมันเต็ม ไม่มีที่นั่ง พอรถเมล์คันที่ 2 มาก็ขึ้นไปเพราะว่าง ขึ้นไปก็นั่ง..อยู่ดีๆ ก็มีคนผิวขาวขึ้นรถเมล์และสั่งให้ลุก พอไม่ยอมลุก คนขับรถบัสสั่งให้ตนลุกและให้คนผิวขาวคนนั้นนั่ง เมื่อขัดคำสั่ง คนขับรถบัสจึงแจ้งตำรวจ”

“ลุกขึ้นเดี๋ยวนี้” คนขับรถหันมาตะคอกใส่เธออีกครั้ง

โรซาปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งคนขับรถเมล์ เธอยังคงนั่งนิ่งต่อไป รถเมล์ไม่เคลื่อนไปไหน คนขับต้องการที่จะให้เธอลุกขึ้น เพื่อที่จะเปิดที่นั่งไว้ให้คนผิวขาว .. ในเวลาเพียงชั่วครู่ ตำรวจเดินทางมาถึงรถเมล์ที่เป็นปัญหา

โรซา พาร์ค ถูกตำรวจจับกุมเข้าคุกทันที ในข้อหาทำผิดกฎหมายและต้องถูกปรับ 14 ดอลลาร์

โรซาปฏิเสธที่จะจ่ายค่าปรับ เธอประกาศว่า กฎหมายที่ใช้อยู่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ เธอจะฟ้องต่อศาล

ข่าวที่เธอถูกจับกุม แพร่กระจายไปทั้งเมืองมอนต์โกเมอรีในชั่วข้ามคืน ชาวแอฟริกัน-อเมริกันกลุ่มใหญ่ ปรึกษาหารือกันในตอนค่ำ คนผิวสีตัดสินใจจะบอยคอต ไม่ขอขึ้นรถเมล์ในเมือง

หนึ่งในแกนนำของเหตุการณ์นั้น คือ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์

ชีวิตในอเมริกา ถ้าคุณไม่ใช้รถเมล์ จะเป็นชีวิตที่แสนลำเค็ญ เพราะคนผิวสี ยังยากจน ไม่สามารถซื้อรถเป็นของตัวเองได้

คนผิวสีในอเมริกา เป็นชนชั้นที่ยังต้องใช้แรงงานหนัก มีความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก แต่น้ำใจนักสู้ ความรักหมู่คณะ น้ำใจของคนกลุ่มนี้เลอเลิศยิ่ง คนผิวสีช่วยกันจัด “รถรวม” เพื่อสงเคราะห์กันเองในยามยาก

นับแต่วันนั้น คนดำทั้งหลายต้องเดินไปขึ้น “รถรวม” บางครอบครัวไม่สามารถหาซื้ออาหาร ไม่มีคนดำขึ้นรถเมล์อีกเลย

ท่านผู้อ่านเชื่อมั้ยครับ คนผิวสีเข้มแข็ง บอยคอตไม่ยอมขึ้นรถเมล์ในเมืองนี้นานเกือบ 1 ปี เพื่อรอคำตัดสินของศาลสูง

13 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 เกือบหนึ่งปีจากเหตุการณ์ เหมือนสายฟ้าฟาดกลางวันแสกๆ ศาลสูงของสหรัฐประกาศว่า การแบ่งแยกสีผิว การแบ่งแยกที่นั่งบนรถเมล์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลสูงตัดสินออกมาว่า กฎหมายของรัฐอลาบามา ในเรื่องการแบ่งสีผิว เชื้อชาติ ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ

นับเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ศาลสูงตัดสินด้วยหลักการ ธรรมาภิบาล ยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด

ไม่ว่าสังคม แก๊ง ก๊วน จะเลวทรามต่ำช้าแค่ไหน ศาลเป็นที่พึ่งของสังคมได้จริง

หลังจากนั้นก็ใช่ว่าชีวิตของโรซา พาร์ค จะสดใสราบรื่น หลังคำพิพากษา รัฐอลาบามาต้องปรับแก้กฎหมาย เธอถูกคุกคาม ข่มขู่ บ้านของบรรดาผู้นำคนผิวสีถูกขว้างระเบิด รวมทั้งบ้านของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง

ต่อมาในปี พ.ศ.2500 เธอและครอบครัวต้องหนีตายไปอยู่ที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน ทางตอนเหนือของอเมริกา (มีการเหยียดผิวน้อยกว่าทางตอนใต้ของอเมริกา)

โรซา พาร์ค ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมของคนแอฟริกัน-อเมริกันอย่างต่อเนื่อง เธอเข้าร่วมการพูดคุย เธอกลายเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับของสังคมอเมริกัน

โรซา พาร์ค ทราบดีว่า สังคมมันมีปัญหาที่ตัวกฎหมาย เพราะดันไปเขียนกฎหมายไว้เช่นนั้น เธอเข้าใจคนผิวขาว และรู้ว่าคนผิวขาวนั้นไม่ได้เลวร้าย และยังเมตตากรุณาต่อเธอ ดังนั้นการต่อสู้ของเธอจึงเป็นไปในทางไม่ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด

ผู้เขียนขอยืนยันว่า คนผิวขาวในอเมริกา ก็มิได้จ้องรังเกียจ จงใจรังแกคนผิวสีไปซะหมดนะครับ คนดี คนเลว คนชั่วช้าสามานย์ ไม่ได้ขึ้นกับสีผิว เชื้อชาติ ศาสนา การศึกษา คนดี คนเลว ก็มีปะปนระคนกันไป ที่ไหนๆ ในโลกนี้ก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่

ไอ้ที่เรียนหนังสือกันมา ปริญญายาวยืด จบจากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก แถมมีคำนำหน้า-มีบรรดาศักดิ์ทางวิชาการยาว 1 ไม้บรรทัด ยังสามารถทำตัวเป็นที่น่ารังเกียจ ชิงชังของผู้คนได้

เรียนมาเยอะ ความรู้ท่วมหัว แต่กะล่อนลิ้นยาวตวัดถึงใบหู เชื่อถือไม่ได้ สร้างเวร ก่อกรรมทั้งชีวิต ก็มีให้เห็นถมเถไป

โรซา พาร์ค กลายเป็นสัญลักษณ์ของนักต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมเสมอภาคในอเมริกา

เธอยังคงตรากตรำ ทำงานหนัก เธอต้องไปทำงานเพิ่มโดยไปเย็บเสื้อผ้า เพื่อหารายได้เสริม

เรื่องราวที่ขมขื่นแบบนี้ มิได้เกิดขึ้นเฉพาะในอเมริกานะครับ ประเทศอื่นๆ ในโลกนี้ ก็มีเรื่องเยี่ยงนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องศาสนา ผลประโยชน์ทางธุรกิจ และการเมือง

สิ่งที่ดีที่สุดในสังคมอเมริกา คือ มีการเปิดเผยความจริง มีเอกสารหลักฐานที่ให้สังคมได้เรียนรู้แบบไม่ต้องปกปิด อำพราง

สิ่งที่เป็น “รูปธรรม” สำหรับการรำลึกถึง คนธรรมดาคนหนึ่งที่กล้าหาญ ยืนหยัดบนความถูกต้อง คือ รถเมล์คันนั้น ถูกนำไปตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ในรัฐมิชิแกน และอดีตประธานาธิบดีโอบามายังขึ้นไปนั่งบนรถเมล์คันนั้นเพื่อรำลึกถึงเธอ (ดูภาพ)

ในปี พ.ศ.2508-2531 เธอทำงานเป็นเลขานุการของ ส.ส. จอห์น คอนเยอร์ส ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

เรื่องของโรซา พาร์ค ทำให้นึกไปถึงประธานาธิบดีบารัค โอบามา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐ คนทั้งโลกนึกไม่ถึงว่าอเมริกาจะยอมรับคนผิวสีให้เป็นประธานาธิบดี

ส่วน ดร.มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์ เริ่มเป็นที่รู้จักหลังจากบทบาท การเป็นผู้นำการคว่ำบาตรรถโดยสาร ที่ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่มีส่วนเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าอเมริกา เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ.2507

4 เมษายน พ.ศ.2511 ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหารที่เมืองเมมฟิส (Memphis) รัฐเทนเนสซี (Tennessee) ขณะกำลังเดินทางไปช่วยพนักงานเก็บขยะ ประท้วงหยุดงานเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่เท่าเทียม

ช่วงปลายชีวิต โรซา พาร์ค มุ่งมั่นทำงานเพื่อ “ความยุติธรรม” ของคนผิวสีในอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน เธอได้รับเหรียญรางวัลการสู้เพื่ออิสรภาพ มีการนำชื่อของเธอไปตั้งเป็นชื่อห้องสมุดและทำพิพิธภัณฑ์ที่มหาวิทยาลัยทรอย ในมอนต์โกเมอรี

นิตยสารไทม์จัดอันดับให้เธอเป็นหนึ่งในที่สุดของศตวรรษที่ 20 โดยจัดอันดับเธอเป็น 1 ใน 100 ของสตรีชาวแอฟริกัน-อเมริกา ผู้ยิ่งใหญ่

เธอได้รับการขนานนามว่า มารดาแห่งขบวนการเพื่ออิสรภาพ

ผู้หญิงที่เรียบง่าย ผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกา เสียชีวิตอย่างสงบในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2548 ขณะที่เธออายุ 92 ปี เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา และกลายเป็นหญิงผิวสีคนแรกที่ได้รับการจารึกนามไว้ใน “อนุสาวรีย์พลเมืองผู้สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ” (Statuary Hall)

รัฐแคลิฟอร์เนียและมิสซูรี จะจัดงานวันรำลึกถึงเธอใน 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ส่วนรัฐโอเรกอนและโอไฮโอ จะจัดงานรำลึกถึงเธอทุกวันที่ 1 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่เธอถูกจับกุม

ชื่อของเธอได้รับการจารึกในหอเกียรติยศสตรีผู้ทรงเกียรติแห่งรัฐอลาบามา

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.history.com/topics/black-history/rosa-parks

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image