เดินหน้าชน : ทำไม! ต้องทหาร

ตั้งแต่ปี 2475 ที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ “ประชาธิปไตย” ก็ยังพัฒนาไปไม่ถึงไหน ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

มีทั้งการรัฐประหารที่ทำให้ “ประชาธิปไตย” ชะงัก และมีเหตุการณ์รุนแรงที่เสียเลือดเสียเนื้อหลายครั้ง

ประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมา มีผู้ให้คำจำกัดความต่างๆ เช่น ประชาธิปไตยครึ่งใบ ประชาธิปไตยเต็มใบ ประชาธิปไตยภายใต้ท็อปบู๊ต ฯลฯ

บางช่วงเวลา ที่ประชาธิปไตยทำท่าว่าจะเบ่งบาน ก็เกิดการรัฐประหาร เปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลใหม่ และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าทิ้ง เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

Advertisement

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วรวม 20 ฉบับ ฉบับสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนแต่งตั้ง

ขณะที่การรัฐประหารเกิดขึ้นรวม 13 ครั้ง ล่าสุดคือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ คสช. นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีจำนวน 29 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารถึง 13 คน

Advertisement

ซึ่งคนที่ 13 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

ที่ผ่านมา จึงมีผูู้พยายามหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นกับประชาธิปไตยในประเทศไทย

สาเหตุหนึ่ง อาจจะมาจาก “ประชาธิปไตย” ตามวาทะของ อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐที่ว่า ระบอบประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน ที่ทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นสากลนั้น ยังมีปัญหาว่า บุคคลบางกลุ่มบางคนไม่ยอมรับ

ที่อำนาจอธิปไตยจะตกอยู่ในมือของประชาชนอย่างแท้จริง

โดยเฉพาะบางคนที่ได้ชื่อว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นผู้นำทางความคิด และสร้างกระแสให้การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ

บางคนบางกลุ่มอาจจะรับไม่ได้หรือเสียความรู้สึก ที่เคยเป็นบุคคลสำคัญ หรือสังคมเคยให้ความสำคัญ หรือให้ความเคารพนับถือ

หรืออาจจะคิดไปเองก็ได้ว่า มีความสำคัญต่อสังคม

โดยความทรงจำยังฝังรากลึก หรืออาจจะเป็นคำสั่งสอนที่ตกทอดกันมา โดยลืมไปว่า ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว

เมื่อถูกปกครองโดยประชาชน หรือประชาชนขึ้นเป็นผู้นำประเทศ จึงอาจจะรับไม่ได้

ที่ผ่านมา จะเห็น “ชนชั้้นนำ” บางคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวและช่วยเหลือ เพื่อให้มีการเกิดเปลี่ยนแปลงผู้นำประเทศ

นั่นคือ การรัฐประหาร

เพื่อหวังให้ตัวเองกลับมามีบทบาท มีความสำคัญ และได้รับยกย่องเชิดชูจากสังคมอีกครั้ง

การที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี ที่เป็นทหารถึง 13 คน ก็แสดงให้เห็นถึงแนวคิดได้ในระดับหนึ่งว่า ผู้นำประเทศควรเป็นทหาร

ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้ง มักจะมีข้ออ้างหรือเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อความมั่นคงของชาติ

ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่า เพื่อชนชั้นนำด้วยหรือไม่

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น กระแสหนุนให้ “ทหาร” เป็นผู้นำประเทศ ก็ยังเป็นกระแสเรียกร้องและได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง

แม้ “ชนชั้นนำ” บางคน จะไม่พอใจในพฤติกรรมที่่ผ่านๆ มาของทหารบางคนอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่า ที่จะให้ประชาชนขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

สะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำบางคนบางกลุ่มยังไม่ยอมรับประชาชน

ยังติดกรอบความคิดว่า ฐานะ ศักดิ์ศรี ความรู้ ความสามารถ เหนือกว่าประชาชน

ความเหลื่อมล้ำจึงไม่มีทางหมดไปจากประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image