สะพานแห่งกาลเวลา : การทดลองอื้อฉาวแห่งปี

เอพี

การทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่อื้อฉาวที่สุดในรอบปี 2018 เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง เรื่องนี้ไม่เพียงสะเทือนไปทั้งวงการเท่านั้น ยังส่งผลให้เกิดการถกเถียงกันครั้งใหญ่อีกครั้งว่า จรรยาแพทย์และจริยวัตรของนักวิจัย

เมื่อราวปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จีนอายุแค่ 34 ปี ชื่อ เหอ เจี้ยนกุ่ย ที่เป็นนักวิชาการด้านพันธุวิศวกรรมระดับศาสตราจารย์ ประจำมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซาเทิร์นของจีน  แอบทดลองลับๆ สร้างทารกแฝดที่ผ่านกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมคู่แรกของโลกออกมา

ทารกแฝดเพศหญิงคู่นั้น ถูกเปิดเผยออกมาในชื่อ “ลูลา” กับ “นานา” ไม่มีการเปิดเผยสัญชาติหรือ         รายละเอียดอื่นใด

หลังเรื่องนี้เป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา ศาสตราจารย์เหอพยายามปกป้องและหาความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเอง ศาสตราจารย์ผู้นี้เปิดเผยว่า ทารกแฝดทั้งคู่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดลองหลายขั้นตอนที่กินระยะเวลา 3 ปีของตน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ทดลองในหนู ลิง และในที่สุดก็เป็นการรับอาสาสมัครคู่สามีภรรยา 8 คู่ มาเป็นกลุ่มตัวอย่างในการทดลง แต่มีคู่หนึ่งที่ขอออกจากการทดลองกลางคัน ทำให้หลงเหลือตัวอย่างในการทดลองเพียง 7 คู่เท่านั้น

Advertisement

ผู้ชายที่อยู่ในกลุ่มทดลองทุกคนเป็นผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์ ส่วนผู้หญิงไม่ได้ติดเชื้อแต่อย่างใด

กระบวนการทดลองนั้นเริ่มตั้งแต่การนำเอาอสุจิและไข่จากกลุ่มตัวอย่างแต่ละคู่มาผสมนอกมดลูก ทำนองเดียวกันกับกระบวนการสร้างเด็กหลอดแก้ว แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือนำเอาเอ็มบริโอ หรือตัวอ่อนที่ได้จากการผสมแล้วนั้นมาดำเนินการ ตัด-ต่อพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยีที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันดี “คริสเปอร์/คาส9” ทำให้ “ยีน” (หน่วยพันธุกรรมในดีเอ็นเอ) ตัวหนึ่งชื่อ “ซีซีอาร์5” ไม่ทำงาน จากนั้นจึงฉีดไข่ที่ผ่านการผสมและตัดต่อพันธุกรรมแล้วกลับเข้ามดลูกอีกครั้ง

เหตุผลสำคัญของศาสตราจารย์เหอก็คือ การสร้างลูกๆ ที่มีภูมิคุ้มกันเอชไอวี/เอดส์ให้กับคู่สามีภรรยาแต่ละคู่

ปัญหาของศาสตราจารย์เหอมีอยู่ 2-3 อย่างด้วยกัน นอกเหนือจากการลักลอบดำเนินการที่ผิดทั้งจรรยาแพทย์และกฎหมายอยู่ในตัว

แรกสุดที่เป็นปมใหญ่มากและถกเถียงกันอยู่มากไม่น้อยในวงการวิทยาศาสตร์ในเวลานี้ นั่นคือ สถาบันทั้งหลายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการนี้ยังไม่มีการพิสูจน์อย่างถ่องแท้ว่าปลอดภัย ปราศจากผลข้างเคียง และไม่มีผลเสียหายสืบทอดต่อเนื่องต่อไปในมนุษยชาติ

ตรงกันข้าม มีแนวโน้มสูงว่าวิธีการแบบนี้จะก่อให้เกิดผลพวงมหาศาลต่อเนื่องไปในอนาคต เพราะปัญหาของกรรมวิธี “คริสเปอร์” ที่ว่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อยีนตัวอื่น ส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ของยีนตัวอื่นๆ ขึ้นตามมา

ผลข้างเคียงถัดมาก็คือ หากยีนที่ได้รับผลกระทบ (ทั้งจากการตัดต่อโดยตรงและการกลายพันธุ์) เป็นยีนชนิด “เจิร์มไลน์” คุณลักษณะที่ผิดปกติไปดังกล่าวจะส่งผลถ่ายทอดต่อไปยังลูก-หลาน ต่อเนื่องต่อไปไม่สิ้นสุด เพราะยีนเจิร์มไลน์ คือยีนที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมของมนุษย์ต่อเนื่องต่อไปนั่นเอง

แม้ผลกระทบดังกล่าวจะถูกตรวจพบก่อนในตัว “ลูลา” และ “นานา” และแฝดทั้งคู่มีจิตใจสูงส่งพอนั่นหมายความว่า ทั้งชีวิตของคนทั้งสองจะไม่สามารถมีลูกของตัวเองได้ตลอดไป

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุชัดเจนว่า การตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ ยังคงไม่มีใครแน่ใจว่าปลอดภัยจากผลข้างเคียงใดๆ อาจต้องใช้เวลาอีกนานมาก หลายสิบปีหรืออาจเป็นชั่วอายุคนกว่าจะแน่ชัดได้

ถามว่า ในเมื่อคู่สามีภรรยาไม่อาจรอต่อไปได้แล้ว การทดลองครั้งนี้ ก็มีเหตุผลอยู่ใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ไม่ใช่อีกเช่นกัน เพราะด้วยเทคนิคการแพทย์ใหม่ๆ ทุกวันนี้ นี่ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะมีลูกซึ่งปลอดเอดส์จากพ่อแม่ได้ อย่างเช่นการให้ยาเพื่อบรรเทาการแพร่ของเชื้อที่เรียกว่าการ “รีมิสชัน” เป็นต้น

นั่นหมายความว่า การเสี่ยงครั้งใหญ่ครั้งนี้ ไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ใดๆ เลยนั่นเอง

สุดท้ายก็คือ แม้แฝดทั้งคู่จะดูเหมือน “ปกติและสมบูรณ์ดี” เมื่อคลอด ตามคำของศาสตราจารย์เหอก็ตาม  แต่ไม่มีใครรับประกันว่า ทั้งคู่จะปกติต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

หากความผิดปกติของยีนอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบส่งผลให้เด็กหญิงทั้งสองกลายเป็น “คนที่ไม่เหมือนคน”     ขึ้นมา

ใครคือผู้รับผิดชอบในการเล่นบทเป็นพระเจ้าในครั้งนี้?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image