การปฏิวัติทางการเมืองของไทยสมัยใหม่ : สถานะทางประวัติศาสตร์ของ 14 ตุลาคม 2516

กล่าวนำ

ไม่ว่าจะมองจากมุมของฝ่ายใดก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้รับการยอมรับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้เลย และความเปลี่ยนแปลงนี้ก่อให้เกิดผลอย่างมีนัยสำคัญต่อพัฒนาการของการเมืองไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนต้องถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่มี”สถานะพิเศษ”ของการเมืองไทยสมัยใหม่ หรือในทางรัฐศาสตร์เรียกว่าเป็น”การปฏิวัติทางการเมือง”(political revolution)ของสังคมการเมืองไทยด้วย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2516 และมีโอกาสเข้าร่วมการต่อสู้ของขบวนการนิสิตนักศึกษาในครั้งนั้นด้วย และว่าที่จริงแล้วด้วยความเป็นนิสิตรัฐศาสตร์ ผมกับเพื่อนส่วนหนึ่งเข้าร่วมในขบวนนี้ตั้งแต่เปิดเทอมต้นของปีการศึกษานั้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวในกรณีการใช้เฮลิคอปเตอร์ของทางราชการไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่นเรศวรในช่วงต้นเดือนมิถุนายน การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นดัง”การรับน้องใหม่”ทางการเมืองของนิสิตปี 1ที่เข้าร่วมการทำกิจกรรมการเมือง และตามมาลำดับสองด้วยเรื่องการประท้วงกรณีการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงกลางเดือนมิถุนายน และต่อเนื่องในลำดับสามด้วยเคลื่อนไหวใหญ่ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

ผมเป็นนิสิตคนหนึ่งที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว และเป็นคนที่ถือป้ายรูป”กำปั้น”เดินออกจากจุฬา และเมื่อถึงลานโพธิ์แล้ว ป้ายนี้ถูกยกขึ้นไปไว้บนเวทีเพื่อเป็นสัญลักษณ์การเข้าร่วมของนิสิตจุฬา เหตุการณ์นี้ดำเนินไปถึงจุดสำคัญด้วยการ”ล้อมปราบ”จากรัฐบาลทหาร แต่การปราบปรามเช่นนั้นในทางกลับกันก็คือ จุดจบของรัฐบาลทหารที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในสังคมการเมืองไทยนับจากยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และเป็นจุดสิ้นสุของรัฐบาลทหารที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ไม่ใช่มาจากการรัฐประหารของฝ่ายตรงข้าม และอาจต้องถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่การเปลี่ยนรัฐบาลเกิดจากพลังการเคลื่อนไหวของประชาชน… ไม่ใช่จากความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำที่มักจะจบลงด้วยการยึดอำนาจและจัดตั้งรัฐบาลทหารใหม่เช่นที่เกิดในอดีต

Advertisement

ว่าที่จริงแล้วเหตุการณ์นี้ไม่ได้มีความสำคัญกับคนรุ่นผม ในฐานะผู้อยู่ร่วมในประวัติศาสตร์เท่านั้น หากแต่ความสำคัญเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนด“ภูมิทัศน์ทางการเมืองใหม่”(New political landscape) และได้ทิ้งมรดกที่เป็น”นัยทางการเมือง” ไว้เป็นผลสืบเนื่องกับการเมืองไทยสมัยใหม่ จนสังคมการเมืองไทยร่วมสมัยไม่อาจละเลยถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้

ทำไมเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงมีความสำคัญ?

หากเราทดลองมองย้อนอดีตถึงชัยชนะของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลา เราจะเห็นนัยของความสำคัญของเหตุการณ์นี้โดยสังเขป 7 ประการ ที่ยังคงสถานะของมรดกของการเมืองไทยสมัยใหม่ ได้แก่

1) 14 ตุลาคือ คลื่นประชาธิปไตยลูกที่ 2 ของการเมืองไทย

ถ้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นดัง”คลื่นลูกแรก”(the first wave)ของประชาธิปไตยไทย หรืออาจถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยครั้งแรกในสังคมการเมืองไทย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนารูปแบบการปกครองของ”ระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่การเมืองของประเทศก้าวสู่ความเป็น”มหาชนรัฐ” โดยมีกติกาทางกฎหมายของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำกับ แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้อาจจะมี การ ”ล้มลุกคลุกคลาน”ไปกับเงื่อนไขการเมืองและสังคมไทย และทั้งอาจจะไปไม่ถึงจุดที่เป็นอุดมคติของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่สภาพเช่นนี้ก็มิได้หมายถึงการสิ้นสุดของความใฝ่ฝันถึงระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย

แม้ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือยุคสงครามเย็น ที่รัฐมหาอำนาจถือเอาการต่อสู้ของอุดมการณ์การเมืองระหว่าง”ทุนนิยม vs สังคมนิยม”เป็นทิศทางหลัก และเอื้อต่อการดำรงอยู่ของระบอบอำนาจนิยม ในรูปแบบของ”รัฐเสนานิยม”(หรือรัฐทหาร) รัฐประหารในการเมืองไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในการเมืองไทยในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 และมีผลให้คลื่นประชาธิปไตยลูกแรกของไทยสิ้นสุดแรงขับเคลื่อนลง ซึ่งก็คือการสิ้นสุดของยุค 2475 นั่นเอง

ข่าวรอบด้าน กับ Line@มติชนนิวส์รูม คลิกเป็นเพื่อนกัน ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

ระบอบเสนานิยมที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 2490 ดำรงอยู่ได้อย่างยาวนาน แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำ แต่ผู้นำหลักที่ก้าวขึ้นมาใหม่ ล้วนเป็นอดีตผู้นำที่เกี่ยวข้องกับ 2490 แทบทั้งสิ้น… จากจอมพล ป พิบูลสงคราม สู่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงจอมพลถนอม กิตติขจร สะท้อนให้เห็นชัดเจนของความต่อเนื่องของระบอบเสนานิยมไทย จนแทบจะไม่มีใครคิดว่าระบอบทหารไทยจะถูกโค่นล้มลง และด้วยการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของนิสิตนักศึกษาประชาชน ระบอบนี้ก็เดินทางมาถึงจุดอวสานในวันที่ 14 ตุลาคม 2516

การล้มระบอบทหารในปี 2516 จึงเป็น”คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สอง” ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ่านสูjประชาธิปไตย(transition to democracy)ครั้งที่ 2 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นัยของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2516 จึงเป็นปรากฎการณ์ที่มีความหมายอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของการสร้างประชาธิปไตยในการเมืองไทยสมัยใหม่ อันมีนัยถึงสถานะของการเป็นการ”ปฏิวัติทางการเมือง”ของประเทศ

หนึ่งในเหตุการณ์บนถนนราชดำเนินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2516, AFP PHOTO / STF

2) 14 ตุลาคือ การโค่นล้มระบอบทหารด้วยพลังประชาชนครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

หากพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การเมืองไทยอยู่ในตัวแบบของ”การเมืองในประเทศโลกที่สาม” ที่รัฐประหารยังคงเป็น”กฎ”มากกว่า”ข้อยกเว้น” กล่าวคือ รัฐประหารทั้งสำเร็จและล้มเหลวเกิดขึ้นในการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง และระบอบการปกครองแบบทหารกลายเป็นแบบแผนหลักในการเมืองไทย จนการเลือกตั้งที่มาพร้อมกับการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนนั้น กลายเป็น”การเมืองแบบชั่วคราว” และในยุคก่อนปี 2516 ก็มองไม่เห็นเลยว่า ระบอบเสนานิยมที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานในการเมืองไทยนั้น จะถูกเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร จนดูเหมือนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร 2490 จะมีความต่อเนื่อง และน่าจะสืบทอดไปสู่ยุคหลังจอมพลถนอม(The Post-Thanom Era)ด้วยทายาทในสายนี้

ในสภาพเช่นนี้แทบไม่มีใครจะคาดคิดว่า การปกครองของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมจะเป็นวาระสุดท้ายของระบอบเสนานิยมในขณะนั้น แต่แล้วผลจากการ”ล้อมปราบ”ที่เกิดในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 กลับกลายเป็นจุดพลิกของสถานการณ์ที่ทำให้ระบอบนี้สิ้นสุดลง แม้จะมีข้อมูลของความขัดแย้งระหว่างผู้นำทหารในระดับสูงในขณะนั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงแรงขับเคลื่อนจากการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารที่เกิดขึ้นบนท้องถนน ที่กลายเป็น”แรงบีบ”จนรัฐบาลทหารต้องล้มลง เพราะหากไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ของนิสิตนักศึกษาประชาชนแล้ว ความขัดแย้งของผู้นำทหารอาจดำเนินต่อไป และอาจไม่ไปถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่เช่นที่เกิดในเดือนตุลาคม 2516

ชัยชนะในเดือนตุลาคม 2516 จึงเป็นตัวแทนของ”คลื่นประชาธิปไตย”ที่นำความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในการเมืองไทยคือ การโค่นล้มระบอบทหาร ซึ่งมีความหมายมากกว่าการล้มรัฐบาลทหาร เพราะกรณี 14 ตุลาคม 2516 คือการล้มระบอบทหารที่สืบทอดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2490 และที่สำคัญคือการทำลายความต่อเนื่องของผู้นำทหารที่สืบสานอำนาจในการปกครอง จนภาพลักษณ์ของการเมืองไทยคือ”การเมืองในระบอบทหาร” และไม่มีทางคิดเป็นอื่นได้เลย และ”การเมืองในระบอบเลือกตั้ง”ถูกควบคุมให้เป็นดัง”บอนไซ” คือเป็นต้นไม้ที่ถูกทำให้มีขนาดเล็กและไม่มีทางที่จะเจริญเติบโต

ดังนั้นเมื่อนึกถึง 14 ตุลาคม 2516 เราจะนึกถึงชัยชนะของประชาชนในการโค่นล้มระบอบทหาร และเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นครั้งแรกที่กองทัพต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่ ก็ใหญ่ขนาดที่ทหารไม่กล้าแต่งเครื่องแบบออกมาเดินบนท้องถนนในกรุงเทพ!

ปี 2516 จึงเป็นตัวแทนของชัยชนะครั้งใหญ่ของประชาชนที่ไม่อาจละเลยได้ แม้ในอีก 3 ปีต่อมา ฝ่ายขวาจัดจะสามารถนำพาสังคมไทยกลับสู่ระบอบอำนาจนิยมได้สำเร็จในปี 2519 แต่สถานะแห่งชัยชนะนี้ก็มิอาจถูกทำลายลงได้ และเป็นประเด็นที่นักศึกษาด้านไทยศึกษายังคงต้องเรียนรู้เสมอ

3) 14 ตุลาคือ การชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดของประชาชนในการเมืองไทย

แม้การชุมนุมประท้วงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ในอดีตของการเมืองไทย เพราะหากย้อนไปก่อนยุค 2516 แล้ว จะเห็นได้ชัดเจนถึงการชุมนุมประท้วงใหญ่ของนิสิตนักศึกษาประชาชนจากกรณี”เลือกตั้สกปรก 2500” อันเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงการไม่ยอมรับต่อความพยายามของผู้นำทหารที่อาศัย”กลโกง”ในรูปแบบต่างๆ จนการเลือกตั้งในปี 2500 กลายเป็นสัญลักษณ์ของ”ความสกปรก”ที่ทำให้เกิดการประท้วง

แต่การเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็ยุติลงด้วยการรัฐประหารสองครั้งของจอมพลสฤษดิ์ในปี 2500 และ 2501 อันนำไปสู่การหวนคืนของระบอบเสนานิยม และสืบต่อมายังจอมพลถนอมในปี 2507 (หลังการอสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ในปลายปี 2506) แต่ระบอบนี้ก็ดำรงอยู่โดยไม่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของชนชั้นกลางที่เป็นผลจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย คนเหล่านี้ต้องการมีบทบาทมากขึ้นในทางการเมือง และขณะเดียวกันก็ไม่ยอมรับต่อบทบาทของทหารในการเมือง จนนำไปสู่การกำเนิดของ”กระแสต่อต้านเสนานิยม” และในอีกด้านหนึ่งก็เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายตัวของ”กระแสเสรีนิยม” ที่มีพื้นฐานด้วยการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย อันทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีความเป็นตัวแทนของการปะทะระหว่างกระแสการเมืองสองชุดคือ “เสรีนิยม vs เสนานิยม”

การขยายตัวของกระแสเสรีนิยมได้กลายเป็นรากฐานของการพาคนหนุ่มสาวเข้าสู่โลกทางการเมือง อันนำไปสู่การจัดตั้ง”ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”(ศนท.) ในปี 2513 และการเคลื่อนไหวของคนเหล่านี้ได้นำพาประชาชนเข้าร่วมในการต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลายเป็นการชุมนุมครั้งที่ใหญ่ที่สุดในการเมืองไทย จนยากที่จะถูกลบเลือนออกไปจากประวัติศาสตร์ และเชื่อว่าการชุมนุมครั้งนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เข้าร่วมเหตุการณ์ทุกคน เท่าๆกับที่อยู่ในความรับรู้ของผู้ที่สนใจการเมืองไทยไม่แตกต่างกัน

แน่นอนว่าการชุมนุมที่จะมีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมากอย่างในเดือนตุลาคม 2516 ในยุคสมัยปัจจุบันอาจจะไม่เป็นเรื่องง่าย แต่ภาพลักษณ์ของการชุมนุมในวันดังกล่าวยังคงเป็น”ภาพฝัน”ของฝ่ายประชาธิปไตยไม่เสื่อมคลาย และในมุมกลับ ภาพนี้คือ”ปีศาจ”ที่คอยหลอกหลอนรัฐบาลทหารเสมอมา ดังที่พวกเขาต้องเผชิญอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม 2535 และภาพประวัติศาสตร์นี้คือสิ่งที่รัฐบาลทหารทุกยุคทุกสมัยหวาดหวั่นเสมอ จนกล่าวสรุปเป็นภาพรวมได้ว่า รัฐบาลทหารพ่ายแพ้การชุมนุมของประชาชนมาสองครั้งแล้ว แม้ผู้นำทหารและผู้นำปีกอนุรักษ์นิยมจะเชื่อว่าพวกเขาสามารถทำลายข้อสรุปนี้ด้วยการใช้กำลังล้อมปราบเช่นในปี 2553 แต่ผลจากการปราบปรามที่เกิดขึ้นกลายเป็น”ชนัก”ที่ทำให้ภาพลักษณ์ในการใช้กำลังของกองทัพไม่อาจลบเลือนไปได้ และกลายเป็นชัยชนะที่เป็นผลด้านลบต่อสถาบันทหารในฐานะของ”ผู้ปราบปรามประชาชน”

 

4) 14 ตุลาคือ การสร้างจิตวิญญาณทางการเมืองของคนหนุ่มสาว

การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นั้น เป็นพัฒนาการของการก่อตัวของขบวนคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหาและสร้าง”สังคมที่ดีกว่า” และขบวนนี้ในบริบทของการเมืองภายในก็คือ การฟื้นตัวของขบวนปัญญาชนที่ขับเคลื่อนมาก่อนปี 2500 และถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาดในสมัยของรัฐบาลอำนาจนิยมในยุคจอมพลสฤษดิ์ จนราวกับว่าขบวนการนี้ถูกปราบจนราบคาบ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมีนักคิดและปัญญาชนต้องถูกคุมขัง แต่หากเอาปี 2511 เป็นจุดเริ่มก็จะเห็นได้ถึงการกำเนิดของกิจกรรมออกสู่ชนบท ด้วยการจัดตั้ง”ค่ายอาสาพัฒนาชนบท”ในมหาวิทยาลัย และพัฒนาเป็น”กลุ่มบูรณะชนบท” ในปี 2513 และในอีกด้านหนึ่งได้เกิดกิจกรรมการเมืองด้วยการจัดตั้ง”กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการเลือกตั้ง”ในปี 2512 จนต่อมาได้พัฒนาไปสู่การจัดตั้ง”ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่ง

ประเทศไทย”ในปี 2513 และทั้งยังเห็นถึงการเกิดกลุ่มกิจกรรมอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆคู่ขนานกันด้วย
หากมองจากบริบทภายนอกขบวนคนหนุ่มสาวในไทยก็คือ ผลผลิตการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวทั่วโลกที่มีจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาจาก”การปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งที่สอง” หรืออาจเรียกว่า”ขบวนการพฤษภาคม 1968” (ค.ศ.1968 คือปี พศ. 2511) ที่พาคนหนุ่มสาวออกมาสู่กิจกรรมทางการเมือง ไม่แตกต่างจากขบวนการต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริกาและในโลกตะวันตก และอาจเรียกได้ว่าเป็น”ยุคสมัยแห่งการประท้วงของคนหนุ่มสาว” เท่าๆกับเป็น”ยุคแห่งการกบฏของคนหนุ่มสาว” ที่เรียกร้องหาเสรีภาพและความเป็นธรรม… คนหนุ่มสาวทั่วโลกและในไทยมีความฝันและอุดมคติไม่แตกต่างกัน

บทบาทคนหนุ่มสาวหรือจะเรียกว่าเป็น”คนรุ่นใหม่”ขยายตัวทั้งในมหาวิทยาลัยและในสังคมไทย จนขึ้นสู่กระแสสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลทหารและเรียกร้องรัฐธรรมนูญในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนชัยชนะในเหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์สำคัญของการมีบทบาทของคนหนุ่มสาวในสังคมไทย
แม้วันนี้บทบาทเช่นนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปกับยุคสมัย แต่ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในปี 2516 ยังคงเป็นหน้าสำคัญของประวัติศาสตร์ของขบวนการนิสิตนักศึกษาไทยที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้ในอีก 3 ปีต่อมา ขบวนการนี้จะจบด้วยการถูกปราบปรามในเมืองก็ตาม และประวัติศาสตร์หน้านี้ยังคงเป็น”ความฝัน” ของนักกิจกรรมทางการเมืองสังคมในมหาวิทยาลัยเสมอ ที่อยากเห็นการเข้าร่วมทำกิจกรรมของเพื่อนๆในรั้วมหาวิทยาลัย

ภาพเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516, AFP PHOTO

5) 14 ตุลาคือ ภาพสะท้อนการเรียกร้องประชาธิปไตยของชนชั้นกลาง

ภาพคู่ขนานกับการเติบโตของขบวนการนิสิตนักศึกษาก็คือ การขยายตัวของชนชั้นกลาง ผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมส่งผลให้เกิดชนชั้นกลางที่ไม่ใช่กลุ่มข้าราชการ หากแต่มีนัยหมายถึงกลุ่มคนที่เติบโตจากการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของเมือง และในอีกด้านก็เป็นผลจากการขยายตัวของระบบการศึกษาในขณะนั้น ที่ทำให้กลุ่มคนในเมืองมีโอกาสได้รับการศึกษามากขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากการสร้างมหาวิทยาลัยเปิดยุคใหม่คือ การเปิดมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปี 2514

คนเหล่านี้เติบโตเป็น”ชนชั้นกลางนอกระบบราชการ” เพราะในการศึกษาสังคมไทยแบบเดิมนั้น ชนชั้นกลางมีความหมายถึงข้าราชการ และคนบางส่วนมีความชัดเจนว่าเป็น”ชนชั้นกลางในเมือง”(urban middle-class) และพวกเขาเริ่มมีความคิดที่ปฏิเสธระบอบการปกครองของทหารมากขึ้น อันเป็นผลจากการคอรัปชั่นขอวผู้นำทหาร การไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และที่สำคัญชนชั้นกลางเริ่มต้องการตัวแทนของพวกเขาในรัฐบาล ไม่ใช่รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร

ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ด้านหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือความสำเร็จของการเรียกร้องประชาธิปไตยของนิสิตนักศึกษา แต่ในอีกด้านหนึ่งก็คือ ความสำเร็จของชนชั้นกลางในการเรียกร้องเช่นนี้ด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า เหตุการณ์นี้มีภาพของชนชั้นกลางเป็นตัวแทนของความสำเร็จของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในปี 2516 ด้วย จะคิดเพียงความเป็นตัวแทนของนิสิตนักศึกษาไม่ได้ และยังต้องคิดรวมถึงการเข้าร่วมอย่างเสียสละของพี่น้องประชาชนในอีกส่วนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการเมืองไทยปัจจุบันและไม่ต่างกันในบางประเทศ ที่บทบาทของชนชั้นกลางถูกหยิบขึ้นมาเป็นข้อสงสัยว่า พวกเขายังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาธิปไตยเพียงใด หรือบางส่วนของชนชั้นกลางในสถานการณ์ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นปีกขวาจัดที่พร้อมสนับสนุนการรัฐประหาร มากกว่าจะเป็นฐานล่างของระบอบประชาธิปไตยเช่นที่กล่าวในทางทฤษฎี ประเด็นนี้ทำให้บทบาททางการเมืองของปัญหาชนชั้นกลางไทยยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจเสมอทั้งในทางทฤษฎีและปฎิบัติ

6) 14 ตุลาคือ การพังทลายของอำนาจผูกขาดในกองทัพและจุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มทหารสมัยใหม่

ในอีกด้านหนึ่งของผลพวงจากความสำเร็จของ 14 ตุลาคม 2516 ที่เราอาจจะไม่ค่อยรู้สึกมากก็คือ การล้มลงของรัฐบาลทหารของจอมพลถนอม ไม่ใช่เพียงการพังทลายของ”ระบอบทหาร”ที่ครองอำนาจอย่างต่อเนื่องยาวนานจากปี 2490 หากแต่ยังมีความหมายถึง การสิ้นสุดของ”อำนาจผูกขาด”ที่การควบคุมกองทัพอยู่ในมือของผู้นำระดับสูง หรือที่เปรียบเทียบว่าอำนาจในกองทัพกระจุกตัวอยู่บน”ยอดพีระมิด” จนเกิดคำเรียก ”ระบอบสฤษดิ์-ถนอม” และตามมาด้วย”ระบอบถนอม-ประภาส” อันเป็นการบ่งบอกถึงการรวมศูนย์อำนาจภายในกองทัพอย่างชัดเจน อำนาจรวมอยู่ในระดับบน จนเกิดความกังวลถึงการสืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้นำหลักที่อาจจะไม่เปิดให้กลุ่มอื่นสามารถเติบโตในกองทัพได้

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเป็นดังการพังทลายของการรวมศูนย์อำนาจภายในกองทัพ อำนาจในมือของ”สองจอมพล-สองตระกูล”ถูกทำลาย และเปิดโอกาสให้ผู้นำทหารอื่นเติบโตขึ้นในกองทัพ โดยเฉพาะในกองทัพบก และยังมีนัยสำคัญถึงการขยายบทบาทของ”นายทหารระดับกลาง” ที่การพังทลายของระบบผูกขาดแบบเดิม ส่งผลให้เกิด”ช่องว่างแห่งอำนาจ”จนกลายเป็นโอกาสของนายทหารระดับกลาง(ระดับผู้บังคับกองพัน และระดับผู้บังคับการกรม)ก้าวเข้ามามีบทบาททางการเมือง ดังตัวอย่างของนายทหาร จปร. 5 และ จปร. 7(กลุ่มยังเติร์ก)

แม้ปัจจุบันบทบาทและผลจากการรวมกลุ่มของนายทหารระดับกลางหายไปจากการเมืองไทยแล้วก็ตาม แต่ยังคงเป็นคำถามเสมอว่า โอกาสที่นายทหารระดับกลางจะกำเนิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตการเมืองไทยได้หรือไม่ และมรดกสำคัญประการหนึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็คือ การรวมกลุ่มของนายทหารไม่ว่าจะมองในมุมของการเป็น ”กลุ่มผลประโยชน์”(interest group) หรือจะมองว่าเป็น”กลุ่มกดดัน”(pressure group)ในแบบที่เห็นในการเมืองไทยสมัยใหม่ มีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์ในปี 2516 ที่อำนาจของผู้นำทหารระดับสูงถูกทำลายลง จนนายทหารหลายส่วนที่ตัดสินใจมีบทบาททางการเมืองไม่จำเป็นต้องผูกมัดอยู่กับผู้นำในระดับสูงแบบเดิมอีกต่อไป และสามารถจัดตั้งกลุ่มของพวกเขาขึ้นเองได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีชัยชนะของประชาชนในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว โครงสร้างอำนาจภายในกองทัพจะยังคงอยู่ ในแบบเดิมที่มีการรวมศูนย์อยู่บนยอดพีระมิด แต่ก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายในกองทัพอีกแบบหนึ่ง หากพิจารณาในมุมมองเช่นนี้แล้ว เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือการ”ปลดปล่อย”กองทัพออกจากพันธนาการของอำนาจในแบบเก่า แม้เส้นทางของกองทัพกับการเมืองไทยต่อมาจะไม่ราบเรียบ และประเด็นของการสร้าง”ทหารอาชีพ”ยังคงเป็นเรื่องที่ตกค้างในการเมืองไทยไม่เปลี่ยนแปลงก็ตาม

7) 14 ตุลาคือ การสิ้นสุดของการเมืองเก่าและก้าวสู่การเมืองใหม่

นัยสำคัญอีกประการของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็คือ การสิ้นสุดของการเมืองชุดเก่าของไทยที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการรัฐประหาร 2490 ผลพวงของการเมืองในยุคสมัยดังกล่าวปิดฉากลงด้วยการล้มลงของระบอบทหาร ที่มีนัยถึงการสิ้นสุดของทหารยุคเก่า ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอมและจอมพลประภาส หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสมัยของ”การเมืองยุคจอมพล” และหลังจากนี้ไม่มีผู้นำทหารคนใดดำรงตำแหน่งจอมพล แม้อัตราชั้นยศจอมพลจะยังคงมีอยู่ในกองทัพก็ตาม จนอาจตั้งเป็นสมมติฐานได้ว่า 14 ตุลาคือการสิ้นสุดยุค 2490 และส่งผลให้ทหารกับการเมืองไทยก้าวสู่บริบทใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของภูมิทัศน์การเมืองใหม่อีกด้วย

ในอีกด้าน ภูมิทัศน์ใหม่เช่นนี้เป็นผลให้การเมืองหลังจากปี 2516 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเห็นได้ชัดถึงการมีบทบาทของประชาชนมากขึ้น จนในระยะต่อมาการเมืองไทยในอีกมุมหนึ่งมีความเป็น”การเมืองของมวลชน”(mass politics) ที่ตามมาด้วยการเรียกร้องและการประท้วงเช่นที่เราเห็นในการเมืองตะวันตก และถ้าเราไม่มีความคิดคับแคบจนเกินไปแล้ว การเรียกร้องและการประท้วงที่เกิดขึ้นคือภาวะปกติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการแสดงออกทางการเมือง การมีสิ่งนี้จึงมิใช่ความวุ่ยวายที่จะเป็นข้ออ้างสำหรับผู้นำทหารและชนชั้นนำหัวเก่าในการทำรัฐประหาร

ความใหม่หลังปี 2516 ยังตามมาด้วยปัจจัยสำคัญอีกประการคือ การเมืองในกรอบของ”การแข่งขันของพรรคการเมือง” ที่การเมืองแบบ”ประชาธิปไตยตัวแทน”(representative democracy) เป็นรากฐานของการต่อสู้ทางการเมือง ไม่ใช่การต่อสู้ของผู้นำทหารในแบบเดิม หรืออาจกล่าวได้ว่านับจากปี 2516 จนถึงปัจจุบัน การเมืองไทยมีประชาชนและพรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญ ภูมิทัศน์ใหม่หลังปี 2516 ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า การเมืองไทยมิได้มีเพียงผู้นำทหาร ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น การเอาชนะการแข่งขันผ่านพรรคการเมืองจึงเป็นเวทีสำคัญในการได้มาซึ่อำนาจรัฐ และทั้งยังเป็นสัญญาณสำหรับอนาคตว่า“อำนาจรัฐจากปากกระบอกปืน”ด้วยการรัฐประหารนั้น ไม่มีความชอบธรรมเท่ากับที่ไม่มีความยั่งยืน ดังที่ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าวเป็นข้อเตือนใจนักรัฐประหารทั้งหลายเสมอว่า “บัตรออกเสียงเลือกตั้งแข็งแรงกว่ากระสุนปืน” (“The ballot is stronger than bullet”. President AbrahamLincoln)

เผด็จการทหารยังไม่หมด การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยังไม่จบ!

แม้ผลของความเปลี่ยนแปลงในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จะสะดุดลงจากรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ก็ใช่ว่านัยที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น จะถูกทำลายและสิ้นสภาพไปแต่อย่างใด หากแต่ผลสืบเนื่องของการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในครั้งนั้น ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในการเมืองไทยไม่ว่าจะเป็นในปี 2534 และต่อมาอีกในปี 2549 และซำ้อีกครั้งในปี 2557 แต่ก็ไม่อาจทำให้เสียงเรียกร้องประชาธิปไตยสิ้นสุดลงในไทยแต่อย่างใด

บนเส้นทางการเมืองของการพัฒนาประชาธิปไตยไทยที่”คดเคี้ยว”ไม่สิ้นสุดเช่นนี้ อาจจะหยุดยั้งความต้องการของผู้นำทหารและบรรดากลุ่มการเมืองปีกอนุรักษ์นิยมที่จะโค่นล้มระบอบการเมือง ที่มีพื้นฐานมาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ได้ แต่ในโลกสมัยใหม่พวกเขาก็หนีออกจากการเมืองในระบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลทหารไม่ว่าจะมีที่มาอย่างไรก็ไม่มีความชอบธรรมในตัวเอง และ 14 ตุลาคม 2516 ได้พิสูจน์ปรากฎการฌ์เช่นนี้มาแล้ว จนอาจกล่าวเป็นข้อสรุปได้ว่า รัฐบาลทหารที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหารไม่ว่าจะในยุคไหนสมัยไหนก็ไม่มีความชอบธรรมทางการเมืองในตัวเอง และทั้งยังไม่อาจอ้างถึงการมี”อำนาจทางศีลธรรม”(moral authority)ในการเป็นรัฐบาลได้เลย อันทำให้คำกล่าวของประธานาธิบดีลินคอล์นยังเป็นข้อเตือนใจที่ดีกับบรรดาผู้สนับสนุนระบอบเสนานิยมไม่เปลี่ยนแปลง

ในสุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่า ผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่มีนัยสำคัญ 7 ประการดังที่กล่าวแล้วในข้างต้นคือรากฐานของการเมืองไทยสมัยใหม่ อันมีผลต่อการกำหนด”ภูมิทัศน์ใหม่”ของการเมืองไทยหลังจากปี 2516 และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นรากฐานที่ถูกสร้างจากเหตุการณ์นี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด และยิ่งเวลาผ่านไปจนแม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงอดีต แต่กลับยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของปรากฎการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นในฐานะของ”จุดเปลี่ยนประเทศไทย” หรือหากมองในกรอบทางรัฐศาสตร์ของทฤษฎี”เปลี่ยนผ่านวิทยา”(Transitology)แล้ว เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยในการเมืองไทยสมัยใหม่ จนอาจต้องถือเสมอว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นหนึ่งใน”การปฏิวัติทางการเมือง”ที่สำคัญของสังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image