นักการเมืองต้องปรับตัว : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ฉบับนี้จะเป็นฉบับส่งท้ายปีเก่า 2561 ปีที่เริ่มจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งสลบไสลมานานกว่า 4 ปี กำลังเข้าปีที่ 5 ซึ่งถ้าประเทศยังคงเป็นประเทศประชาธิปไตย ก็มากกว่าอายุวาระของสภาผู้แทนแทนราษฎร

น่าจะลองหันไปดูว่าการทำรัฐประหารของทหาร ประเทศชาติและประชาชนได้อะไรมาบ้างหลังจากใช้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารมาครบ 4 ปี

เหตุผลที่ทหารใช้เป็นข้ออ้างอยู่เสมอทุกวันศุกร์ในชั่วโมงประหยัดไฟก็คือ เพื่อนำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย เพราะประชาชนแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายประชาชนที่มีทหารหนุนหลังการจัดให้มีการชุมนุมที่เรียกกันว่า กปปส. เริ่มจากที่สถานีรถไฟสามเสน ถ้าทบทวนเหตุการณ์ให้ดี หัวหน้าผู้ชุมนุมต่อว่าทหารว่าเมื่อไหร่จะออกมาเสียที

หลังจากเมื่อมีการชุมนุม ทหารก็ประกาศ “เกียร์ว่าง” ขอวางตัวเป็นกลางระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล ก็เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่ารัฐบาลได้หมดอำนาจแล้ว รัฐบาลจึงไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือจะทำอะไรกับการชุมนุมกับ กปปส.ได้ ก็สามารถอ้างเป็นเหตุของการรัฐประหาร

Advertisement

ยิ่งมีการนำมาเปิดเผยด้วยความภูมิใจของนักจัดฉากการเมือง หลังการเลือกตั้งให้หัวหน้า คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ประกอบกับมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเป็นระยะในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงถือเป็นโอกาสเลื่อนการเลือกตั้งมาเรื่อยๆ โดยไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลยจากประชาชน

ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนซึ่งควรจะเป็นปากเสียงของประชาชนต่อต้านเผด็จการทหาร กลับเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่มาจากประชาชน เพราะถูกกระแสต่อต้านขบวนการทักษิณและสนับสนุนให้ทหารทำการปฏิวัติรัฐประหาร

ประเด็นที่ใช้ต่อต้านขบวนการทักษิณก็คือ “การทุจริตคอร์รัปชั่น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจำนำข้าว ยิ่งมีกรณีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนเชียงใหม่ ต้องคดีทุจริตในกรณีการส่งออกข้าวและการเปิดแอล-ซีปลอม จนกระทั่งถูกศาลตัดสินจำคุก แทนที่สื่อจะโจมตีประเด็นทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลและเอาเรื่องทุจริตเป็นประเด็นหลักในการเลือกตั้งทั่วไปหลังจากมีการประกาศยุบสภา กลับหันไปสนับสนุนให้ทหารปฏิวัติ

ขณะที่สถานการณ์การเมืองสุกงอม ทหารที่เคยสัญญาว่าจะมาอยู่เพียงปีเดียวหรือสั้นกว่านั้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วก็จะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง เพื่อกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยตามเดิม แต่ก็เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ โดยการไม่ยอมยกเลิกประกาศ คสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง

พรรคเพื่อไทยก็ไม่กล้าทำกิจกรรมทางการเมือง เพราะกลัวจะถูกหาเรื่อง “ยุบพรรค” ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวสถานการณ์การเมืองก็จะเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง

เมื่อจำเป็นจะต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งไม่น่าจะเลื่อนได้อีกแล้ว ถ้าหากไม่ต้องการให้เกิดความไม่สงบโดยภาคประชาชน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลทหารก็ติดใจในรสชาติการเมือง ลืมคำมั่นสัญญาเสียสิ้นว่าตนเข้ามาเพียงเพื่อจะปัดกวาดบ้านเมืองให้สะอาดเรียบร้อยแล้วก็จะไป

การเปลี่ยนใจของ คสช.ที่จะสืบทอดอำนาจของตนหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ น่าจะเกิดจากการถูก “นักการเมือง” และนายทุนขนาดใหญ่ 2-3 รายหลอกเอาผลประโยชน์ เมื่อทหารนักการเมืองอยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานานก็สามารถหาทรัพยากรทางการเงินได้จำนวนมาก เพราะระบอบทุนนิยมของประเทศที่เอกชนรายใหญ่ๆ ได้ประโยชน์จากการได้รับสัมปทานในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคพลังงาน โทรคมนาคม ขนส่ง ที่ระบบการตัดสินใจระบบการอนุมัติเหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ที่ไม่ค่อยได้ยินข่าวเพราะระบอบการปกครองเผด็จการทหารเป็นระบบที่ไม่มีการตรวจสอบ องค์กรอิสระต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งระบอบอุปถัมภ์ไม่มีความกล้าหาญทางการเมือง ไม่มีจรรยาบรรณเพียงพอที่จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา

เราจึงได้ยินและได้เห็นพฤติกรรมของข้าราชการที่นำโดยผู้นำทหาร มีพฤติกรรมที่ไม่ได้แตกต่างไปจากรัฐบาลที่ตนกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง ทุจริตคอร์รัปชั่น เมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหาร นายทุนขนาดใหญ่ก็เข้าหาทันที ปกติจะเข้าหาทุกพรรคแต่คราวนี้เข้ามาสนับสนุนเพียงพรรคเดียว คือพรรคที่สนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีคนเดิมอยู่ต่อไป

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำปฏิวัติรัฐประหารก็คือ ประชาชนที่ถูกหลอกให้หลงเชื่อว่ารัฐบาลทหารจะเป็นรัฐบาลที่บริสุทธิ์ สะอาด ไม่ต้องการการตรวจสอบจากประชาชน ไม่ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน

เมื่อจะมีการเลือกตั้งแม้จะเป็นการเลือกตั้ง “หลอกๆ” เพราะหัวหน้ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็ยังคงเป็นคนเดิม แต่นักการเมืองก็ต้องปรับตัวจากข้อกล่าวหาในเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะยังอยู่ในช่วงการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่วุฒิสมาชิกมาร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ขณะเดียวกันทางรัฐบาลก็ต้องเด็ดขาด ไม่ทำตัวเป็นศรีธนญชัย “ปากว่าตาขยิบ” ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐ หรือ พปชร. ซึ่งเริ่มต้นหาทุนโดยการจัดงานเลี้ยง ขายโต๊ะละ 3 ล้านบาท เป็นจำนวน 200 โต๊ะ รวมทั้งมีผู้บริจาค ได้เงินตามที่ประกาศถึง 650 ล้านบาท ซึ่งอาจจะผิดหรือไม่ผิดกฎหมายหรือประกาศของ กกต.ก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามในความรู้สึกของประชาชน คนอย่างเราๆ ก็รู้สึกว่าเป็นการกระทำอย่างอึกทึกครึกโครม และการบริจาคเงินโดยนายทุนใหญ่ๆ น่าจะเข้าข่ายทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างน้อยก็ในแง่ศีลธรรม ต่อไปพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ก็คงจะทำบ้าง

อย่างไรก็ตาม เมื่อจะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกในรอบ 7-8 ปี นักการเมืองรุ่นเก่าก็คงจะหายไปเป็นจำนวนมากพอสมควร นักการเมืองรุ่นใหม่จะเข้ามาแทนที่อย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 1 ใน 3 หรือมากกว่านั้น

นักการเมืองทั้งที่เป็นรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ก็คงจะได้รับบทเรียนแล้ว หากจะให้ประเทศมีการพัฒนาทางการเมืองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น นักการเมืองเองก็ต้องปรับตัว จะมุ่งแต่จะเข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจ รักษาอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตนและพวกพ้องพรรคการเมืองของตน โดยการ “ซื้อสิทธิ ขายเสียง” ซึ่งบัดนี้ก็น้อยลงมากแล้ว เพราะประชาชนมีการศึกษาสูงขึ้น ระบบคมนาคมและโทรคมนาคมก็กว้างขวางและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ประชาชนรู้กันดีว่าประโยชน์ของตนอยู่ที่ไหน นักการเมืองจึงไม่สมควรประพฤติตนแบบเก่าๆ แม้ว่าระบบอุปถัมภ์จะยังคงอยู่ก็ตาม

นักการเมืองควรจะมีจิตสำนึกในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้มากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะปรับตัว ปรับทัศนคติ เลิกการซื้อสิทธิขายเสียง เลิกหา
ผลประโยชน์จากการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง ทำตนให้เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับอนุชนรุ่นหลังต่อไป

แม้ว่าการให้ “สินบน” เป็นวัฒนธรรมทางตะวันออก ทุกศาสนามีเจ้าพ่อเจ้าแม่มีเทวดาคอยรับบนและรับสินบน ไม่เหมือนศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนายูดาย ที่พระเจ้าของศาสนาเหล่านั้นไม่รับ “สินบน” ก็ตาม นักการเมืองผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ควรทำตัวเป็นผีสาง นางไม้ เจ้าพ่อ เจ้าแม่ คอยรับสินบน จะทำงานช่วยเหลือก็ต่อเมื่อมีผู้มาติดสินบนจึงจะทำงานให้

ถ้านักการเมืองปรับปรุงตัวให้เป็นตัวอย่าง ทำให้ประชาชนเห็นและศรัทธา ขณะเดียวกันประชาชนก็ควรควบคุมรัฐบาลของตน ไม่เรียกร้องในสิ่งที่ไม่ควรได้จากนักการเมืองอย่างเด็ดขาด ปีใหม่แล้วก็ควรปรับตัวเสียใหม่เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงเช่นนานาอารยประเทศ

ทหารก็จะทำรัฐประหารไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image