แนวโน้ม เลือกตั้ง : สถานการณ์ รัฐประหาร : แนวโน้ม การเมือง

หากถือเอารัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 เป็นบรรทัดฐานมาศึกษากับรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นตัวเปรียบเทียบ

มีข้อน่าศึกษาในเรื่อง “เลือกตั้ง”

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501 กว่าจะได้เลือกตั้งก็ในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ห่างกันร่วม 10 กว่าปี

เลือกตั้งเพียง 2 ปีก็เกิดรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514

Advertisement

หากไม่เกิดสถานการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 ในอีก 2 ปีต่อมาประชาชนก็คงไม่ได้เลือกตั้งในเดือนมกราคม 2518

แต่อยู่ได้เพียง 1 ปีก็เกิดรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2519

รัฐบาลจากการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519 อยู่ได้เพียง 1 ปีก็ถูกรัฐประหารซ้ำอีกในเดือนตุลาคม 2520

อีก 1 ปีต่อมาก็มีการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522

รู้สึกหรือไม่ว่าระยะเวลาของการรัฐประหาร กับ การเลือกตั้งจากที่เคยทอดเวลายาวนานร่วม 10 ปีเริ่มหดสั้นลงเป็นลำดับ

แม้จากรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 จะเป็นผลจาก “รัฐประหาร”

แต่ก็ต้องยอมรับว่า รัฐบาลนับจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างน้อยก็มีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง”

รวมไปถึงการเลือกตั้งในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531

แต่แล้วก็เกิดรัฐประหารโดย “รสช.” ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แต่อีก 1 ปีต่อมาก็มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2535

อีก 2 เดือนต่อมาก็เกิดสถานการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ความสำคัญของเหตุการณ์นองเลือดในเดือนพฤษภาคม 2535 คือ ที่มาของความเรียกร้องต้องการของรัฐธรรมนูญใหม่ 1 คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 และ 1 คือที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540

อันนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544

การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 มีความสำคัญเป็นอย่างสูง ไม่เพียงแต่เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองใหม่ที่ปลุกสำนึกทางการเมืองของประชาชนในชนบท

ก่อปรากฏการณ์ ไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

มีความพยายามผ่านรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เพื่อกำจัดไทยรักไทย แต่ก็ไม่สามารถกำจัดได้สิ้นซาก ได้เกิดปรากฏการณ์พลังประชาชน เพื่อไทยตามมา

กระทั่งเกิดสถานการณ์รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

เป้าหมายยังเหมือนเดิม นั่นก็คือ ต้องการทำลายและกำจัดอิทธิพลไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย

เวลาผ่านมาร่วม 5 ปีแล้วก็ยังไม่แน่ใจ

ไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งดี หรือว่า จะยื้อเวลาของการเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไปอีกโดยไม่จำเป็นต้องเลือกตั้ง

นี่คือสถานการณ์ยักตื้นติดกึก ยังลึกติดกักอยู่ในขณะนี้

ความเป็นจริงนับแต่หลังสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 เป็นต้นมา คือ การเลือกตั้งได้กลายเป็นหนทางออกและเครื่องมือสำคัญในการออกจากปัญหาและความขัดแย้ง

เป็นความขัดแย้งที่เริ่มปฏิเสธ “การเลือกตั้ง”

เพราะว่าการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ไทยรักไทยชนะ เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 พลังประชาชนชนะ เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 เพื่อไทยชนะ

แม้จะรัฐประหารอย่างไรก็ยังไม่สามารถเอาชนะไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image