ดุลพินิจ กับ จิตวิญญาณ ของผู้พิพากษาตุลาการ

มีคำกล่าวอันเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” ด้วยอำนาจหน้าที่ของศาลคือการพิจารณาพิพากษาคดี อันเป็นอำนาจสูงสุดหนึ่งในสามของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น จึงมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้รับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ใน มาตรา 188 ดังนี้  “การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

แม้จะมีการรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ดังกล่าว แต่ผู้พิพากษาตุลาการก็มิได้ใช้ดุลพินิจไปโดยปราศจากขอบเขต จะต้องใช้ไปในทางที่ถูกต้องและเป็นธรรม ปราศจากอคติ โดยมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิพากษา ซึ่งได้ถูกอบรมขัดเกลามาตลอดชีวิตของการปฏิบัติหน้าที่ คอยกำกับไม่ให้ปฏิบัติการหรือใช้ดุลพินิจอย่างเตลิดเปิดเปิงตามใจชอบ

ในการปฏิบัติหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาตุลาการนั้น จำเป็นต้องใช้ดุลพินิจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่น ดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะใช้กับจำเลย ดุลพินิจในการรอหรือไม่รอการลงโทษ ดุลพินิจในการรับรองให้คู่ความอุทธรณ์หรือฎีกาในกรณีคดี ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้จะบังเกิดผลดีและผลเสียแก่บุคคลทั้งหลายที่เข้ามาสู่อำนาจศาล ศาลจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจในเรื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากในระยะนี้มีคดีต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว แต่มีการรับรองให้ฎีกา แล้วศาลฎีกากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และคำพิพากษาศาลฎีกากลายเป็นผลร้ายแก่จำเลย

และมีผู้คนเกิดความสงสัยในเรื่องนี้ สอบถามหลักกฎหมายจากผู้เขียน จึงขอตอบข้อสงสัยดังกล่าวตามหลักกฎหมายด้วยบทความนี้

Advertisement

ในเรื่องการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกา มีบัญญัติอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ดังนี้ “ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา 218, 219 และ 220 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ตัวผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด และอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป” ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาตามมาตรา 221 นี้คือ

1.ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์

2.อธิบดีกรมอัยการ (ปัจจุบันคืออัยการสูงสุด)

Advertisement

ส่วนเหตุผลนี้จะอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาคือคดีนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด หรือมีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย บทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องถือหลักว่าถ้ามีกรณีตามมาตรา 218, 219 และ 220 คดีนั้นถึงที่สุด และต้องห้ามฎีกาต่อไป ยกเว้นจะมีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาโดยบุคคลที่บัญญัติไว้ในมาตรา 221 จึงให้ศาลฎีการับฎีกาไว้พิจารณาต่อไป และเหตุผลที่ผู้อนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาก็ต้องถือว่าเป็นเหตุผลพิเศษ คือ “ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุด” หรือ “มีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย” เหตุสำคัญดังกล่าวนี้แม้จะมิได้บัญญัติชัดแจ้งไว้ในกฎหมายแต่ก็สมควรจะยึดหลักดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

1.ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยและกำหนดโทษไว้สูงมาก

2.เป็นคดีที่สำคัญกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติและความเสียหายของส่วนรวม (ด้านเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ)

3.เป็นคดีมิใช่ความผิดในหมวดความผิดอันยอมความได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นต้น

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม จำได้ว่าเคยอนุญาตให้ฎีกาอยู่เพียงหนึ่งหรือสองครั้งในช่วงเวลาที่อยู่ในสถาบันศาลมาเป็นเวลาถึง 36 ปี และคดีที่จำได้คือ คดีของศาลอาญา หมายเลขแดงที่ 133/2533 ซึ่งผู้เขียนเป็นผู้พิพากษา เจ้าของสำนวน ซึ่งพิพากษาจำคุกจำเลยมีกำหนด 125 ปี จึงขอคัดสำเนาคำพิพากษาส่วนสำคัญมาอ้างอิงดังต่อไปนี้ “ให้จำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ มาตรา 75 ตรี ซึ่งมีโทษเท่ากับมาตรา 75 สัตต 75 อัฏฐ กระทงละ 5 ปี รวม 25 กระทง รวมจำคุก 125 ปี แต่ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มาตรา 75 ตรี มีโทษอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี จึงจำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(2) ที่แก้ไขแล้ว ให้จำเลยกับพวกร่วมกันใช้ทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินกู้ไป 82,389,520.55 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2527 เป็นต้นไป จนถึงวันที่จำเลยกับพวกชำระแก่บริษัทเงินทุนไทยเซฟวิ่งก์ทรัสต์ จำกัด ผู้เสียหายเสร็จ คำขอนอกจากนี้ให้ยก”

คดีนี้ผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และเป็นผู้เขียนคำพิพากษาในศาลชั้นต้น ได้อนุญาตให้จำเลยยื่นฎีกา โดยยึดหลักข้อ 1 และ ข้อ 2 คือพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสูงมากทั้งเป็นคดีที่มีความเสียหายในด้านเศรษฐกิจเป็นส่วนรวม และคดีนี้ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ คือจำคุกจำเลย 20 ปี การรับรองให้จำเลยฎีกา จึงมิได้เกิดความเสียหายแก่จำเลยแต่ประการใด

การใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้คู่ความฎีกานั้นว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก นอกจากจะเป็นผลกระทบต่อคู่ความแล้ว อาจจะทำให้สังคมหวาดระแวงต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาลได้ เช่น ในกรณีใช้ดุลพินิจ อนุญาตให้ฎีกาในกรณีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องถือว่าคำพิพากษาของทั้งสองศาลนั้นเป็นผลดีแก่จำเลย หากผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกาต่อไป และเมื่อคดีถึงขั้นศาลฎีกาแล้ว ผู้พิพากษาผู้อนุญาตให้ฎีกาก็ย่อมทราบดีว่าผลของคำพิพากษาศาลฎีกาก็คงเท่าเดิมคือ ยืนตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ หรืออาจเป็นผลร้ายแก่จำเลย คือกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำเลย ก็ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลย

ซึ่งหากเป็นไปดังกล่าวเกรงว่าสังคมก็จะตั้งคำถามว่าท่านผู้พิพากษาผู้อนุญาตให้ฎีกามีเหตุผลอย่างไรที่ใช้ดุลพินิจเช่นนี้

ท่าน อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เคยกล่าวไว้ว่า

“ศาลยุติธรรมจะอยู่ได้ด้วยการเคารพนับถือของคนทั้งหลาย ปัจจุบันเขายังเคารพศาลอยู่ เมื่อครั้งผมเป็นรัฐบาลมีข้อกฎหมายที่เขาถกเถียงกันใหญ่โต แต่ลงท้ายมีคนบอกว่า เรื่องนี้ความจริงศาลฎีกาตัดสินแล้วว่าเป็นอย่างไร ข้อถกเถียงเงียบลงทันที หลายคนเขายังเคารพศาลอยู่ เพราะฉะนั้นพวกคุณจะต้องรักษาความดีอันนี้ไว้ให้เขานับถือต่อไป ถ้ามีเรื่องทุจริตเกิดขึ้นมาทีไร ผู้พิพากษาที่เกษียณไปแล้วก็เสียอกเสียใจกันใหญ่ ไม่น่าเลยศาลจะเป็นอย่างนี้ทำได้อย่างไร ทำลายสถาบันป่นปี้หมด นี่แหละครับไม่ใช่ความรังเกียจ จะแรงเฉพาะเพื่อนคุณ ผู้บังคับบัญชา ครูบาอาจารย์ มันแรงไปทุกตุลาการแม้จะออกไปแล้ว”

ผู้พิพากษาตุลาการจะปฏิบัติหน้าที่อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติไปด้วยดี ก็ต่อเมื่อสังคมให้ความเคารพ ความศรัทธา เมื่อใดที่สังคมเกิดความหวาดระแวง ในความบริสุทธิ์ยุติธรรมของศาล ย่อมจะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาทั้งหลายตลอดไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image