เดินหน้าชน : เลิกผลิตครู 5 ปี เหลวยกระดับวิชาชีพ

ชัดเจนแน่นอน 100% แล้วว่าหลักสูตรครู 5 ปี ที่ใช้กันตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 หรือเกือบ 14 ปี จะถูกยกเลิกไปตั้งแต่ปีการศึกษา 2562

เป็นคำยืนยันที่ นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้แจ้งในที่ประชุมบอร์ด   คุรุสภาสัปดาห์ก่อนว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ผลิตครูยืนยันยกเลิกการผลิตหลักสูตรครู 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป

การกลับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปี บอร์ดคุรุสภาที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธาน ได้มีมติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 ตามข้อเสนอของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ที่ขอให้มีการผลิตครู 4 ปีเหมือนเดิม

เพราะเห็นว่า 1.คุณภาพการผลิตครูในหลักสูตร 5 ปีนั้นไม่ได้แตกต่างจากการผลิตครู 4 ปี

Advertisement

และ 2.การเพิ่มเวลาเรียนอีก 1 ปี ทำให้เกิดความสูญเสียทางโอกาสของนิสิตนักศึกษา

แต่ในขณะนั้นยังไม่มีความชัดเจนจากกลุ่มคณะคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่ผลิตครู 5 ปี ว่าจะกลับมาใช้หลักสูตร 4 ปีทั้งหมดหรือไม่

การยกเลิกหลักสูตรครู 5 ปี แม้จะปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริง

Advertisement

แต่ก็น่าเสียดายเพราะเป้าหมายหลักๆ ของการผลักดันหลักสูตรครู 5 ปี เพื่อต้องการยกระดับวิชาชีพครูให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับวิชาชีพแพทย์

เป็นการดึงคนเก่งให้กลับมาเรียนครูเฉกเช่นในอดีตที่เคยมีทุนคุรุทายาท คนที่เก่งอันดับต้นๆ ของจังหวัดจะมาสอบแข่งขันเป็นครู

แม้ในภาพรวมหลักสูตรครู 5 ปี ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ มีเด็กเก่งมาสมัครเรียนครูกันมากขึ้น ตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือจำนวนผู้สมัครสอบคัดเลือกเข้าเรียนในคณะคุรุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น คะแนนแอดมิสชั่นสูงขึ้นกว่าเดิม

แต่ปัญหาหลักๆ แทบจะไม่มีความแตกต่างของคนที่เรียนหลักสูตรครู 5 ปี กับหลักสูตรครู 4 ปี

ทั้งที่หลักสูตรครู 5 ปี ต้องฝึกประสบการณ์สอนในโรงเรียน 1 ปี

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของเงินเดือนเริ่มต้นคนจบหลักสูตรครู 5 ปี ที่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการครู ได้รับ 15,800 บาท มากกว่าคนจบหลักสูตรครู 4 ปี ที่ได้รับ 15,050 บาท เพียง 750 บาทเท่านั้น

ส่วนเรื่องของใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแม้คุรุสภาจะจูงใจให้ใบอนุญาตโดยอัตโนมัติแก่ผู้จบหลักสูตรครู 5 ปีและให้คนเรียนครู 4 ปี มาสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตฯ

แต่ก็ยังเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบสายครูมาโดยตรงมาเทียบโอนเพื่อสอบใบอนุญาตฯได้ โดยเฉพาะหลักสูตร ป.บัณฑิต ที่เปิดสอนกันเกลื่อน ปีๆ หนึ่งมีคนจบหลายหมื่นคน

เหล่านี้คือสิ่งที่คนเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ไม่ได้มีความได้เปรียบคนเรียนหลักสูตรอื่นๆ มากนัก

และทำให้ความพยายามที่จะยกระดับวิชาชีพครูยังไม่ประสบความสำเร็จ

จากนี้คงต้องรอดูว่าการกลับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปีเช่นเดิมจะตอบโจทย์การผลิตครูที่มีคุณภาพ เพื่อป้อนเข้าสู่โรงเรียนได้มากแค่ไหน

หรือจะกลับไปสู่สภาพแบบเดิมๆ ที่การผลิตครูยังเป็นระบบเปิด แต่ละสถาบันยังเปิดกันได้เสรี หลากหลายหลักสูตร เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image