วันครูกับวันพฤหัสบดี

วันครูกับวันพฤหัสบดีมีความเชื่อมโยงกันจนทำให้หลายคนเกิดความสับสนว่า “วันครูแห่งชาติ” ทำไมจึงไม่ตรงกับวันพฤหัสบดีที่คนไทยคุ้นเคยในการประกอบพิธีไหว้ครูตามความเชื่อของวิชาชีพที่มีครูเป็นผู้อบรมสั่งสอนวิชาความรู้ จึงขอเสนอความชัดเจน ดังนี้

ครูกับวันพฤหัสบดี
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนไทยส่วนใหญ่นับถือและถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาช้านานตั้งแต่มีราชอาณาจักรเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย ต่อมาสมัยอยุธยาได้ติดต่อกับชาวต่างชาติมากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งการติดต่อกับอินเดียที่มีพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นคนชั้นสูงมีความรู้ศาสตร์ต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก และนำคติความเชื่อ กฎหมาย การเมืองและการปกครองมาผสมผสานกับวิถีชีวิตคนไทย รวมทั้งการเมืองการปกครองของไทยด้วย

ความเชื่อหนึ่งที่มีผลต่อวิถีชีวิตของคนไทย คือ ความเชื่อเกี่ยวกับครูผู้มีพระคุณอบรมสั่งสอนให้วิชาความรู้ต่างๆ เมื่อพราหมณ์มีความเชื่อในพระเจ้าและนับถือพระพฤหัสบดีว่าเป็นครูของเทวดา หรือ “ครุเทว” ดังนั้น ความเชื่อของพราหมณ์ที่เข้าไปมีบทบาทในการดำรงชีวิตของคนไทย จึงเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันทำพิธีสักการะครู หรือ “ไหว้ครู” เช่น การไหว้ครูของสถาบันการศึกษา และศิลปินแขนงต่างๆ เป็นต้น

วันครูแห่งชาติ
วันครูแห่งชาติ เป็นการรำลึกถึงครูอีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างจากวันไหว้ครู แต่เป้าหมายเหมือนกันคือเป็นวันสำคัญที่ศิษย์ร่วมกัน แสดงความกตัญญูกตเวทีถึงครูอาจารย์ที่ให้การอบรมสั่งสอนวิชาความรู้และการประพฤติปฏิบัติตนในสังคมให้เป็นคนดี มีความรู้ มีคุณธรรมและจริยธรรม

Advertisement

วันครูแห่งชาติ เป็นวันที่กำหนดโดยกฎหมาย กล่าวคือ กำหนดจากวันประกาศพระราชบัญญัติครู (ฉบับแรก) พ.ศ.2488 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2488 มิได้ถือเอาวันพฤหัสบดีที่ถือเป็นวันครูในพิธีกรรมตามความเชื่อที่รับมาจากพราหมณ์ การจัดงานวันครูแห่งชาติมีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2500 และดำเนินติดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ครูกับความเป็นประชาธิปไตย
จรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครูมีข้อหนึ่งกำหนดว่า “เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ” จรรยามารยาทข้อนี้สอดคล้องกับภาวการณ์ปัจจุบันของไทยที่กำลังรณรงค์เรื่องการเลือกตั้งที่นำไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งที่ผ่านมาครูส่วนใหญ่ยังแสดงบทบาทของความเป็นประชาธิปไตยน้อย จึงควรดำเนินการดังต่อไปนี้

1.การปรับปรุงตำราและเอกสารประกอบการสอนของครู ควรมีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น ใช้ภาษาง่ายที่ทำให้เข้าใจได้ไม่ยาก

2.ปรับเปลี่ยนการสอนด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่สมกับคำว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” โดยครูเป็นเพียงผู้ประสานหรือสนับสนุนการเรียนรู้ มิใช่เป็นศูนย์กลางของความรู้อีกต่อไป

3.แสดงตนเป็นตัวอย่างของความเป็นประชาธิปไตยในโอกาสต่างๆ อย่างน้อยต้องไปเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์ให้ผู้อื่นไปเลือกตั้งด้วย

4.การถ่ายทอดความเป็นประชาธิปไตยควรสอดแทรกในทุกรายวิชา และอาจมีวิชาความเป็นพลเมืองที่ดีหรือความเป็นประชาธิปไตยให้เหมาะสมกับระดับการศึกษา

5.เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง รับฟังข่าวสาร มีความปรับเปลี่ยนความคิดให้สอดคล้องบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพื่อถ่ายทอดให้กับนักเรียนและประชาชนได้อย่างถูกต้อง

ความส่งท้าย
สังคมไทยยกย่องครูให้เป็นที่เคารพของคนทั่วไป ไม่ว่าการไหว้ครูในวันพฤหัสบดีหรือวันครูแห่งชาติ ครูล้วนมีความสำคัญ เพราะเป็นบุคคลที่มีผู้รำลึกถึงจำนวนมาก เมื่อพิจารณาจำนวนครูในประเทศขณะนี้มีกว่า 700,000 คน ถ้าครูรณรงค์เกี่ยวกับความเป็นประชาธิปไตยอย่างทั่วถึงแล้ว เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีความรู้ความเข้าใจ และมีความพร้อมต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างดี ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ผศ.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image