ทุกข์ของ‘หัวเว่ย’คือทุกข์ของ‘เมืองจีน’

นางเมิ่ง หวั่นโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคม หัวเว่ย (Huawei) ได้ถูกจับกุมที่สนามบินแวนคูเวอร์ แคนาดา เมื่อ 1 ธันวาคม ตามคำร้องขอของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำละเมิดอันเกี่ยวกับมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน

ต่อมา “เมิ่ง หวั่นโจว” ได้ขึ้นศาลที่แวนคูเวอร์เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อรับฟังคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

อัยการยื่นฟ้องข้อหา “เจตนาวางแผนหลอกลวงสถาบันการเงินสหรัฐรวมหลายแห่ง” ถ้าความผิดสำเร็จต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 30 ปี

ศาลนัดฟังการพิจารณาวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม นอกจากนี้ ศาลได้ยกเลิกคำร้องของ “เมิ่ง หวั่นโจว” ที่ขอให้ระงับการเสนอข่าวเกี่ยวการถูกจับกุมด้วย

Advertisement

อัยการบรรยายฟ้องว่า “เมิ่ง หวั่นโจว ได้ให้ข้อมูลอันเป็นเท็จกับธนาคารในสหรัฐหลายแห่ง ว่าหัวเว่ยไม่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับบริษัท SkyCom ที่ฮ่องกง แต่ความจริงปรากฏว่า SkyCom ก็คือบริษัทลูกของหัวเว่ย ที่ได้ค้าขายกับอิหร่านตั้งแต่ 2009 ถึง 2014 เป็นการกระทำละเมิดต่อคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐและสหภาพยุโรป กรณีเป็นการปกปิดซ่อนเร้นสิ่งซึ่งควรแจ้งให้ทราบ เมื่อเธอทราบว่าถูกตรวจสอบ จึงหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านสหรัฐ

เนื่องจากเธอเป็นผู้ที่มีฐานะล่ำซำและมีสายใยเครือข่ายทางการเมืองอย่างกว้างขวาง อาจเสี่ยงกับการหลบหนี กอปรกับคดีดังกล่าวมีอัตราโทษสูง อัยการจึงคัดค้านการประกันตัว”

ศาลนครนิวยอร์กเปิดเผยว่า “ได้ออกหมายจับเมิ่ง หวั่นโจว ตั้งแต่ 22 สิงหาคม ต่อมาได้ทราบว่า 29 พฤศจิกายน เธอจะออกเดินทางจากฮ่องกงไปเปลี่ยนเครื่องที่แวนคูเวอร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศเม็กซิโก สหรัฐจึงร้องขอให้แคนาดาทำการจับกุม และส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่สหรัฐต่อไป”

Advertisement

ต่อมา 8 ธันวาคม กระทรวงต่างประเทศจีนได้เรียกเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าพบ เพื่อคัดค้านการจับกุม และขอให้ปล่อยตัวทันที หากมิฉะนั้น รัฐบาลแคนาดาจะต้องรับผิดชอบบรรดาความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

ในขณะที่สำนักข่าวซินหัว ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลจีน ได้วิพากษ์ว่า การที่รัฐบาลแคนาดาทำการจับกุม “เมิ่ง หวั่นโจว” เป็นพฤติกรรมที่ขาดไร้มนุษยธรรม เพราะว่าเธอมีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูง และโรค Asphyxia (อาการหายใจไม่ออก)

ย้อนคิดคำสอนของ “เหมาเจ๋อตง” ที่ว่า “คนจีนจะไปอยู่ที่ใดก็ต้องเคารพกฎหมายของที่นั่น”

ฉะนั้น รัฐบาลจีนก็ต้องพินิจพิเคราะห์ให้ดีว่า ผู้ที่ถูกจับนั้นมีความผิดจริงหรือไม่ ถ้าผิดก็ต้องปล่อยให้ประเทศนั้นดำเนินคดีไปตามกฎหมาย มิใช่คนจีนถูกจับก็เรียกทูตมาพบ พูดจาข่มขู่ให้ปล่อย ทั้งที่ยังไม่ทราบสาเหตุและข้อเท็จจริง กรณีเป็นการกระทบต่ออธิปไตยและสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ ตลอดจนผิดมารยาททางการทูต และทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ

ส่วนข้ออ้างของ “ซินหัว” นั้นปราศจากความนึกคิดแห่งวิญญูชน และไร้เดียงสา เพราะว่า

การกระทำความผิดกฎหมายกับปัญหาสุขภาพเป็นคนละประเด็นกัน ผิดจริงก็ต้องรับโทษตามกฎหมาย เป็นหน้าที่ของตุลาการ ส่วนสุขภาพก็ต้องรักษากันไป เป็นหน้าที่ของแพทย์

(ขณะที่เขียนคือ 11 ธ.ค. ตรงกับ 10 ธ.ค.ของแคนาดา ซึ่งเป็นวันที่ศาลนัดฟังการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของเมิ่ง หวั่นโจว แต่ยังไม่ปรากฏมีความคืบหน้าแต่อย่างใด)

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ไม่ว่า “เมิ่ง หวั่นโจว” จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ น่าจะมีส่วนเกี่ยวกับกรณีที่สหรัฐทำการสกัดการเจริญเติบโตทางไฮเทคโนโลยีของจีน

เพราะว่าหัวเว่ยเป็น “ผู้นำเบอร์ใหญ่” ทางด้านเทคนิคระบบ 5จี ของโลก จึงต้องตกเป็นเป้าในการถูกโจมตี เหตุการณ์ของ “เมิ่ง หวั่นโจว” เป็นการข่มขวัญบรรดาพันธมิตร

เป็นขบวนการเชือดไก่ให้ลิงดู

บัดนี้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ร่วมมือกับสหรัฐในการห้ามมิให้หัวเว่ยร่วมโครงการก่อตั้งเน็ตเวิร์กของ 5จี ส่วนสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และแคนาดาก็ได้รับแรงกดดันให้เข้าร่วม

ปฏิบัติการปิดฉาก 5จี ของหัวเว่ยกำลังเริ่มขึ้น เป็นเจตนาของสหรัฐที่ประสงค์ครองความเป็นใหญ่ต่อไป กรรมย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา

ถ้า “เมิ่ง หวั่นโจว” มีความผิดจริง ก็เข้าทางสหรัฐพอดี

การจับกุม “เมิ่ง หวั่นโจว” ซึ่งเป็นบุตรสาวของ “เหริน เจิ้งเฟย” ผู้ก่อตั้ง “หัวเว่ย” และขอให้ส่งตัวกลับไปดำเนินคดีที่สหรัฐนั้น ศาลแคนาดาจะมีการวินิจฉัยเป็นประการใด สังคมจับตามอง

นักลงทุนสหรัฐได้พรรณนาว่า ลองตรองดูสักนิด ถ้าประเทศจีนทำการจับกุมบุตรของ “สตีฟ จ๊อบ” ผู้ก่อตั้ง “แอปเปิล” จึงจะเข้าใจถึงความรุนแรงของสหรัฐ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สหรัฐสงสัยว่าหัวเว่ยกระทำละเมิดต่อคำสั่งคว่ำบาตรอิหร่าน แต่สังคมโลกมีการวิพากษ์ว่า กรณีน่าจะเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจไฮเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐ

ปฏิบัติการของสหรัฐที่มีต่อจีน คือประเด็นการพัฒนาเทคนิคระบบ 5จี ที่โลกกำลังมุ่งสู่สมัยของ “IoT” (Internet of Things) คืออินเตอร์เน็ตสารพัดเรื่อง โดยบรรดาอุปกรณ์และสรรพสิ่งทั้งหลายได้ถูกเชื่อมโยงสู่โลกอินเตอร์เน็ต สามารถสั่งการและควบคุมการทำงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เช่น การเปิด-ปิด อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสาร เครื่องมือทางการเกษตร อาคาร บ้านเรือน ตลอดจนเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นต้น

เป็นการเปลี่ยนรูปแบบและยกระดับการดำรงชีพ

เพราะระบบ 5จี มีความเร็วกว่า 4จี เป็นอันมาก เป็นกุญแจที่เปิดโลกอินเตอร์เน็ตในมิติใหม่

เวลา 5 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุน 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อค้นคว้าเทคนิคเกี่ยวกับ 5จี จนได้รับความสำเร็จ และนำหน้าสหรัฐ

หัวเว่ยยังได้เข้าร่วมการทดสอบระบบ 5จี ในระหว่าง 64 ประเทศ ผลปรากฏเทคนิคเป็นเลิศ และเป็นที่ยอมรับของสากล อีกทั้งได้รับการยืนยันจากองค์การสื่อสารของสหราชอาณาจักรว่า “ในโลกปัจจุบันผู้ผลิตอุปกรณ์ 5จี ที่แท้จริงก็คือหัวเว่ย”

ความสำเร็จอันสูงยิ่ง เสมือนต้นไม้ใหญ่ก็ย่อมต้านลม จึงเป็นที่เพ่งเล็งของตะวันตก

เมื่อไม่นานมานี้ จึงมีข้าราชการของสหรัฐไปเดินสายในยุโรป เพื่อร้องขอให้ช่วยกันต่อต้าน “หัวเว่ย” เข้าร่วมโครงการก่อตั้งเน็ตเวิร์ก 5จี โดยให้เหตุผลว่า เป็นการคุกคามความมั่นคง

ปักกิ่งก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่าสินค้าไฮเทคที่นำเข้าจากสหรัฐส่อพิรุธ อาจเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานแก่ “ซีไอเอ” เพราะสหรัฐได้ต่อต้าน “หัวเว่ย” มานานแล้ว

ทว่า “หัวเว่ย” ยังมีธุรกิจจำนวนไม่น้อยในสหราชอาณาจักร เยอรมนี และแคนาดา

ว่ากันว่า สหราชอาณาจักรเสมือน “กระดานหก” ของหัวเว่ยในยุโรป

ตามที่ไฟแนนเชียลไทมส์ได้รายงานครั้งล่าสุดมีความว่า สหราชอาณาจักรได้ตรวจสอบและประเมินผลยังไม่พบว่าอุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ยมีความเสี่ยงอันน่าเชื่อว่าเป็น “สปาย” แต่อย่างใด เพียงแต่พบว่า ในโปรแกรมอินเตอร์เน็ตมีช่องโหว่ต้องรีบอุดเท่านั้น

แต่ว่าสหรัฐจงใจและเจตนาจะให้พันธมิตรร่วมกันเชือด “หัวเว่ย” ให้ได้

สังคมโลกเห็นว่า ประเด็นมิใช่เพียงแต่ความปลอดภัยทางด้านอินเตอร์เน็ตเท่านั้น หากรวมทั้งการสกัดความเจริญเติบโตทางด้านไฮเทคโนโลยีของจีน

สหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา รวมตัวกันตั้งเป็น “พันธมิตรข่าวกรอง” เพื่อควบคุมการสื่อสารทั่วโลก ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ร่วมกับสหรัฐสกัด “หัวเว่ย” ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนแคนาดายังมิได้มีการตัดสินใจ

สหรัฐยังขอให้ญี่ปุ่น เกาหลี และพันธมิตรยุโรปเข้าร่วม “หน่วยข่าวกรองพันธมิตร” แต่เบื้องต้นทราบว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตัดสินใจไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของ “หัวเว่ย” ส่วนเยอรมนีจะปฏิเสธสินค้าหัวเว่ยหรือไม่ แนวโน้มยังอยู่ระหว่างครึ่งต่อครึ่ง

แต่ต้องไม่ลืมว่า การที่สหรัฐจะปิดฉาก “5G Huawei” ได้สำเร็จหรือไม่นั้น สหราชอาณาจักรและเยอรมนีจะเป็นตัวชี้ขาด

ตั้งแต่อดีต 200 ปีมาแล้ว คำว่า “ใจกลาง” กับ “ขอบข่าย” คือศัพท์ที่ตะวันตกนิยมใช้อันเกี่ยวกับทัศนคติแห่งวินัยสากล เป็นต้นว่า ตะวันตกคือใจกลางอันกระทบมิได้ บัดนี้ ประเทศจีนแจ้งเกิด จึงกระทบถึงใจกลาง สหรัฐหวังครองแชมป์ตลอดกาล และให้ตะวันตกกำหนด “มาตรฐานสากล” อย่างต่อเนื่อง จึงพยายามเขียนเส้นแบ่งเขต เพื่อให้หลุดพ้นจากการเกี่ยวข้องกับจีน (disengagement) ประเด็นของ “5จี” ก็แบ่งแยกกันด้วยวิธีเดียวกัน

ส่วนข้อเสนอของจีนในประเด็นวินัยสากล คือตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานประเทศต่างกัน ความทันสมัยต่างกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายใน “วินัยสากล”

ทั้งนี้ โดยไม่แบ่งใจกลางและขอบเขต ไม่เพิ่มเงื่อนไขในการเข้าร่วมธุรกรรม

นโยบาย “One Belt One Road” เป็นการสะท้อนให้เห็นแนวทางโลกาภิวัตน์ตามเวอร์ชั่นของจีน ซึ่งต่างกับลัทธิเสรีที่สหรัฐกำลังแอพพลายอยู่คือ “Law of the jungle” ซึ่งเป็นกฎแห่งความอยู่รอดในป่า ผู้แข็งแรงกว่าย่อมเป็นผู้รอด ผู้อ่อนแอกว่าย่อมเป็นเหยื่อของผู้แข็งแรงกว่า

มุมมองจีน-สหรัฐต่างกัน จึงกลายเป็นระเบียบสากลและมาตรฐานมี 2 เวอร์ชั่น ตั้งแต่รูปแบบโลกาภิวัตน์จนถึงโลกอินเตอร์เน็ต ก็เป็นปรากฏการณ์เดียวกัน

หัวเว่ยมีตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาลในประเทศจีน รัสเซีย และแอฟริกา ถ้าสหรัฐสามารถปิดฉาก 5จี ได้สำเร็จ โมเดล 5จี ของหัวเว่ยก็ยังเป็นรูปแบบที่สำคัญชุดหนึ่งของโลก

ครั้งหนึ่ง “เอริก ชมิดต์” อดีตประธานกรรมการบริหาร google เคยแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าจีนกับสหรัฐมีการแข่งขันกันทางด้านไอทีต่อไป อีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะต้องมีระบบอินเตอร์เน็ตเกิดขึ้น 2 ชุดในเอกภพเดียวกัน โดยจีน-สหรัฐผลัดกันเป็นผู้นำ

เชื่อว่ากลุ่มประเทศที่ร่วมโครงการ “One Belt One Road” จะต้องใช้เวอร์ชั่นของจีน

การพยากรณ์ของ “เอริก ชมิดต์” จะเป็นจริงหรือไม่ น่าจับตามอง

แต่ที่แน่ๆ คือ “ทุกข์ของหัวเว่ย คือ ทุกข์ของเมืองจีน”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image