ชาวบ้านคัดค้านโครงการขยะ

ระยะนี้มีข่าวชาวบ้านประท้วงคัดค้านโครงการที่เกี่ยวกับขยะแทบทุกวัน ทั้งโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โรงคัดแยกขยะ ไปจนถึงโครงการก่อสร้างสถานที่ฝังกลบ ทำให้แผนงานต่างๆ ที่รัฐบาลกำหนดไว้ถึงกับหยุดชะงักไปเลย

จากรายงานข่าวที่ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุของการประท้วงส่วนใหญ่มาจากความกังวลเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน เรื่องกลิ่น ฝุ่น มลพิษทางอากาศ น้ำเสีย แมลงวัน กระทั่งผลกระทบต่ออาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ แต่ตรงข้ามกับความเห็นของตัวแทนภาครัฐและท้องถิ่นที่อ้างถึงสาเหตุการประท้วงมาจากความขัดแย้งของการเมืองท้องถิ่น ผลประโยชน์การซื้อขายที่ดินที่จะเป็นสถานที่ก่อสร้าง ผลประโยชน์จากโครงการที่จัดสรรให้ไม่ทั่วถึง หรือเกิดจากคนนอกพื้นที่เข้ามาเป็นตัวนำการประท้วง

เรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก

ย้อนกลับไปในช่วงปี 2520-2530 เป็นยุคแรกที่รัฐบาลจัดงบประมาณก่อสร้างสถานที่ฝังกลบขยะแบบถูกหลักสุขาภิบาลตามหัวเมืองใหญ่ทั้ง 4 ภาค เวลานั้นแม้มีเสียงคัดค้านจากชุมชนอยู่บ้าง แต่ก็สามารถชี้แจงทำความเข้าใจและคลี่คลายข้อกังวลต่างๆ ได้

Advertisement

การเลือกสถานที่กำจัดขยะยึดหลักวิชาการเป็นสำคัญเป็นไปตามข้อกำหนดระยะห่างจากบ้านเรือน แหล่งน้ำ โบราณสถาน สนามบิน เพื่อป้องกันผลกระทบต่อชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งหน่วยงานเจ้าของโครงการต้องนำข้อมูลด้านวิชาการเหล่านี้ไปตอบข้อกังวลของชาวบ้าน ในกรณีที่ไม่สามารถก่อสร้างในพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดได้ ก็ต้องมีพื้นที่สำรองไว้ให้เลือกที่เราเรียกว่า The Second Best

เวลานั้นอุปสรรคของโครงการมีไม่มากนักอาจเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆ เช่น พื้นที่ก่อสร้างที่เลือกไว้ห่างไกลจากชุมชน ปริมาณขยะยังไม่มาก และการฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลที่นำเสนอโดยหลักการแล้วดีกว่าการเทกองแน่นอน

แต่แล้วผลจากการบริหารดำเนินการระบบฝังกลบขยะหลังการก่อสร้างกลับไม่เป็นไปตามข้อมูลที่นำเสนอ สภาพการฝังกลบไม่แตกต่างจากการเทกองเช่นเดิม ไม่มีการกลบขยะรายวันเพื่อลดกลิ่น ลดการเกิดแมลงวัน ไม่มีการบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ชาวบ้านเดือดร้อนได้รับผลกระทบถึงขั้น “กางมุ้งกินข้าว” บางแห่งยังปล่อยให้มีการเผาขยะกลางแจ้ง ทั้งควันและกลิ่นสร้างปัญหาสุขภาพแก่ชาวบ้าน

Advertisement

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการก่อสร้างระบบกำจัดขยะในเวลาต่อมาเริ่มประสบกับเสียงคัดค้านมากขึ้น ดังขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับความล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบฝังกลบขยะของท้องถิ่น

แทนที่จะแก้ปัญหาโดยปรับปรุงศักยภาพในการจัดการระบบฝังกลบ ในเวลานั้นกลับมีการนำเสนอข้อมูลด้านลบของระบบกำจัดแบบฝังกลบ พร้อมกับการนำเสนอให้ใช้วิธีกำจัดแบบเตาเผาโดยอ้างว่าประเทศที่พัฒนาแล้วล้วนกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีนี้

ต้นปี 2538 จึงเกิดโครงการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่เรียกว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะ จังหวัดเชียงใหม่” ในพื้นที่อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ชาวบ้านยอมรับโครงการ มีการนำชาวบ้านไปดูงานต่างประเทศ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถต้านทานกระแสคัดค้านของชาวบ้านได้ สุดท้ายการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เจ้าของโครงการต้องขอยุติโครงการในปลายปีเดียวกัน

กรณีนี้ได้ถูกบันทึกให้เป็นตัวอย่างความล้มเหลวในการพัฒนาโครงการแบบ TOP-DOWN ที่อาศัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2538 ให้ก่อสร้างโครงการดังกล่าวในพื้นที่ตำบลน้ำแพร่ อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ขณะที่สภาตำบลยังไม่อนุมัติให้ใช้พื้นที่ก่อสร้างและยังไม่มีการรับฟังความเห็นจากชาวบ้าน ตลอดเวลาของการคัดค้านของชาวบ้าน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ใช้สื่อทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางประชาสัมพันธ์โครงการ ก็ไม่สามารถลดกระแสคัดค้านได้ แต่กลับยิ่งเพิ่มและขยายวงมากขึ้นจากท้องถิ่น ขยายไปทั่วจังหวัดเชียงใหม่ จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งที่รับรู้กันทั่วประเทศ และส่งผลสะเทือนต่อเนื่องไปถึงโครงการอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งแม้แต่สถานที่ฝังกลบแบบถูกหลักสุขาภิบาลของเทศบาลเมืองคูคต จังหวัดปทุมธานี ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2541 ก็ถูกชาวบ้านปิดไม่สามารถเปิดใช้งานจนถึงปัจจุบัน

ในแวดวงวิชาการกล่าวถึงสาเหตุของการคัดค้านของชาวบ้านมาจากความล้มเหลวของภาครัฐในการสื่อสาร ทำความเข้าใจให้ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับโครงการ ขณะที่ภาครัฐเข็ดขยาดการสื่อกับชาวบ้าน เพราะไม่ว่าจะสื่อแบบไหน เอาใครมานำเสนอ ผลมักออกมาในเชิงลบเสมอ

ดังนั้น การยกเลิกการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่จะต้องมีให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจึงอยู่ในใจของรัฐตลอดเวลา

จนในที่สุดเครื่องมือใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงยาขมถูกสร้างขึ้นในปี 2557 เรียกว่า “ประมวลหลักปฏิบัติ Code of Practice หรือ CoP”

หลังจากที่รัฐบาล คสช.ยกระดับปัญหาขยะเป็นวาระของประเทศและประกาศ Roadmap การจัดการขยะและของเสียอันตรายในเดือนสิงหาคม 2557 CoP ก็ถูกนำมาใช้แทนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกกันว่า EIA สำหรับโครงการเตาเผาขยะหรือโรงไฟฟ้าขยะ ด้วยเหตุผลความเร่งด่วน หากต้องผ่านกระบวนการ EIA ที่กำหนดให้ชาวบ้านมีส่วนรับรู้ ติดตามตรวจสอบจะเกิดความล่าช้าจนรัฐจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาขยะได้

มกราคม 2559 คำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 ได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองสำหรับโครงการเตาเผาหรือโรงไฟฟ้าขยะเพื่อตอกย้ำหลักเกณฑ์ของ CoP เรื่องสถานที่ตั้งโครงการ โดยสามารถตั้งที่ใดก็ได้ยกเว้น 5 พื้นที่ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ

แสดงว่าต่อจากนี้ไปเตาเผาหรือโรงไฟฟ้าขยะสามารถตั้งได้แม้กระทั่งในพื้นที่ชุมชน พื้นที่ใกล้แหล่งน้ำสำหรับการเกษตร หรือกระทั่งแหล่งน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา

หลักเกณฑ์ของ CoP ดูจะเป็นผลดีกับภาคเอกชนผู้ประสงค์จะลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขยะตามแนวทางการส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและบริหารดำเนินการของ Roadmap การจัดการขยะ แต่สำหรับชาวบ้านแล้ว หลักเกณฑ์ของ CoP ได้ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของชาวบ้านโดยเฉพาะการตรวจสอบของชาวบ้าน เราจึงได้เห็นว่า ระยะเวลา 4 ปี ของ Roadmap และ 2 ปี ของการใช้ CoP แทนที่จะเกิดโครงการการจัดการขยะดีๆ เพื่อแก้ปัญหาขยะอย่างเร่งด่วน กลับมีแต่การประท้วงคัดค้านโครงการขยะของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ แทบทุกวัน

นี่ก็เพราะชาวบ้านเชื่อไปแล้วว่า ภาครัฐไม่ใส่ใจปัญหาผลกระทบของชาวบ้านและไม่เชื่อว่ารัฐและท้องถิ่นจะสามารถแก้ไขปัญหาผลกระทบของชาวบ้านได้

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image