อักษร 福 หัวใจวัฒนธรรมจีน แพร่หลายทั่วโลก จาก‘ซูสีไทเฮา’ถึง‘เทเรซา เมย์’

ศตวรรษที่ 21 เป็นสมัยจีนเฟื่องฟู กระแสมาแรง นิยมใช้สินค้าจีน ใส่เสื้อผ้าจีน แต่งกายแบบจีน เรียนภาษาจีน และเลียนแบบวัฒนธรรมจีน เช่น

ใช้ตัวอักษร 福 ประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ เขียนใส่กระดาษสีแดงแปะติดหน้าบ้าน เพื่อความเป็นสิริมงคล ล่าสุดเมืองไทยมีคนสักตัวอักษรที่แขนและลำตัว

อักษร 福 คือหัวใจของวัฒนธรรมจีน ภาษาจีนกลางอ่านว่า “ฝู” แปลว่า โชคดีมีสุข

เชื่อกันว่าอักษร 福 (ฝู) เป็นสิริมงคล เป็นตัวนำโชคและความสุข จึงใช้กันแพร่หลาย

Advertisement

สมัยโบราณตามชนบทของจีนนิยมใช้อักษร 福 (ฝู) ติดประตูหน้าบ้าน ในเทศกาลตรุษจีน ปัจจุบันในชุมชนเมืองก็ติดกันทั่วไป และแพร่ไปยังต่างประเทศอีกด้วย

ปัจจุบันอักษร 福 (ฝู) ยังนำมาใช้กันในวันขึ้นปีใหม่ งานมงคลสมรส งานวันคล้ายวันเกิด ตลอดจนงานรื่นเริง อีกทั้งใช้ในวาระซึ่งมิใช่งานมงคล แต่ไม่เหมาะที่จะกล่าว

นอกจากนี้ ยังติดกันตามบ้านโดยมิใช่เทศกาลและไม่มีวาระอันควร คนส่วนหนึ่งนิยมใส่เสื้อสีแดงและพิมพ์ตัวอักษรลงบนเสื้อ อักษร 福 (ฝู) ใช้กันทั้ง 4 ฤดู เสมือน “ยาบำรุงหัวใจ”

Advertisement

กระแสจีนเป็นกระแสระดับโลก และเป็นสมัยที่คนไทยเชื้อสายจีนอกผายไหล่ผึ่งอยากแสดงออกว่าเป็นคนจีน ส่วนใหญ่อยากเป็นจีน โดยอ้างว่าบรรพบุรุษเป็นคนจีน มีสายเลือดจีน

บางคนกลับไปใช้ “แซ่” แทนชื่อสกุลไทย

ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ตรงกันข้ามกับสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เนื่องจากเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลนอกจากมิได้ให้ความสำคัญแก่คนจีนลูกจีน กลับถูกกดดันด้วยเหตุผลต่างๆ จึงต้องอยู่กันอย่างระส่ำระสาย คำว่าจีนเป็นที่ระคายเคืองของรัฐบาล คนส่วนใหญ่จึงไม่กล้าแสดงตัวว่าเป็นคนจีนลูกจีน ไม่กล้าเปิดเผยว่ามีเลือดจีน ลูกจีนที่เกิดมาก็ตั้งชื่อเป็นไทย ที่มีชื่อจีนอยู่ก็เปลี่ยนเป็นชื่อไทย คนจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย  เมื่อคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ ก็ขอแปลงสัญชาติและเปลี่ยนชื่อเป็นไทย พอคลายความกังวลได้บ้าง

สมัยจอมพล ป. เป็นห้วงเวลาที่คนจีนมีความระทมขมขื่นมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

รัฐบาลสมัยนั้นไม่เอื้ออาทรคนจีนลูกจีน และไม่ยินดีกับคนที่มีชื่อจีนด้วย เช่น จอมพล ป. พิบูลสงคราม   นายกรัฐมนตรีได้เคยขอให้ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไปเปลี่ยนชื่อให้เป็นไทย แต่ ดร.ป๋วยไม่ยอม ดังหนังสือของ ส.ศิวรักษ์ ชื่อ “นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ ผู้ใหญ่ที่ไม่กะล่อน” มีความตอนหนึ่งเป็นการสนทนาระหว่างจอมพล ป. กับ ดร.ป๋วย ดังนี้ “คุณป๋วย คุณก็เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นมาแล้ว เมื่อไรจะเปลี่ยนเป็นชื่อไทยเสียที” ดร.ป๋วยตอบไปว่า “ชื่อผมบิดาตั้งให้ บิดาตายไปแล้ว จะไปขอให้ท่านเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ไม่ได้เสียแล้ว และอีกประการหนึ่ง ท่านนายกฯคงจะเคยไปลำปาง เวลานั่งรถไฟคงจะจำได้ว่า มีสถานีปางป๋วย ซึ่งเป็นชื่อไทยแน่ๆ”

สังคมมีความเหลื่อมล้ำ อันเกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่มีสองมาตรฐาน คนจีนมิได้รับความเป็นธรรมในบางเรื่องบางเหตุการณ์ นโยบายของรัฐบาลเป็นเหตุให้เกิดช่องว่างในการหาประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐ           อีกประการหนึ่งผู้ใดมีความคิดต่างก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

จึงมีนักสังเกตการณ์ชาวอเมริกันคนหนึ่งได้เขียนไว้ว่า “การกำจัดคู่ต่อสู้หรือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองในเมืองไทย ถ้าตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์ อนาคตทางการเมืองของผู้นั้นก็ต้องสิ้นสุดโดยพลัน ข้อหาคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นอาวุธทางการเมืองตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม”

สมัยนั้น คำว่าจีนเป็นที่ระคายเคืองมาก เมื่อพูดถึงจีนก็หมายถึงคอมมิวนิสต์

แม้เวลาผ่านมา 2 ทศวรรษ และแม้ไทย-จีนเปิดสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ พ.ศ.2518

แต่ พ.ศ.2519 สมัยรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ข้อกล่าวหา “คอมมิวนิสต์” ที่ถือกันว่าเป็น “ประกาศิต” ก็ยังดำรงอยู่ไม่ต่างไปจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวคือ ผู้ที่มีความคิดต่างก็คือคอมมิวนิสต์ ตามหนังสือ “เย็นลมป่า” ของ ชวน หลีกภัย มีความตอนหนึ่งว่า

“เราสูญเสียคนที่มีอยู่ตรงกลางไปเป็นจำนวนมาก เพราะความไม่เข้าใจ รีบร้อนประณาม ใครที่คิดไม่เหมือนรัฐบาล ใครที่พูดไม่เหมือนอาจารย์ธานินทร์ คนพวกนั้นเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ และเขาก็ได้สัมฤทธิผลตามที่ต้องการ คือคนเหล่านั้นไม่มีจุดที่จะยืน เขาจะยืนตรงไหน ตรงไหนก็ได้ที่มีที่ว่าง ที่ไหนละครับที่จะว่างมากกว่าที่ในป่า”

พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 ที่ใช้บังคับในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยกเลิกในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อ พ.ศ.2543 เป็นปริโยสาน

เป็นการสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นอนันตคุณ

สถานการณ์เปลี่ยนไปตาม “กาล” และ “สมัย”

บัดนั้น ศตวรรษที่ 20 คนส่วนหนึ่งอยากเป็น “ฝรั่ง”

บัดนี้ ศตวรรษที่ 21 คนส่วนหนึ่งอยากเป็น “จีน”

เมื่อกระแสจีนมาแรง ภาษาจีนก็ฮิตไปด้วย จนกลายเป็นภาษาที่คนใช้มากที่สุดในโลก และใช้ในสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ ซึ่งใช้ตั้งแต่สมัยจีนไต้หวันเป็นตัวแทนในสหประชาชาติ

ปัจจุบัน บรรดาโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสหรัฐกว่าพันแห่งได้เปิดสอนภาษาจีน ทำให้อาชีพการเป็นครูสอนภาษาจีนทำเงินได้ดีมาก และเป็นอาชีพที่ยอดฮิต

รัฐบาลแคนาดาได้เพิ่มภาษาจีนให้เป็นภาษาราชการ รวมอังกฤษและฝรั่งเศสเป็น 3 ภาษา

ส่วนเมืองไทยได้เปิดหลักสูตรภาษาจีนในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก และมีโครงการสอนภาษาจีนผ่านดาวเทียมนับพันจุด โรงเรียนสอนภาษาจีนเกิดขึ้นเหมือนดอกเห็ด

ฉะนั้น ภาษาจีนจึงรุ่งเรือง อักษร 福 (ฝู) จึงเฟื่องฟู กลายเป็นลาภงอก

คําว่า 福 (ฝู) คือวัฒนธรรมของจีน ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ คนจีนนิยมขอโชคโดยวิธีการแสดงออกด้วยเครื่องประดับ ศิลปหัตถกรรม สิ่งปลูกสร้างและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง ประชาชนนิยมติดอักษร 福 (ฝู) อยู่ตรงประตูทางเข้าบ้าน

จุดประสงค์ต้องการให้โชคเข้าบ้าน ซึ่งเล่าต่อกันมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนกลายเป็น “ตำนานประดิษฐ์” ไปแล้ว ยกตัวอย่างพอเป็นกระสาย

“ในสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิจู หยวน จาง เสด็จเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้พบเห็นประชาชนกำลังมุงดูแผ่นป้ายมีภาพล้อเลียน ซึ่งเป็นภาพผู้หญิงเท้าใหญ่แบกลูกแตงโม พระองค์ทรงกริ้ว เข้าใจว่าคนกลุ่มนั้นมีเจตนาเยาะเย้ยพระมเหสี เพราะพระมเหสีมีเท้าใหญ่มาก และอดีตเป็นชาวสวนปลูกแตงโม จึงทรงมีรับสั่งให้ผู้ติดตามสะกดรอยตามผู้คนที่มุงดูทั้งหมดไปถึงบ้าน และทำตำหนิไว้ที่หน้าบ้านโดยเขียนคำว่า 福 (ฝู) ปิดที่หน้าบ้าน ทั้งนี้เพื่อจะไปเกณฑ์ทหารมาประหารชีวิตคนเหล่านั้น แต่พระมเหสีใจดีมีเมตตา จึงทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้นางกำนัลไปที่หมู่บ้านดังกล่าวแล้วติดคำว่า 福 (ฝู) ทุกบ้าน จนเป็นเหตุให้คณะผู้ติดตามของจักรพรรดิจู หยวน จาง ไม่ทราบว่าผู้ใดต้องสงสัย จึงไม่มีการลงโทษ แต่นั้นมา คำว่า福 (ฝู) จึงกลายเป็นเอกลักษณ์แห่งการเปลี่ยนจากเรื่องร้ายเป็นเรื่องดี”

“สมัยถัดมาคือราชวงศ์ชิง ข้าหลวงแห่งพระราชวังพระโอรสของจักรพรรดิจู หยวน จางได้ติดอักษร 福 (ฝู) ไว้หน้าพระราชวังโดยติดกลับหัวกลับหาง พระองค์ทรงกริ้ว เตรียมลงโทษสถานหนัก แต่ข้าหลวงรู้ทัน จึงรีบเข้าเฝ้าทูลเกล้าเพื่อทรงทราบฝ่าพระบาทว่า ได้ทราบว่าประชาชนเทิดทูนพระองค์ว่าเปี่ยมด้วยโชคลาภ การที่ติดตัวอักษร 福 (ฝู) กลับหัวถือเป็นมงคล เพราะอ่านว่า 倒 (เต้า) ซึ่งออกเสียงเหมือนกับคำว่า 到 (เต้า) หมายความว่ามาถึง ฉะนั้นอักษร 福 (ฝู) กลับหัวกลับหางจึงอ่านว่า 福到 (ฝูเต้า) คือพระองค์เสด็จเปรียบเสมือนโชคลาภมาถึงแล้ว

เมื่อความทราบฝ่าพระบาททรงเปลี่ยนจากกริ้วเป็นปลื้ม”

แต่ในความเป็นจริงอักษร 倒 มี 2 หน้าตาทั้งคำอ่านและความหมาย คือ

1.อักษร 倒 อ่านว่า “เต่า” หมายความว่า ล้มหรือล้มเหลว

2.อักษร 倒 อ่านว่า “เต้า” หมายความว่าคว่ำ หรือกลับหัวกลับหาง

ทั้ง 2 ความหมายล้วนไม่เป็นมงคล แต่ก็นำมาใช้กันแบบผิดฝาผิดตัว

“ตำนานประดิษฐ์” เล่าว่า ซูสีไทเฮาในสมัยชิงที่มีอุปนิสัยชอบทำเรื่องถูกให้เป็นผิด ทำผิดให้เป็นถูกคือต้นตำรับในเรื่องให้ติดตัวอักษร 福 (ฝู) ในลักษณะกลับหัวกลับหาง

ต่อมารัฐบาลชิงได้ถูกกองทัพพันธมิตรโจมตีจนต้องล่มสลาย

แม้เวลาผ่านมา 4 ศตวรรษ วัฒนธรรมและประเพณีการใช้ตัวอักษร 福 (ฝู) ยังดำรงอยู่ หากมิใช่ “ตำนานประดิษฐ์” อย่างเรื่องราวของ “ซูสีไทเฮา”ในสมัยชิง

2 มกราคมที่ผ่านมา นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรไปเยือนเซี่ยงไฮ้ เธอได้ให้ความสนใจต่อวัฒนธรรมของจีน จึงถือโอกาสร่วมกับนักเรียนประดิษฐ์ตัวอักษร 福 (ฝู) กลับหัวกลับหางด้วยกระดาษสีแดงอันเป็นการแสดงไมตรีและให้ความอบอุ่นแก่เด็กจีน อีกทั้งเป็นการเจริญไมตรีกับประเทศจีนอีกโสดหนึ่ง ทุกอิริยาบถของเธอน่ารักน่าเอ็นดู

เป็นการ “บังเอิญ” หลังกลับจากจีนเส้นทางการเมืองไม่ราบรื่น เจอมรสุมทั้งนอกและใน ในคือถูกโจมตีในประเด็นปัญหา “Brexit” นอกคือการเจรจากับสหภาพยุโรปในเรื่องเดียวกัน ก็ดำเนินไปท่ามกลางภาวะระส่ำระสาย ฤาจะเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ซูสีไทเฮา (ฮา)

พฤติกรรมที่ฝืนธรรมชาติของคนจีน เป็นการบิดเบือนวัฒนธรรมและทำให้ภาษาวิบัติ

พจนานุกรมจีนก็ไม่ปรากฏว่ามีเล่มใด พบอักษร 福 (ฝู) กลับหัวกลับหาง

การกระทำการใดจากถูกให้เป็นผิด เช่น วางตัวอักษรผิดจากความเป็นจริงโดยเจตนา

ไม่สอดคล้องกับหลักของตรรกะ และไม่อิงหลักวิทยาศาสตร์

แต่ก็มิได้หมายความว่าติดตัวอักษรอยู่ในลักษณะที่ถูกต้องก็จะประสบความโชคดีมีสุข

โปรดใช้วิจารณญาณ ตัวอักษร 福 (ฝู) ที่เชื่อกันว่าเป็นตัวนำโชคนำความสุขนั้น ไม่น่าจะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ การจะดีจะชั่วย่อมขึ้นกับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล ตามหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา “ทำดีดีกว่าขอพร” ส่วนศาสนาอื่นก็มีเป้าหมายเดียวกัน

ถ้าประพฤติชั่วต่อให้ติดอักษร 福 (ฝู) เต็มบ้าน เพื่อขอให้โชคดีมีสุข ไม่อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้

ส่วนเชื้อชาติไทย เชื้อชาติจีน หรือเชื้อชาติอื่นล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือสอนให้คนทำดี มีศักดิ์ศรีเท่ากัน จะดีจะชั่วก็ขึ้นกับปัจเจกบุคคลเช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า

“ถึงจะชั่วก็แต่ตัวยักษ์ สุรยวงศ์พงษ์ศักดิ์หาชั่วไม่”

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image