รัฐประหาร พ.ศ.2494 กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492

ผู้เขียนเกิดเมื่อ พ.ศ.2491 และได้เรียนรู้ภายหลังว่าทศวรรษ 2490 นี่เป็นทศวรรษแห่งการกบฏและรัฐประหารของประเทศไทยเลยทีเดียว (กบฏคือการทำรัฐประหารที่ไม่สำเร็จ ส่วนรัฐประหารคือการยึดอำนาจรัฐหรือการฆ่ารัฐเดิมได้สำเร็จนั่นเอง) กล่าวคือมีการกบฏ 5 ครั้งคือ

1) กบฏเสนาธิการ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 เมื่อนายทหารระดับเสนาธิการของกองทัพ เช่น พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นหัวหน้าคณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจการปกครอง แต่รัฐบาลทราบก่อนจึงปราบได้สำเร็จ

2) กบฏแบ่งแยกดินแดน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 ได้มีการจับกุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภาคอีสานหลายคน เช่น นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายเตียง ศิริขันธ์ นายฟอง สิทธิธรรม โดยกล่าวหาว่ารวมกันดำเนินการฝึกอาวุธ เพื่อแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการจับกุมได้ เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิคุ้มครองทางการเมือง จากนั้นจึงนำไปยิงทิ้ง โดยทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตอย่างน่าสงสัยบนรถขนนักโทษของตำรวจ แต่ทางตำรวจแถลงว่าเกิดจากการปะทะกับโจรมลายูที่จะมาชิงตัวนักโทษ ซึ่งไม่มีใครเชื่อถือ

3) กบฏวังหลวง ชื่อเรียกกบฏที่เกิดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เกิดขึ้นเมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี นำกำลังทหารเรือและอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่งเข้ายึดพระบรมมหาราชวังและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ แต่ถูกปราบปรามได้สำเร็จ

Advertisement

4) กบฏแมนฮัตตัน เป็นการกบฏในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เมื่อทหารเรือกลุ่มหนึ่ง เรียกตัวเองว่า “คณะกู้ชาติ” นำโดย น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา และ น.ต.มนัส จารุภา ทำการกบฏจี้ตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ระหว่างเป็นประธานในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนของสหรัฐอเมริกา ชื่อ “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิฐ โดยนำไปกักขังไว้ในเรือรบหลวงชื่อ “ศรีอยุธยา” ที่จอดรออยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ถูกปราบปรามได้สำเร็จ

5) กบฏสันติภาพ ชื่อเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้จับกุมประชาชนจำนวนมาก โดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2478 มาตรา 4 จากนั้นยังได้ทยอยจับกุมประชาชนเพิ่มเป็นระยะๆ จนกระทั่งถึงกลางปี พ.ศ.2496 ก็ยังมีข่าวว่าได้จับกุมและสึกพระภิกษุที่เคยสนับสนุนและเผยแพร่สันติภาพอีก บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล บางรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ คดีนี้ อัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหารวมทั้งสิ้น 54 ราย ศาลได้พิพากษาจำคุก บางราย 13 ปี บางราย 20 ปี และได้รับการประกันตัวและพ้นโทษตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เนื่องในโอกาสพุทธศตวรรษที่ 25 ใน พ.ศ.2500

ส่วนรัฐประหารนั้นมี 3 ครั้งคือ

1) รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

2) รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ.2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 จี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

3) รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาล
ตนเอง

ครับ ! มาติดใจตรงรัฐประหารตัวเองปี พ.ศ.2494 ของจอมพล ป. ซึ่งเป็นการยึดอำนาจตัวเองเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่นายทหารรุ่นหลังยึดเป็นแบบอย่างเพราะมันสะดวกสบายดีเหลือเกิน การรัฐประหารครั้งนี้ค้างคาใจผู้เขียนมากเนื่องจากเกิดขึ้นก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งขณะนั้นได้เสด็จฯกลับจากสวิตเซอร์แลนด์ เรือพระที่นั่งจะเข้าอ่าวไทย จะเสด็จนิวัติพระนครเพียง 16 ชั่วโมงเท่านั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินออกจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทยในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 และเสด็จพระราชดำเนินถึงประเทศไทยในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2494 โดยที่คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้ขอให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลงพระนามในประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ แต่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัตฯ มิได้ทรงลงพระนาม โดยทรงให้เหตุผลว่า ควรจะยกให้เป็นพระราชวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ในวันต่อมาก็ได้มีประกาศว่าคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ถืออำนาจแทนพระเจ้าแผ่นดิน ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ของไทย ที่จัดร่างโดยสภาผู้แทนราษฎรโดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 และถูกยกเลิกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำรัฐประหารตนเองโดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 นี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์คับขันที่ประเทศชาติเผชิญอยู่คือภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์และการคอร์รัปชั่น จำเป็นต้องนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความรุ่งเรืองสถาพรแก่ประเทศชาติสืบไป (อ้างอิงจากคำปรารภการรัฐประหาร พ.ศ.2494)

มีการสันนิษฐานว่าสาเหตุที่แท้จริงในการรัฐประหารครั้งนี้คงมีที่มาจากมาตรา 142 และมาตรา 143 อันเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารครั้งนี้คือ

มาตรา 142 รัฐมนตรีจะเป็นข้าราชการประจำมิได้

มาตรา 143 รัฐมนตรีจะกระทำการใดๆ ที่ห้ามไว้มิให้สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนกระทำตามที่บัญญัติในมาตรา 80 มิได้และนอกจากนั้นรัฐมนตรีจะเป็นผู้จัดการ กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทนหรือลูกจ้างของบุคคล ห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์การใดๆ ซึ่งดำเนินธุรกิจเพื่อค้ากำไรก็มิได้ด้วย
น่าคิดนะครับ ว่างๆ ค้นประวัติศาสตร์มาศึกษาก็ได้อะไรดีๆ มาคิดคำนึงดีเหมือนกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image