ผศ.ดร.บูฆอรี ยีหมะ : พฤติกรรมการเลือกตั้ง ใน 3 จว.ชายแดนใต้ เลือกคนมากกว่าเลือกพรรค

ในขณะที่ภาคใต้ถูกมองว่าเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์ครองความนิยมมาอย่างยาวนานหลายสมัยนับตั้งแต่นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรี แต่กระนั้นก็ไม่ใช่ภาคใต้ทั้งหมด เพราะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ซึ่งประกอบไปด้วยปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ยังไม่มีพรรคการเมืองใดผูกขาดพื้นที่ได้อย่างยาวนาน มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองหลายพรรคสลับสับเปลี่ยนกันได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนในพื้นที่ กระทั่งบางพรรคได้ล้มหายตายจากหรือเสื่อมความนิยมทางการเมืองไปแล้วก็มี

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น เป็นผลมาจากพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ที่ยึดถือตัวบุคคลหรือตัวผู้สมัคร มากกว่าจะผูกพันกับพรรคการเมืองอย่างที่เกิดขึ้นใน 11 จังหวัดภาคใต้ที่เหลือ การย้ายพรรคของผู้สมัครจึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติในพื้นที่แถบนี้ กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ย้ายพรรคไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทย หรืออดีต ส.ส.ของพรรคไทยรักไทย/เพื่อไทยลา ออกจากพรรคแล้วไปจัดตั้งพรรคเองคือ พรรคประชาชาติ

เหตุใดพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนใน 3 จชต. จึงแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ทั้งหมดของภาคใต้

ประเด็นนี้ต้องอธิบายในมิติทางชาติพันธุ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณี ซึ่งเชื่อมโยงกับความต้องการให้ตัวแทนของตนเป็นปากเสียงในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในฐานะชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย หรือเป็นระบบย่อยที่อยู่ภายใต้ระบบใหญ่หรือการเมืองไทยโดยภาพรวม นำไปสู่การตัดสินใจใช้สิทธิเลือกตั้งที่วางอยู่บนประเด็นปัญหา (issue-oriented) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา ประเด็นปัญหาที่ประชาชนต้องการให้แก้ไขถูกขับเคลื่อนด้วยตัวผู้สมัครหรือตัวบุคคลมากกว่าตัวพรรคการเมือง

Advertisement

แม้ว่าในช่วงระยะเวลาหนึ่งมีการรวมตัวกันของตัวบุคคลหลายๆ คนเป็นกลุ่ม (faction) หรือมุ้ง เพื่อสร้างอำนาจต่อรองภายในพรรคการเมือง กลุ่มที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักก็คือ กลุ่มวะห์ดะห์ (สื่อมวลชนไทยมักเรียกผิดว่า วาดะห์) มีนายเด่น โต๊ะมีนา อดีต ส.ส.ปัตตานีหลายสมัยเป็นผู้นำกลุ่ม ก่อนที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต ส.ส. จังหวัดยะลา มารับช่วงเป็นผู้นำต่อหลังจากนายเด่น แพ้การเลือกตั้งในปี 2538

แต่ความเป็นกลุ่มในพรรคการเมืองก็สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมการเลือกตั้งที่วางอยู่บนตัวบุคคลมากกว่าตัวพรรค

การเมืองที่ถูกขับเคลื่อนด้วยประเด็นปัญหาก่อให้เกิดการเลือกคนมากกว่าพรรค

พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจะสร้างความนิยมในพื้นที่ 3 จชต. ทุกเขตเลือกตั้งก่อนหน้าอีก 11 จังหวัดภาคใต้ทั้งหมดเสียอีก เพราะในการเลือกตั้งปี 2519 ซึ่งทั้งประเทศพรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้รับเลือกเป็นอันดับหนึ่ง ได้ ส.ส.ทั้งสิ้น 114 คน จาก ส.ส.ทั้งหมด 279 คน มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ส่วน 3 จชต. ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งทุกเขต คือ ปัตตานี 3 คน นราธิวาส 3 คน และยะลา 1 คน

ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครของพรรคได้ปราศรัยหาเสียงกับประชาชนว่า หากผู้สมัครทั้งหมดของพรรคประชาธิปัตย์ใน 3 จชต. ได้รับเลือกตั้ง พรรคสัญญาว่าจะจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง 1 ตำแหน่ง ซึ่งนายเด่น โต๊ะมีนา ผู้สมัครจังหวัดปัตตานี ในฐานะแกนนำผู้สมัครทั้งหมดจะได้รับตำแหน่งตามที่ตกลงกันไว้

นายเด่น เป็นนักการเมืองที่มีบทบาทและบารมีสูงในช่วงเวลานั้น เพราะการแข่งขันทางการเมืองของปัตตานีในยุคแรกๆ เป็นการแข่งขันกันระหว่างตระกูลอดีตเจ้าเมือง (พระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม อดีตเจ้าเมืองยะหริ่งองค์ที่ 3) ซึ่งมีทายาทประกอบด้วยบุคคล 2 นามสกุลคือ อับดุลบุตร และพิพิธภักดี กับตระกูลนักการศาสนาของนายเด่น ผู้เป็นบุตรชายคนที่ 3 ของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ (โต๊ะมีนา) หนึ่งในนักการศาสนาที่มีบทบาทสูงยิ่งในสังคม 3 จชต.

การที่พรรคประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งทุกเขตใน 3 จชต. ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือ การร่วมมือกันสนับสนุนของกลุ่มผู้นำทางศาสนา ซึ่งแน่นอนว่ามีความสัมพันธ์กับนายเด่น หลังจากเกิดความไม่พอใจที่มีต่อรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคกิจสังคม เมื่อเกิดเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ที่มีประชาชนมาร่วมชุมนุมนับแสนคนที่มัสยิดกลางปัตตานี ในปี 2518 เป็นการประท้วงที่ใช้เวลายาวนานถึง 45 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม ปี 2518 จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2519) เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาล สืบเนื่องมาจากการที่นายทหารนาวิกโยธินจำนวน 6 นายได้ทำวิสามัญฆาตกรรมชาวบ้าน 5 ศพก่อนโยนทิ้งตรงสะพานกอตอซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างปัตตานีกับนราธิวาสลงในแม่น้ำสายบุรีในคืนวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2518 หรือที่รู้จักกันในนาม เหตุการณ์ประท้วงสะพานกอตอ

การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ได้เกิดเหตุมีการโยนระเบิดเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 30 คน อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกต้องการแบ่งแยกดินแดน แต่แอบแฝงว่าเป็นการเรียกร้องความไม่เป็นธรรม นำมาสู่ความไม่พอใจต่อท่าทีและการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล กลุ่มผู้นำศาสนาซึ่งเป็นหนึ่งในชนชั้นนำในโครงสร้างทางสังคมการเมืองของ 3 จชต. จึงร่วมมือกันให้การสนับสนุนผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดในการเลือกตั้งปี 2519

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีกลับไม่มีชื่อของนายเด่น คนที่ได้รับตำแหน่งคือ นายสิดดิก สารีฟ ส.ส.นราธิวาส จากการคัดสรรเองของกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้นายเด่นมองว่าโดนเบี้ยว ไม่เป็นไปตามคำสัญญาที่พรรคให้ไว้

การเลือกตั้งครั้งต่อมาคือ ปี 2522 พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ใน 3 จชต. เหลือเพียงที่นั่งเดียวเท่านั้นคือ นายเด่น ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลพวงจากการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีมีส่วนไม่น้อย โดยพรรคกิจสังคมได้รับความนิยมสูงได้รับการเลือกตั้งในหลายเขตทั้งจังหวัดยะลาและนราธิวาส หนึ่งใน ส.ส. ของกิจสังคมจังหวัดยะลาคือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก

ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2526 นายเด่นลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์หันไปลงสมัครและชนะเลือกตั้งในนามพรรคชาติไทย

ประเด็นปัญหาทางด้านชาติพันธ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีเกิดขึ้นเป็นระยะใน 3 จชต. ส่งผลกระทบต่อความผูกพันของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดครองความนิยมได้อย่างยาวนาน การย้ายพรรคของนักการเมืองเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ แม้กระทั่งกรณีของนายเด่น ที่ผิดหวังจากพรรคประชาธิปัตย์และลาออกไป แต่ในการเลือกตั้งปี 2529 กลับหวนมาสังกัดและลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง

ปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีมาจากความไม่เข้าใจของรัฐไทยและรัฐบาลในหลายยุคหลายสมัยโดยยึดถือคำอธิบายหลักว่า ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวโยงกับความต้องการแบ่งแยกดินแดน เช่น ในปี 2528 สมัยรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ พรรคประชาธิปัตย์ที่คุมกระทรวงศึกษาธิการ มีนายมารุต บุญนาค เป็นรัฐมนตรีว่าการและนายสัมพันธ์ ทองสมัคร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ มีนโยบายให้มีการประดิษฐานพระพุทธรูปในโรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ นำมาสู่ความไม่พอใจเกิดการชุมนุมประท้วงในจังหวัดสตูล ซึ่งประชากรกว่า 80% นับถือศาสนาอิสลาม

การชุมนุมระยะแรกที่มีเพียงชาวสตูล ต่อมามีประชาชนจาก 3 จชต. เข้าร่วมด้วยและการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานกว่า 4 เดือน

ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงระลอกใหม่ที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ก็สะท้อนถึงปัญหาการดำเนินนโยบายและแก้ไขปัญหาใน 3 จชต. เช่น กรณีเหตุการณ์สังหารหมู่ในมัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี กรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น

ถึงแม้มี ส.ส. ของพรรคในพื้นที่เกินครึ่ง แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาความขัดแย้งที่ขยายตัวไปสู่ความรุนแรง ผลกระทบที่สำคัญต่อการเลือกตั้งก็คือ การเลือกตั้งในปี 2548 ผู้สมัครของพรรคไทยรักไทยใน 3 จชต. แพ้เลือกตั้งทั้งหมด สวนทางกับการเลือกตั้งในระดับชาติที่พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย

มุ้ง ภาพสะท้อนการเลือกตัวบุคคลมากกว่าพรรค

กลุ่มการเมือง (faction) หรือมุ้งภายในพรรคเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายประเทศของประเทศโลกที่ 3 รวมถึงประเทศไทย การจัดตั้งมุ้งมีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ

ประการแรก การรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของนักการเมืองเดิมเพื่อรักษาอำนาจ หรือกระชับอำนาจของตนเองให้มากยิ่งขึ้นเพราะการรวมกลุ่มนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางการเมืองร่วมกัน เช่น เครือข่ายทางการเมือง ทุนในการทำกิจกรรมทางการเมือง เป็นต้น

ประการที่สอง การรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองเป็นการขีดวงหรือจำกัดวงนักการเมืองหน้าใหม่หรือผู้ที่กำลังสั่งสมบารมีทางการเมือง ซึ่งอาจท้าทายอำนาจทางการเมืองได้ ด้วยการดึงให้เขาเหล่านี้มาเป็นพวก สร้างความรู้สึกว่า ความสำเร็จทางการเมืองไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยง่ายเพียงลำพัง หากไม่ยอมมาสังกัดกลุ่มตน

ประการที่สาม การรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มการเมืองถือเป็นเครื่องมือหรือกลไกในทางการเมืองในการสร้างอำนาจต่อรองกับพรรคการเมืองที่กลุ่มเข้าไปสังกัด ทั้งในด้านการผลักดันนโยบายที่มีต่อพื้นที่ของสมาชิกในกลุ่มและในด้านตำแหน่งทางการเมืองที่สมาชิกกลุ่มจะได้รับหากพรรคที่กลุ่มสังกัดได้เป็นรัฐบาล

ในพื้นที่ 3 จชต. กลุ่มการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายก็คือ กลุ่มวะห์ดะห์ ซึ่งมีความหมายว่า เอกภาพ รวมตัวจัดตั้งกลุ่มในปี 2529 โดยมีนายเด่น เป็นหัวหน้ากลุ่ม สมาชิกกลุ่มมีทั้ง ส.ส. มุสลิมและพุทธ หลังจากการรวมกลุ่มไม่นาน ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2529 สมาชิกกลุ่มวะห์ดะห์ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดในนามพรรคประชาธิปัตย์ แม้ว่านายเด่นเคยผิดหวังมาแล้วจากการไม่ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปี 2519 และปัญหาต่างๆ หลายประการที่ส่งผลกระทบในพื้นที่จากกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากได้รับคำมั่นสัญญาอีกครั้งจากนายวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรคว่า ส.ส.ในกลุ่มวะห์ดะห์จะได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม กลุ่มวะห์ดะห์กลับไม่ได้รับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง แม้ว่า ส.ส.ในกลุ่มได้รับการเลือกตั้งทั้ง 3 จชต. ถึง 5 ที่นั่งก็ตาม การไม่สามารถใช้อำนาจของกลุ่มต่อรองทางการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์ได้ ทำให้กลุ่มวะห์ดะห์ร่วมมือกับกลุ่ม 10 มกรา ที่มีนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงปี 2522 กับนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นแกนนำ ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2531 แล้วไปร่วมจัดตั้งพรรคใหม่คือ พรรคประชาชน

ความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของกลุ่มวะห์ดะห์เกิดขึ้นเมื่อย้ายกลุ่มอีกครั้งไปเข้าสังกัดพรรคความหวังใหม่ ของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2535 เพราะสมาชิกในกลุ่มได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีหลายคน เช่น นายเด่น ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวันมูหะมัดนอร์ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ส.ส.นราธิวาส ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อพรรคความหวังใหม่ควบรวมกับพรรคไทยรักไทยในปี 2545 กลุ่มวะห์ดะห์ก็เข้าสังกัดพรรคไทยรักไทยด้วย แต่ด้วยแนวทางการบริหารและการแก้ไขปัญหา 3 จชต. ที่ก่อให้เกิดปัญหาของรัฐบาลทักษิณ ในปี 2547 ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ทำให้การเลือกตั้งในปี 2548 ผู้สมัครของกลุ่มวะห์ดะห์ในพรรคไทยรักไทยพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั้งหมด ในขณะที่ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้งเกือบทุกเขต เหลือเพียง 1 ที่นั่งเท่านั้นให้กับผู้สมัครของพรรคชาติไทย ที่จังหวัดนราธิวาส

การเลือกตั้งปี 2550 หลังการรัฐประหาร ปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในปี 2548 ก็ไม่สามารถรักษาที่นั่งได้ทั้งหมด เช่น จังหวัดปัตตานีต้องสูญเสีย 2 ที่นั่งให้กับผู้สมัครของพรรคเพื่อแผ่นดิน จังหวัดนราธิวาสเดิมมี 3 คนลดลงเหลือเพียงคนเดียว จังหวัดยะลาที่เคยได้ทั้งจังหวัดต้องสูญเสีย 1 ที่นั่งให้แก่น้องชายของนายวันมูหะมัดนอร์ ที่สังกัดพรรคเพื่อไทย ซึ่งนับเป็น ส.ส. เพียงคนเดียวของพรรคการเมืองนี้ในภาคใต้

ในขณะที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2554 ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์กลับมาได้รับความนิยมจากประชาชนอีกครั้ง โดยได้รับการเลือกตั้ง 9 คน จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 11 คนของ 3 จชต. มีเพียงจังหวัดปัตตานีเท่านั้นที่ต้องแบ่งให้กับพรรคมาตุภูมิและพรรคภูมิใจไทยพรรคละ 1 ที่นั่ง

เลือกตั้ง 62 : เลือกคนมากกว่าเลือกพรรค (อีกครั้ง)

การเลือกตั้งในแต่ละครั้งที่ได้กล่าวมาข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถผูกขาด ครองความนิยมใน 3 จชต. ได้อย่างยั่งยืน ถ้าไม่ใช่ที่ตัวผู้สมัครมีการย้ายพรรคบ่อยหรือควบรวมพรรคเดิมกับพรรคใหม่ เช่น กรณีของกลุ่มวะห์ดะห์ ก็จะมาจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งในครั้งต่อมาก่อนที่จะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง เช่น นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ พรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะเลือกตั้งปี 2548 แล้วมาแพ้ในปี 2550 จากนั้นได้กลับมาเป็น ส.ส.อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2554

หรือไม่ก็มาจากผู้ใช้สิทธิเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองที่เกิดใหม่ เช่น พรรคเพื่อแผ่นดิน ในปี 2550 ที่มีผู้แทนของพรรคได้เพียงสมัยเดียว จึงกล่าวได้ว่า พฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนใน 3 จชต. ให้ความสำคัญหรือผูกพันกับตัวบุคคลมากกว่าพรรคการเมือง สืบเนื่องจากยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายหรือแม้กระทั่งได้เป็นรัฐบาลแล้วก็ตามจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่บนฐานความเข้าใจด้านชาติพันธุ์ ศาสนา ขนบธรรมเนียม ประเพณีได้อย่างแท้จริง บางพรรคเช่น พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มวะห์ดะห์ เคยชนะเลือกตั้งเกือบทั้งหมด แต่การดำเนินงานของรัฐบาลที่ ส.ส.เหล่านี้สังกัดกลับสร้างปัญหาจนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ มีพรรคการเมืองเกิดใหม่จำนวนมาก หลายพรรคการเมืองคาดหวังที่จะชนะเลือกตั้งใน 3 จชต. ด้วยเล็งเห็นว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ได้เมื่อเทียบกับจังหวัดภาคใต้ที่เหลือทั้งหมด เช่น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ พรรคประชาชาติ ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ หัวหน้ากลุ่มวะห์ดะห์ ตัดสินใจตั้งพรรคและขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แม้ว่าพรรคการเมืองนี้เป็นพรรคที่ประกอบด้วยคนหลากหลายชาติพันธุ์ ศาสนา ตรงกับคำว่าประชาชาติ ไม่ใช่ตั้งขึ้นเพื่อชาติพันธุ์มลายูและมุสลิมเท่านั้นและต้องการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั่วประเทศ

แต่การดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายวันมูหะมัดนอร์ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นเลขาธิการพรรค ทำให้เป็นที่เข้าใจว่า พรรคการเมืองนี้มีพื้นที่ 3 จชต. เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายสำคัญของพรรค

พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ มีอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นๆ ย้ายมาสังกัดพรรคจำนวนหลายคน เช่น จังหวัดนราธิวาส อดีต ส.ส.หลายสมัย รวมถึงล่าสุด ปี 2554 ของพรรคประชาธิปัตย์ ย้ายไปอยู่กับพรรค รปช. เกือบทั้งหมดคือ นายสุรเชษฐ์ แวอาแซ นายรำรี มามะ นายเจะอามิง โตะตาหยง คงเหลือเพียงคนเดียวที่ยังยืนหยัดอยู่กับพรรคเดิมคือ นายกูอาเซ็ม กูจินามิง จังหวัดยะลา 1 คนคือ นายอับดุลการิม เด็งระกีนา และจังหวัดปัตตานีคือ นายซาตา อาแวกือจิ อดีต ส.ส. ปี 2548

คนเหล่านี้เป็นอดีต ส.ส. ในสังกัดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อนายสุเทพตั้งพรรคจึงเข้าร่วมงานด้วย ในขณะที่พรรค พปชร. ที่จังหวัดนราธิวาส ได้นายวัชระ ยาวอหะซัน อดีต ส.ส. ปี 2550 ของพรรคชาติไทยพัฒนา ส่วนพรรคประชาชาติ มีทั้งผู้สมัครจากอดีต ส.ส.ของกลุ่มวะห์ดะห์และผู้สมัครที่ย้ายมาจากพรรคการเมืองอื่นๆ เช่นเดียวกัน เช่น จังหวัดยะลา นายซูการ์โน มะทา อดีต ส.ส. ปี 2550 พรรคเพื่อไทย จังหวัดนราธิวาส นายกูเฮง ยาวอหะซัน อดีต ส.ส.พรรคชาติไทย (ต่อมาเป็นชาติไทยพัฒนา) 2 สมัย จังหวัดปัตตานี นายสมมุติ เบญจลักษณ์ อดีต ส.ส. พรรคภูมิใจไทยเพียงคนเดียวของภาคใต้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด นายอนุมัติ ซูสารอ อดีต ส.ส. พรรคมาตุภูมิ เพียงคนเดียวในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2554 เช่นเดียวกัน และนายมูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2538

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมา การเลือกตั้งในพื้นที่ 3 จชต. ครั้งนี้จึงเชื่อแน่ว่ายังคงไม่แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งจะยังคงตัดสินใจเลือกด้วยปัจจัยของตัวผู้สมัครมากกว่าตัวพรรคการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถผูกขาดความนิยมได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดของภาคใต้

 

เผยแพร่ครั้งแรก นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 2 ม.ค.2562 หน้า 15

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image